Eureka_au
SHA_กรุงเทพหาดใหญ่ อุทัยวรรณ ( อุ๊ ) สุวรรณพรหม( สกุลเดิม ) พนาโยธากุล

ลิงกับลา


 

ลิงกับลา     
    
 
หญิงชาวบ้านคนหนึ่งอาศัยอยู่คนเดียวในกระท่อม ด้วยความเหงานางจึงหาสัตว์มาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนสองตัว คือ ลิงและลา
วันหนึ่งหญิงชาวบ้านคนนี้ต้องออกไปตลาดเพื่อซื้ออาหาร ก่อนออกจากบ้านเธอได้เอาเชือกมาผูกคอลิง แล้วมัดขาของลาเอาไว้ทั้งสองข้าง
เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงทั้งสองตัวเดินย่ำไปมาในกระท่อมจนทำให้ข้าวของต่างๆ ได้รับความเสียหาย ทันทีที่หญิงชาวบ้านออกจากบ้านไป
ลิงซึ่งมีความฉลาดและแสนซนเป็นคุณลักษณะประจำตัวก็ค่อย ๆ  คลายปมเชือกออกจากคอของมัน อีกทั้งยังซุกซนไปแก้เชือกมัดขาให้แก่ลาอีกด้วย
 
หลังจากนั้นเจ้าลิงก็กระโดดโลดเต้น  ห้อยโหนโจนทะยานไปทั่วกระท่อมจนทำให้ข้าว ของต่างๆ ล้มระเนระนาดกระจัดกระจายไปทั่ว
อีกทั้งยังซุกซนรื้อค้นเสื้อผ้าของหญิงชาวบ้านมาฉีกกัดจนไม่เหลือชิ้นดี ในขณะที่ลาได้แต่มองดูการกระทำของเจ้าลิงอยู่เฉย ๆ สักครู่หนึ่ง
หญิงชาวบ้านคนนี้ก็กลับมาจากตลาด เจ้าลิงมองเห็นเจ้าของเดินมาแต่ไกลจากทางหน้าต่าง ก็รีบเอาเชือกมาผูกคอตนไว้ อย่างเดิมและอยู่อย่างสงบนิ่ง
 

 
 
ฝ่ายหญิงชาวบ้านเมื่อเปิดประตูกระท่อมเข้ามาเห็นข้าวของของตนถูกรื้อค้น กระจุยกระจายเช่นนั้นก็เกิดโทสะขึ้นทันที หันมองลิงและลา
เพื่อดูว่าใครเป็นผู้ก่อเรื่อง และเห็นว่าลาไม่มีเชือกผูกขาดังเดิม เธอก็คิดเอาเองว่าเจ้าลานี่เองคือตัวปัญหา ทำให้กระท่อมของเธอมีสภาพไม่ต่างจากโรงเก็บขยะ
 
 
 
 


ดังนั้นหญิงชาวบ้านจึงวิ่งไปหยิบท่อนไม้นอกบ้านมาทุบตีลาอย่างรุนแรง   ซึ่งเจ้าลาผู้น่าสงสารก็ได้แต่ส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดจนสิ้นใจโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย
 
เธอทั้งหลาย...
    เธอหลายคนคงไม่ค่อยชอบตอนจบของนิทานเรื่องนี้นัก เพราะสงสารเจ้าลาที่ไม่ได้ทำความผิดอะไรแต่กลับถูกเจ้าของทำโทษจนตาย   
ส่วนเจ้าลิงซึ่งเป็นต้นเหตุแท้ๆ กลับรอดพ้น และไม่ได้รับผลกรรมใดๆ แต่แท้ที่จริงแล้วนิทานเรื่องนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึง ความเป็นผู้นำของหญิงชาวบ้าน
 
ที่ไม่พิจารณาเหตุการณ์ให้ถ่องแท้  เชื่อแค่สิ่งที่ตนเห็นแล้วลงโทษไปตามความรู้สึกและประสพการณ์ส่วนตัว  เธอมองเห็นข้าวของเสียหาย
และมองเห็นลาที่หลุดออกมาจากเชือก แล้วตัดสินว่าลาคงเป็นผู้กระทำ  แต่ไม่ได้มองว่าลาไม่มีปัญญาจะแก้เชือก และไม่มีนิสัยชอบรื้อทำลาย
เธอมองเห็นลิงยังถูกเชือกล่ามอยู่ก็คิดว่าลิงคงไม่ใช่ผู้กระทำ แต่มองไม่ออกว่าผู้น่าจะแก้ปมเชือกได้และมีนิสัยชอบรื้อทำลายนั้นคือลิง  ความจริงถ้าเธอรู้จักสำรวจ
 
ร่องรอยความเสียหายเสียสักเล็กน้อย เธอก็จะพบรอยเท้าและฟันของลิงกระจายไปทั่วห้อง แต่ไม่พบรอยเท้าของลาเลย เพราะลาไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน     
 
     เหตุที่องค์กรของเราต้องเหน็ดเหนื่อยทรมานกันอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะความสะเพร่าของผู้นำที่ "ปล่อยให้ลิงสร้างปัญหา แต่ลารับเคราะห์"
ลาก็เหมือนกับคนที่ปฏิบัติงานได้ตามหน้าที่ แต่ไม่ค่อยมีปากมีเสียง พูดจาตรงไปตรงมาแต่ไร้เลห์เหลี่ยม ลิงก็เหมือนกับคนที่ฉลาดแกมโกง
พูดมากพรีเซ็นต์เก่ง อ้างอิงตำราได้สารพัด แต่ไม่เคยทำงานจริง นายที่ดีไม่ควรปล่อยให้ลิงหลงระเริงว่าทำผิดเท่าไหร่นายก็ไม่มีทางรู้
ผู้เป็นนายไม่ควรยึดติดความสบาย นั่งขึ้นอืดรอฟังแต่รายงานในห้องประชุม รู้จักยอมเสียสละตน สละเวลาอีกเล็กน้อยเพื่อค้นหาความจริง
เพื่อควบคุมเจ้าลิง เพราะไม่เช่นนั้น องค์กรก็จะทุกข์ทรมานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าลิงสงบได้องค์กรก็จะพลอยสบายและมีความสุขอย่างยั่งยืนไปด้วย

คำสำคัญ (Tags): #ลิงกับลา
หมายเลขบันทึก: 372945เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2010 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาอ่านเรื่องราวดี ๆ ระหว่างลิงกับลา แต่บุษราไม่มีภาพ เลยนำภาพนี้มาฝากแทนค่ะ

                         

  • จริงอย่างนิทานครับ อ่านแล้วได้สติคิดรอบคอบขึ้น
  • ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ คุณ Eureka au นิทานเรื่อง ลิง กับ ลา อ่านนิทานเพลิน ตอนจบเศร้าเลย ว่าจะขอยืมไปเล่าให้เด็กๆฟัง แต่จะสรุปว่า ควรพิจารณาไตร่ตรองให้ดี ก่อนที่จะตัดสินใจแก้ปัญหา ความเป็นผู้นำของ "หญิงชาวบ้าน" นำแล้วทำให้บ้านไม่สงบ แปลว่า ไม่มีภาวะผู้นำ อยู่เฉยๆดีกว่าค่ะ

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทาย และมาหย่อนความระลึกถึงกันค่ะ 
  • ช่วงนี้เข้าหน้าฝนแล้วรักษาสุขภาพด้วยค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

                   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท