ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

ตามรอยโต๊ะ (ทวด) สืบโยด สาวย่าน


กาลเวลาเปลี่ยนสังคมก็เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยแน่นอนที่สุดทุกประเทศ ทุกชุมชนย่อมมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา และความเป็นไปแทบทั้งสิ้นจะมีสักกี่ชุมชนที่เรื่องราวเหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้หรือได้เล่าต่อสู่คนรุ่นต่อรุ่นเพื่อให้ลูกหลานได้ทราบประวัติความเป็นมาของชุมชนของตนเอง

ตามรอยโต๊ะ (ทวด)  สืบโยด สาวย่าน  

ปากคำ..ชาติพันธ์ของแผ่นดิน

 

เรื่อง / ภาพ : อ่าวไทยสวยงาม

ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4    1 เมษายน – 30 เมษายน  53

 

           กาลเวลาเปลี่ยนสังคมก็เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยแน่นอนที่สุดทุกประเทศ  ทุกชุมชนย่อมมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา และความเป็นไปแทบทั้งสิ้นจะมีสักกี่ชุมชนที่เรื่องราวเหล่านั้นได้ถูกบันทึกไว้หรือได้เล่าต่อสู่คนรุ่นต่อรุ่นเพื่อให้ลูกหลานได้ทราบประวัติความเป็นมาของชุมชนของตนเอง
           วันนี้ทาง ศูนย์ข่าวพลเมืองได้มีโอกาสพูดคุยกับ   หะญีโต๊ะอิหม่ามเหม    โต๊ะแอ ถึงการเข้ามาตั้งฐิ่นฐาน รกราก ของอิสลามบ้านคอเขา   และ  ประวัติการเข้ามาของอิสลามริมชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยโดยเฉพาะพื้นที่ของจังหวัดนครศรีฯ
        โต๊ะอิหม่ามเหม   ได้เล่าให้ฟังว่าบรรพบุรุษของเขามาตั้งรกรากที่นี้ผ่านมมาแล้ว  3   รุ่น โดยมีโต๊ะอิหม่ามคนแรกชื่อว่า     โต๊ะแอ      คนที่สองชื่อว่า     โต๊ะอิน     ส่วนคนรุ่นที่สามคือ   โต๊ะเหม     โดยประวัติศาตร์ความเป็นมาได้ถูกเล่าผ่านบุคคลดังกล่าวรุ่นต่อรุ่นว่า ในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชมีการทำสงครามขยายดินแดน โดยได้นำเชลยศึก มาจากรัฐเกดะห์    ปะลิส     ตรังกานู  กะลันตัน  ซึ่งเมืองดังกล่าวเมื่อสมัยก่อนเป็นเขตของประเทศสยาม  และได้นำเชลยศึกมาอยู่ในประเทศสยามซึ่งการนำเชลยมาในยุคนั้นยังถามความสมัครใจด้วยว่าจะไปอยู่ประเทศสยาม   หรือ ประเทศไทยหรือไม่  เมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้วไม่มีการบังคับให้ทำงานแต่อย่างใดตรงกันข้ามกลับจัดที่ทำมาหากินให้อีก
           ซึ่งคนที่มีพื้นฐานทำมาอาชีพอะไรก็ให้อยู่ประกอบอาชีพอย่างที่ตนถนัด   เช่นคนที่ทำนาก็ให้อยู่บริเวณที่ราบลุ่มโซนภูเขา   คนที่หาปลาก็อยู่ริมชายฝั่งทะเล  โดยพื้นที่ ที่นำเชลยศึกเข้ามาครั้งนั้นทางประเทศสยามได้จัดเป้าหมายไว้     7   แห่ง   ดังต่อไปนี้นครศรีธรรมราช     ,    กรุงเทพมหานคร ,  มีนบุรี   ,   นนทบุรี   ,    ปทุมธานี  ,   นครนายก ,  สระบุรี
        ในส่วนของโต๊ะแอและพวกซึ่งเป็นคนรุ่นแรกได้ลงหลักปักฐานที่  อ. พรหมคีรี   จ. นครศรีฯ 
อยู่ตรงข้ามสนามบินพาณิชย์นครศรีฯในปัจจุบันต่อจากนั้น   โต๊ะแอและพวก  ได้ขยายถิ่นฐานมาตั้งภูมิเลาเนาอยู่ที่  บ้านทับแขก  อ.ท่าศาลา   จ. นครศรีฯ ซึ่งชื่อหมู่บ้านก็บ่งบอกว่าเป็นหมู่บ้านของผู้นับถือศาสนาอิสลาม
         หลังจากนั้น  โต๊ะแอและพวก  ได้ขยายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่บ้านในถุ้ง   ต.ท่าศาลา   อ. ท่าศาลา  จ. นครศรีฯ   และได้เริ่มทำการประกอบอาชีพออกอวน  หาปลาต่อจากนั้น   โต๊ะแอและพวก ได้ขยายชุมชนมาอยู่ที่ บ้านปากดวด   ต.กลาย  ต.เสาภา  อ. ท่าศาลา และ  อ.สิชล  จ.นครศรีฯ
        หลังจากนั้น  โต๊ะแอและพวก ได้ขยายรกรากมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านคอเขา   ต.สิชล  อ.สิชล  จ.นครศรีฯ  และ ได้จัดสร้างสุเหร่าขึ้นเป็นแห่งแรกของ อ.สิชล  การขยายถิ่นฐานในครั้งนั้นโยกย้ายมาเพียง   9  - 10   ครัวเรือน  แต่ยังไปมาหาสู่ชุมชนเก่าๆดังเดิมอยู่ตลอดเวลา  และได้ชักชวนเพื่อนๆบ้านท่าเรือ  อ.เมือง   จ.นครศรีฯ  ให้มาอยู่ด้วยโดยได้มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านปลายทอน  ต. ทุ่งปรัง  อ. สิชล  ในปัจจุบัน 
       ซึ่งเพื่อนของโต๊ะแอ  ที่ได้ชักชวนมาจากบ้านท่าเรือ  อ.  เมือง  ชื่อ   โต๊ะฮาก    มาลาวัยจันทร์ 
ซึ่งตระกูล  มาลาวัยจันทร์  ก็เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นตระกูลดั้งเดิม  และ เป็นที่รู้จัก ในสังคมของชาวบ้านปลายทอนและอำเภอสิชล 
 วิถีชีวิตและการดำรงชีพ
       ชาวบ้านคอเขาในยุคนั้น ส่วนใหญ่หาเลี้ยงครอบครัวโดยหาปลาในทะเลเป็นหลัก   มีการเพาะปลูกบ้างเล็กน้อยแต่ที่สำคัญ  ต้องมีการนำอาหารทะเลที่หามาได้  เช่น  กุ้ง  หอย  ปู  ปลา  ไปแลกเปลี่ยนเป็นข้าวสาร   ผลไม้   กับเพื่อนพี่น้องโซนภูเขาในสมัยนั้น   เช่น  บ้านนาขอม   บ้านทุ่งปรัง  บ้านเขาเกียรติ    บ้านฉลอง  ถึงแม้จะนับถือศาสนาแตกต่างกันแต่ก็เป็นเพื่อน เป็นพี่น้องกันได้ อยู่ร่วมกันได้และไปมาหาสู่กันตลอดเวลา   นำไปสู่  “ เกลอเขา     เกลอเล ”   
        โดยโต๊ะเหม ยังเล่าให้ฟังต่ออีกว่า   พี่น้องเกลอเขา คือ เพื่อนที่สนิทและมีความชอบพอและรักกันมาก ได้ขี่ช้างเป็นพาหนะในการบรรทุกสิ่งของเช่น  ข้าวสาร  ผลไม้  ลงมาหาและพักค้าง 2 - 3 คืน จึงจะกลับและตอนกลับก็ได้นำ  กุ้ง หอย  ปู  ปลา  ซึ่งเป็นอาหารทะเลกลับไปด้วยความสัมพันธ์เป็นอยู่อย่างนั้นเรื่อยมา
        “เมื่อสมัยก่อนนั้นเขาไม่กลัวคน    เขากลัวสัตว์  เมื่อเจอผู้คนทักทายกันชักชวนกันดื่มน้ำ กินข้าวกินปลาแม้ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน   ไม่เหมือนปัจจุบันถ้าเจอคนให้หลีกหนีไว้ก่อนไม่รู้มาแบบไหนหลายเล่ห์เหลี่ยม”     และได้เล่าให้ฟังต่อไปว่า ปีแรกที่เข้ามาอยู่ที่บ้านคอเขาแห่งนี้  ได้ทำการเพาะปลูกแตงโม  ซึ่งบริเวณนั้นยังมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก  เช่น  หมี  เสือ  กวาง  ชะนี  และ ลิง  โดยลิงในสมัยนั้นยังกินแตงโมไม่เป็น   ไม่รู้จักลูกแตงโม  โดยที่เดินผ่านเข้าไปในสวนแตงโมและได้ลากผลไม้ที่ขึ้นบริเวณริมชายหาดทะเล  เช่น ลูกลังค่ายเข้าไปในสวนแตงโม จนสวนแตงโมได้รับความเสียหายแต่ ลิงไม่ได้ทำลาย หรือ กินลูกแตงโมแต่อย่างใด   หลังจากนั้นเมื่อชาวบ้านเก็บเกี่ยวผลแตงโม   และ ได้ทิ้งเปลือกแตงโมไว้บริเวณสวน ลิงก็นำไปกิน และลิงคอเขาในสมัยนั้นคงรู้แล้วว่า  “เขียวข้างนอกก็จริง  แต่ข้างในแดง”  ฮา … ( เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทหารแตงโมแต่อย่างใดเป็นเรื่องของลิงคอเขา กับ แตงโม )
        พอรุ่งปีหลังชาวบ้านต้องนอนเฝ้าสวนกันเลย   เพราะว่าลิง  มันกินแตงโมเป็นแล้ว และรู้ว่าข้างในมีสีแดงและหวาน  ฮา..
          เมื่อได้ถามถึง  หลักการ  และ การปฏิบัติตนในฐานะเป็นผู้นำด้านศาสนาอิสลาม ของหมู่บ้านคอเขา   โต๊ะเหม   กล่าวว่า   “ อยู่กันแบบลูกหลาน  รักใคร่สามัคคี  ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อบรมตามหลักศาสนาอิสลามสิ่งที่ปฏิบัติต้องปฏิบัติ  สิ่งที่เป็นข้อห้ามก็ให้ละเว้น   ศาสนาจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนมีความสุข    ปราศจากอบายมุขทั้งหลาย  มีความเป็นกลางและรับฟังความเห็นทั้งสองฝ่ายก่อนจะตัดสินเรื่องใดๆ” เมื่อได้สอบถามถึงสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมี  เหลือง  แดง  น้ำเงิน  ชมพู   หลากสี  และไม่มีสี  โต๊ะเหม ยังฝากปิดท้ายว่า   “อยากให้คนไทยรักใคร่สามัคคี   ว่ากันตามกฎระเบียบของบ้านเมือง
อยากจะเปิดโอกาสให้คนที่มีหน้าที่ทำงานให้ครบวาระก่อน   เราเป็นคนไทยด้วยกันทั้งเพ  อย่าได้นำศาสนามาแบ่งแยก  เราเป็นคนไทยมีในหลวงคนเดียวกัน”
   
หมายเลขบันทึก: 365337เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 19:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท