เรื่องเล่าเร้าพลัง (มืด)


เรื่องเล่าเร้าพลัง (มืด)

"อารมณ์เป็นอะไรที่มนุษย์มี ใช้ และเผลอๆก็ถูกใช้"

มีหนังสือใหม่เล่มหนึ่งเรื่อง Marketing 3.0 ของ Cotler กล่าวตอนหนึ่งว่า ในยุคแรก คือ Marketing 1.0 นั้น เรียกว่าเป็น Rationale marketing ใช้ข้อมูล รายละเอียด ในการนำเสนอสินค้า เป็นยุคที่การตลาดมองหาว่า demand คืออะไร (ข้อมูล) เพื่อที่จะหา supply มาให้ตรงกัน (อุปสงค์ และ อุปทาน) ยุคต่อมาเรียกว่า Marketing 2.0 เป็นยุค Emotional Marketing ใช้การ manipulate อารมณ์ เพราะอารมณ์เป็นแรงผลักดันพฤติกรรมที่ดีกว่า ได้ผลมากกว่าตรรกะ หรือเหตุผล ในยุคนี้ ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องไปศึกษา demand เท่ากับยุคแรก แต่สามารถใช้การโฆษณา ข้อมูล ข่าวสาร ไปสร้าง artificial demand หรือความต้องการเทียม ให้เกิดขึ้น ลูกค้าถูกปรับอารมณ์ให้อยากซื้อ อยากใช้ ทั้งๆที่ไม่จำเป็นเลยก็ยังได้ ส่วน Marketing 3.0 นั้น เป็นยุคที่ Cotler คิดว่าในปัจจุบันเรา "จำเป็น" จะต้องไปถึงยุคนี่แล้ว มิฉะนั้น Capitalism จะกลืนกินทั้งทรัพยากรและจิตวิญญาณของมนุษย์ ยุคนี้จึงเรียก "Spiritual Marketing" สินค้าที่ออกมา ควรจะต้องมีการคำนึงว่า "มันดีต่อโลกนี้ ต่อผู้คน อย่างไร?"

เป็นที่น่าสนใจว่า แม้แต่พ่อค้ายังหวนกลับถอยออกมาจาก profit-oriented business หันมามองอะไรที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น (แม้ว่าจะเกิดการแรงผลักดันจากการมองเห็น "ทุกข์" ที่เกิดจาก materials ก็ตาม แต่.. ก็ยังดี...) วิชาชีพแพทย์ การบริการพยาบาลขับไปขับมา กลับค่อยๆเลี้่ยวลงตลาดหุ้น โหมกระหน่ำ marketing 2.0 มากขึ้น ก็เป็นอะไรที่ ironic ไม่น้อย

ประเด็นก็คือ "อารมณ์กับพฤติกรรมนั้น สอดคล้องจองกัน"

อารมณ์เป็นอะไรที่ไม่ชัดเจน มองเห็นได้ สัมผัสได้ เหมือนอย่างเหตุผล คือเหตุผลนี่เรามักจะเรียบเรียงสื่อสารด้วยคำ ด้วยภาษาที่เรามีได้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอควร แต่สำหรับอารมณ์นั้น ยากที่เราจะหาคำอะไรมานิยาม พรรณนาเพื่อสื่อกันให้ชัดเจนได้ สุดท้าย "ภาษาอารมณ์" นั้นจึงต้องพึ่งพาเรื่องเล่า เรื่องราว ประสบการณ์เก่า ออกมาช่วยพรรณนาพอให้เพิ่มความเข้าใจได้ อาทิ "เจ็บยังกะคลอดลูก" "นุ่มราวกับสำลี" "ดีใจอย่างกะถูกลอตเตอรีรางวัลที่หนึ่ง" ฯลฯ ซึ่งถ้าประสบการณ์หรือเรื่องเล่าประกอบนั้น เป็นอะไรที่พบบ่อย คนทั่วไปเจอ ก็จะช่วยเยอะ แต่บางทีก็ยากเหมือนกัน เช่น ผู้ชายก็ยากแก่การจินตนาการว่า "เจ็บยังกะคลอดลูก" นั้นเป็นยังไง แม้แต่แม่ในยุคนี้ ก็มีการคลอดแบบไม่เจ็บ (painless labour) เพราะฉีดยาชาที่หลังจนหมดความรู้สึกไปครึ่งตัว จนคลอดแล้วก็ไม่เจ็บอะไรเท่าไหร่ แม่คนนี้ก็จะไม่ค่อยจะ "เข้าถึง" ประโยคที่ว่า "เจ็บยังกะคลอดลูก" เหมือนกัน หรือเข้าใจไปคนละดีกรีกับคนพูดที่หมายถึงคลอดแบบเจ็บมากมาย

ภาษาทางตรรกะ เหตุผล แม่้ว่าจะชัดเจนกว่า แต่ก็ไม่สร้างความรู้สึกเท่าไหร่ คือ ไม่มี "ความมีตัวตน" แฝงลงไปในความหมาย พี่อานนท์ วิทยานนท์ หัวหน้าภาควิชาจิตเวช ที่ ม.สงขลานครินทร์ เป็นคนสอนเรื่อง communication skill แก่นักเรียนแพทย์ที่นี่ เคยยกตัวอย่าง "นายแดงถูกตีหัว" ถามเราว่ารู้สึกอย่างไร จำไว้นะ แล้วยกอีกตัวอย่าง "ฉันถูกตีหัว" เรารู้สึกเหมือนหรือแตกต่างจากครั้งแรกอย่างไร (ที่จริงบางคนอาจจะยังดื้อ บอกว่าเฉยๆ เหมือนๆกัน ก็ให้ลองเปลี่ยนเป็น "แม่ฉันถูกตีหัว" "ลูกฉันถูกยิง" ดู ดูสิว่ายังเหมืิอนเดิมอีกไหม สำหรับพวกความรู้สึกชาด้านกว่าปกติ)

ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ภาษาอารมณ์ สอดประสานกับการปฏิบัติ (ฐานกาย) ที่จะนำไปสู่การเดินทางไปถึงจิตวิญญาณ ที่ทั้งฐานกาย ฐานอารมณ์ และฐานความคิด ทั้งหมดสอดคล้องกลมกลืนกัน

ผมเองเชื่อ (ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร) ว่า เราไม่สามารถจะเข้าถึงระดับจิตวิญญาณผ่านทาง mode ความคิด หรือ พยายามเข้าใจ เท่านั้น แต่น่าจะมีการกระทำ การครุ่นคิดใคร่ครวญอย่างแยบคาย ความสอดคล้่องผ่อนคลายของอารมณ์ คือ ปิติแต่แผ่วเบาสบายมีความสงบ (ปิติ + ปัทสัทธิ)

ในระยะหลัง มีการพูดถึง narrative medicine และการเล่าเรื่องราว ในหลายๆมิติมากขึ้นเรื่อยๆ พบว่าการนำเรื่องเล่ามาใช้ ไม่เพียงแต่ทำให้เรื่องราวแห้งแล้งจากการบรรยายด้วยตัวเลข กราฟ หรือภาษาเป็นทางการแบบวิชาการ กลับกลายเป็นเรื่องราวที่มีสีสัน กระตุ้นอารมณ์ เกิดได้ทั้งความสุนทรีย์ ความปิติ ความยินดี หรือแม้กระทั่งความฮึกเหิม อิ่มอกอิ่มใจได้ด้วย ยังมีการขยายวงออกไปใช้ในการเยียวยาในกรณีสถานการณ์ต่างๆได้ด้วย

ในงานประชุม HA (hospital accreditation forum) Forum ปีหลังๆมานี้ เราก็จะได้เห็น sessions ที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าเร้าพลัง สร้างสีสันแก่งานหนาหูหนาตามากขึ้น ในยุคที่มีคำ catch-phrase ประเภท "ปรองดอง เยียวยา สมานฉันท์" ก็เริ่มมีคนนึกถึง narrative หรือ story telling มากขึ้น และถูกนำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ

ทว่า การเล่าเรื่อง นั้นก็ไม่ใช่ risk-free activity หรือกิจกรรมที่ปราศจากความเสี่ยงเสียทีเดียว

Inverted U หรือ Tyrant Route

สุนทรียสนทนาที่เขียนออกมาเป็น model ตัว U คือการที่เราฟังและสนทนาลงมาจาก I in Me ค่อยๆไต่ลงมาเป็น I in it เกิด seeing คือใช้การห้อยแขวน การไม่ด่วนตัดสิน และเปิดจิตแจ่มใส สามารถอภิปรายเรื่องราวโดยปราศจากอัตตาไปขัดขวาง ลงไปอีกเกิด I in you คือเกิด sensing ฟังจนกระทั่งเข้าใจความต้องการ ความปราถนาของผู้พูด เกินระดับภาษาผิวไป ลงไปถึงภาษาใจ เข้าสภาวะใจกระจ่าง

เกิด "ความว่าง" Let go and let come ลงไปถึงระดับลึกที่สุดคือ Presencing เห็นเจตจำนงความมุ่งมั่น เชื่อมโยงชีวิตจิตใจกับ The Source ตอบคำถามที่ว่า "Who are we?" และ "What are we doing?" ได้

ความเสี่ยงก็คือ ถ้าเรายังอยู่ในสภาวะ I in me หรือใช้การ download เรื่องราวความหมายเก่าๆออกมาอธิบายตลอดเวลา ไม่ใช้การห้อยแขวน หน่วงการรีบด่วนตัดสินไว้ก่อน เพื่อให้ "มองเห็น" เราสามารถหลงทางไปสู่หนทางแห่งทรราชย์ หรือ วิถีทุกข์ได้อย่างรวดเร็ว กู่กลับยาก ด้วยกลไกทางอารมณ์แต่ในด้านอารมณ์มืด นี่เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เมื่อเราตัดสินใจจะหันมาใช้ "อารมณ์" มาช่วยในการสื่อสารเรื่องราวแบบไหนก็ตาม รวมทั้งที่จะใช้ในการเยียวยาด้วย

ท่ามกลางความทุกข์ เมื่อคนเราได้ "ระบาย" ออก โดยการเล่าเรื่องราว เสมือนกับการเก็บชีวิตทีแตกกระจาย เป็น jigsaw ที่เทกระจาดออกมา เอามารวบรวมเรียบเรียงใหม่ เมื่อนั้นชีวิตใหม่ก็จะเกิดขึ้นและดำเนินต่อไปได้ เป็นกระบวนการเยียวยา (ขั้นต้น) ที่สำคัญที่สุด อาทิ ในกรณีสึนามิ การฆ่าล้างครอบครัว ล้างหมู่บ้าน ความทุกข์ระดับต้นจะต้องเยียวยาด้วยการ re-description สิ่งที่เกิดขึ้น เก็บความเป็นมนุษย์ของตนเองที่แตกออกกลับมาใหม่ หลังจากนั้นต้องมีการสะท้อนสิ่งต่างๆทุกสิ่งจากหลายๆมุมมอง เพื่อให้เกิดกระบวนการเยียวยาโดยสังฆะ โดยสังคม มาช่วยอย่างสมบูรณ์

ในช่วงที่เราอยู่ใน safe zone นี้เอง ที่เราสามารถเอาตัวตนที่เปราะบาง (หรือแตกกระจาย) ออกมาศึกษา เรียนรู้ อาศัยกัลยาณมิตรที่รักโดยไม่มีเงื่อนไข ช่วยหล่อเลี้ยง ไม่ตัดสิน และรักต่อไปจนกระทั่งเกิดความ "ชัด" ของชีวิตในอนาคตทีละน้อยๆ

ในช่วงแห่งความเปราะบางนี้เอง เราจะต้องระมัดระวังหลีกเลี่ยงที่จะใส่ Agenda ด้านอารมณ์ลงไปให้ปนเปื้อน แทนที่ไฟ negative เก่าๆจะไหม้จนหมดไป และสามารถมองเห็นอนาคตใหม่ผุดปรากฏขึ้น เราอาจจะเผลอ (หรือจงใจ) เติมฟืน เติมไฟ ลงไปเรื่อยๆให้คุกรุ่น ไม่ดับง่ายๆ นี่ก็เป็นวิธีการสร้าง propaganda หรือการล้างสมองคน เติมโกหก เติม emotional stories เข้าไป จนเกิด One fact/ One view ไม่สามารถอธิบายเรื่องราวด้วยมิติอื่นๆได้ ยกเว้นมิติเดียว ที่สุดคนที่ถูกก็คือเรา คนอื่นผิด (One us/ One them) ใครคิดเห็นไม่เหมือนกันกับเรา ต้องเป็นฝ่ายตรงกันข้าม คือฝ่ายผิดเท่านั้น

การเติมเชื้อเพลิงลงไป อาจจะทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการ เช่น เราเกิด sympathy แทนที่จะแค่ empathy คืออารมณ์เราดิ่งลงไปกับเรื่องราวของเขาด้วย หรือเราเองอาจจะมี bias เข้าข้างในเรื่องราวคำอธิบายนั้นๆอยู่แล้ว (ลืมไปว่า อธิบายแบบนี่แหละ ที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งแต่แรก) แทนที่เราจะ "สะท้อนเหตุการณ์" ว่าแล้วชีวิตเกิดผลกระทบอะไรบ้าง และกับคนรอบข้าง กับการรับรู้ของมุมอื่นๆอย่างไรบ้าง เราก็กลายเป็นกระจกเบี้ยวๆ เติมโลกที่บิดเบี้ยวมากยิ่งขึ้น ซึ่งถ้าเป็นการทำอย่างตั้งใจ นี่ก็คือ "วิถีแห่งทรราชย์ Tyrant Route" นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 373258เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2010 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณค่ะที่ช่วยให้เห็นแง่มุมลึกซึ้งของ "ศาสตร์และศิลป์"แห่งการเล่าเรื่องที่มีผลกระทบที่อาจคาดไม่ถึง...บางเวลาจึงอยากอยู่เงียบๆ เพื่อค้นหาตัวเองให้ชัดเจนก่อนสื่อความกับผู้อื่น ที่เรายังไม่มั่นใจว่า เรื่องเล่าของเราจะตรงใจผู้ฟังหรือไม่ ?...เป็นเรื่องของ สื่อส่ง และ สื่อรับ ที่ต้องปรับคลื่นให้ตรงกัน..โลกแห่งการสื่อสารด้วย ใจ ถึง ใจ จึงจะราบรื่นมีความสุข..

                  

สวัสดีครับพี่นงนาท

ใจผมคิดว่าบางทีขอเพียงเรา authentic คือ "จริงแท้" กับเรื่องที่เราเล่า ส่วนจะตรงกับใจคนฟังหรือไม่ ก็ไม่เป็นไร

เพราะเรา "ไม่มีทาง" หรือ "ยากมาก" ที่เราจะทราบว่าเราได้ลงไปนั่งในใจของใครหรือไม่ แล้วรึยัง หรือแค่ไหน

จะดูยังไงล่ะครับ? สีหน้า การพยักหน้า ยิ้ม นั่งจด นั่งหลับตา ลืมตา ฯลฯ มีความหมายว่าอย่างไร เราก็ยากที่จะทราบได้ แต่ที่แน่ๆก็คือ เราสามารถรู้ได้ว่าเราเชื่อในสิ่งที่เราพูดมากน้อยแค่ไหน และเราพูดจากหัวใจ หรือพูดจากความทรงจำ (แบบนกแก้วนกขุนทอง) พูดแบบ first-hand knowledge หรือ second-hand, third-hand, forth-hand กันแน่ เล่าในสิ่งที่เราเองเป็นคนลงมือกระทำ กับเล่าในสิ่งที่เราอ่านเจอ ก็ไม่เหมือนกัน

ต่อเมื่อเรายอม "เปิดใจ" ของเราออกมาเองก่อน นี่เป็นการเชื้อเชิญที่ชัดเจนที่สุดแล้ว เราหวังว่าทำเช่นนี้คนอื่นคงจะเปิดใจกับเราบ้าง แต่ถ้าเราตั้งเงื่อนไขไว้ว่า ต้องคนอื่นก่อน คิดๆดูแล้วถ้ามีเงื่อนไขแบบนี้ทุกคน ก็จะไม่มีใครมีวันเปิดใจเลย

ใจถึงใจนั้นเป็นความคาดหวัง แต่คงจะไม่ใช่เงื่อนไข หรือ protocol ที่เราสามารถบังคับจัดให้ได้ เรื่องของใจ ชื่อก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องของความคิด ที่เรายังจะ manipulate ได้ แต่ "ความรู้สึก" นั้นมันมาทันที เหมือนเวลาเราถามว่า "สุขหรือไม่?" นี่เป็นความรู้สึก เราสุขหรือเราทุกข์ บอกได้ทันทีโดยไม่ต้องนึกครุ่นคิดหา criteria ว่า "เอ... วันนี้เรายิ้มไปครบ 5 ครั้ง ซึ่งแปลว่า สุขปานกลาง" หรือ "อืม.... วันนี้เรายิ้มไป 7 ครั้ง แต่หงุดหงิด 3 ครั้ง รวมกันเป็นเกือบๆสุข" ความรู้สึกเป็น here and now และบางทีก็ยากที่จะจดจำว่าเรารู้สึก "อย่างไร" ในอดีต อาจจะจำได้ลางๆว่าดีไม่ดี แต่ exactly อย่่างไรนั้น มันผ่านไปเรียบร้อยแล้ว

ขอบพระคุณที่มาแลกเปลี่ยนครับผม

มาเรียนรู้ค่ะ..เป็นอีกคนที่เคยมองว่า

"การเล่าเรื่อง" เป็นกิจกรรมที่ไม่มีความเสี่ยง

แต่จริง ๆ เสี่ยง..เป็นความเสี่ยงที่น่าวิตก

และคนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักด้วยค่ะ

เป็นเพราะตอนนี้เรากำลังรู้สึกตื่นเต้นในวาระแรกที่เราเริ่มจะ "เปิดใจ" ฟังเรื่องราว

เกิดความรู้สึกได้ถึงความเชื่อมโยง มิตรไมตรี และความสัมพันธ์ที่กำลังงอกงาม แลกกับการที่เรายอม​ "เปราะบาง" ถอดเกราะหุ้มหน้าหุ้มตา หุ้มหัวใจเราลงไป

แต่เรื่องนี้พวกที่มีงานทำหน้าที่ manipulate ผู้คนอยู่ตลอดเวลาจะมุ่งหาจุดนี้ เพราะทราบว่าเมื่อคนเรา "ยอม" แล้ว การจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็เป็นขั้นตอนที่ง่ายลงเยอะ ผลสุดท้ายก็จะขึ้นกับเจตนาของคนที่จะใช้โอกาสนี้

ในยุคแห่ง propaganda โฆษณาชวนเชื่อ จะเห็นการ manipulate อารมณ์เพื่อควบคุมความประพฤติอยู่ได้เรื่อยๆ แต่พวกเรา วิชาชีพแพทย์พยาบาลกลับคุ้นชินกับการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้เหตุผล logic ตรรกะมาตลอด และเราก็พ่ายแพ้ในสงคราม propaganda มาตลอด สม่ำเสมอเช่นกัน

วิธีทุกวิธีนั้น จะ wholesome หรือ unwholesome จะดีหรือไม่ดี คงไม่ได้ขึ้นกับวิธีเอง แต่ขึ้นกับเจตนาคนใช้เป็นสำคัญ narrative เป็นวิธีที่ทรงประสิทธิภาพในการปรับการรับรู้ ความรู้สึก ส่งผลไปถึงความคิดและพฤติกรรม ซึ่งสามารถมีได้ทั้งดีและไม่ดี เราจะใช้เครื่องมืออะไรสักอย่าง น่าจะรู้ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้ เมื่อนั้นเราจะได้ใช้มันอย่างมีสติ ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือความเชื่อที่ไม่ได้เป็นกลาง ไม่ได้เพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ส่วนรวมอย่างแท้จริง

สวัสดีค่ะ อ.หมอสกล

บันทึกนี้ยกประเด็นที่กระชากใจหนูออกมาเลยทีเดียว เพราะในบางโอกาสที่เราได้สัมผัสเรื่องบางเรื่องที่ผ่านกระบวนการสื่อสารด้วยการเล่าเรื่องจากใครสักคน โดยไม่ว่าจะผ่านตัวกลางที่เป็นน้ำเสียง ท่าทาง หรือแม้กระทั้งการตัวอักษร และด้วยเหตุจูงใจบางอย่างก็เลยดันหลงลืมเอาสติตัวเองไปเป็นตัวละครในเรื่องเล่านั้น เลยทำให้สติหายไปชั่ววูบ และก็ต้องกลับมาตั้งสติฟัง อ่าน และคิดให้ดีๆ ก่อนที่จะกระทำการตัดสินเหตุการณ์ เรื่องราวที่รับรู้ออกไป

ซึ่งเหตุการณ์และเรื่องราวต่างๆ ที่รับฟัง และเห็น บางทีมันเป็นเรื่องเล่าที่ถูกเติมความโน้มเอียงของผู้ส่งสารหรือผู้เป็นตัวกลางนำสารนั้นมาหาเรา การระมัดระวังในการปักใจเรื่องใดๆ เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เลยนะคะ

ขอบคุณอาจารย์มากค่ะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท