วิถีเกษตรสร้างสังคม : ๑.โรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ชมรมรักถิ่นคลองทวีวัฒนา


                   

                    ภาพที่ ๑ คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ข้าราชการบำนาญ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ และชมรมรักคลอง-รักษ์ถิ่น ชุมชนริมคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ค้นคว้าและพัฒนานวัตกรรมการทำนาและการทำเกษตรกรรมหลายอย่างที่นำมาใช้ดำเนินชีวิตบนผืนดิน ๒๕ ไร่ รวมทั้งพัฒนาฐานชีวิตให้เป็นแหล่งการศึกษาเรียนรู้ เป็นครูของสังคม ทั้งจากในกรุงเพทมหานครและต่างจังหวัด ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ขณะที่ที่ดินในบริเวณดังกล่าว หากขายด้วยราคาประเมินในปัจจุบันจะราคากว่าไร่ละ ๑๐ ล้านบาท

                   

                    ภาพที่ ๒ ผู้เขียนกำลังนั่งสนทนากับคุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด และ คุณณัฐพล ของสิริวัฒนกุล ประมงอาสา รองประธานกลุ่มเกษตรปลอดภัยจากสารพิษเขตทวีวัฒนาและร่วมเป็นวิทยากรครูอาสาโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ของคุณครูวรินทร์ด้วย

คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด เป็นอดีตครูที่เกิดและเป็นครูอยู่ที่แถวบ้านเกิดเขตทวีวัฒนานี้นับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ นับแต่แถวคลองทวีวัฒนายังเป็นเขตชนบทอยู่ในจังหวัดธนบุรีและยังใช้น้ำมันก๊าดจุดตะเกียง บ้านของคุณครูทำนาและอยู่กับพี่น้องในครอบครัวขยายบนที่นารวมกันแล้วมากกว่า ๑๐๐ ไร่ ต่อมาพ่อแม่ก็แบ่งที่ให้ลูกหลานได้แยกบ้านและทำนาทำสวน คุณครูและครอบครัวได้ ๒๕ ไร่และได้ทำนาด้วยตนเองมาโดยตลอด

แม้เกษียณออกจากชีวิตความเป็นครูแล้ว คุณครูวรินทร์ก็ยังคงทำนาและปลูกบ้าน พาลูกหลานดำเนินชีวิตในวิถีดั้งเดิมอย่างหนักแน่น ทว่า คุณครูก็ต้องตระหนักว่าชีวิตเกษตรกรที่เลี้ยงชีพด้วยการทำนาทำสวนนั้น ก็แรงกดดันรอบด้านให้ดำรงอยู่ได้ยากขึ้นทุกขณะ ทั้งต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผืนดินเสื่อมโทรม ผลผลิตถดถอยทั้งปริมาณและคุณภาพ เกษตรกรและคนดั้งเดิมที่เป็นเจ้าของที่ดินรอบข้างต่างล้มละลายกับการทำนาทำสวน ต้องขายที่ดินและพลิกผันชีวิตเป็นเศรษฐีใหม่ แต่คุณครูและครอบครัวก็ยังคงยืนหยัดไม่ยอมขายที่ดินของพ่อแม่และยังคงทำนาด้วยตนเองอยู่ต่อไป

ประมาณปี ๒๕๔๗ คุณครูก็ได้แรงบันดาลใจจากแนวเกษตรทฤษฎีใหม่และแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยความที่เป็นครู มีกำลังทางวิชาการ การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง รวมทั้งมุ่งมั่นในวิถีเกษตรกร คุณครูจึงสะท้อนสู่การเริ่มต้นทดลองกับชีวิตจริงของตนเองด้วยหลักคิดซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ  ๓ อรรถประโยชน์ คุณค่า และความหมายแห่งชีวิต ๓ องค์ประกอบการบริหารจัดการ และ ๓ ขั้นตอนของการเติบโตอย่างเหมาะสมพอเพียง

  ๓ อรรถประโยชน์ คุณค่า และความหมายแห่งชีวิต 

  • การลดหนี้สินและพึ่งตนเองให้พออยู่พอกิน
  • สร้างภูมิคุ้มกันแก่ตนเองและครอบครัว สร้างสวัสดิภาพ และเพิ่มโอกาสการพัฒนาด้วยการพึ่งตนเองเป็นเบื้องต้น
  • การแบ่งปัน ร่วมสร้างสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ร่วมสร้างชุมชน พัฒนาระบบการจัดการตนเองของส่วนรวมให้เข้มแข็งและทัดเทียมความจำเป็นในเงื่อนไขแวดล้อมทั้งปัจจุบันและในอนาคต

  ๓ องค์ประกอบการบริหารจัดการบนฐานชีวิตเกษตรกรและผสมผสานวิทยาการที่เหมาะสม 

  • มีการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนชัดเจนเพื่อประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร
  • มีการคำนวณปริมาณน้ำกักเก็บให้เพียงพอในการเพาะปลูกตลอดปี
  • มีการวางแผนที่สมบูรณ์แบบ โดยมี ๓ ขั้นตอนของทฤษฎีใหม่ขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นที่สาม

  ๓ ขั้นตอนของการเติบโตอย่างเหมาะสมพอเพียง 

  •   ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น  

       หลักปรัชญาและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       " การผลิตเป็นการผลิตให้พึ่งตนเองได้ด้วยวิธีง่ายๆ ค่อยเป็นค่อยไปตามกำลังพอมีพอกินไม่อดอยาก "
                                                                                                       พระราชดำรัส เมื่อ ๑๕ มีนาคม ๒๕๓๗

        แปรไปสู่การปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตเกษตรกร โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วนเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรและฐานชีวิตเกษตรกรเสียใหม่ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและความจำเป็นในการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับโลกความเป็นจริง ดังนี้
               ส่วนที่ ๑ ร้อยละ ๓๐ ของที่ดินทั้งหมด ขุดเป็นสระกักเก็บน้ำเพื่อเพาะปลูกและใช้สอย
               ส่วนที่ ๒ ร้อยละ ๓๐ ของที่ดินทั้งหมด เป็นพื้นที่ทำนาข้าว
               ส่วนที่ ๓ ร้อยละ ๓๐ ของที่ดินทั้งหมด ปลูกผลไม้หลากหลายชนิด
               ส่วนที่ ๔ ร้อยละ ๑๐ ของที่ดินทั้งหมด ทำเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ใช้สอยที่จำเป็นอื่นๆ

  •   ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง  

       หลักปรัชญาและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       " ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปของกลุ่ม หรือสหกรณ์ ร่วมแรงในการผลิต การตลาด การเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและสิ่งศรัทธา เพื่อให้พอมีพอกิน มีใช้ ช่วยให้สังคมดีขึ้นพร้อมๆกัน ไม่รวยคนเดียว "
                                                                                                        พระราชดำรัส เมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๓๗

  •   ทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม 

       หลักปรัชญาและแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
       " เมื่อดำเนินการขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ร่วมมือกับแหล่งเงินและแหล่งพลังงาน ตั้งและบริการโรงสี ตั้งและบริการร้านสหกรณ์ ช่วยกันลงทุน ช่วยกันพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบทซึ่งไม่ได้ทำอาชีพเกษตรกรอย่างเดียว"
                                                                                                     พระราชดำรัส เมื่อ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘

ด้วยพื้นฐานชีวิตของท่านและแนวทางทำนาทำสวนอันได้มาจากแนวปรัชญาและพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณครูวรินทร์ เขียวสะอาด ก็ได้เรียนรู้ ริเริ่ม และทำสิ่งต่างๆขึ้นมากมายในชีวิตและบนผืนดินของตนเอง กระทั่งปัจจุบัน ก็ได้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งมีสิ่งที่น่าเรียนรู้และน่าสนใจมากมายทั้งสำหรับเกษตรกรและชาวบ้านทั่วไป.

หมายเลขบันทึก: 372503เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2010 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดี ครับ อ.วิรัตน์

ดีใจครับ

ที่อาจารย์นำปูชนียบุคคลที่เปี่ยมล้นค่ามาให้เรียนรู้ และซึมซับองค์องค์รู้ของท่านผ่านชุมชนการเรียนรู้แห่งนี้

ด้วยความระลึกอาจารย์ถึง นะครับ

สวัสดีครับคุณแสงแห่งความดีครับ

  • แสดงว่าสัมนาที่หัวหินเสร็จและกลับสู่การทำงานแล้วใช่ไหมครับ
  • คุณแสงแห่งความดีต้องชอบมากแน่ๆเพราะแนวการทำสวนที่บ้านของคุณแสงแห่งความดีก็เป็นในแนวนี้เลยใช่ไหมครับ
  • ขอให้ได้ความบันดาลใจมากมายครับ

ร่วมกันสร้างพลังแห่งความดีและทางเลือกที่หลากหลายเพิ่มขึ้นของสังคม

วันนี้มีคุณพ่อของลูกๆในกรุงเทพฯโทรศัพท์ถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ของคุณครูวรินทร์ เขียวสอาด ที่ผมได้เขียนเผยแพร่ในบล๊อกแห่งนี้ บอกว่าท่านเป็นผู้พิพากษาและมีลูกกำลังเรียนอยู่โรงเรียนราชินีบน อ่านในบล๊อกนี้แล้วก็อยากจะพาลูกไปเที่ยว ทำให้ผมประทับใจใน ๒ เรื่อง

ประทับใจแรกก็คือ ดีใจที่เรื่องราวอย่างในสื่อความรู้และรายงานความสร้างสรรค์ดีๆที่เป็นส่วนน้อยในสังคมที่ได้เขียนในบล๊อก Gotoknow เพื่อนำเสนอและถ่ายทอดสู่สาธารณะจากความเอาใจใส่ร่วมด้วยช่วยกันอย่างนี้ ทำให้สิ่งดีๆได้ถูกค้นพบด้วยความสนใจดีๆซึ่งก็เป็นส่วนน้อยของสังคมเช่นกัน

ประทับใจที่สองก็คือ ความตั้งใจและความช่างเลือกสรรแหล่งประสบการณ์ชีวิตให้แก่ลูกของคุณพ่อซึ่งเป็นผู้พิพากษาของนักเรียนราชินีบนท่านนี้ ซึ่งทำให้ผมนั่งอธิบายถึงวิธีขับรถพาลูกไปเที่ยวให้ท่านได้ข้อมูลอย่างตั้งอกตั้งใจ ขอให้มีความสุขและได้จิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้ที่ดีปลูกฝังแก่ลูกๆนะครับ

ประวิติของโรงเรียน

สวัสดีค่ะ อาจารย์ ดิฉันมีเรื่องที่จะขอความกรุณา คือว่า ดิฉันต้องทำรายงายส่งอาจารย์ เกี่ยวกับเรื่องโรงเรียนเกษตรทฤษฎีใหม่ ชมรมรักถิ่นคลองทวีวัฒนา ยังขาดประวัติของ โรงเรียน หา ในเน็ตแล้ว ไม่มีค่ะ รบกวนอาจารย์ ช่วยส่ง ประวิต ของโรงเรียน

มาให้ดิฉันหน่อยได้ไหมค่ะ..จักขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

หนูคลิ๊กเข้าไปอ่านอีก ๒ ตอนของลุง แล้วก็เข้าไปอ่านตามลิงก์นี้ http://www.bangkokforum.net/oldwebpage/healthfund_sub_tavee_rakthin.htm ของกลุ่มคนทำงานบางกอกฟอรั่ม แล้วก็สรุป เขียนเรียบเรียงเอาเองนะครับ จะได้ทั้งความรู้และได้ข้อมูลทำรายงานส่งอาจารย์ตามที่ต้องการเป็นอย่างดีครับ

เปิดให้ความรู้กับนักเรียนมะค่ะถ้าเปิกขอที่อยู่เเละเบอร์โทรด้วยได้มะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท