การส่งเสริมการลงทุนกับกฎหมายไทย


กฏหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันเมื่อพูดถึงการลงทุนต่างๆในประเทศไทยนั้นมีการเปิดกว้างและเสรีมากขึ้นเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการขยายตัวและพัฒนา รวมทั้งในโลกยุคปัจจุบันเป็นภาวะที่มีการแข่งขันกันอย่างสูงในเรื่องของสินค้าและบริการ ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมให้มีการลงทุนเิ่พิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นจากนักลงทุนของไทยหรือต่างชาติก็ตาม สำหรับประเทศไทยนั้นได้มีการตราพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. ๒๕๒๐ ขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริม คุ้มครองและรักษาสิทธิประโยชน์ของนักลงทุน เป็นกฎหมายด้านเศรษฐกิจที่กำหนดขึ้นเพื่อเร่งรัดให้เกิดการลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ เกี่ยวพันกับธุรกิจเฉพาะที่มีประกาศให้การส่งเสริมเท่านั้น
เนื่องจากสภาพและความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปทำให้การดำเนินงานส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนปัจจุบันไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศในด้านการเร่งรัดการลงทุนเพื่อประโยชน์ในการสร้างงาน การเพิ่มรายได้ และการกระจายรายได้ให้แก่ประชาชนได้ดีพอ จำเป็นต้องปรับปรุงกฎหมายในเรื่องนี้เสียใหม่เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ลงทุน โดยการกำหนดระบบการให้สิทธิและประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับการจูงใจให้มีการลงทุนในกิจการที่รัฐให้ความสำคัญ และประสงค์จะส่งเสริมให้มีการคุ้มครองกิจการที่รัฐให้การส่งเสริมที่ทันต่อเหตุการณ์ และให้มีกลไกการบริหารงานส่งเสริมการลงทุนของรัฐที่สามารถอำนวยความสะดวก และขจัดอุปสรรคในการลงทุน แบ่งออกเป็น 7 หมวด 60 มาตรา มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
หมวด 1 ว่าด้วยคณะกรรมการ ที่ปรึกษา และพนักงานเจ้าหน้าที่
ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติตามกฎหมาย และให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพื่อทำหน้าที่ปฏิบัติตามมติกรรมการ โฆษณาเผยแพร่บรรยากาศการลงทุน ให้มีศูนย์บริการการลงทุน ทำหน้าที่วิเคราะห์โครงการ ศึกษาลู่ทางในการลงทุน และให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายนี้
หมวด 2 ว่าด้วยการขอและการให้การส่งเสริม
ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดประเภทขนาดกิจการที่จะให้การส่งเสริมการลงทุน โดยจะกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้ และอาจงดให้การส่งเสริมกิจการบางประเภทก็ได้ กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์รับการส่งเสริมยื่นขอรับการส่งเสริมต่อสำนักงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและแบบที่กำหนดพร้อมโครงการลงทุนที่ขอรับการส่งเสริม ทั้งนี้โครงการลงทุนที่จะให้การส่งเสริมได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการไว้ด้วย และสามารถกำหนดเงื่อนไขในการส่งเสริมเรื่องต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในกฎหมายด้วยก็ได้
หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิประโยชน์
กำหนดให้ผู้ได้รับการส่งเสริมอาจได้รับสิทธิต่าง ๆ ประกอบด้วย
การอนุญาตคนต่างด้าวเข้ามาทำงานเป็นช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ คู่สมรสในระยะเวลาที่กำหนด การได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร การลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบ วัสดุจำเป็น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่ต้องนำค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่นมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ การหักค่าขนส่ง สาธารณูปโภคเป็นสองเท่าในการคำนวณภาษีเงินได้ การยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ วัสดุจำเป็นของนำเข้าเพื่อผลิตใช้ในการส่งออก
หมวด 4 ว่าด้วยเครื่องจักร วัตถุดิบ และวัสดุจำเป็น
มีข้อกำหนดสำคัญห้ามนำกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรมาใช้บังคับแก่ผู้ที่ได้รับการส่งเสริม
หมวด 5 ว่าด้วยหลักประกันและการคุ้มครอง
กำหนดว่ารัฐจะไม่โอนกิจการของผู้ได้รับการส่งเสริมเป็นของรัฐ ไม่ประกอบกิจการขึ้นใหม่แข่งขันกับผู้ที่ได้รับการส่งเสริม ไม่ทำการผูกขาด ควบคุมราคาเว้นแต่กรณีจำเป็น พร้อมข้อกำหนดอื่น ๆ อีก
หมวด 6 ว่าด้วยการเพิกถอนสิทธิประโยชน์
ในกรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
หมวด 7 ว่าด้วยบทสุดท้าย เป็นบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายเดิม

และประเทศไทยได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(Board of Investment-BOI) ขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีนโยบายหลักเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะอย่างสรุปดังต่อไปนี้คือ

1. นโยบายส่งเสริม สนับสนุน อุตสาหกรรมการเกษตรไทย โดย BOI เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเสริมสร้างพัฒนาอุตสาหกรรมกรเกษตรไทยอย่างครบวงจร

2.นโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Skill Technology&Innovation - STI)โดยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  และเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่โครงการที่มีการพัฒนาด้าน STI

3.แนวทางการส่งเสริมกิจการซอฟแวร์ โดยการปรับประเภทกิจการซอฟแวร์ใหม่โดยเน้นการให้การส่งเสริมเป็นกลุ่มธุรกิจแทนที่จะเป็นลักษณะการทำงานเพื่อดึงดูดกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาซอฟแวร์ของประเทศในอนาคต

4.นโยบายส่งเสริม สนับสนุน SMEs ของไทย โดยการปรับบทบาทการส่งเสริมการลงทุนแก่ SMEsไทย ตามยุทธศาสตร์การพัฒนา SMEs ของรัฐบาล

โดยประเภทของกิจการที่ให้การส่งเสริมการลงทุนคือ

1.กิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร

2.เหมืองแร่ เซรามิกซ์ และโลหะขั้นมูลฐาน

3.ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์พื้นฐาน

4.อุตสาหกรรมเบา

5.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า

6.เคมีภัณฑ์ กระดาษ และพลาสติก

7.กิจการบริการและสาธารณุปโภค

และสำหรับนักลงทุนต่างชาติหากจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยนั้นก็มีกฏหมายพิเศษที่รองรับและเป็นกฎหมายที่นักลงทุนต่างชาติควรที่จะต้องศึกษาเป็นการเบื้องต้นดังต่อไปนี้คือ

1.กฎหมายภาษีอากร ตามประมวลรัษฏากร

2.กฎหมายลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า

3.กฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุญาตให้ดั้งโรงงาน

4.กฎหมายแรงงาน

5.กฎหมายเกี่ยวกับคนต่างด้าว

แต่ถึงอย่างไรก็ตามในสายตาของนักลงทุนต่างชาตินั้นกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของไทยก็ยังให้หลักประกันในระยะยาวไม่เพียงพอนักลงทุนต่างชาติจึงต้องการความตกลงระหว่างประเทศเพื่อคุ้มครองการลงทุนระยะยาวทั้งนี้ก็เพระว่าหลักประกันตามความตกลงระหว่างประเทศเมื่อประเทศไทยให้ความยินยอมที่จะผูกพันแล้วประเทศไทยเพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ 

ความตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยทำกับต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการลงทุนโดยตรงคือ ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน  ประเทศไทยได้ทำความตกลงประเถทนี้เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและเพื่อส่งเสริมให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศด้วย 

    ประเทศไทยได้ทำความตกลงประเภทนี้กับต่างประเทศประมาณ 35ฉบับ อาทิ อังกฤษ เยอรมัน จีน เกาหลีใต้ ลาว ฮังการี กัมพูชา เนเธอร์แลนด์  ไต้หวัน ศรีลังกา อินโดนีเซีย เป็นต้น  ความตกลงประเภทนี้ก็จะบัญญัติในลักษณะที่เกี่ยวกับตัว ผู้ลงทุนและการลงทุน เช่นหากผู้ลงทุนเป็น บุคคลธรรมดา นิติบุคคล องค์กร สมาคมเป็นต้น จะต้องปฎิบัติตัวซึ่งมีหลักการแตกต่างกันออกไปในลักษณะเช่นไรบ้างและมีขอบเขตของการทีจะลงทุนในประเทศนั้นมากน้อยเพียงใด  นอกจากนี้ยังจะกล่าวถึงการปฏิบัติต่อการลงทุน การเวนคืนและค่าทดแทนความสูญเสีย  การโอนเงินตรา  การระงับข้อพิพาท  ตลอดจนระยะเวลาการใช้บังคับความตกลงและขอบเขตการใช้ความตกลง

หลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการลงทุนนั้น ก็คือ หลักฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่จะนำมาใช้กับการลงทุนของคนต่างด้าวได้  หลักการเคารพสิทธิที่ได้มาโดยชอบธรรม ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ สิทธิในทางทรัพย์สิน กรรมสิทธิ์ในทางอสังหาริมทรัพย์ และสิทธิในทางกฎหมาย ได้แก่ สัมปทาน และสัญชาติ

  การโอนเป็นของรัฐ การชดใช้ค่าเสียหาย  และการให้ความคุ้มครองทางการฑูต

อ้างอิง : www.boi.go.th

              www.dip.go.th

 

หมายเลขบันทึก: 37716เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2006 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ค้นต่อซิคะว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเพื่อส่งเสริมลงทุนกี่ฉบับ ? เมื่อเราเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศก็อย่าละเลยกฎหมายระหว่างประเทศนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท