ประวัติบั้งไฟยโสธร


บั้งไฟ

ประวัติความเป็นมาของบุญบั้งไฟ
        ประเพณีบุญบั้งไฟมีมาแต่ครั้งไหนยังหาหลักฐานที่แน่ชัดไม่ได้  สิรวัฒน์ คำวันสา  ได้ให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับความเป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟในแง่ต่างๆ ไว้ดังนี้

ความเชื่อของชาวบ้าน
        ชาวบ้านเชื่อว่ามีโลกมนุษย์  โลกเทวดา  และโลกเทวดา  มนุษย์อยู่ใต้อิทธิพลของเทวดา  การรำผีฟ้าเป็นตัวอย่างที่แสดงออกทางด้านการนับถือเทวดา  และเรียกเทวดาว่า  "แถน"  เมื่อถือว่ามีแถนก็ถือว่า  ฝน  ฟ้า  ลม  เป็นอิทธิพลของแถน  หากทำให้แถนโปรดปราน  มนุษย์ก็จะมีความสุข  ดังนั้นจึงมีพิธีบูชาแถน   การจุดบั้งไฟก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงความเคารพหรือส่งสัญญาณความภักดีไปยังแถน  ชาวอีสานจำนวนมากเชื่อว่าการจุดบั้งไฟเป็นการขอฝนจากพญาแถน  และมีนิทานปรัมปราเช่นนี้อยู่ทั่วไป  แต่ความเชื่อนี้ยังไม่พบหลักฐานที่แน่นอน   นอกจากนี้ในวรรณกรรมอีสานยังมีความเชื่ออย่างหนึ่งคือ  เรื่องพญาคันคาก  หรือคางคก  พญาคันคากได้รบกับพญาแถนจนชนะแล้วให้พญาแถนบันดาลฝนลงมาตกยังโลกมนุษย์

    ความหมายของบั้งไฟ
       
คำว่า  "บั้งไฟ"  ในภาษาถิ่นอีสานมักจะสับสนกับคำว่า  "บ้องไฟ"  แต่ที่ถูกนั้นควรเรียกว่า"บั้งไฟ"  ดังที่  เจริญชัย ดงไพโรจน์  ได้อธิบายความแตกต่างของคำทั้งสองไว้ว่า  บั้งหมายถึง  สิ่งที่เป็นกระบอก  เช่น  บั้งทิง  สำหรับใส่น้ำดื่ม  หรือบั้งข้าวหลาม  เป็นต้น

      ส่วนคำว่า  บ้อง  หมายถึง  สิ่งของใดๆ ก็ได้ที่มี 2 ชิ้น มาสวมหรือประกอบเข้ากันได้  ส่วนนอกเรียกว่า  บ้อง  ส่วนในหรือสิ่งที่เอาไปสอดใสจะเป็นสิ่งใดก็ได้  เช่น  บ้องมีด  บ้องขวาน  บ้องเสียม  บ้องวัว  บ้องควาย  ดังนั้น  คำว่า  บั้งไฟ  ในภาษาถิ่นอีสานจึงเรียกว่า  บั้งไฟ  ซึ่งหมายถึงดอกไม้ไฟชนิดหนึ่ง  มีหางยาวเอาดินประสิวมาคั่วกับถ่านไม้ตำให้เข้ากันจนละเอียดเรียกว่า  หมื้อ (ดินปืน) และเอาหมื้อนั้นใส่กระบอกไม้ไฝ่ตำให้แน่นเจาะรูตอนท้ายของบั้งไฟ  เอาไฝ่ท่อนอื่นมัดติดกับกระบอกให้ใส่หมื้อโดยรอบ  เอาไม้ไฝ่ยาวลำหนึ่งมามัดประกบต่อออกไปเป็นหางยาว  สำหรับใช้ถ่วงหัวให้สมดุลกัน  เรียกว่า  "บั้งไฟ"  ในทัศนะของผู้วิจัย  บั้งไฟ  คือการนำเอากระบอกไม้ไผ่  เลาเหล็ก  ท่อเอสลอน  หรือเลาไม้อย่างใดอย่างหนึ่งมาบรรจุหมื้อ (ดินปืน) ตามอัตราส่วนที่ช่างกำหนดไว้แล้ว  ประกอบท่อนหัวและท่อนหางเป็นรูปต่างๆ ตามที่ต้องการ  เพื่อนำไปจุดพุ่งขึ้นสู่อากาศ  จะมีควันและเสียงดัง  บั้งไฟมีหลายประเภท  ตามจุดมุ่งหมายของประโยชน์ในการใช้สอย

     ในทางศาสนาพราหมณ์
       
การบูชาเทพเจ้าด้วยไฟ ถือว่าเป็นการบูชาเทพเจ้าเบื้องบนสวรรค์  ดังนั้น  การจุดบั้งไฟเป็นการละเล่นอีกอย่างหนึ่งและเป็นการบูชาเทพเจ้า  เพื่อให้พระองค์บันดาลในสิ่งที่ตนต้องการ

    ในทางศาสนาพุทธ
        มีการฉลองและบูชาในวันวิสาขบูชากลางเดือนหก มีการทำดอกไม้ไฟในแบบต่างๆ ทั้ง  ไฟน้ำมัน  ไฟธูปเทียน  และดินประสิว  ในงานนี้มีการรักษาศีล  การให้ทาน  การบวชนาค  การอัดทรง  และนิมนต์พระเทศน์อานิสงฆ์

ลายบั้งไฟ : ใช้ลายศิลปไทย  คือ  ลายกนก  อันเป็นลายพื้นฐานในการลับลายบั้งไฟ  โดยช่างจะนิยมใช้กระดาษดังโกทองด้านเป็นพื้นและสีเม็ดมะขามเป็นตัวสับลาย  เพื่อให้ลายเด่นชัดในการตกแต่งเพื่อให้ความสวยงาม

ตัวบั้งไฟ : มีลูกโอ้จะใช้ลายประจำยาม  ลายหน้าเทพพนม  ลายหน้ากาล  ลูกเอ้ใช้ลายประจำยาม  ก้ามปูเปลว  และลายหน้ากระดาน  ฯลฯ

กรวยเชิง : เป็นลวดลายไทยที่เขียนอยู่เชิงยาบที่ประดับพริ้วลงมาจากช่วงตัวบั้งไฟ

ยาบ : เป็นผ้าประดับใต้เลาบั้งไฟ  จะสับลายใดขึ้นอยู่กับช่างบั้งไฟนั้น  เช่น  ลายก้านขูด  ลายก้านดอกใบเทศ

ตัวพระนาง : เป็นรูปลักษณ์สื่อถึงผาแดงนางไอ่  หรือตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์  พระลักษณ์  พระราม  เป็นต้น

กระรอกเผือก : ท้าวพังคี  แปลงร่างมาเพื่อให้นางไอ่หลงใหล

ปล้องคาด : ลายรักร้อย  ลายลูกพัดใบเทศ  ลายลูกพัดขอสร้อย  เป็นต้น

เกริน : เป็นส่วนที่ยื่นออกสองข้างของบุษบก  เป็นรูปรอนเบ็ดลายกนก  สำหรับตั้งฉัตรท้ายเกริน  ราชรถประดับส่วนท้ายของหางบั้งไฟ

บุษบก : เป็นองค์ประกอบไว้บนราชรถ  เพื่อสมมุติให้เป็นปราสาทผาแดงนางไอ่

ต้างบั้งไฟ : ลายกระจังปฏิญาณ  ลายก้านขด  ลายพุ่มข้าวบิณฑ์

ลายประกอบตกแต่งอื่นๆ : ลายกระจังตั้ง  กระจังรวน  กระจังตาอ้อย  ลายน่องสิงห์  บัวร่วน  กลีบขนุน

คำสำคัญ (Tags): #บั้งไฟ
หมายเลขบันทึก: 366318เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2010 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท