ปัญหาคาใจ (4) การเป็นผู้เล่าเรื่องที่ดีนั้นเป็นอย่างไร?


. . เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเล่าเรื่องของเราออกมาดีหรือไม่ดี
คำถาม: การเป็นผู้เล่าเรื่องที่ดีนั้นเป็นอย่างไร? เล่าอย่างไรจึงจะทำให้เรื่องที่เล่านั้นน่าสนใจ?
 
คำตอบ: สิ่งแรกที่เราจะต้องทำความเข้าใจก็คือ ต้องอย่านำการเล่าเรื่องที่เราพูดกันนี้ (ในบริบทของ KM) ไปสับสนปนเปกับการพูดคุยทั่วไปนะครับ เพราะวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) แบบ KM นั้น ก่อนที่จะมาคุยกันได้ ต้องมั่นใจแล้วว่าผู้ที่จะมาร่วมวงนั้นเป็น “คุณกิจตัวจริง” คือเป็นผู้ที่ทำกิจกรรมนั้นมากับมือ มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวติดตัวมา ที่เราเรียกว่า “ความรู้มือหนึ่ง” คือมีประสบการณ์ตรงจากการได้ Practice ในเรื่องนั้นๆ ดังนั้นผู้ที่เข้ามาร่วมวงจึงเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญและสนใจในประเด็นดังกล่าวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
 
การที่เรากังวลเกี่ยวกับฝั่งผู้เล่า (ผู้พูด) เป็นเพราะในการตั้งวงคุย (ลปรร.) ส่วนใหญ่ เราให้ความสำคัญกับการฟังน้อยเกินไป ปัญหาส่วนใหญ่หากมองให้ดีๆ จะพบว่ามาจากฝั่ง “ผู้ฟัง” หลายๆ ครั้งพบว่าไม่ว่าผู้เล่าจะเล่าได้ดีแค่ไหน หากผู้ฟังไม่ใส่ใจ ไม่สนใจฟัง พลังในการเล่าเรื่องก็ลดน้อยลงไปโดยปริยาย การจัดวง ลปรร. ที่ดี จะต้องมีการเตรียมผู้ฟัง การที่หน่วยงานต่างๆ จัดวง ลปรร. ขึ้นมา โดยเชิญ (บังคับ) ผู้ที่ไม่สนใจ หรือไม่เกี่ยวข้องให้ (ต้อง) เข้ามาร่วมวง ถือว่าเป็นการก้าวผิดตั้งแต่ก้าวแรก
 
สำหรับเรื่องเทคนิคการเล่าเรื่องที่ดี สิ่งที่สำคัญผมว่าอยู่ตรงที่ ต้องเล่าแล้ว “เห็นภาพ” คือต้องเล่าให้เห็นบริบท (Context) ไม่ใช่เล่าเฉพาะส่วนที่เป็น “เนื้อๆ (Content)” โดยที่ผู้ฟังยังมองไม่เห็นภาพ (ฉาก) มองไม่เห็น “ตัวละคร” การเล่าเรื่องที่ดีต้องทำให้ผู้ฟังมี “อารมณ์ร่วม” ไปกับผู้เล่า หากผู้เล่าเข้าใจพื้นฐานของผู้ฟังก็จะทำให้การสื่อสาร (ส่งสาร) มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น
 
แต่ถ้าจะให้ผมสรุป ผมก็ยังมองว่าการเตรียมผู้ฟังนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือต้องเป็นการฟังแบบที่หยุดความคิดได้ ฟังแบบที่ไม่ติดกรอบ (กรอบความชอบหรือความเชื่อที่ติดตัวมา) เป็นการฟังอย่างมีปฏิสัมพันธ์ เพราะการฟังแบบที่ว่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การเล่าเรื่องของเราออกมาดีหรือไม่ดีนั่นเอง !
หมายเลขบันทึก: 371392เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณค่ะ..หลังเกษียณใหม่ๆ พี่ใหญ่ถูกเคี่ยวเข็ญจากน้องๆ ให้มาร่วม ลปรร.การทำงานบางเรื่อง...พี่ใหญ่ได้ดึงการมีส่วนร่วมของผู้ฟัง โดยเตรียมประเด็นเล่าที่ผู้ฟังอยากฟังส่งมาก่อนค่ะ...

อาจารย์ครับ ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ

 

      ขอเล่าจากประสบการณ์จริงครับ

 

      กรณีที่ว่า  "การเป็นผู้เล่าเรื่องที่ดีนั้นเป็นอย่างไร"

 

      ผมว่า  อยู่ที่ทั้ง "ผู้เล่า"  และ  "ผู้ฟัง"  นะครับ  ที่จะจูนคลื่นได้ตรงกันพอดี

 

      กรณีของ "ผู้เล่า"

      ต้องเล่า ให้ตรงกับ ความสนใจของผู้ฟัง ครับ  ถ้าผู้เล่า   เล่า    โดยไม่สนใจผู้ฟัง  ว่าเรื่องที่เราจะเล่า  ตรงกับที่ผู้ฟังเขาสนใจหรือไม่   เป็นประโยชน์ต่อเขาไหม  หรือ   เป็นความรู้ใหม่สำหรับผู้ฟังหรือไม่  เล่าอย่างนี้  ก็คงไม่อยากมีใครฟังครับ  กรณีนี้ ผมว่าเป็นความผิดของผู้เล่า

 

     ถ้า  เล่าเรื่องที่ผู้ฟังสนใจ  เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟัง  หรือ เป็นความรู้ใหม่   ผมว่า  ยังไงผู้ฟังเขาก็สนใจฟังเองแหละครับ

 

     เรื่องนี้สังเกตง่ายๆ ครับ วิทยากรที่มาบรรยาย  คนฟังชุดเกียวกัน   คนแรก มาบรรยาย  มีแต่คนคุยกัน  ไม่สนใจฟัง กับอีกคนมาพูด  คนตั้งใจฟัง นั่งกันเลียบกริบ  ข้อนี้   ผมว่าอยู่ที่่ "ผู้เล่า" ครับ

 

      กรณี "ผู้ฟัง"

      พึงระวังผู้ฟังประเภท "ชาล้นถ้วย"  คนประเภทนี้ ไม่สมควรให้มาฟังครับ  และมีผลต่อผู้เล่ามากๆ   ผู้เล่าเล่าไปหน่อย ก็สะดุดและเสียความรู้สึกไม่อยากเล่าแล้วละครับ  ไม่ว่าจะเล่าอย่างไร เขาก็ปฏิืเสธหมด  คนฟังประเภทนี้   มีผลลบต่อผู้เล่ามากๆเลยครับ

 

      ความจริงที่โหดร้าย  จากประสบการณ์จริง  ของการเป็นผู้เล่า

 

      สังคมไทย   มักจะตั้งใจฟังเรื่องเล่าจาก  "ผู้มีอำนาจ"  ครับ   ถ้าผู้มีอำนาจมาเล่า ก็มักจะ "ฟังอย่างลึกซึ้ง"  ครับ  ไม่ว่าเรื่องที่เล่าจะดี หรือ ไม่ดี   มีสาระหรือไร้สาระ  ก็จะตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ

 

     ถ้าคนไม่มีอำนาจมาเล่า  โดยเฉพาะคนที่ต่ำกว่า  แม้นเรื่องที่เล่าจะดีปานใด มีประโยชน์อย่างไร  ก็มักไม่มีคนฟังครับ

 

ขออนุญาตแก้ไขครับ

ต้องเล่า ให้ตรงกับ ความสนใจของผู้ฟัง ครับ  ถ้าผู้เล่า   เล่า    โดยไม่สนใจผู้ฟัง  ว่าเรื่องที่เราจะเล่า  ตรงกับที่ผู้ฟังเขาสนใจหรือไม่   เป็นประโยชน์ต่อเขาไหม  หรือ   เป็นความรู้ใหม่สำหรับผู้ฟังหรือไม่  เล่าอย่างนี้  ก็คงไม่อยากมีใครฟังครับ  กรณีนี้ ผมว่าเป็นความผิดของผู้เล่า

    แก้เป็น   ถ้าเล่าตรงกับความสนใจ  ก็มีคนฟัง  ถ่าเล่าไม่ตรงกับที่เขาสนใจ  ก็คงไม่อยากมีใครฟัง กรณีนี้  ผมว่าเป็นความผิดของผู้เล่า

 

เหมือนเล่านิทานให้เด็กฟังนะคะ

ถ้าเป็นนิทานที่เขาไม่ชอบ เขาก็ไม่ฟัง

ดังนั้น ครูต้องเลือกนิทานที่เด็กชอบ

เด็กจึงจะตั้งใจฟัง

เวลาเล่ามักจะเล่าที่ตัวเองประทับใจมากจริงๆและเป็นเรื่องที่คนอยากฟังทำให้ไม่ต้องดูscriptค่ะ

เพิ่งเชิญคนมาเล่าเรื่องbest practice in HR คุณหมอคนหนึ่งเล่าสนุกเพราะสื่อสารดีและมีข้อแนะนำ อีกคนมีประสบการณ์จริงและสื่อสารเรื่อยๆ คนสนใจไม่มากและไม่พูดถึงค่ะ

ท่าทางการสื่อสารของอาจารย์ทำให้คนประทับใจค่ะ (ชมอย่างจริงใจนะคะเพราะเพิ่งไปชมในplay and playค่ะ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท