เดินเท้าตามเส้นทางสายวัฒนธรรมเมี้ยง


ชาวบ้านที่นี่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวโยงความเชื่อ ความศรัทธา และความสัมพันธ์ที่มีต่อป่าเมี้ยง ป่าเขา บรรพบุรษ และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ที่ช่วยให้เขาได้มีข้าว มีน้ำ มีอาหาร มีเมี้ยง และมีความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยความเชื่อและความผูกพันของคน-เมี้ยง-ป่า

ต้นเมี้ยง

“เมี้ยง” หรือบางคนเรียกว่า “โอเล่ชาวดอย” หรือ “ลูกอมชาวบ้าน” น่าจะเป็นของขบเคี้ยวกินยามว่าง ที่อยู่กับชาวเมืองน่านมาช้านาน นอกจากจะเป็นของกินขบเคี้ยวยามว่าง แก้ง่วงนอนแล้ว เมี้ยงยังเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นของที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ เมี้ยงจึงเป็นสิ่งที่คู่กันกับวิถีชาวบ้านที่ขาดไม่ได้ บางคนเรียกว่าติดเมี้ยงเหมือนคนสมัยใหม่ที่ติดกาแฟยังไงยังงั้น เมี้ยงจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวบ้าน

“เมี้ยง” มีแหล่งปลูกเพียงไม่กี่แห่งในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่สำคัญ ได้แก่ ตำบลสกาด อ.ปัว, ต.ศรีภูมิ อ.ท่าวังผา, และตำบลเรือง อ.เมืองน่าน เนื่องจากเมี้ยงเป็นพืชที่ขึ้นในป่าที่อุดมสมบูรณ์ต้องอาศัยกับเงาต้นไม้ใหญ่ ดังนั้นหากป่ายัง เมี้ยงก็ยังคงอยู่ เมี้ยงจะไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีป่า ในชุมชนที่ปลูกเมี้ยง ขายเมี้ยงเป็นรายได้หลักของชุมชนก็จะมีการอนุรักษ์ป่าไว้อย่างเหนียวแน่น “เพราะป่าและเมี้ยงคือทุนชีวิตของเขา” นั่นเอง

ทีมงานเดินเท้าเข้าป่าเมี้ยง

เช่นเดียวกับชาวบ้านศรีนาป่าน-ตาแวน ตำบลเรือง อำเภอเมืองน่าน ที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์ผืนป่าดอยหลวงมายาวนานหลายชั่วอายุคน ประวัติศาสตร์ของชาวบ้านที่นี่นั้นแต่เดิมเป็นชาวไทลื้อที่อพยพมาจากแคว้นสิบสองปันนาประเทศจีนอพยพมาตั้งรกรากที่นี่พร้อมกับชาวไทยวน ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านที่นี่จึงมีการสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีกันอย่างเหนียวแน่น และชุมชนที่นี่ได้กลายเป็นแหล่งผลิตหอกดาบให้กับเจ้าเมืองน่านในสมัยก่อน รวมไปถึงการนำเมี้ยงไปถวายเป็นเครื่องราชบรรณาการแก่เจ้าเมืองน่านทุกปี เมี้ยงจึงมิเป็นเพียงของขบเคี้ยวเท่านั้นหากแต่เป็นเครื่องราชบรรณาการที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างของเจ้าเมืองด้วย

ขุนเขาตั้งตะหง่านอยู่ตรงหน้า

“บ้านศรีนาป่าน-ตาแวน” เป็นแหล่งปลูกเมี้ยงขายกันเป็นล่ำเป็นสันเรียกว่าทุกบ้านจะมีป่าเมี้ยงและเก็บเมี้ยงขายเป็นรายได้หลักของครอบครัว พ่อผาย บอกว่ามีคำกล่าวของคนเฒ่าคนแก่ว่า “ข้าวเสี้ยง เมี้ยงบ่ง” หมายความว่า เมื่อข้าวในยุ้งฉางหมด เมี้ยงก็ผลิใบ ชาวบ้านก็สามารถเก็บเมี้ยงไปแลกหรือขายซื้อข้าวมากินได้ เรียกว่าอยู่ได้ไม่ขัดสน แต่ปัจจุบันต้องบอกว่า “เงินเสี้ยง เมี้ยงบ่ง” นั่นคือไม่มีเงินก็ไปเก็บเมี้ยงมาขายได้พออยู่พอกิน

นอกจากจะมีเมี้ยงเป็นรายได้แล้ว จากการที่ช่วยกันดูแลรักษาป่า ทำให้ชาวบ้านสามารถหาของป่ามากินมาขายได้ตลอดปี จำพวกผักกูด ผักหนาม จะข่าน บอน หวาย หน่อไม้ เห็ด ฯลฯ ยอดเมี้ยงก็สามารถนำมาปรุงเป็นอาหารและเครื่องเคียงได้อีกสารพัด ทำให้ชาวบ้านที่นี่จึงผูกพันกับป่าเมี้ยง และป่าดอยหลวงอย่างลึกซึ้ง เรียกว่านี่คือชีวิตของพวกเขาเลยทีเดียว

ชาวบ้านแบ่งป่าออกเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ป่าต้นน้ำจะไม่มีการเข้าไปตัดทำลายได้, ป่าใช้สอย สามารถนำไม้มาใช้สอยได้ตามที่จำเป็น, และป่าเมี้ยง อันเป็นสวนป่าที่ใช้ทำมาหากินของชาวบ้าน ผลของการอนุรักษ์ป่าที่ให้ทั้งอาหารและชีวิตแล้ว สิ่งที่ยืนยันถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้คือ การพบเต่าปูลู เต่าที่หายากในปัจจุบัน พบเพียงไม่กี่แห่ง นี่เป็นตัวชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าที่ชาวบ้านได้เป็นอย่างดี

วิถีการเก็บเมี้ยงของชาวบ้านจะเริ่มตั้งแต่การตื่นแต่เช้าตรู่เข้าไปเก็บใบเมี้ยง แล้วนำมาฮอมเมี้ยงมัดเป็นกำๆ ไป เสร็จจึงนำไปนึ่ง แล้วนำมาอบไว้ในผ้า แล้วจึงนำไปล้างน้ำ นำไปผึ่งให้แห้งจึงค่อยนำไปหมักในโอ่งประมาณ ๑ อาทิตย์ จึงสามารถนำไปขายเป็นเมี้ยงอมได้ โดยจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน

พ่อเปล่ง สอนวิธีการเก็บฮอมเมี้ยง

สาวสาวลองลงมือเก็บฮอมเมี้ยง

นำเมี้ยงที่เก็บฮอมแล้วนำไปใส่ในไหเมี้ยงเตรียมไปนึ่ง

 

สุมไฟในเตานึ่งเมี้ยง

การนึ่งเมี้ยง

เมี้ยงที่นึ่งแล้ว

การหมักเมี้ยง

นอกจากการอนุรักษ์ป่าเมี้ยงและป่าเขาไว้แล้ว ชาวบ้านที่นี่ยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวโยงความเชื่อ ความศรัทธา และความสัมพันธ์ที่มีต่อป่าเมี้ยง ป่าเขา บรรพบุรษ และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ ที่ช่วยให้เขาได้มีข้าว มีน้ำ มีอาหาร มีเมี้ยง และมีความเป็นอยู่ที่ดี ด้วยความเชื่อและความผูกพันของคน-เมี้ยง-ป่า จึงแสดงออกมาถึงพิธีกรรมการความเคารพและสักการะต่อผู้มีพระคุณทุกปี

พ่อผาย บนบานบอกเจ้าที่ เจ้าหลวงเมี่ยง ก่อนเดินทางเข้าป่า

นาป๋างไทย

ในอดีตนาป๋างไทยเป็นบริเวณที่ราบปกคลุมด้วยต้นตะแบกขนาดใหญ่ เป็นที่ตั้งของฐานทัพไพร่พลที่หนีมาจากเมืองเชียงรุ้ง สิบสองปันนา สิบสองจุไท มาสร้างบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ โดยการนำของท้าวราชศรีมา ปู่แสนศรี ปู่ท้าวอินทร์

ต้นไฮหลวง "ป๋างบุญ ป๋างบาป"

บุญคือต้นไฮออกผลให้สัตว์น้อยใหญ่ได้มาเก็บกิน

บาปคือต้นลูกโตขึ้นมาโอบรัดต้นแม่จนตายไป

ผมไม่แน่ใจว่าเป็นปริศนาธรรมที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้ให้ไว้หรือไม่

ต้นไฮหลวงสูงลิบลิ่ว

กี่คนโอบกันแน่

วังชมพู่ มีต้นชมพู่ป่าอยู่มากมาย

วังชมพู่จะมีต้นชมพู่ขึ้นอยู่จึงเรียกว่า "วังชมพู่" เนื่องจากเป็นวังที่มีโขดหินและจำนวนมาก วังนี้จำเป็นที่อยู่อาศัยของเต่าปู่ลู จะพบเต่าปูลูตั้งแต่วังชมพู่ขึ้นไป

รังผึ้งที่อาศัยอยู่บนต้นสมพงษ์(ต้นงุ้น) จำนวนกว่า ๑๐ รัง

แปลกจริงๆ ทำไมชอบมาอยู่ต้นนี้ เสียดายกล้องซูมไม่ถึง เลยไม่เห็นรังผึ้ง

จะข่าน เครื่องปรุงอาหาร สำหรับใส่แกงบอน แกงแค และอีกสารพัด

ต้นจะข่านเยอะจริงๆ

ท่าลับมีด(ท่าหินฝนพร้า)

ในอดีตประมาณ ๕๐๐ ปี ในพ.ศ.๒๐๑๙-๒๐๒๓ ในสมัยท้าวขาก่านเป็นเจ้าเมืองน่าน สถานที่แห่งนี้เป็นที่ผลิตอาวุธโดยการนำของท้าวราชศรีมา ปู่แสนศรี ปู่ท้าวอินทร์ ส่งให้เจ้าปกครองเมืองน่าน เช่น หอก ดาบ มีด พร้า เป็นต้น

ลำห้วยที่ใสเย็นหล่อเลี้ยงชาวตำบลเรืองและไชยสถาน

ฝายชะลอน้ำที่ชาวบ้านทำไว้ตลอดลำห้วย

สิ่งที่เห็นได้ชัดว่าทำไมป่าที่นี่ยังคงอยู่ได้อย่างสมบูรณ์ น่าจะมีปัจจัยหลัก ๒ ประการ สิ่งแรกคือ การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไว้อย่างเหนียวแน่นผ่านความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อเมี้ยง-ป่า-บรรพบุรุษ-เจ้าหลวงเจ้าป่าเจ้าเขา ประการที่สองคือการที่ชาวบ้านยังมีมีอาชีพเก็บเมี้ยงขายเป็นรายได้ เพราะต้นเมี้ยงต้องอาศัยป่าใหญ่ ถ้าไม่มีป่า เมี้ยงก็ไม่โต ดังตราบใดที่ชาวบ้านยังเก็บเมี้ยงขายเชื่อแน่ว่าป่าที่นี่จะยังคงอยู่เช่นเดิม

การได้ร่วมเดินทางสำรวจเส้นทางสายวัฒนธรรมคน-เมี้ยง-ป่า นับเป็นการเดินทางที่คุ้มค่ากับการเรียนรู้ และน่าเลื่อมใสต่อวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของชาวบ้านในการอนุรักษ์ผืนป่าและเมี้ยงไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้มีกินมีอยู่ตลอดไป

อาหารกลางวันสุดหรู กินท่ามกลางป่าเขาและลำธาร

........................................................................

บันทึกการเดินทางเวทีสิ่งแวดล้อมสัญจร

ศูนย์การเรียนรู้ตำบลเรือง

๒ กรกฎาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 372661เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2010 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เสาวลักษณ์ (เด็กครุศาสตร์)

ทุกที่ ทุกชุมชน

ก็พึงอนุรักษ์ สิ่งดีๆของบ้านเกิดไว้ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณพ่อน้องซอมพอ

มาเดินเท้าสิ่งแวดล้อมสัญจรด้วยค่ะ

คุณพ่อน้องฯ ได้รับพัสดุส่งทางไปรษณีย์หรือยังคะ ฝากให้น้องซอมพอค่ะ ;)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท