KM ในมหาวิทยาลัยนเรศวร
1. จุดเริ่มต้น
เราชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) โชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมสังเกตการณ์และเรียนรู้ Knowledge Management (KM) จากกิจกรรมของ สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) ตั้งแต่ต้นปี 2547 และได้เข้าร่วมกิจกรรม University Knowledge Management (UKM) เมื่อปลายปี 2547 (มน. เป็นหนึ่งในห้ามหาวิทยาลัยที่ร่วมกันก่อตั้ง UKM Network โดยการสนับสนุนจาก สคส.)
2. ความเชื่อ
จากการที่เราได้สัมผัสและเรียนรู้ KM มาระยะหนึ่ง ทำให้เราเกิดความเข้าใจ และเห็นพลังของการได้ความรู้ใหม่ที่เกิดจากการนำเอา “ผลสำเร็จ” ที่เป็นประสบการณ์จริงมาทำการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน(ลปรร.) และสามารถนำพลังนั้นมาใช้ในการปฏิบัติงานได้ดียิ่งๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเกลียวพลังของการพัฒนาคนและพัฒนางาน กลายเป็นจุดที่เป็นความเชื่อและศรัทธา และมีผลเชิงบวกต่อการดำเนินงานด้าน KM ใน มน. อย่างมาก จนเป็นที่มาของ NUKM Logo ดังภาพด้านล่าง
3. วัตถุประสงค์หลัก
ที่ มน. เรานำ KM มาใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันงาน 3 ด้าน ดังภาพด้านล่าง
ด้านการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อก่อให้เกิดวัฒนธรรมการประเมิน / วัฒนธรรมคุณภาพ
จากประสบการณ์เดิมที่เราเชื่อว่า QA (Quality Assurance) จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาในทุกๆ พันธกิจของมหาวิทยาลัยได้ ต่อมาจึงได้มีความคิดที่จะต่อยอดงาน QA ด้วย KM ดังนั้นหากดูในภาพด้านล่างจะเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรม QA ที่เราทำอยู่เดิมกับการต่อยอดด้วย KM เราเชื่อว่าเกลียวพลังของการพัฒนาจะมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ
ด้านการวิจัย เพื่อก่อให้เกิดวัฒนธรรมการวิจัย เพื่อก้าวสู่ “มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย”
เนื่องจาก มน. กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นทางด้านวิจัย (Research-based University) จึงได้นำ KM มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินงานด้านการวิจัยเพื่อให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัยต่อไป
ด้านการจัดการความรู้ เพื่อก่อให้เกิดวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน / มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้
เราเชื่อว่าการประยุกต์ใช้ KM ทั้ง 3 ด้านนี้จะช่วยให้เรามี “ความรู้” ที่พร้อมที่จะผลักดันให้ มน. เป็น มหาวิทยาลัยที่มีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัว (Complex Adaptive University) บุคคลในมหาวิทยาลัยจะเป็นบุคคลเรียนรู้ หน่วยงานต่างๆ ใน มน. จะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ทำให้มหาวิทยาลัยมีความพร้อมและความสามารถมากพอที่จะบรรลุซึ่งวิสัยทัศน์ (Shared Vision) ที่ได้ร่วมกันตั้งไว้ คือ “เป็น 1 ใน 10 มหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศไทย” ในระยะใกล้เน้นด้านพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม ส่วนระยะไกลเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นสากลเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในเขตภาคเหนือตอนล่างและประเทศไทย
4. ยุทธศาสตร์
ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานมี 3 ด้านหลัก คือ
สร้างบุคลากร ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และศรัทธาในกระบวนการของการจัดการความรู้ เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะทำให้เกิดบุคลากรที่มีลักษณะของบุคคลเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สร้างนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรสามารถนำการจัดการความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนางานและองค์กรของตนเองได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาหน่วยงานย่อยต่างๆ ในมหาวิทยาลัยให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
ติดตาม / ประเมินผล เพื่อมอบรางวัล และสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับบุคลากรและหน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น และนำผลการประเมินมาปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งๆ ขึ้นอย่างต่อเนื่อง (Continuous Quality Improvement, CQI)
5. ภาพรวมระบบการจัดการความรู้ใน มน.
จากประสบการณ์ที่เราได้ดำเนินกิจกรรมการจัดการความรู้ในปี 2548 ทำให้ในปี 2549 เราสามารถพัฒนาการดำเนินงานด้าน KM ได้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญ คือ เกิดความเชื่อมโยงของกิจกรรมต่างๆ จนสามารถเห็นเป็นระบบที่เราเรียกว่า NUKM (Naresuan University Knowledge Management) ดังแสดงในภาพด้านล่าง
6. กลไก
กลไกหลักในการขับเคลื่อน NUKM ให้หมุนเป็นเกลียวของการพัฒนาก็คือ “คน” ที่ มน. เรามีการสร้างคนให้มีความรู้ความเข้าใจ และศรัทธาต่อ KM ให้มีจำนวนมากขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อช่วยกันดำเนินงานและเป็นตัวคูณด้าน KM ในหน่วยงานของตนเอง พร้อมๆ กันกับให้เป็นผู้ประสานงานกับส่วนกลางของมหาวิทยาลัย
7. ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ
ความสำเร็จของการทำ KM ใน มน.ในขณะนี้น่าจะอยู่ที่การเริ่มมีระบบและกลไกที่ชัดเจนขึ้นที่จะนำ KM ไปผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมาย และอีกหนึ่งความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจร่วมกัน คือ การก่อเกิดวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันภายใน มน.
ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ น่าจะเป็นเรื่องความจริงใจและจริงจังของชาว มน. ที่ช่วยกันคิดช่วยกันทำ คนละเล็กละน้อย จากเล็กสู่ใหญ่ มากขึ้นตามลำดับของการพัฒนา รวมทั้งการมีเครือข่ายพันธมิตร UKM ที่ช่วยเสริมพลังซึ่งกันและกันอยู่ตลอดเวลา
8. ก้าวต่อไป
ดำเนินการตามระบบและกลไกที่ได้สร้างไว้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงโดยไม่มีคำว่า “จบแล้ว” หรือ “สำเร็จแล้ว” เพื่อขยายเกลียวความรู้ความเข้าใจด้าน KM ให้ครอบคลุมทุกพันธกิจของมหาวิทยาลัย และขยายไปในทุกหน่วยงานทั้งคณะวิชา และหน่วยงานสายสนับสนุน ครอบคลุมบุคลากรในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต “ให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน จนกลายเป็นจิตวิญญานของมหาวิทยาลัย”
วิบูลย์ วัฒนาธร
4 กรกฎาคม 2549
.
อาจารย์เขียนได้ครอบคลุมทำให้เห็นภาพใหญ่ว่า "การจัดการความรู้ของ มน." จึงขออนุญาตนำข้อเขียนนี้สำหรับไปทำ poster นิทรรศการในงานมหกรรม KM ราชการสู่ LO ในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ค่ะ และขออนุญาตปรับ/ตัดบางถ้อยคำเพื่อให้กระชับชึ้นสำหรับการทำโปสเตอร์ โดยเนื้อหาเต็ม ๆ ซึ่งอยากให้อาจารย์ช่วยเติม กรณีตัวอย่างการพัฒนาที่เห็นชัดเจนไม่ว่าจะเป็น คน/กลุ่ม/คณะ/ เพิ่มเติมค่ะ ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้จะ แจกผู้เข้าร่วมงานค่ะ
พร้อมกันนี้ขอรบกวนอาจารย์ช่วย ส่งภาพประกอบ (ขนาด 300 พิกเซล) สำหรับประกอบการทำโปสเตอร์ (ขอเป็นภาพตามที่อาจารย์ใส่มาในข้อเขียนก็ได้ค่ะ) ทาง e-mail : [email protected],[email protected]
อีกส่วนหนึ่งคือ สำหรับนิทรรศการนั้น ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่ประจำ booth จำนวน 1-2 คน (ขอทราบชื่อ-นามสกุล) และ สิ่งของที่จะนำมาจัดแสดงเพิ่มเติม อาจเป็น คลังความรู้/นวัตกรรม
poster ที่ทางสคส.จัดทำให้ มีจำนวน 3 แผ่นค่ะ ขนาด 80x100 ซม.
sasithorn
ประชาสัมพันธ์ สคส.
0-26199701
จากการขยายภาพลงสู่การปฏิบัติที่คิดว่าชัดเจน และครบถ้วย ดีใจแทนชาวมน. ทุกคนที่มีคุณเอื้อเช่นนี้อยู่ในองค์กร