ตามหา "ความจริง" โดยไม่ต้องแต่งตั้ง "กรรมการ”


เราเห็นตามความเป็นจริงแล้วหรือยัง หรือว่ายังคงมองสิ่งต่างๆ ผ่านอคติที่มีอยู่ในใจ?
         ปัจจุบันสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันเป็นประจำก็คือคำถามที่ว่า . .  แล้วอะไรล่ะคือ “ความจริง” ? . . ความจริงที่ผู้คนสนใจส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลที่อยู่ “ภายนอก” ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า “ข้อเท็จจริง” หรือ “Fact”  มากกว่า เช่นต้องการจะทราบว่า . . ใครยิงคนในวัดปทุมฯ . . ใครเผาเซ็นทรัลเวิลด์ . . จะเห็นได้ว่าเป็นความจริงที่ได้มาจากการรวบรวมหลักฐาน จากการแต่งตั้งกรรมการ(สอบสวน) จากการสอบปากคำพยาน เป็นความจริงที่ผ่านกระบวนการ “คิดคำนวณ”


         แต่มีความจริงอีกอย่างหนึ่งซึ่งคนทั่วไปมักจะไม่ค่อยพูดถึงกัน ความจริงประเภทนั้นไม่ต้องไปมองหาที่ไหน ไม่ต้องไปรวบรวมเก็บข้อมูลใดๆ เป็นความจริงในลักษณะของ “สัจจะ” หรือ “ความจริงแท้” ซึ่งน่าจะตรงกับคำว่า “Truth” ในภาษาอังกฤษ ความจริงประเภทนี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาจากการ “คิดคำนวณ” ในทางตรงกันข้าม "ยิ่งคิดก็ยิ่งห่างไกลไปจากความเป็นจริง"  มีสิ่งเดียวที่จะทำให้ “เข้าถึง” ความจริงประเภทนี้ได้ ก็คือกระบวนการสร้าง "การตื่นรู้ภายใน" หรือที่เราใช้คำว่ากระบวนการสร้าง "สติปัญญา"


         แต่ปัญหาคงอยู่ตรงที่ว่า “ระดับของปัญญา” ที่ว่านี้ทำให้เรามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามที่มันเป็น (จริง) แล้วหรือยัง หรือว่าเรายังคงมองสิ่งต่างๆ ผ่าน “อคติที่มีอยู่ในใจ”  มองเห็นผ่าน “เลนส์ที่เราสวมใส่” โดยที่ไม่ได้เอ่ะใจเลยแม้แต่นิดเดียวว่าสิ่งที่ผ่านการรับรู้ของเรานั้น “มันยังไม่ใช่ความจริง” !!
หมายเลขบันทึก: 366310เขียนเมื่อ 14 มิถุนายน 2010 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ถ้าหากกรรมการมี "คุณธรรม" กรรมการผู้นั้นย่อมมี "ความยุติธรรม"

ปุถุชนทั้งหลายจิตใจยังไหลเลื่อนไปตามกิเลส ตัณหา และกามราคะ แล้วปุถุชนทั้งหลายนั้นจะหา "ความยุติธรรม" ได้จากที่ใด

คุณธรรมจึงเป็นหลักธรรมอันเลิศของผู้ที่มีบทบาท หน้าที่ ในการตัดสินหรือชี้ความเป็น ความตายของบุคคลอื่น

ยมภบาล ยมฑูต เป็นตัวอย่างแห่งความเที่ยงแท้ของคำว่า "คุณธรรม"

ไม่ว่ารวยหรือจน หล่อหรือสวย จะพรั่งพร้อมด้วยตำแหน่ง หน้าที่ การงาน เกียรติยศ ชื่อเสียงสักเพียงใดทุก ๆ คนก็ต้องตายอย่าง "ยุติธรรม"

หากปุถุชนมีความมั่นคงตรงศีล บุคคลนั้นย่อมยกระดับจิตใจของตนขึ้นได้เป็น "อริยะบุคคล"

อริยะบุคคลนั้นแลจึงเหมาะ จึงสมที่จะรงฐานะ "กรรรมการ"...

     ผมว่าคนทุกคนมี "ปม" อยู่ในใจนะครับ  ทีนี้จะให้มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามที่เป็นจริง  คงต้องแก้ที่ "ปม" ในใจของตัวเองก่อน  นั่นคือ ต้องกล้าวิเคราะห์ตัวเอง  ต้องกล้ามองให้เห็น "ปม" ของตัวเองก่อนครับ   เพื่อดูว่า "ปม" ของตัวเองนั้นเป็นอย่างไร   เป็นปมที่มีความรัก ความเกลียด และ มีอคติ  อย่างไร

     ต้อง "กล้า"  เปิดปมของตัวเองก่อนครับ  จะได้รู้ว่าปมของตัวเองนั้น มีผลต่อการบิดเบือนความจริงอย่างไร

     เมื่ิอรู้ว่า ปมตัวเองเป็นอย่างไร บิดเบือนอย่างไร  ก็จะได้ "รู้ทัน"  ปมของตัวเองครับ

     ข้อสำคัญ คือ  คนเรามักจะปกปิดและกลบเกลื่อนปมของตัวเองเอาไว้ครับ ด้วยการสร้างกลไกป้องกันตัว   สร้างภาพต่างๆนานา  หรือ สร้าง "ปมเขื่อง" เพื่อปกปิดปมของตัวเองเอาไว้

สวัสดีท่านอาจารย์ครับ ขออนุญาติแลกเปลี่ยนนะครับ

รู้ กับ คิดไม่เหมือนกันนะครับ

รู้ว่ากำลังคิด

เท่ากับรู้ด้วยกำลังสติเป็นการระลึกรู้

อยู่ในภาวะสิ้นคิด แล้ว sensing ไปกับ กาย กับ ใจ

รู้ตามจริง เกิด ดับ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ของ กาย ใจ ความคิด ความรู้สึก เป็นการฝึกวิปัสสนาครับ

ฟัง จำ มาจากครูบาอาจารย์แล้วจึงลองมาหัดรู้ แล้วนำมาแบ่งปันครับ

แต่คนที่อาจจะยังไม่เคยรู้ ว่ารู้จริงๆเป็นอย่างไร ควรมีผู้ชี้ทางสว่าง ดังเช่นท่านปภังกรกล่าวครับ

ขอบพระคุณครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท