ยุทธศาสตร์ไอซีทีเพื่อความเสมอภาคทางสังคม การเตรียมความพร้อมในยุคเครือข่ายสังคมออนไลน์


ข้อเสนอเพื่อจัดทำกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ICT 2020 นอกจากการสร้างความเท่าเทียมทางเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน ระบบฐานข้อมูล การสร้างความรู้ในการใช้งาน การกระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจในการใช้งาน การเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์ ทั้ง การจัดการประชากร การจัดการความสัมพันธ์ การจัดการทรัพย์สิน กระบวนการยุติธรรม ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการสร้างความเท่าเทียมได้อย่างแท้จริง

 

                ในการประชุมระดมความคิดเห็นต่อร่างกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารระยะ พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๖๓ ของประเทศไทย หรือ ICT2020 ในประเด็นเรื่อง ยุทธศาสตร์ไอซีทีเพื่อความเสมอภาคทางสังคม หรือ Social Equality ซึ่งจัดโดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ

            ร่างกรอบนโยบายฉบับนี้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า “ไอซีทีเพื่อประกันสิทธิในการเข้าถึงบริการสื่อสารโทรคมนาคมและข้อมูลข่าวสารอย่างเสมอภาค และ ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ สังคม และ วัฒนธรรมอย่างเท่าเทียมกันของประชาชน”

            ทั้งนี้ร่างกรอบนโยบายฉบับนี้ มีเป้าหมายหลัก ๕ ด้าน คือ (๑) การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศและดิจิทัล (๒) สร้างความรอบรู้เท่าทันสื่อ เท่าทันสารสนเทศ และ เท่าทันเทคโนโลยี (๓) คนไทยใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตและสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง (๔) คนไทยมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายและบริการสังคมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกรูปแบบ และ (๕) เกิดเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ที่มีคุณภาพเข้าใจความแตกต่างของชีวิต วัฒนธรรมที่มีอยู่หลากหลาย

            ร่างกรอบนโยบายฉบับนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก เพราะการสร้างโอกาสในความเท่าเทียมทางเทคโนโลยีถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ อีกทั้ง ยังเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่สิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆที่มนุษย์ควรได้รับ ในฐานะของสิทธิมนุษยชน ทั้ง สิทธิในการที่ติดต่อสื่อสาร รวมไปถึง สิทธิที่จะได้รับการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ สิทธิในการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการซึ่งสะท้อนผ่านการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆที่มีอยู่อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะ เครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือ Social Network ซึ่งได้กลายเป็นช่องทางการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นของกลุ่มคนเฉพาะกลุ่ม

            ดังนั้น ประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงเป็นประเด็นสำคัญทั้งในฐานะ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” และ “สิทธิตั้งต้น” ในการเข้าสู่สิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ

            เพื่อทำให้ร่างกรอบนโยบายดังกล่าว นำไปสู่การจัดทำดัชนีชี้วัด และ กลยุทธ์ รวมถึง มาตรการที่สามารถตอบโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเท่าเทียมได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาประเด็นสำคัญหลัก ๕ เรื่อง

ประเด็นที่ ๑       ใครคือบุคคลเป้าหมายของการพัฒนาเพื่อสร้างความเทียม หรือ จะตั้งคำถามให้เข้าใจได้ไม่ยากก็คือ ความเสมอภาคนี้เพื่อใคร นั่นหมายถึง เป็นการตั้งคำถามว่า ใครคือประธานแห่งสิทธิ ???

            ในร่างกรอบนโยบายฉบับนี้ ใช้คำว่า “คนไทย” ในขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ที่จะมีผลใช้บังคับในปี ๒๕๕๕ –๒๕๕๙ มีกรอบแนวคิดในการพัฒนาเชื่อมโยงผ่านทุนทั้ง ๖ ด้าน กล่าวคือ ทุนธรรมชาติ ทุนกายภาพ ทุนสังคม ทุนมนุษย์ ทุนการเงิน และทุนวัฒนธรรม จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในแผนฯนี้ใช้คำว่า ทุนมนุษย์ ซึ่งอาจทำให้เกิดการขยายอาณาเขตของคำว่า ประชากรเป้าหมาย ที่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ความมี “สัญชาติไทย” เท่านั้น แต่กินความกว้างถึง มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนอาณาเขตของประเทศไทย

            การตีความในลักษณะดังกล่าว จะมีความครอบคลุมและเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับสภาพความจริงในสังคมไทย เพราะในความเป็นจริงแล้ว บุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย อาจไม่มีสัญชาติไทย บุคคลต่างด้าว หรือ อาจจะเป็นบุคคลไร้สัญชาติ หรือ อาจจะเป็นบุคคลที่รอการพิสูจน์สัญชาติ (แต่ในทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอาจมีสัญชาติไทย) ไม่ว่าจะจะเป็นบุคคลในลักษณะในก็ตาม บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นมนุษย์ที่อยู่ในประเทศไทย เท่ากับว่า ประธานแห่งสิทธิจึงน่าจะหมายถึง มนุษย์ทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้ถูกจำกัดโดยสัญชาติ ภาษา เชื้อชาติ เพศ อายุ รวมไปถึง สมรรถนะ หรือ ความด้อยโอกาสที่เกิดขึ้นในทางร่างกาย สติปัญญา จิตใจ ดังนั้น ในกรอบนโยบายฉบับนี้ มนุษย์ทุกคนในประเทศไทยจึงควรได้รับสิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ในฐานะ สิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่ ๒         การพิจารณาถึงความเท่าเทียม ความเท่าเทียมที่ว่านี้ เป็นเท่าเทียมในประเด็นอะไรบ้าง

หากพิจารณาจากวิสัยทัศน์และเป้าหมายหลักของร่างกรอบนโยบายด้านไอซีทีฉบับนี้ ไมได้จำกัดเฉพาะแต่ ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ แต่ยังหมายรวมถึง ความเท่าเทียมทางสังคม วัฒนธรรม หากตีความให้ชัดเจน ในประเด็นด้านความเท่าเทียมนี้เป็นการสร้างความเท่าเทียมตามสิทธิในแง่มุมต่างๆ ใน ๗ มิติหลัก คือ (๑) สิทธิในการเข้าถึง หมายถึงความเท่าเทียมการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และ โอกาสในการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน ถูกต้องและบริการจากภาคส่วนต่างๆอย่างเสมอภาค (๒) สิทธิในการได้รับการพัฒนาศักยภาพ ทั้งการลดความเหลื่อมล้ำในการใช้งาน การสร้างโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (๓) สิทธิในการมีส่วนร่วม โดยการสร้างการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และ (๔) สิทธิในการประกอบอาชีพ การได้รับโอกาสในการแสดงความสามารถอย่างเสมอภาค รวมทั้งโอกาสในการได้รับการพัฒนาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม (๕) สิทธิในอนามัย  (๖) สิทธิในทางทรัพย์สิน (๗) สิทธิในการรวมตัวกันเป็นชุมชน เครือข่ายทางสังคม รวมไปถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็น และ (๘) สิทธิในการได้รับความคุ้มครอง

ประเด็นที่ ๓       การสร้างปัจจัยเสริมให้เกิดความเท่าเทียมทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

ประเด็นสำคัญต่อเนื่องจากการพิจารณาถึงประธานแห่งสิทธิ และ สิทธิที่ควรได้รับการคุ้มครองเพื่อสร้างความเท่าเทียมในทางสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คือ การดำเนินการให้เกิดการสร้างระบบและกลไกในการทำงานเพื่อคงไว้ซึ่งความเท่าเทียมในความปฏิบัติ ข้อเสนอประการสำคัญก็คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับเจ้าของสิทธิในการตระหนักรู้ถึงสิทธิของตนเองที่ควรได้รับการคุ้มครองอย่างเสมอภาค เพื่อทำให้เจ้าของสิทธิสามารถดำเนินการเพื่อเรียกร้องตามสิทธิ การคุ้มครองสิทธิของตนเองของเจ้าของสิทธิ อันจะเป็นการลดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในทางสังคมได้ รวมไปถึงกระบวนการเยียวยา หรือคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียม

ประเด็นที่ ๔         การกระตุ้นให้เกิดความอยากใช้งานของปัจเจกบุคคล เพื่อสร้างกระบวนการอยากเรียนรู้ในระดับกลุ่มและชุมชน

ไม่เพียงแต่การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเจ้าของสิทธิแล้ว การกระตุ้นให้มนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคลเกิดความคิดความเชื่อจนเป็นวัฒนธรรมในการใช้งานไอซีทีในชีวิตประจำวันเป็นกลไกสำคัญในการทำให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะหากมนุษย์ในสังคมไทยเริ่มเห็นความสำคัญ และ ต้องการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผลความต้องการดังกล่าวจะทำให้เกิดการพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีเพื่อ การพัฒนาข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาทักษะการเรียนรู้เพื่อการเข้าถึงและใช้งาน รวมไปถึง การพัฒนาสังคมในโลกออนไลน์ตามการเติบโตทางเทคโนโลยีในยุค ๒.๐ และ ๓.๐

ประเด็นที่ ๕         การเตรียมความพร้อมของการเปลี่ยนแปลงจากสังคมจริงสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์

            ประเด็นสำคัญของการเตรียมความพร้อมในโลกแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารก็คือ การเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงจากสังคมแห่งโลกจริงเข้าสู่เครือข่ายสังคมออนไลน์ในยุคเว็บ ๒.๐ และ ๓.๐ การเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต กำลัง เข้าสู่ภาวะ การเติบโตของเครือข่ายสังคมออนไลน์ มากขึ้นทุกขณะ นั่นหมายความว่า ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต กำลังเข้าสู่การเป็นสมาชิกในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่ ในโลกของเกมคอมพิวเตอร์ที่กำลังจะกลายเป็นสังคมอีกสังคมหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์

            การเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ คงจะต้องเตรียมการใน ๓ ประเด็นหลักสำคัญ คือ (๑) การจัดการประชากรในเครือข่ายสังคมออนไลน์ และ ระหว่างเครือข่ายสังคมออนไลน์ ในโลกสังคมออนไลน์ การพิสูจน์ตัวบุคคลเกิดขึ้นได้ยาก เพราะยังคงต้องต่อสู้กับแนวคิดเรื่องดินแดนแห่งเสรีภาพของมนุษย์ในโลกออนไลน์ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า การจัดการประชากรในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์เกิดขึ้นไม่ได้เลย ในการจัดการโดยอาศัยเทคนิค เช่น ระบบ IP Addressลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือแนวคิดเกี่ยวกับ ๑ ตัวตน ๑ บุคคล เริ่มมีการสร้างและปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

            (๒) การจัดการความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในโลกออนไลน์ ทั้ง (ก) กติกาภายในระหว่างกันเองของสมาชิกในเครือข่าย ที่มักจะปรากฏในรูปของ Term of Condition และอาจะเติบโตเป็น Code of Conduct ที่อาจจะมี Code of Ethic แฝงอยู่ด้วย จำเป็นที่จะต้องสร้างแนวคิดในการกำกับดูแลกันเองของเครือข่ายสมาชิกในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ให้กลายเป็นวัฒนธรรมและจารีตประเพณีในการกำกับดูแลสมาชิกในเครือข่ายที่เคารพต่อกฎหมายธรรมชาติ  รวมถึง การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น การจัดระดับความเหมาะสมของเนื้อหาเว็บไซต์ของตนเองโดยเครือข่ายสมาชิกในเครือข่าย ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคมที่น่าสนใจ และ (ข) การเคารพต่อกฎเกณฑ์ในโลกแห่งความเป็นจริง คือ กฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ โดยไม่ได้มองว่าเป็นกฎเกณฑ์คู่ขนานกับโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ และ (๓) การสร้างกระบวนการหรือกลไกเพื่อคุ้มครอง เยียวยาหากเกิดการละเมิดสิทธิให้กับผู้ถูกละเมิด หรือ ผู้ด้อยโอกาสในทางเทคโนโลยี

            (๓) การจัดการทรัพย์สินในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพราะการเติบโตทางเทคโนโลยีและความเชื่อในเรื่องเสรีภาพทำให้การเคารพซึ่งสิทธิในทรัพย์สินในโลกเครือข่ายสังคมออนไลน์มักถูกละเลย นำมาซึ่งปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้น การสร้างกลไกรองรับการเคารพซึ่งสิทธิในทรัพย์สิน ตลอดจน แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมการแบ่งปัน และ การใช้ทรัพย์สินร่วมกัน ที่ปรากฏในรูปของ Creative Common จึงเริ่มปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในสังคมเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวนี้ ยังไม่เติบโตแพร่หลายยังคงจำกัดอยู่ในวงเฉพาะกลุ่ม

หมายเลขบันทึก: 372943เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2010 08:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 01:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เก็บประเด็นได้ละเอียดเนาะ

แต่จะเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกจบได้ไหม ? อันนี้ ไม่แน่ใจ เพราะดูไม่สนใจสื่อสารกับเหล่าคณาจารย์เลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท