Moral Hazard and Adverse Selection : A Big Problem of Insurance Industry (ตอนที่ 2)


ปัญหา Moral Hazard และ Adverse Selection (Anti-selection) ในธุรกิจประกันชีวิตและประกันภัย

 

สำหรับตอนที่ 1 ผมได้อธิบายและยกตัวอย่างเกี่ยวกับ Moral Hazard ไปแล้ว คิดว่าคงทำให้ผู้อ่านพอเห็นภาพกันบ้างนะครับ

มาถึงตอนที่สอง ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งและเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจประกันภัยทั้งฝั่งประกันชีวิตละประกันวินาศภัยเลยทีเดียวครับ ปัญหาที่ผมกำลังกล่าวถึงคือ การคัดเลือกภัยที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้รับประกันหรือการคัดเลือกภัยที่ทำให้ผู้รับประกันเสียประโยชน์ (Adverse Selection) เนื่องจากผู้เอาประกันมีพฤติกรรมเลี่ยงการคัดเลือกภัย (Anti-selection) โดยการปกปิดข้อมูล (Non-disclosure) หรือแถลงข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับผู้เอาประกัน ทำให้ผู้พิจารณารณารับประกัน (Underwriter) ไม่สามารถคัดเลือกผู้เอาประกันได้ตรงตามความเสี่ยงที่แท้จริงของผู้เอาประกันภัยครับ

คำว่า Adverse Selection ตามพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๐ แปลความหมายว่าคือ “การคัดเลือกที่ขัดผลประโยชน์” คือ การคัดเลือกภัยจากประเภทใดประเภทหนึ่ง หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเกิดผลให้ผู้รับประกันภัยเสียประโยชน์ (มีความหมายเหมือนกับ selection against the insurer) บางครั้งอาจอาจเรียกว่า Anti-selection ก็ได้ครับ

 

Adverse Selection : A Hidden Information

 

 

Adverse Selection  หรือการคัดเลือกภัยที่ขัดผลประโยชน์ นั้นเป็นเรื่องของข้อมูลที่ถุกซ่อนเร้น (Hidden Information) โดยอีกฝ่ายเพื่อหวังผลประโยชน์ โดยมีฝ่ายที่เสียประโยชน์ด้วย มักเกิดจากการที่ผู้รับประกันไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับผู้เอาประกัน ในขณะที่ผู้เอาประกันนั้นจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับตนเองดีกว่าผู้รับประกัน ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมของข้อมูล (Asymmetryic Information) ระหว่างผู้รับประกันและผู้เอาประกัน

อันที่จริงเรื่องของ Adverse Selection ที่เกิดเนื่องจากความไม่เท่าเทียมของข้อมูล (Asymmetryic Information) นั้นเกิดขึ้นกับหลายธุรกิจนะครับ มิได้มีเฉพาะในธุรกิจประกันภัยเท่านั้น อย่างธุรกิจรถมือสอง หรือ Lemon Market นั้นเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับเรื่อง Adverse Selection เนื่องจากความไม่เท่าเทียมของข้อมูลที่ผู้ซื้อไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์ที่ตนจะซื้อได้ดีเท่ากับผู้ขายว่ารถยนต์คันนั้นมีสภาพสมบูรณ์หรือไม่ไม่ผ่านการชนหรือซ่อมมาหนักขนาดไหน กรณีดังกล่าวหากผู้ซื้อไม่แน่ใจและอาจตัดสินใจไม่ซื้อรถยนต์เลย หรือหากมั่นใจก็ไม่สามารถแน่ใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าผู้ขายจะบอกความจริงเกี่ยวกับรถมือสองคันดังกล่าวกับผู้ซื้อหรือไม่ บางครั้งผู้ขายพยายามลดราคาล่อใจผู้ซื้อให้สนใจรถมือสองคันดังกล่าว ทำให้ผู้ซื้ออาจะละเลยหรือเพิกเฉยประเด็นข้อบกพร่องของรถจนยอมตัดสินใจซื้อก็ได้ ทำให้ในที่สุดก็ได้รถมือสองที่มีสภาพภายนอกดูดีแต่เครื่องยนต์อาจมีปัญหา พอนำไปขับจริงก็เลยเจอปัญหาเครื่องยนต์ติดขัด หรือดับเองบ่อยๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายอื่นๆ เช่นการขายทรัพย์ที่ลักขโมยมาในราคาที่ถูกกว่าราคาตลาดโดยโกหกคนรับซื้อว่าตนเองเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นเอง แต่กำลังต้องการเงินด่วนจึงยอมขายขาดทุน ทำให้ผู้รับซื้อหลงเชื่อและยอมรับซื้อทรัพย์นั้นไว้ หากภายหลังมีผู้ร้องเรียนและแจ้งตำรวจว่าทรัพย์นั้นเป็นของตนที่ถูกขโมยมา ผู้รับซื้อก็อาจเจอข้อหารับซื้อของโจรได้ครับ

การไม่เท่าเทียมของข้อมูล(Asymmetryic Information) นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุทั้งที่เป็นความบกพร่องของผู้รับประกันเองและเกิดจากเจตนาของผู้เอาประกันในการปกปิดข้อมูลของตนครับ

การปกปิดข้อมูลหรือการไม่เปิดเผยความจริง (Non-disclosure) นั้นตามพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๔๐ แปลความหมายว่าคือการที่ผู้ขอเอาประกันภัยไม่ได้เปิดเผยหรือแจ้งข้อความจริงต่างๆเกี่ยวกับสภาพของการเสี่ยงภัยให้แก่ผู้รับประกันภัยทราบโดยบริสุทธิ์ใจ ดังนั้นหากผู้เอาประกันไม่ได้เปิดเผยข้อมูลให้ผู้รับประกันทราบ เนื่องจากผู้เอาประกันไม่ได้ถามเกี่ยวกับเนื้อหาสาระนั้นแล้ว ก็ไม่ถือว่าผู้เอาประกันมีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ที่ไม่เปิดเผยข้อมูลความจริงนะครับ แต่ถือว่าเป็นการละเลยหรือเลินเล่อของผู้รับประกันเองที่ไม่ได้ขอสอบถามข้อมูลตรงนั้น

ส่วนความจริงที่ผู้เอาประกันต้องเปิดเผยให้ผู้รับประกันทราบนั้นต้องเป็นความจริงที่เกี่ยวข้อหรือมีผลต่อการรับประกันด้วยนะครับ หากเป็นความจริงแต่ไม่เกี่ยวข้องกับการพิจารณารับประกันของผู้รับประกันแล้ว หากผู้เอาประกันปกปิดไว้ก็ไม่เป็นไรครับ ยกตัวอย่าง เช่น ผู้เอาประกันกำลังป่วยเป็นมะเร็งจึงไปสมัครทำประกันชีวิตกับบริษัทประกันแห่งหนึ่ง แต่ไม่ได้แถลงกับตัวแทนหรือระบุในใบคำขอเอาประกัน (Application) เพราะเกรงว่าหากตัวแทนหรือผู้รับประกันทราบ จะไม่ยอมรับประกันตนเอง จึงไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงสุขภาพของตน อย่างนี้ถือว่าเป็นการปกปิดข้อมูลความจริงที่มีผลต่อการพิจารณารับประกันครับ แต่ถ้าขณะกำลังสมัครทำประกัน ผู้เอาประกันเป็นแค่โรคหวัดธรรมดาซึ่งไม่มีผลอะไรต่อการพิจารณา การไม่บอกว่าตนกำลังเป็นหวัดขณะทำประกันก็ไม่มีผลอะไรนะครับ

การแถลงเปิดเผยข้อเท็จจริงของผู้เอาประกันนั้นก้เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการทำประกันตามหลักสุจริตอย่างยิ่ง (Utmost Faith) นอกจากนี้ยังถูกบัญญัติไว้ในกฏหมายประกันภัย มาตรา 865 ซึ่งบัญญัติว่า  ”ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดี หรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริง ซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือ ให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็น ความเท็จไซร้ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ

ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับ ประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายใน กำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

นั่นหมายความว่าผู้เอาประกันต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงให้ผู้รับประกันทราบ หากไม่เช่นนั้นแล้วสัญยาประกันนั้ฏเป็นโมฆียะคือไม่มีผลบังคับตามกฏหมาย

ส่วนผู้รับประกันทราบข้อเท็จจริงแล้วก็ต้องใช้สิทธิบอกล้างด้วยนะครับ หากไม่ยอมบอกล้างภายในหนึ่งเดือนนับจากวันที่รู้ข้อเท็จจริง หรือไม่สามารถหาข้อเท็จจริงที่จะบอกล้างได้ภายในสองปี ก็ไม่มีสิทธิบอกล้างสัญยากับผู้เอาประกันได้ครับ

ส่วนข้อเท็จจริงที่ผู้เอาประกันต้องเปิดเผยให้ผู้รับประกันทราบนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีองค์ประกอบต่อไปนี้

1.ข้อเท็จจริงที่มีอยู่ก่อนสัญญามีผลบังคับ

2.เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้เอาประกันหรือผู้ถูกเอาประกัน (ในกรณีเอาประกันชีวิตบุคคลที่สาม) ต้องรู้หรือรับรู้เหตุที่ปกปิด

3.ข้อเท็จจริงนั้นต้องมีผลต่อการพิจารณารับประกันคือผู้รับประกันอาจอาจเพิ่มเบี้ยผู้เอาประกันหรือไม่ยอมรับประกัน

ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสามจึงจะถือว่าข้อเท็จจริงนั้นมีผลต่อการสัญญาประกันชีวิตครับ

การไม่เปิดเผยความจริงแก่ผู้เอาประกันนั้นมีหลายรูบแบบครับ ที่มักจะพบบ่อยๆในธุรกิจประกันชีวิต ได้แก่

1.ผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อมูลสุขภาพหรือวงเงินความคุ้มครองที่ยังมีผลบังคับอยู่ของตนเองกับตัวแทนหรือผู้รับประกัน

2.ผู้เอาประกันเปิดเผยข้อมูลสุขภาพหรือวงเงินความคุ้มครองที่ยังมีผลบังคับอยู่ของตนเองกับตัวแทนแล้ว แต่ตัวแทนไม่ได้เปิดเผยให้บริษัทรู้

3.ผู้เอาประกันร่วมมือกับตัวแทนปกปิดข้อมูลสุขภาพหรือวงเงินความคุ้มครองที่ยังมีผลบังคับอยู่ของตนเอง

4.ผู้รับผลประโยชน์ไม่เปิดเผยข้อมูลสุขภาพหรือวงเงินความคุ้มครองที่ยังมีผลบังคับอยู่ของผู้เอาประกันกับตัวแทนหรือผู้รับประกัน

5.ผู้มีส่วนได้เสียในการเอาประกันไม่เปิดเผยข้อมูลสุขภาพหรือวงเงินความคุ้มครองที่ยังมีผลบังคับอยู่ของผู้ถูกเอาประกัน (กรณีเอาประกันชีวิตบุคคลที่สาม) กับตัวแทนหรือผู้รับประกัน

 

นอกจากเรื่องภาวะสุขภาพของผู้เอาประกันแล้ว เรื่องของวงเงินเอาประกันของผู้เอาประกันที่ยังมีผลบังคับอยู่ก็มีผลต่อการพิจารณารับประกันนะครับ เพราะหากวงเงินที่มีอยู่เพียงพอแล้วหากบริษัทรับทราบอาจไม่อนุมัติวงเงินประกันเพิ่มเติมได้ เนื่องจากหากวงเงินเอาประกันสูงเกินไป อาจเป็นเหตุจูงใจให้เกิด Moral Hazrad ได้ครับ

ดังนั้นในใบคำขอเอาประกันจึงมีช่องที่ให้ผู้เอาประกันระบุรายละเอียดของกรมธรรม์อื่นๆที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ให้ผู้รับประกันรับทราบด้วย และผู้เอาประกันต้องแถลงข้อมูลตรงนี้ด้วยเหมือนกันครับ

 

 

หมายเลขบันทึก: 367239เขียนเมื่อ 17 มิถุนายน 2010 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท