เพลงพื้นบ้าน : ขอเชิญร่วมเสนอแนะวิธีการ/แนวทางในการถ่ายทอดความรู้ของครู (ต่อ)


บนเส้นทางของนักแสดงจะก้าวต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อวงการแสดงมีศิลปินเป็นจำนวนมาก

เพลงพื้นบ้าน : ขอเชิญร่วมเสนอแนะ

วิธีการ/แนวทางในการถ่ายทอดความรู้ของครู (ต่อ)

- อาชีพครู

- ครูมืออาชีพ

- ปราชญ์ชาวบ้าน

- ศิลปินพื้นบ้าน

นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

        การศึกษานำพาคนเราเข้าสู่การมีงานทำ มีอาชีพหาเลี้ยงกาย มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว นั่นแสดงว่าการศึกษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นไปจนจบหลักสูตรในแต่ละระดับจะต้องสอนให้คนมีความสามารถในการตัดสินใจเลือกอาชีพ เข้าสู่อาชีพมีงานทำได้ตลอดเวลา ผมหมายถึงว่าสถานศึกษาต่าง ๆ จะต้องสอนให้ผู้เรียนได้ฝึกประกอบอาชีพ ได้แก่ อาชีพทำอาหาร ทำขนม อาหารกระป๋อง ทำของชำร่วย ของฝาก ทำของใช้ ทำเครื่องประดับ ตอนกิ่ง ปักชำขยายพันธุ์ไม้ กล้วยไม้ ทำอิฐ ตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อมโลหะ ช่างปูน ช่างไม้ เขียนลายผ้า มัดย้อม เพ้นท์สีบนผลิตภัณฑ์ วาดภาพ ปั้นแกะสลักหล่อ ออกแบบเครื่องแต่งกาย ออกแบบลายผ้า ร้องเพลง เล่นดนตรี การแสดงศิลปะท้องถิ่น (เพลงพื้นบ้าน) ยังมีอีกมากมายที่สามารถจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน แต่ความจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ใช่ไหมที่พวกเขาได้ฝึกปฏิบัติ โดยได้พัฒนาสมองซึกขวา ซีกที่จะสร้างสรรค์นำพาชีวิตไปสู่การมีอาชีพ

        ผมมีอาชีพครู แต่ผมมีความใฝ่ฝันมาตลอดว่า จะได้เข้าไปเรียนฝึกหัดครู ที่วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ในปีการศึกษา 2511 เมื่อผมจบออกมาจะกลับไปทำหน้าที่พัฒนาบ้านเกิดที่ อำเภอศรีประจันต์ให้จงได้ ไม่ว่าจะได้มากหรือน้อย แต่ผมกลับได้มาทำงานที่อำเภอดอนเจดีย์ (เป็นอำเภอที่แยกมาจากอำเภอศรีประจันต์) โดยบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนบ้านหนองสานแตร เป็นโรงเรียนแรก แล้วก็ย้ายไปอยู่ที่โรงเรียนดอนเจดีย์ (โรงเรียนอนุบาลพระบรมฯ) แล้วก็โอนย้ายมาอยู่ที่โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 1

        เมื่อผมได้ทำหน้าที่ครู (ผู้สอน ผู้แนะนำความรู้) ผมมีอาชีพเป็นครูและพ่วงด้วยการมีฝีมือทางช่าง มีความสามารถวาดภาพระบายสีทุกชนิด ชอบร้องเพลง เพลงไทยเดิม เพลงแหล่ เสภา การแสดงเพลงพื้นบ้านหลายอย่าง ผมจึงได้นำเอาความรู้ที่ผมมีอยู่ถ่ายทอดไปยังนักเรียนทั้งทางตรง (ในเวลาเรียน) และทางอ้อมโดยการสอดแทรกเข้าไปตามโอกาส (นอกเวลาเรียน) ในช่วงเวลาตอนเย็น หลังเลิกเรียน ทำให้เด็ก ๆ ได้มีสถานที่แสดงความสามารถ ใครชอบวาดภาพก็ทำงานด้านวาดภาพไป ใครชอบร้องเพลงก็ร้องเพลงไป ส่วนใครที่สนใจในเรื่องของเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด และเพลงอื่น ๆ ก็ให้ฝึกหัดกันเป็นทีม

      

      

ถ้าจะพูดถึงผลงานที่เด็ก ๆ เขาทำได้ และส่งผลกลับมาให้เห็น ได้แก่

  1. ได้รับรางวัลจากการประกวดแข่งขันศิลปะ มีมากกว่า 1000 รางวัล
  2. นำเสนอผลงานการแสดงบนเวทีเพลงพื้นบ้าน (ผมและเด็ก ๆ) มากว่า 1,000 รอบการแสดง (700 กว่างาน) ได้รับรางวัลจากการแสดงเพลงพื้นบ้าน 209 รายการ
  3. มีรายได้จากผลผลิต คิดเป็นเงิน 300-1000 บาทต่อคน ต่อ 1 งานแสดง ต้องถือว่าพอสมควรสำหรับงานแสดง ส่วนงานศิลปะวาดก็คิดเป็นชิ้นงาน 25-250 บาท
  4. เป็นความสามารถพิเศษ ที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต นำเอาไปเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ อย่างมั่นใจ
  5. มีอาชีพติดตัว ทำรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวอย่างต่อเนื่อง ได้รับเชิญไปร้องเพลง เชิญไปทำขวัญนาค เชิญไปร้องแหล่อวยพร รับจ้างเพ้นท์สีบทของชำร่วยแจกในงานมงคลต่าง ๆ

       ในส่วนของการศึกษาต่อก็ดำเนินต่อไป แต่ในเรื่องของอาชีพ ในความเป็นจริงไม่ต้องรอจนกระทั่งเรียนจบ หากเรามีความรู้ความสามารถติดตัวอยู่แล้ว หาโอกาสหาเวลาที่จะทำตอนไหน เมื่อไรก็ได้ ผมเคยเล่าให้เด็ก ๆ ฟังว่า “ครูใช้เวลานอกเหนือจากเวลาที่ครูทำงานประจำไปทำงานที่ครูถนัด วาดรูป ร้องเพลง เล่นเพลงพื้นบ้าน แหล่อวยพร ทำขวัญนาค เป็นพิธีกร งานเหล่านี้มิได้ทำให้งานประจำต้องเสียหาย เช่นเดียวกันในระหว่างที่เรียนรู้เพิ่มเติมในทุกระดับ ครูก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยมิเช่นนั้นไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน”

       ผมมีอาชีพครู แต่สนใจที่จะช่วยให้นักเรียนมีอาชีพ ไม่อยากเห็นพวกเขาต้องเรียนอย่างเดียวและเคร่งเครียด มีความรู้เต็มสมองเพื่อไปสอบแข่งขันกับสถานศึกษาอื่น ๆ เพื่อเข้าเรียนในสถาบันดัง ๆ คณะที่เป็นยอดนิยม พอผิดหวังก็มานั่งเสียใจ ทั้งที่ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น น่าจะเป็นว่า เลือกเรียนตามความถนัดของตนเอง เพื่อที่จะได้จบออกไปทำงานตามบทบาทหน้าที่ที่ตนชอบ เรียนจบมามีงานทำโดยไม่ต้องไปพึ่งภาครัฐหรือองค์กรใด ๆ สามารถที่จะพึ่งตนเองได้

       ผมสอนเด็ก ๆ ให้เขามีความรู้ควบคู่ไปกับมีงาน มีรายได้ มีความสุขกับการที่ได้แสดงออกซึ่งความสามารถของตนเอง ถึงแม้ว่าลูกศิษย์ของผมจะไม่ใช่คนเก่งที่สุดของอำเภอ ของจังหวัด ของประเทศ ทั้งนี้เพราะพวกเขาเป็นเด็กที่มีสติปัญญาปานกลาง แต่พวกเขาก็สามารถที่จะไปเรียนต่อจบการศึกษาขั้นสูงมีงานทำ จบออกมาเป็นแพทย์ เป็นวิศวกร เป็นสถาปนิค เป็นครู เป็นคนทำงานทีวี เป็นนักจัดรายการวิทยุ โทรทัศน์ เป็นนักร้อง เป็นนักแสดง เป็นนักเพลงพื้นบ้าน แต่บนเส้นทางของนักแสดงจะก้าวต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อวงการแสดงมีศิลปินเป็นจำนวนมาก “ครู คือ ผู้ให้ความรู้หรือให้อนาคตแก่ผู้เรียน”

       

       

       

       

       

(ชำเลือง มณีวงษ์ ประธานกลุ่มนันทนาการ (เพลงอีแซว) ต้นแบบระดับประเทศ รุ่นที่ 1)

หมายเลขบันทึก: 371885เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2010 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท