ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

ย่องเงียบศึกษา...เล็งผุดท่าเรือเพื่อรองรับอุตสาหกรรม


หันมาสำรวจตรวจสอบอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชตอนนี้พบว่าโปรเจ็คที่เกิดขึ้นสามารถพลิกเมืองคอนจากเมืองพระธาตุสู่เมืองมลพิษ สามารถพลิกท้องทะเลจากสีครามสู่ทะเลน้ำครำ อุตสาหกรรมอันตรายที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลมาจากการเขียนนโยบายของภาครัฐโดยไม่เคยถามประชาชน ภาคใต้ในขณะนี้จึงเต็มไปด้วยเงาของอุตสาหกรรมอันตราย

ย่องเงียบศึกษา...เล็งผุดท่าเรือเพื่อรองรับอุตสาหกรรม 

บนพื้นที่เดียวกับโครงการเชฟรอน ที่กลาย

เรื่อง/ภาพ : ใบไผ่ลู่ลม
ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4    1 เมษายน – 30 เมษายน  53

 

       หันมาสำรวจตรวจสอบอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราชตอนนี้พบว่าโปรเจ็คที่เกิดขึ้นสามารถพลิกเมืองคอนจากเมืองพระธาตุสู่เมืองมลพิษ สามารถพลิกท้องทะเลจากสีครามสู่ทะเลน้ำครำ อุตสาหกรรมอันตรายที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลมาจากการเขียนนโยบายของภาครัฐโดยไม่เคยถามประชาชน ภาคใต้ในขณะนี้จึงเต็มไปด้วยเงาของอุตสาหกรรมอันตราย
       หากเปิดแฟ้มดูก็จะพบว่าตอนนี้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในเมืองนครเกิดขึ้นเกือบทุกพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล ตั้งแต่ ขนอม  สิชล หัวไทร โครงการเหล่านี้สามารถสร้างหายนะให้กับท้องทะเลอ่าวไทยโดยเฉพาะที่เมืองคอนจึงต้องถามคนคอนว่าจะรักษาพระธาตุกับทะเลสีครามหรือต้องการอุตสาหกรรมอันตราย
       เริ่มต้นจากอำเภอขนอมมีการสร้างโรงไฟฟ้าจากก๊าซ และเป็นพื้นที่เป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย[1] ถัดลงมาพื้นที่ อ.สิชล เป็นพื้นที่เป้าหมายการสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี[2] และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่นเดียวกับ อ.ขนอม  มาถึงอ.ท่าศาลา กลายเป็นพื้นที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมน้ำมันของบริษัทเชฟรอน จนสุดท้ายที่อำเภอหัวไทรเป็นพื้นที่เป้าหมายการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
       ทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาและความพยายามในการสร้างการยอมรับของชุมชน ด้วยการใส่ข้อมูลเชิงบวกให้กับชาวบ้าน ซึ่งมีทั้งข้อมูลเท็จผสมกันไปด้วย แต่ในด้านผลเสียนั้นไม่ได้บอกให้ประชาชนทราบ ทุกโครงการของรัฐมักจะใช้วิธีเดียวกันนี้กับทุกพื้นที่ที่กำลังจะเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
       ...ล่าสุดสิ่งที่อยู่ระหว่างการศึกษาของสภาพัฒน์ฯก็คือการสร้างท่าเรืออุตสาหกรรม โดยมีทีมวิชาการในนามมหาวิทยาลัยทักษิณ คือ อาจารย์ สมบัติ เหสกุล[3] เป็นผู้ทำการศึกษา โดยการศึกษาครั้งนี้มีธงอยู่แล้วว่าการสร้างท่าเรือจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เหลือเพียงว่าจะสร้างที่ไหน ระหว่างพื้นที่ นครศรีธรรมราชกับจังหวัดสงขลา
       เพราะฉะนั้นการศึกษาครั้งนี้ไม่ได้ศึกษาว่า “ควรสร้างหรือไม่” แต่เป็นการศึกษาที่ ‘ต้องสร้าง’ หากมองรูปแบบการศึกษาในลักษณะนี้จะพบว่าเป็นการศึกษาที่ ‘มักง่าย’ ซึ่งเป็นวิธีการที่รัฐใช้ตลอดมาในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้เพราะไม่มีการสอบถามความต้องการของท้องถิ่น ยังไม่มีการจัดทำทิศทางการพัฒนาแต่ได้ลงมือทำไปแล้ว สะท้อนให้เห็นมุมมองและทิศทางการพัฒนาของรัฐที่ใช้อำนาจและวิธีการแบบเดิมในการทำงาน
       ย้อนกลับมาที่การสร้างท่าเรือจะพบว่ากระบวนการสร้างท่าเรือเกิดขึ้นเพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและพื้นที่จังหวัดสงขลา เพราะการสร้างท่าเรือหากไม่มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องก็จะไม่มีความคุ้มค่า การสร้างท่าเรือจึงเปรียบเสมือนการเปิดประตูบ้านเพื่อรองรับการสร้างพื้นที่อุตสาหกรรม
 
       จังหวัดนครศรีธรรมราชในช่วงนี้จึงเต็มไปด้วย มรสุมของอุตสาหกรรมเต็มไปหมด และหากสังเกตให้ดีจะพบว่า อุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมดถือว่าเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องซึ่งกันและกัน ซึ่งจะขอขยายให้ชัดเจนขึ้นดังนี้
       การเกิดท่าเรือเพื่อรองรับแผนของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ได้ทำการศึกษาเบื้องต้นไว้แล้วในพื้นที่ กลายและพื้นที่สิชล เมื่อมีท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายมากขึ้น เพราะมีระบบขนส่งรองรับ ส่วนอุตสาหกรรมพลังงานคือโรงไฟฟ้าทั้งหลายก็สร้างขึ้นเพื่อเป็นฐานพลังงานให้กับการผลิต ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากนี้ยังมีการสร้างเขื่อนท่าทนที่อำเภอสิชลเพื่อนำน้ำมาใช้ในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม
       เพราะฉะนั้นการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมชนิดต่างๆแม้ว่าจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบคนละหน่วยงานแต่ว่าล้วนเชื่อมโยงกันทุกโครงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งการดำเนินงานของภาคเอกชน เช่น บริษัทเชฟรอนประเทศไทย ซึ่งเข้ามาดำเนินการสร้างท่าเรือเพื่อใช้ในกิจการอุตสาหกรรมน้ำมันของบริษัท โดยบริษัทเชฟรอนยืนยันว่าบริษัทตนเองจะสร้างเฉพาะท่าเรือกับคลังเก็บวัสดุอุปกรณ์เท่านั้น ไม่มีอุตสาหกรรมตามมาแต่กระทรวงพลังงานยืนยันว่าโรงกลั่นน้ำมันจะเกิดขึ้นที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช[4]
       แต่เมื่อบริษัทเชฟรอนสร้างท่าเรือเสร็จแล้ว กระทรวงพลังงานได้ระบุว่าพื้นที่ท่าศาลาจะเป็นแหล่งขนส่งน้ำมัน กล่าวคือจะเกิดโรงกลั่นน้ำมันที่ท่าศาลาและอุตสาหกรรมอื่นๆตามมาในอนาคตและนี่คือรูปแบบการเดินทางของการสร้างอุตสาหกรรม   รัฐจะไม่บอกภาพรวมทั้งหมดเปรียบเสมือนการต่อจิ๊กซอแต่ละตัวจนกว่าจะเต็มภาพใหญ่ แต่กว่าประชาชนจะรู้ถึงขั้นนั้นก็แทบจะสายไปแล้ว
       ในจิ๊กซอการเกิดอุตสาหกรรม จิ๊กซอตัวแรกๆคือการเตรียมระบบการขนส่งนั่นคือ การสร้างท่าเรือ เพราะจะเป็นสะพานให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมา งานศึกษาชิ้นล่าสุดของสภาพัฒนฯ เพื่อการสร้างท่าเรือจึงเปรียบเสมือนการเปิดประตูเมืองที่ชาวนครต้องจับตา...
       หากจะทำอย่างถูกต้องตรงไปตรงมางานศึกษาของสภาพัฒน์ฯชิ้นนี้จำเป็นที่จะต้องรับฟังความเห็นของประชาชนตั้งแต่ช่วงต้นว่าประชาชนต้องการให้มีการท่าเรือหรือไม่ ไม่ใช่มาศึกษาทั้งๆที่ยังไม่มีการถามคนในพื้นที่ว่าต้องการให้มีการสร้างท่าเรือหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นการไม่เคารพต่อสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
       หากสภาพัฒน์ฯมีความจริงใจก็จะต้องทำการศึกษาว่าชุมชนต้องการพัฒนาแบบไหนตั้งแต่ต้นก่อนที่จะไปดำเนินการระดับโครงการ หรือนำยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค[5]ที่สภาพัฒน์ได้จัดทำแล้วนำมาให้ประชาชนได้แสดงความเห็นปละปรับปรุงจนกว่าจะกลายเป็นทิศทางการพัฒนาภาคใต้ที่สมบูรณ์และใช้ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เห็นร่วมกันเป็นทิศทางการพัฒนาภาค...ในทางตรงกันข้ามการดำเนินการในลักษณะเช่นนี้จะนำมาสู่ความขัดแย้ง ผิดทิศผิดทางและสร้างความเสียหายตามมาอย่างไม่อาจเยียวยาได้
 
 

[1] แผนพีดีพีผลิตพลังงงานไฟฟ้า (พีดีพี2010),กระทรวงพลังงาน

[2] รายงานศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนครศรีธรรมราช,การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย)

[3] สมบัติ เหสกุล นำเสนอกรอบการศึกษาเบื้องต้นวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๒ ณ ศูนย์เทคโนโลยี เกาะยอ

 จังหวัดสงขลา

[4] รายงานการประชุมที่ปรึกษากระทรวงพลังงาน วันที่ 30 กันยายน 2552

[5] ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคใต้ กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค,สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

หมายเลขบันทึก: 365330เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 19:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท