ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน เกาะติดชุมชน สิทธิชุมชน สิทธิพลเมือง

ไฟฟ้าถ่านหิน ย่องเงียบ เล็งผุด ท่าศาลา หัวไทร มุดเสื้อ คลุมผ้าถุงลงพื้นที่


จากปัญหาที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อบรรจุไว้ในแผนพลังงานนี้เอง พื้นที่ ชายฝั่งทะเลและจังหวัดนครศรีธรรมราชกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินทันที โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งข่าวระบุว่า จากการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น น่าจะเป็นที่ อ.หัวไทรและท่าศาลา ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีชายฝั่งทะเลที่ค่อนข้างยาว มีความลึกเหมาะสมในการสร้างท่าเรือ อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังมีการศึกษาเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล และ ต.กลาย ที่ อ.ท่าศาลา และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร ที่ ต.แก้วแสน อ.นาบอน ดังนั้น แรงผลักดังกล่าวจึงส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่กล่าวถึงจึงถูกระบุที่จังหวัดนครศรีธรรมราชถึง 2 แห่ง

ไฟฟ้าถ่านหิน ย่องเงียบ เล็งผุด ท่าศาลา หัวไทร

มุดเสื้อ คลุมผ้าถุงลงพื้นที่

เรื่อง / ภาพ : สานศรัทธา

ที่มา ศูนย์ข่าวพลเมืองฅนคอน ปีที่ 1 ฉบับที่ 4    1 เมษายน – 30 เมษายน  53

 

       จากข่าวไทยรัฐ เมื่อวันที่ 13 ,มีนาคม 53 หน้าเศรษฐกิจระบุว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนพีดีพี 2010 เผยโรงไฟฟ้าถ่านหินหดเหลือ 9 โรง โรงละ 1 พันเมกะวัตต์ จากเดิมที่กำหนดไว้ 13 โรง        นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่า ที่ประชุม กพช.เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2553-2573 (พีดีพี 2010) โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์สำคัญคือ การปรับค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าลดลง จากแผนพีดีพีฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน (พีดีพี 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามแผนพัฒนา พลังงานทดแทน 15 ปี ของกระทรวงพลังงาน
       "ที่ประชุม กพช.ยังได้มีความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนพีดีพี 2010 ว่า ควรจะมีการจัดทำแผนพีดีพีสำรองอีกฉบับหนึ่ง โดยพิจารณาจากพื้นฐานกรณีไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยให้ สนพ.กลับไปศึกษามารายงานที่ประชุมใหม่อีกครั้ง" นายแพทย์วรรณรัตน์กล่าว
       นายชวลิต ทิชาลัย รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กพช.เห็นชอบในส่วนของสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงเท่านั้น โดยแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงมีกำลังผลิตไฟฟ้าสิ้นปี 73 อยู่ที่ 66,167 เมกะวัตต์ กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ 54,625 เมกะวัตต์ โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ แผนพีดีพี 2010 เดิมได้มีการกำหนดไว้ว่าจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด 13 โรง ขนาดโรงละประมาณ 800 เมกะวัตต์ กำลังผลิตรวม 1,000 เมกะวัตต์ แต่ล่าสุดหลังจากรับฟังความคิดเห็นทั้ง 2 ครั้งแล้ว ก็ได้มีการปรับลดจำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดลงมาเหลือเพียง 9 โรง แล้วจะไปเพิ่มในส่วนของพลังงานหมุนเวียนแทน
       จากปัญหาที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อบรรจุไว้ในแผนพลังงานนี้เอง พื้นที่ ชายฝั่งทะเลและจังหวัดนครศรีธรรมราชกลายเป็นพื้นที่เป้าหมายเพื่อรองรับการพัฒนาโรงไฟฟ้าถ่านหินทันที  โดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งข่าวระบุว่า จากการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น น่าจะเป็นที่ อ.หัวไทรและท่าศาลา ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีชายฝั่งทะเลที่ค่อนข้างยาว มีความลึกเหมาะสมในการสร้างท่าเรือ อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังมีการศึกษาเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ ต.ทุ่งปรัง อ.สิชล และ ต.กลาย ที่ อ.ท่าศาลา และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร ที่ ต.แก้วแสน อ.นาบอน ดังนั้น แรงผลักดังกล่าวจึงส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลที่กล่าวถึงจึงถูกระบุที่จังหวัดนครศรีธรรมราชถึง 2 แห่ง
       อีกทั้งแหล่งข่าวระบุต่อไปว่า ในปี 2559 นี้ โรงไฟฟ้าที่ อ.ขนอมจะหยุดดำเนินการ ดังนั้นต้องมีโรงไฟฟ้าทดแทน ซึ่งเป็นคำกล่าวอ้างที่ปราศจากข้อเท็จจริง เพราะขณะนี้โรงไฟฟ้าขนอมเองก็จะมีการขยายโครงการใหม่ในพื้นที่เดิม ดังนั้น จึงเป็นแค่เพียงรื้อของเก่าเพื่อสร้างใหม่อีกระยะหนึ่งเท่านั้นเอง
       ช่วงนี้ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอนได้รับข้อมูลทั้งจากพื้นที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลาบ่อยมาก เรื่องการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งสองพื้นที่ ก่อนหน้านี้ทีมลงพื้นที่ของโรงฟ้าถ่านหิน ย่องเงียบขึ้นไปเทพราช เมื่อต้นเดือนมีนาคม เพื่อเจาะข้อมูลเรื่องการคัดค้าน พี่พร หรือ อวยพร บุญพรหม แกนนำคัดค้านการก่อสร้างเขือนคลองท่าทนกล่าวว่า “เมื่อต้นเดือนมีนาคม มีทีมงานขึ้นไปที่บ้าน บอกว่ามาจากการไฟฟ้า ท่าทางไม่น่าไว้วางใจเท่าไหร่ ถามโน่นถามนี่ พี่พรบอกว่า ถ้ามาเรื่อเขื่อน เรื่องอุตสาหกรรม ที่นี้ไม่ต้อนรับ กลับไปได้เลย” แรกพี่พรเองก็ยังไม่มั่นใจว่าเปนทีมการไฟฟ้าส่วนไหน ภายหลังเมื่อไปเจอทีมลงทำประชาคม พี่พรบอกว่าจำได้แม่นยำและยังให้ลงชื่อไว้ในสมุดอีกด้วย “เขายังบอกกับพี่พรว่าจะไปไหน พี่พรบอกว่าเตรียมตัวไปค้านโครงการเชฟรอน เขายังบอกพี่พรเลยว่าอย่าไปค้านเขานำการพัฒนามาให้ ในส่วนตัวของพี่พรแล้ว เชื่อว่าพวกนี้เป้นกลุ่มเดียวกัน ถึงกันหมด แต่ทำคนละโครงการเท่านั้นเอง”  จากนั้น ทีมงานของโรงฟ้าถ่านหิน ได้เข้าไปสังเกตที่เวทีรับฟังความเห็นของเชฟรอน ที่ อบต.กลายเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 53  แหล่งข่าวระบุวันนั้น ทีมงานโรงไฟฟ้าเจอชาวบ้านคัดค้านเชฟรอนถึงกับผวา
       แต่หลังจากนั้นไม่นาน ไพรี หรือ ไพโรจน์ รัตนรัตน์ นักสู้แห่งลุ่มน้ำปากพนังเปิดเผยว่า “ขณะนี้ทีมงานของโรงไฟฟ้าแอบย่องเงียบลงพื้นที่ ต.หน้าสตน ต.เกาะเพชร อ.หัวไทร เพื่อแนะนำและประชาสัมพันธ์โครงการโดยมีทีมชาวของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ล้วนเป็นคนลุ่มน้ำปากพนังทั้งสิ้น อีกทั้งยังมีแกนนำชาวบ้านที่เข้าร่วมเป็นทีมอีกหลายคน  ส่วนตัวแล้วผมคัดค้านแน่นอน เพราะผมรู้ดีว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเขาค้านมาตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขาคัดค้านมานับสิบปีแล้ว ที่กรณีบ้านนอกหินกรูด ถ้าดีจริงชาวบ้านไม่คัดค้านหรอก”  จากนั้นอีกไม่กี่วัน ได้รับข่าวจากนายประเสริฐ คงสงค์ นักสู้ลุ่มน้ำปากพนังอีกคนหนึ่ง และเป็นอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมหัวไทร เปิดเผยว่า “ในพื้นที่มีการเปิดเวทีประชาคม พวกโรงไฟฟ้าพวกนี้ลงไปด้วยขอเอี่ยวเวที และเมื่อช่วงสงกรานต์ยังแจกผ้าถุง ถามว่ากระบวนเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่ น่าจะไล่ออกจากราชการให้หมด ไม่ยอมเปิดเวที เอาแต่แจกของและลงไปตามเวทีประชาคมของเทศบาล ไม่เป็นธรรมกับพวกเรา ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ข้อเท็จจริง อีกทั้งการให้ข้อมูลยังคลุมเครือจนชาวบ้านคิดว่า เป็นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่จริงทีมนี้เป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อขยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีกต่อหนึ่ง พวกนี้มุดผ้าถุงมาชัดๆ ผมปรึกษาหลายฝ่ายแล้ว ถึงเวลาต้องจัดการ
       หลังจากนั้นไม่นานศูนย์ข่าวฯ ได้รับแจ้ง จากคน ต.กลาย และ ต.สระแก้ว อีกว่า “ตอนนี้มีทีมงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาในพื้นที่ และมีแกนนำชาวบ้านลูกกำนันคนหนึ่งในทีมงานด้วย ลงพื้นที่ครั้งละ 4-5 คน มาให้ข้อมูล พูดแบบมาขอลูกสาว คือ มา แยบแยบ ไว้ก่อน และมีการแจกเสื้อ อสม.ด้วย คนละ 2 ตัว
       ที่ อบต.ท่าศาลา ทีมงานการไฟฟ้าก็ย่องเงียบเข้ามา โดยการนัดกินข้าวกับนายก อบต.ท่าศาลา นายอภินันท์ เชาวลิต เล่าให้ฟังว่า “เขาใช้คนในพื้นที่ติดต่อมานัดผมไปทานข้าวแล้วบอกว่า ประเทศไทยจะขาดแคลนพลังไฟฟ้า จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าที่ อ.ท่าศาลา และบอกอีกว่า เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สะอาด นำเข้าจากต่างประเทศ รู้สึกว่าจะเป็นประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซีย แต่เขาบอกว่าน่าจะเป็นถ่านหินที่อินโดนีเซียมากกว่า สำหรับผมยืนยันแล้วว่า ผมไม่เอา ไปสร้างที่ไหนก็ได้ ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน จะเอาชายทะเลไว้ให้ชาวบ้านหาปลา ไฟฟ้าเราน่าจะมีพอแล้ว สงสัยจะเอาไฟฟ้าไปป้อนโรงงาน” อภินันท์เปิดเผยพร้อมหัวเราะหลังจากกลับมาจากทานข้าวกับทีมงานดังกล่าว
       ดังนั้น สรุปได้ว่า จากข้อมูลทั้งหมด จากแผนพัฒนาพลังงานโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.นครศรีธรรมราช 2 โรง มีการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนหน้านี้ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลมาตั้งแต่ต้น แต่บอกว่ามีการศึกษาทั้งพื้นที่ชายฝั่งทั้งหมด จึงเป็นกล่าวอ้างที่ค่อนข้างไกลความจริง เพราะว่าที่จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น มุ่งเจาะพื้นที่โดยตรง หากเรื่องนี้มีความจริงใจแล้ว ทีมงานการไฟฟ้าต้องเปิดเผยข้อมูล รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าก่อนด้วย  นอกจากนี้ ยังมีการติดต่อไปยังอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เพื่อจัดหาถ่านหินไว้รองรับ แต่หากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดไม่ได้ ประเทศไทยต้องเสียค่าโง่อีก เพราะเป็นการทำสัญญาล่วงหน้า สำหรับข้อมูลเชิงลึกจะติดตามให้ทราบในฉบับต่อไป
       สำหรับความเป็นจริงแล้ว จากข้อมูลการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เปิดเผยว่า ภาคใต้เราใช้ไฟฟ้าเพียง 7-8 เปอร์เซ็นเท่านั้นของทั้งประเทศ ดังนั้นไฟฟ้าทั้งหมดในตอนนี้ ต้องมีเป้าหมายว่าจะป้อนไปสู้ที่ใดกันแน่ ตอนนี้เรามีโรงไฟฟ้าขาดใหญ่ ที่ อ.จะนะจ.สงขลา ที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน สุราษฎร์ธานี อีกทั้งยังมีการติดต่อไปยังประเทศลาวซึ่งกำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อป้อนเข้าสู่ประเทศไทย เช่นเดียวกัน จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเช่นเดียวกัน ระบุว่า ประเทยไทยมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมประมาณ 70 % ส่วนภาคเกษตรและครัวเรือใช้เพียง 30 % เท่านั้น จากข้อมูลนี้เองจึงฟังธงได้ว่า พลังงานทั้งหมดน่าจะพุ่งเป้าไปที่ ภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรมแน่นอน       
       และหากวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้า ในภาคธุรกิจ ห้างสยามพารากอนใช้ไฟฟ้าปีละ 123 ล้านหน่วย ห้างมาบุญครอง ใช้ไฟฟ้า 81 ล้านหน่อย ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ใช้ 75 ล้านหน่อย  เฉพาะห้างสยามพารากอนใช้ไฟฟ้ามากกว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอน อำนาจเจริญ ทั้งจังหวัด  หากเอา 3 ห้างรวมกัน ใช้ไฟฟ้ามากว่าจังหวัดทางภาคใต้ คือ สตูล พัทลุง และ จังหวัดระนอง
       หากเป็นเช่นนี้แล้ว การใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคธุรกิจทั้งสินไม่ใช่ส่วนของเกษตรกรรม และที่อยู่อาศัยเลย แต่เมื่อจะสร้างโรงไฟฟ้า กลับมาสร้างในกลางพื้นที่ชุมชน แหล่งอาศัย แหล่งทำมาหากินชายฝั่งทำไม
       นอกจากนี้การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยังจำเป็นในการใช้น้ำ และก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกอีกในการลำเลียงถ่านหินจากต่างประเทศ ซึ่งฉบับหน้าจะเจาะลึก ทั้งผลกระทบ ท่าเรือ การใช้น้ำ และกระบวนการเข้ามาแบบเจาะลึกของทีมการไฟฟ้าส่วนนี้ครับ
หมายเลขบันทึก: 365333เขียนเมื่อ 9 มิถุนายน 2010 19:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 14:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท