พิษไซยาไนด์ตกค้างในหน่อไม้


พิษไซยาไนด์ตกค้างในหน่อไม้

หน่อไม้จานโปรดของคนหลายคน มีสารไซยาไนด์ผสมอยู่ตามธรรมชาติ แต่ไม่ต้องกังวลต้มในน้ำเดือดอย่างน้อย 10 นาที ก็อร่อยได้อย่างปลอดภัย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลสำรวจ การได้รับสารไซยาไนด์จากการบริโภคหน่อไม้ของคนไทย โดยใช้ค่าเฉลี่ยของการบริโภคหน่อไม้ต้มต่อคนต่อวัน พบคนไทยได้รับสารไซยาไนด์เฉลี่ย 0.041 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งค่าความปลอดภัย ที่ FAO และ WHO กำหนดไว้ ไม่ควรเกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน

พร้อมแนะวิธีลดความเสี่ยงก่อนนำหน่อไม้มาบริโภค ให้ต้มด้วยความร้อนที่อุณหภูมิน้ำเดือดนานอย่างน้อย 10 นาที จะช่วยลดปริมาณสารไซยาไนด์ได้ถึง 90.5 %

นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลทางวิชาการพบว่าในธรรมชาติของหน่อไม้ที่คนไทยนิยมบริโภคมีสารพิษไซยาไนด์ (Cyanide) เช่นเดียวกับมันสำปะหลัง

ด้วยเหตุนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำการสำรวจปริมาณสารไซยาไนด์ในหน่อไม้ในท้องตลาดทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบว่าก่อนที่ผู้บริโภคจะนำหน่อไม้มาประกอบอาหารยังมีไซยาไนด์ตกค้างอีกหรือไม่ และจากการสำรวจพบไซยาไนด์ในหน่อไม้ต้มและหน่อไม้ปี๊บมีค่าเฉลี่ย 19.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ดังนั้น จึงนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจปริมาณไซยาไนด์เฉลี่ยมาประเมินการได้รับสารไซยาไนด์จากการบริโภคหน่อไม้ของคนไทย โดยใช้ค่าเฉลี่ยของการบริโภคหน่อไม้ต้มต่อคน ต่อวันของสำนักงานมาตรฐานสินค้าการเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ปี 2549 เท่ากับ 126.6 กรัม และใช้น้ำหนัก 60 กิโลกรัม

ในการคำนวณพบว่าคนไทยได้รับสารไซยาไนด์ เป็นปริมาณเฉลี่ย 0.041 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน และผู้ที่บริโภคหน่อไม้มากจะได้รับสารไซยาไนด์เฉลี่ย 0.092 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อ

สุขภาพและอาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ  ทั้งนี้ค่า ADI หรือ Acceptable Daily Intake หรือปริมาณสารที่ร่างกายสามารถรับได้ในแต่ละวันคิดเป็นมิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมนั้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดไว้สำหรับสารไซยาไนด์ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งจากการสำรวจครั้งนี้พบว่าปริมาณไซยาไนด์เฉลี่ยที่คนไทยได้รับใกล้เคียงค่า ADI แต่ในกลุ่มที่บริโภคมากจะมีปริมาณสูงกว่าค่า ADI กำหนด 1.8 เท่า

การต้มหน่อไม้สามารถลดปริมาณสารไซยาไนด์ได้ แต่ถ้าอุณหภูมิและระยะเวลาในการต้มไม่เหมาะสมจะไม่สามารถลดปริมาณไซยาไนด์ได้ทั้งหมด เนื่องจากสารไซยาไนด์เป็นสารพิษและมีอันตรายต่อร่างกาย หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อยสามารถขับออกทางปัสสาวะได้

แต่ถ้าได้รับในปริมาณมาก สารดังกล่าวจะไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดง ( Hemoglobin) แทนที่ออกซิเจน ทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน ทุรนทุรายหมดสติ และอาจทำให้เสียชีวิตได้เนื่องจากขาดออกซิเจน

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ก่อนที่จะนำหน่อไม้มาประกอบอาหาร ให้ต้มด้วยความร้อนที่อุณหภูมิน้ำเดือดนานอย่างน้อย 10 นาที จะสามารถช่วยลดระดับของสารไซยาไนด์ได้ถึง 90.5 %

หมายเลขบันทึก: 367883เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2010 00:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้ด้วยคนนะคะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท