ลุงอำนวย


ลุงอำนวยบอกผมว่า " เมื่อก่อนญาติพี่น้องมาบ้าน ยังไม่กล้าให้มันเทศไปกินเลย กลัวว่าจะไม่ปลอดภัย"

 

 

เรื่องของ " ลุงอำนวย"

( คุณอำนวยและคุณกิจตัวจริง )    

       ในช่วงวันที่ 19 - 20 มิย. 49 ผมและทีมวิจัย PAR ส่วนกลางได้ลงไปจังหวัดนครศณีธรรมราชเพื่อสรุปงานวิจัยกับจังหวัด ก็เป็นโอกาสดีได้ไปตามงานโครงการ SAFE (Sustainable Agriculture For Environment ) ที่อำเภอพระพรหม  จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงไปเรียนรู้กับพี่ชาญวิทย์ พี่สุภาพ ก็ได้พบกับประสบการณ์ดี ๆคนดี ๆ และการทำงานดี ๆ เห็นแล้วมีความสุขน่าชื่นชม

         เรื่องที่ผมจะเล่าให้ฟังเป็นประสบการณ์ที่ได้คุยกับลุงอำนวย มาศเมฆ ซึ่งเป็นแกนนำชุมชนที่สำคัญในการขับเคลื่อนงาน " พระพรหมเกษตรอินทรีย์ คืนชีวิตใหม่ให้เกษตรกร" ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของอำเภอมีการขับเคลื่อนและบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งอำเภอ

         เราตั้งวงคุยกันที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ ที่อยู่หลังที่ว่าการอำเภอและใกล้ ๆ กับแปลงเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ซึ่งสนับสนุนโดยอำเภอในการจัดทำเป็นแปลงเรียนรู้ของเกษตรกรในอำเภอพระพรหมและใกล้เคียงมีแกนนำ 4 - 5 คนพร้อมกับ ป้าอาชีพ ซึ่งเป็นภรรยาของลุงนวยนั่งคุยด้วยกัน  ลุงนวยและป้าอาชีพเริ่มเล่าให้เราฟังว่าก่อนที่จะเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์เมื่อก่อนตัวเองเป็นนักเกษตรเคมีตัวยง อาชีพหลักปลูกมันเทศ 8 ไร่ ส่งลูกเรียนต้องการหาเงินมาส่งลูกเรียน พยายามปลูกให้ได้ผลผลิตสูงและมันเทศดูสวย (เพราะตลาดต้องการ)ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีเต็มที่ ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุน ถึงผลกระทบอืน ๆ ใครจะมาบอก มาเล่าให้ฟังถึงอันตรายก็ไม่เชื่อ ลุงอำนวยบอกผมว่า " เมื่อก่อนญาติพี่น้องมาบ้าน ยังไม่กล้าให้มันเทศไปกินเลย กลัวว่าจะไม่ปลอดภัย"

         จนมาวันหนึ่งได้มีเหตุการสำคัญกับชีวิต ลุงบอกว่า "ถ้าผมไม่หยุด ป่านนี้ผมคงตายไปแล้ว เพราะเริ่มมีอาการความจำเลอะเลือน มือสั่น และป้าอาชีพเองก็มีอาการชัก เมื่อไปตรวจพบว่ามีสารพิษตกค้างในเลือดระดับอันตราย เลยตัดสินใจเลิกใช้สารเคมีตั้งแต่ 4 - 5 ปีก่อน " เริ่มเข้าสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ มีการชักชวนเพื่อน ๆ ที่ทำการผลิตคล้าย ๆ กัน ( ใช้สารเคมีอย่างหนัก ) ได้สมาชิกประมาณ 12 คน เริ่มหาทางออกใหม่ โดยไปขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร(พี่สุภาพ ) พอดีกับการสนับสนุนการผลิตสู่การเกษตรแบบยั่งยืนของโครงการ SAFE ได้สนับสนุนในการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาไปสู่การเกษตรแบบยั่งยืนได้มีการเก็บข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนร่วมกัน ไปดูงานที่ต่างๆ  กลุ่ม/ชุมชนอื่น ๆ แล้วกลับมา  ผนวกกับความรู้เดิม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เริ่มมีการทดลองการผลิตสู่อินทรีย์แล้วนำผลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มสรุปกันในกลุ่มเป็นประจำ จนถึงปัจจุบันเริ่มมีการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ตำบลอื่น ๆ มีกลุ่มทั้งในจังหวัด ต่างจังหวัด /สถาบันการศึกษามาศึกษาดูงานเป็นประจำ ผนวกกับปัจจุบันทางอำเภอได้กำหนดให้เกษตรอินทรีย์เป็นยุทธศาสตร์ของอำเภอมีการขับเคลื่อนทั้งอำเภอ โดยในเบื้องต้นมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์ในทุกหมู่บ้าน ( 49 หมู่บ้าน 50 กลุ่ม ) มีกิจกรรมสำคัญ

1. จัดทำแปลงเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ จำนวน 3 แปลง

2. จัดตั้งกลุ่มปุ๋ยหมัก จำนวน 50 กลุ่ม

3. ตรวจสอบสารพิษตกค้างในผลผลิตและสารพิษตกค้างในตัวเกษตรกร

4. จัดทำบรรจุภัณฑ์ และจัดตั้งจุดจำหน่ายผักปลอดสารพิษ (หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการฌฉลิมพระเกียรตฺ จังหวัดนครศรีธรรมราช )

5. จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง (เกษตรอินทรีย์) 2 ศูนย์

- ภาคประชาชน 1 ศูนย์ ( บริเวณที่ว่าการอำเภอพระพรหม )

- ภาคเยาวชน 1 ศูนย์ ( โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช

6. จัดโครงการจิบน้ำชา เสวนา เกษตรอินทรีย์ในวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 3 ของทุกเดือน

        ปัจจุบันลุงอำนวย เป็นคุณกิจตัวจริงและเป็นคุณอำนวยที่ช่วยไปสร้างแรงบันดาลในให้กลุ่ม/ชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราชตามอุดมการณ์ของคนเกษตรอินทรีย์พระพรหมที่ว่า

         " คนเกษตรอินทรีย์ มุ่งแก้ปัญหาชีวิตสิ่งแวดล้อมและสังคมเกษตรกรโดยรวมไม่มุ่งหวังเรื่องการค้ามากนัก แต่จะขอมอบความรู้และประสบการณ์ที่ได้มาทั้งชีวิตเป็นวิทยาทานแก่เพื่อนมนุษย์ "

คำสำคัญ (Tags): #ลุงอำนวย
หมายเลขบันทึก: 37559เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2006 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นเรื่องเล่า  ที่เขย่าความรู้สึกของคนได้ดี   โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยังใช้สารเคมีอยู่

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท