กาละ-เทศะ-นิวซีแลนด์ ๖๗: ป้ายริมทาง


ป้ายริมทาง

การให้ข้อมูล

ในจังหวะอันเหมาะสม กาละ

ณ สถานที่อันสมควร เทศะ

จะช่วยให้ผู้รับข้อมูล

สามารถใช้ตัดสินใจได้ยามต้องการ

ป้ายริมทาง

เพื่อให้ข้อมูลนักเดินทาง

ก็ควรอยู่ในตำแหน่งอันสมควร

จะช่วยให้นักเดินทาง

สามารถใช้ตัดสินใจได้ยามต้องการ

  อุทยานแห่งชาติตองารีรอ
  ๔ เมษายน ๒๕๕๑

๔ เมษายน ๒๕๕๑  ๑๓.๕๗ น.
อุทยานแห่งชาติตองารีรอ เกาะเหนือ นิวซีแลนด์


   ทางหลวงหมายเลข ๔ มุ่งหน้าขึ้นเหนือและเป็นเส้นทางด้านตะวันตกของถนนวงแหวนรอบอุทยานแห่งชาติตองารีรอ (Tongariro National Park)* บนถนนช่วงนี้จะผ่านสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจคือ สะพานรถไฟมาคาโตเต (Makatote Viaduct)*

   ถ้าไม่ทำการบ้านมาก่อนเที่ยว ผมคงไม่ได้หยุดดูสะพานนี้ แต่พอรู้ว่า นี่คือสัญญลักษณ์ของการรถไฟ เป็นสถาปัตยกรรมที่ชาวกีวีภาคภูมิใจ ก็เลยต้องแวะชมสักหน่อย ช่วงนี้ ถนนที่ตีคู่มากับทางรถไฟ ต้องหลบไปอ้อมตามไหล่เขา แต่ทางรถไฟกับตัดตรงข้ามหุบเขาลึกของแม่น้ำมาคาโตเต (Makatote River) อย่างน่าหวาดเสียว ตามภาพข้างล่าง

๔ เมษายน ๒๕๕๑  ๑๓.๓๗ น.
สะพานรถไฟมาคาโตเต เกาะเหนือ นิวซีแลนด์

   พอถึงเมืองชื่อสุดสับสน คือ แนชั่นนัลพาร์ค (National Park)* ซึ่งเป็นชุมชนเมืองสำหรับบริการนักท่องเที่ยวที่อยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศนี้มากที่สุด ก็ต้องเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงสายย่อยหมายเลข ๔๗ และบนถนนเส้นนี้แหละ ที่ให้ความรู้สึกว่า มาถึงอุทยานแห่งชาติสำคัญที่สุดของโลกแห่งหนึ่งแล้ว

   อะไรที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้น ก็เพราะทิวทัศน์ตรงหน้า ชนิดที่ไม่ต้องเอี้ยวคอชมวิวข้างทางให้เคล็ดเหมือนแต่ก่อน มันสวยเหลือเกิน พิสูจน์ได้จากทั้งภาพและวิดิโอในบันทึกนี้ ภาพตรงหน้าคือ ภูเขาไฟทรงรูปกรวยสมมาตรที่ตั้งตระหว่างตรงกับถนนพอดี ภูเขาไฟงาอูรูฮอเอ (Mount Ngauruhoe)* หรือ เมาต์ดูม (Mount Doom) ของบรรดาสาวกแหวน (Lords of the Ring) ทางซ้ายมือติดกัน คือ ภูเขาไฟตองารีรอ (Mount Tongariro) เทพคู่ปรับกับเทพตารานาคีที่ผมอดเห็นเมื่อเช้า มองเห็นเป็นแค่ยอดเตี้ยๆ แล้วทางขวามือทิ้งช่วงห่างพอสมควร คือ ภูเขาไฟรูอาเปฮู (Mount Ruapehu) ซึ่งใหญ่และสูงที่สุดในบรรดาภูเขาพี่น้องทั้งสามนี้ ว่ากันว่าตรงช่องไฟที่เว้นว่างไว้นั้น ก็คือตำแหน่งเดิมของภูเขาไฟตารานาคี (Mount Taranaki) ผู้พ่ายแพ้และหนีไปนั่นเอง

๔ เมษายน ๒๕๕๑  ๑๓.๕๓ น.
อุทยานแห่งชาติตองารีรอ เกาะเหนือ นิวซีแลนด์

   ผมขับรถผ่านป้ายริมทางป้ายหนึ่งตามภาพบนสุด เป็นป้ายจราจรรูปนกกีวี พิเศษต่างจากป้ายอื่นตรงที่นกตัวนี้ใส่สกีด้วย เป็น สกีวี ..อันนี้ผมตั้งเอง เกิดความสงสัยว่า มันหมายความว่าอะไร เพราะถ้าเป็นป้ายอื่นจะมีข้อความว่า crossing อยู่ข้างล่างด้วย หมายความว่า ให้ระวังนกกีวีเดินข้ามถนน แต่อันนี้ไม่มีข้อความ แถมยังทำเก๋ใส่สกีอีกต่างหาก กำลังจะบอกว่า นี่เป็นเขตเล่นสกี หรือจงใจให้เป็นจุดถ่ายภาพของนักท่องเที่ยวเพราะมีที่จอดรถตรงข้างหน้าพอดี ก็ไม่ทราบ

   สักพัก จะมีทางหลวงหมายเลข ๔๘ แยกออกทางขวามือ ตรงดิ่งไต่ระดับสูงขึ้นไปยังเชิงภูเขาไฟรูอาเปฮู ที่พักในคืนนี้ของผม สังเกตในวิดิโอข้างบน จะมองเห็นเป็นจุดขาวๆตรงเชิงเขา


* อุทยานแห่งชาติตองารีรอ (Tongariro National Park) เป็นอุทยานแห่งชาติอันดับแรกของประเทศและน่าจะสำคัญที่สุดด้วย เพราะยังเป็นทวิมรดกโลกอีกต่างหาก คือ เป็นทั้งมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมคู่กันในแห่งเดียว ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของเกาะเหนือในแนววงแหวนไฟแห่งแปซิฟิก (Pacific Ring of Fires) นอกจากจะเป็นดินแดนแห่งภูเขาไฟที่สูงที่สุดของประเทศ คือ รูอาเปฮู งาอูรูฮอเอ และตองารีรอ ที่สูง ๒๗๙๖, ๒๒๙๐ และ ๑๙๖๘​ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลตามลำดับแล้ว ภูเขาไฟที่นี่ก็ยังไม่ดับ ยังสำแดงอิทธิฤทธิ์อยู่เป็นครั้งคราวจนถึงปัจจุบัน และที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมก็เพราะมีสถานที่สำคัญในวัฒนธรรมชาวเมารีหลายแห่ง ปากปล่องของภูเขาไฟทั้งสามถือก็เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์

   ชื่อในภาษาเมารี มาจาก tonga=สายลมใต้ riro=พัดไป เพราะตามตำนานอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ใช่ศึกชิงนางของเทพภูเขาไฟคู่ปรับ ได้กล่าวถึงพระเอกอีกคนชื่อ งาตอรอ (Ngatoro) ซึ่งเดินทางมาถึงเกาะเหนือกับทาสสาวชื่อ งาอูรูฮอเอ (Ngauruhoe) ขณะทั้งคู่พยายามปีนขึ้นไปจนถึงยอดเขาลูกแรกซึ่งก็คือภูเขาตองารีรอ ก็ต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บแทบเสียชีวิต งาตอรอจึงฝากสายลมใต้ให้ช่วยส่งข่าวไปบอกพี่ๆน้องๆให้ส่งไฟศักดิ์สิทธิ์มาขับไล่ความหนาวได้ทันช่วยชีวิตเขาพอดี แต่ช่วยทาสสาวไม่ทัน เขาจึงตั้งชื่อภูเขาอีกลูกตามชื่อเธอ ในบางตำนานก็ว่า ทาสสาวคนนี้ถูกจับบูชายัญโยนลงปล่องภูเขาไฟเสียเลย

* ภูเขาไฟงาอูรูฮอเอ (Mount Ngauruhoe) ชื่อในภาษาเมารี ถ้าแปลตามตัว มาจาก uru=หินก่อเตาไฟ hoe=โยน อธิบายเวลาที่มันระเบิดจะพ่นหินและลาวาออกมา ส่วนตำนานอีกเรื่องที่ไม่ใช่ทาสสาวข้างบน กลับเป็นงาตอรอโยนหลานของตนเองที่ชื่อโฮเอ (Hoe) ลงไปในปล่องภูเขาไฟแทน แล้ว uru=เส้นผม หมายถึงเส้นผมของโฮเอ ซึ่งก็คือควันไฟที่ประทุออกมาจากภูเขาไฟเป็นเส้นๆ

* สะพานรถไฟมาคาโตเต (Makatote Viaduct) เป็นสะพานรถไฟเหล็กข้ามแม่น้ำมาคาโตเต (Makatote River) เดิมเคยเป็นสะพานรถไฟที่สูงที่สุดของนิวซีแลนด์และติดอันดับโลก ด้วยความสูง ๗๘.๖ เมตร ยาว ๒๖๒ ​เมตร ปัจจุบันตกเป็นอันดับสามของประเทศ แต่ยังครองความเป็นสะพานสูงที่อายุการใช้งานนานที่สุดคือ ๑๐๐ ปีในพ.ศ. ๒๕๕๑ นี้ ที่นับเป็นสัญญลักษณ์ของการรถไฟ เพราะการสร้างทางรถไฟเส้นทางนี้ลำบากลำบนเหลือเกิน พอสร้างสะพานนี้เสร็จด้วยวิศวกรรมทันสมัยในขณะนั้น ทางรถไฟจึงเริ่มเปิดให้บริการเชื่อมเมืองโอคแลนด์กับเวลลิงตันได้ ชื่อในภาษาเมารีมาจาก ma=ลำธาร katote=เฟิร์นชนิดต้น

* แนชั่นนัลพาร์ค (National Park) เดิมเป็นเมืองเล็กๆ ชื่อ วาอีมารีนอ (Waimarino) ในภาษาเมารี มาจาก wai=น้ำ marino=สงบนิ่ง หมายถึง สายน้ำนิ่ง ต่อมาแจ้งเกิดเจริญขึ้น เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติตองารีรอ นับเป็นชุมชนเขตเมืองที่สูงที่สุดของประเทศท่ีระดับ ๘๒๕​ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

คำสำคัญ (Tags): #นิวซีแลนด์
หมายเลขบันทึก: 367247เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2010 20:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท