หมู่บ้าน "ด่างบางมุด" เข้มแข็งด้วยเงิน กข.คจ.


หมู่บ้าน "ด่างบางมุด" เข้มแข็งด้วยเงิน กข.คจ.

          บ้านคลองวงค์ หมู่ที่ 5 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เป็นหมู่บ้าน          ขนาดเล็กเเล็กในจำนวน 14 หมู่บ้านของตำบลบางน้ำจืด ประชากร 96 คน 22 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านที่มีระดับการพัฒนาล้าหลัง ตามเกณฑ์ กชช. 2ค และชาวบ้านที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ต่อคนต่อปี 80% ถนนเข้าหมู่บ้านเป็นถนนลูกรัง เป็นหลุมบ่อ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้ อาชีพรอง เย็บจากมุงหลังคา การถือครองที่ดินต่อครัวเรือน ประมาณ 10 ไร่ ดินเป็นดินเปรี้ยว มีคลองบางมุด ซึ่งมีน้ำเค็มเข้าถึงผ่านกลางหมู่บ้าน ชาวบ้านมีรายได้น้อยไม่ค่อยเพียงพอกับค่าใช้จ่าย และหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นตำนานเกี่ยวกับจระเข้ "ไอ้ด่างบางมุด" ด้วยแต่จุดเด่นที่สำคัญของหมู่บ้านคลองวงค์แห่งนี้ คือ ผู้ใหญ่บ้านมีความรู้ ความสามารถ กรรมการมีความเข้มแข็ง ชาวบ้านมีความสามัคคีเป็นเลิศ ช่วยงานส่วนรวมอย่างขยันขันแข็ง ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก อัธยาศัยดี มีส่วนร่วมกับกิจกรรมทุกประเภท ทุกส่วนราชการ

           ความยากจนของประชาชนในชนบทเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไขให้หมดไป คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2536 เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ระยะที่ 1 (ปี 2536 - 2540) ให้ครอบคลุมหมู่บ้านที่ยังมีคนจน ตามข้อมูล จปฐ. ทุกหมู่บ้าน โดยมีหลักการสนับสนุนเงินทุนในระดับหมู่บ้านสำหรับครัวเรือน    เป้าหมายยืมไปประกอบอาชีพ โดยไม่มีดอกเบี้ย โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกองทุน กข.คจ. ประจำหมู่บ้านรับผิดชอบบริหารจัดการเงินทุนในวงเงินหมู่บ้านละ 280,000 บาท และจัดเตรียม ความพร้อมชุมชน หมู่บ้านละ 10,000 บาท โดยมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน เป็นเจ้าของเรื่อง
          จากการที่หมู่บ้านคลองวงค์ หมู่ที่ 5 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เป็นหมู่บ้านยากจนในขณะนั้นในปี 2536 จึงได้รับการพิจารณาจากกรมการพัฒนาชุมชน ให้เป็น          หมู่บ้านต้นแบบโครงการ กข.คจ. เพียงหมู่บ้านเดียวของอำเภอหลังสวน โดยมอบหมายให้     คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) และคณะกรรมการอีก 8 คน เป็นผู้บริหารเงิน 280,000 บาท ภายใต้ วัตถุประสงค์ ดังนี้
          1. เพื่อให้ครัวเรือนยากจนเป้าหมายได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุนประกอบอาชีพที่เหมาะสม (ตามที่ระเบียบกำหนด) มีรายได้สูงขึ้น พ้นเส้นความยากจน (15,000 บาทต่อคนต่อปี)
          2. เพื่อให้หมู่บ้านเป้าหมายได้รับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สูงขึ้น
          3. เพื่อให้เป็นหมู่บ้านแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง ประชาชน เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ความอุดมสมบูรณ์มั่งคั่งยิ่งขึ้น

          เมื่อบ้านคลองวงค์ ได้รับการอนุมัติงบประมาณให้ดำเนินงานตามโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ในปี 2536 แล้ว สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ ได้ร่วมกับภาคีการพัฒนา อบรมเตรียมชุมชนให้กับหมู่บ้าน ในวงเงิน 10,000 บาท (เป็นค่าอาหาร , วัสดุต่าง ๆ ) เป็นเวลา 3 วัน ผู้เข้าอบรมเป็นกรรมการหมู่บ้าน สภาตำบล ราษฎรในหมู่บ้าน รวม 50 คน แต่เป็นที่น่าประทับใจอย่างมากที่ผู้เข้าอบรมทั้งหมดประกอบอาหารรับประทานกันเอง และนำเงินส่วนนี้มาปรับปรุงอาคารศูนย์โครงการ กข.คจ. และจัดซื้อครุภัณฑ์/วัสดุสำหรับโครงการ
          หลังอบรมเสร็จได้ให้ครัวเรือนเป้าหมาย จำนวน 22 ครัวเรือน (ได้คัดเลือกไว้ก่อนอบรมเรียบร้อยแล้ว) เขียนโครงการเพื่อขอความเห็นชอบกรรมการหมู่บ้าน , คณะทำงานสนับสนุนการปฏิบัติการพัฒนาชนบท ระดับตำบล (คปต.) และอนุมัติเงินโครงการเป็นรายครัวเรือนจากสภาตำบลบางน้ำจืด (สมัยนั้น)

          โครงการที่ครัวเรือนเป้าหมายขอรับเงินสนับสนุนต้องมีลักษณะ ดังนี้
          1. เพื่อประกอบอาชีพทางด้านการเกษตร เช่น เลี้ยงสัตว์ เพาะปลูก การประมง
          2. เพื่อการผลิต และการขยายกิจการอุตสาหกรรมในครัวเรือน
          3. ลงทุนค้าขาย
          4. อาชีพด้านช่างต่าง ๆ
          5. โครงการอื่น ๆ ที่กรรมการหมู่บ้านเห็นชอบและห้ามครัวเรือนยากจนนำไปใช้จ่ายกรณีต่อไปนี้
          1. ห้ามนำไปใช้หนี้ของตนที่มีอยู่เดิม
          2. ห้ามนำไปใช้บูรณะซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัย
          3. ห้ามนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน นอกเหนือจาก 5 ข้อดังกล่าวข้างต้น

          เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าบ้านคลองวงค์ จะมีครัวเรือนเป้าหมายเพียง 22 ครัวเรือนก็ตาม แต่มติคณะกรรมการหมู่บ้าน ไม่ให้นำใช้ 280,000 บาท มาหารแบ่งเท่า ๆ กัน แต่ให้ครัวเรือนเป้าหมายเสนอโครงการตามความจำเป็น และความสามารถจะดำเนินการให้เพิ่มรายได้แก่ครัวเรือนได้ ซึ่งอาชีพที่ครัวเรือนเป้าหมาย เขียนโครงการขอเงินจะเป็นอาชีพทางการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และ  ค้าขาย บางครัวเรือน 10,000 บาท บางครัวเรือน 15,000 บาท บางครัวเรือน 20,000 บาท หรือมากกว่านั้น

           ในการพิจารณาเห็นชอบโครงการ และอนุมัติเงินโครงการให้ยืม กรรมการหมู่บ้าน (กม.) (ปัจจุบันเป็นความรับผิดชอบของคณะกรรมการกองทุน กข.คจ. ประจำหมู่บ้าน) ของบ้านคลองวงค์ หมู่ที่ 5 ตำบลบางน้ำจืด จะพิจารณาว่าใครสมควรจะได้เงินยืมเท่าใด ใครไม่สมควรจะให้ยืม ในขณะนี้โดยใช้บัญชีรายได้จากข้อมูล จปฐ. เป็นเกณฑ์เรียงตามลำดับรายได้น้อยไปหามาก และดูจากความน่าจะเป็นของบุคคลในการส่งเงินยืมได้ตามกำหนด โดยกำหนดระยะเวลาการใช้คืน ไม่เกิน 5 ปี (ปีแรก 1 ครั้ง ปีต่อ ๆ ไป ปีละ 2 ครั้ง) และในครั้งนั้นเป็นการเห็นชอบในการยืมเงินของกรรมการหมู่บ้านครั้งแรกที่ทำหน้าที่ให้ชาวบ้านพ้นเส้นความยากจนให้ได้แต่มีผู้ใหญ่วิเชียร ปานคง (ขณะนั้น) เป็นประธานที่เข้มแข็งมีความสามารถมากประสบการณ์ ประกอบด้วยกับกรรมการหมู่บ้านที่มีความเป็นธรรม เสียสละ จึงดำเนินการไปด้วยดี มีผู้ที่กรรมการหมู่บ้านพิจารณาไม่เห็นชอบ เพียง 1 ราย ใน 22 ราย และสภาตำบลเห็นชอบ จึงอนุมัติให้ยืมเงินเพียง 21 ราย เป็นเงิน 280,000 บาท
            มาตรการหนึ่งที่กรรมการหมู่บ้านคลองวงค์ นำมาใช้กับครัวเรือนเป้าหมาย คือ ทุกครัวเรือนต้องเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองวงค์ ด้วยจึงจะขอยืมเงินได้ ทั้งนี้ เพื่อฝึกออมเงินไปพร้อมกัน ซึ่งขณะนี้กลุ่มออมทรัพย์ฯ ก็ยังคงอยู่เคียงคู่กับโครงการ กข.คจ. และการดำเนินงานก็เป็นไปด้วยความก้าวหน้าประชาสัมพันธ์เสียความยากจนทุกครัวเรือน ดูได้จากการสำรวจข้อมูล จปฐ. ปี 2548 จะไม่มีครัวเรือนยากจนในบ้านคลองวงค์ แห่งนี้อีกเลย ซึ่งรายได้ต่อคนต่อปีเกิน 20,000 บาท ทุกครัวเรือน

           สุดท้ายสามารถกล่าวได้ว่าประชาชนในบ้านคลองวงค์ หมู่ที่ 5 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ กข.คจ. ทุกประการ และจะไม่หวนกลับไปสู่ความยากจนอีกแล้ว เหตุผลที่ว่า ขณะนี้บ้านคลองวงค์มีกองทุนตำบลใน      หมู่บ้าน ดังนี้
           1. โครงการ กข.คจ.   280,000 บาท
           2. กองทุนหมู่บ้าน 1,050,000 บาทเศษ
           3. กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต สมาชิก 513 คน เงินสัจจะออมทรัพย์ 3,150,000 บาท
           4. กองทุนปุ๋ย            280,000 บาท

           ครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนปัจจุบัน ครัวเรือนเป็นสมาชิกกองทุนทั้ง 4 ประเภทข้างต้นทุกครัวเรือนนั้น หมายถึง มีแหล่งทุนในหมู่บ้านของตนเองอย่างเพียงพอ เป็นไปตามวัตถุประสงค์โครงการ กข.คจ. ทุกประการ ประชาชนร่มเย็นเป็นสุขคุณภาพชีวิตดีขึ้นตลอดไป และเป็นหมู่บ้านที่พึ่งตนเองได้ในที่สุด

 

      

 


          
       


 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3680เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2005 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท