ความรู้จาก ดร.ประพนธ์ Model ปลาทู และเรื่องเล่าเร้าพลัง


ได้เห็นทางสว่างครับ เพราะทำงานมานาน ๆ บางครั้งยิ่งทำก็ยิ่งจมลงไปมาก ๆ พอฟังวันนี้แล้วเห็นภาพชัดขึ้นมาก ๆ เลยครับ

วันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสได้รับฟังการบรรยายจาก ดร.ประพนธ์ ที่โรงพยาบาลราชวิถีครับ ในวันนั้นถึงแม้ว่าเป็นเวลาเพียงชั่วโมงครึ่งแต่ก็ทำให้ผมและทุก ๆ ในห้องนั้นได้รับความรู้อย่างมากมาย

พอฟังการบรรยายเสร็จแล้วในวันนั้น ระหว่างเดินทางกลับมาที่ สคส. ท่านดร.ประพนธ์ ได้ถามผมว่าฟังวันนี้ได้อะไรบ้าง 

ผมก็ได้ตอบท่านไปว่า ได้เห็นทางสว่างครับ เพราะทำงานมานาน ๆ บางครั้งยิ่งทำก็ยิ่งจมลงไปมาก ๆ พอฟังวันนี้แล้วเห็นภาพชัดขึ้นมาก ๆ เลยครับ

ท่านก็เลยบอกผมว่า เขียนลงบล็อคซิ เนี่ยแหละเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ผมก็เลยขออนุญาตเขียนความรู้ที่ได้จากการบรรยายวันนั้นมาให้ทุก ๆ ได้รับทราบครับ

1. เรื่องของแผนผังก้างปลากับการปฏิบัติงานจริงในหน่วยงาน  เมื่อฟังการบรรยายเรื่อง Model ปลาทูแล้วผมเห็นภาพอย่างหนึ่งก็ที่เกิดขึ้นกับประสบการณ์ที่ผมได้ทำงานมาครับ นั่นก็คือ ในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการและสถาบันการศึกษา เน้นการทำงานในส่วนเฉพาะพุงปลา คือทำแต่กิจกรรม ๆทำโครงการเพื่อให้เกิดกิจกรรม ทำกิจกรรมนั้นให้มีเกิดขึ้นวัดผลด้วยตัวเลขครับ คือวัดผลกันว่าจัดกันกี่ครั้งในหนึ่งปี ในหน่วยงานจัดกันหรือยัง ก็คือวัดเพื่อให้ผ่านการประเมิน KPI ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สคศ. กพร. ฯลฯ น่ะครับ จากนั้นผมก็ได้ฟังต่อเรื่องของหัวปลา ท่านดร.ประพนธ์พูดถูกอย่างมากเลยครับ ก็คือ Vision ของหน่วยงานหรือองค์กร เรื่องของการทำ KM ไปทำไม ทำ KM เพื่ออะไร ในองค์กร ทำ KM เพื่อ KM จริง ๆ ครับ ก็คือคิดแค่ว่า ต้องจัดการความรู้เพื่อให้เกิดการจัดการความรู้ แต่ไม่ได้คิดต่อไปให้ลึกต่อไปในนั้นว่า จัดการความรู้แล้วจะเกิดประโยชน์อะไรบ้างกับองค์กร ลูกค้า หรือว่าการทำงานครับ เพียงแต่ทำ KM เพื่อให้ได้ KM และเพื่อให้มี KM แค่นั้นเองครับ วันนั้นผมก็เลยเห็นภาพเลยครับ

2. เรื่องเล่าเร้าพลังครับ วันนั้นหลังจากที่ได้ฟังอาจารย์ประพนธ์ ได้เล่าถึงบันทึกที่ท่านได้เขียนเกี่ยวกับวันที่ท่านได้พาแม่และครอบครัวไปร่วมงานเฉลิมฉลอง ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ในคราวที่พระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จออก ณ สีหบัญชร ท่านได้เล่าถึงสิ่งความประทับที่ท่านได้พบในวันนั้น ทำให้ผมทราบว่า เนี่ยแหละ พลังของเรื่องเล่า พลังของสิ่งที่เราพบ ทุก ๆ วันเราพบสิ่งที่ดี ๆ มากมายครับ แต่พลังมันจะเกิดขึ้นอีกมาก ถ้าเรานำสิ่งนั้นกลับมาคิดกลับมาเขียนบันทึก ผมเลยได้เห็นประโยชน์จาก blog นี้มาก ๆ เลยครับ เพราะสิ่งที่พี่ ๆ ทุกคนได้เขียนลงไปบล็อค ส่วนใหญ่เป็นความประทับใจที่เกิดขึ้นมาจากการทำงาน และความประทับใจเนี่ยแหละทำให้เราอยู่ในร่องของความสุขครับ เมื่อเราอยู่ในร่องของความสุข เราก็จะมีพลังในการทำงาน มีรอยยิ้ม ความสุขอยู่ที่ใจครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาไม่กี่นาที ที่เรามาเขียนบล็อค แต่ในช่วงเวลานั้น หัวสมองของเราก็จะต้องย้อนกลับมาคิดถึงความสุข ถึงจะกลั่นกรองเขา Tacit Knowledge ที่มีความสุขนั้นออกมาเป็นเพียงหนังสือ อย่างที่ท่าน ดร.ประพนธ์พูดไว้ไม่มีผิดเลยครับ ที่ท่านว่า Tacit Knowledge ไม่จำเป็นต้องเป็นคำพูดเท่านั้น แต่สามารถเป็นตัวหนังสือก็ได้ และบล็อคของ gotoknow นี้ก็เป็นสิ่งยืนยันเลยครับว่า เนี่ยแหละ แหล่งรวมความสุขของนักวิชาการไทยในทุกสาขาอาชีพ เมื่อเรามีความสุข เราก็จะทำงานอย่างมีความสุข ครอบครัวและคนที่อยู่รอบข้างก็จะมีความสุขตามไปด้วย พลังของเรื่องเล่าดีจริง ๆ เลยครับ

ซึ่งเมื่อก่อนผมก็เคยทำกิจกรรมนี้มาในครั้งที่เข้าค่ายอบรมเพชรราชภัฏ ที่จังหวัดกาญจนบุรีครับ ก็ประมาณ 8 ปีมาได้แล้วครับ ในครั้งนั้นได้มีเพชรราชภัฏจากทั่วประเทศครับ ได้มาเข้าค่ายอยู่ด้วยกัน 3 วัน และมีครั้งหนึ่งครับที่มีกิจกรรมให้พวกเรานั่งสมาธิ แล้วคิดย้อนไปถึงอดีตใน 2 เรื่องครับ เรื่องแรก อาจารย์ให้พวกเราเล่าถึงสิ่งที่ประทับใจที่สุดในชีวิต บรรยากาศเต็มไปด้วยความสุขมาก ๆ เลยครับ ทุกคนผลัดกันเล่าและตั้งใจฟัง โดยอาจารย์ให้ได้คนที่เล่าถือแก้วไว้หนึ่งใบครับ อาจารย์บอกว่าเป็นสิ่งที่ใช้ดูว่าสิ่งที่เราเล่านั้นจริงจังแค่ไหนครับ ถ้าเล่าไปแกว่งแก้วไปแกว่งแก้วมา ก็แสดงว่าเรื่องนั้นไม่ค่อยน่าเชื่อถือครับ แต่ถ้าเล่าแล้วกำแก้วไว้แน่น แสดงว่าเรื่องนั้นจริงจังมาก ๆ เลยครับ

หลังจากที่เราได้เล่าเรื่องประทับใจเสร็จ อาจารย์ก็ให้เล่านั่งหลับตาทำสมาธิอีกประมาณ 3 นาที แล้วคราวนี้ ให้เราย้อนกลับไปนึกถึงเรื่องที่ทำให้เราเสียใจที่สุดครับ ตอนนั้นผมก็ไม่เข้าใจว่าเขาจะให้เราเล่าทำไม แล้วเรื่องที่เสียใจที่สุดเนี่ย แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเล่าให้ใครฟังเลย

แต่เมื่อพอเล่าแล้ว โอ้โห ไม่น่าเชื่อเลยครับ ว่าสิ่งที่ได้จากการที่เราได้เล่าเรื่องสิ่งที่เราเสียใจที่สุดนั้นมีคุณค่าถึงขนาดนี้เลยเหรอ

เรื่องแรกที่ผมได้ก็คือ ได้ความสบายใจครับ เป็นประโยชน์แบบฉับพลันเลย ก็คือ ได้ระบายความในใจที่มันอึดอัดมานานครับ เพราะบางครั้งเราทำสิ่งที่ผิดพลาดบางอย่างไว้ เราไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้ แต่ในวันนั้น ทุกคนได้เล่าเรื่องที่เสียใจที่สุดออกมาโดยใช้หลักการของความเสมอภาคครับ ต้องเชื่อใจกัน ก็คือ เมื่อเพื่อนเล่าแล้วเราก็ต้องเล่าครับ จริงใจต่อกัน บรรยากาศในตอนที่เล่าเรื่องนั้น ทุกคนในขณะที่เล่า ร้องไห้กันหมดเลยครับ คนที่ไม่ได้เล่าก็ปลอบใจเพื่อน จึงทำให้เราได้เห็นข้อดีข้อที่สองครับนั่นก็คือ

เพื่อนและความจริงใจครับ ในการอบรมคราวนั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาเพียงแค่ 3 วัน แต่ไม่น่าเชื่อเลยครับว่า เราเหมือนรู้จักกันมานานแรมปี บอกได้เลยครับว่า กิจกรรมนี้ ทำให้เรารักกันมากขึ้น เพราะเราได้แสดงความจริงใจของเราออกมาจนหมดเปลือก ขนาดสิ่งที่เสียใจที่สุดของเรา เรากล้าที่บอกให้เพื่อนเราได้รับรู้ มิตรภาพและความจริงใจเกิดขึ้นอย่างมากมายจริง ๆ ครับ

เห็นได้จากวันที่เราต้องแยกย้ายกลับภูมิลำเนา หลาย ๆ คนกอดคอกันร้องไห้ เพราะต้องจากกันและไม่รู้ว่านานอีกแค่ไหนจะได้พบกันอีก สำหรับผมน้ำตาคลอเลยครับ เพราะรู้สึกเหมือนต้องลาจากคนที่สนิทรู้ใจกันมานาน และสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถัดมาก็คือ "จดหมาย" ครับ ปกติผมไม่ชอบเขียนจดหมายเลย แต่หลังจากที่อบรมกลับมา ผมได้เขียนจดหมายติดต่อกับเพื่อน ๆ ที่ได้อบรมกันในวันนั้นมาตลอด จนถึงวันนี้ก็ยังติดต่อกันอยู่เลยครับ เนี่ยแหละครับสิ่งที่ได้จากเรื่องเล่าเร้าพลังครับ

สิ่งที่เห็นอีกประการหนึ่งที่ได้ในวันนั้นหลังจากที่ฟัง ดร.ประพนธ์ พูดก็คือ การทำในส่วนของหางปลาครับ วันนั้น สคส. ได้จัดทำหางปลาไว้อย่างดีมาก ๆ เลยครับ นั่นก็คือ Gotoknow.org บล็อคต่าง ๆ เปรียบได้เหมือนหางปลาของประเทศไทยครับ ที่มี คุณหมอวิจารณ์ ดร.ประพนธ์ และทีมงานทุก ๆ คนที่อยู่ใน สคส. เป็นหัวปลา วางแนวคิดวิสัยทัศน์ แล้วพวกเราได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละหน่วยงานแต่ละกรมแต่ละกอง ตามภาระกิจหลักของเรา เหมือนพุงปลา จากนั้น พวกเราก็ได้ร่วมกันกลับมาทำหางปลาลงใน Blog เขียนลงบันทึกต่าง ๆ เปรียบหางปลามีสองซีกครับทั้งส่วนของ Tacit และ Explicit Knowledge ครับ ทุก ๆ คนที่เข้ามาเขียนในบล็อค มีลีลาหลากหลาย มีวิธีการหลากสไตล์ในการเขียน เนี่ยแหละครับ หางปลาที่สำคัญยิ่งของ KM Thailand ครับ

ขอขอบคุณท่านดร.ประพนธ์  อีกครั้งครับ ที่ได้ให้โอกาสผมและทุก ๆ คนได้รับฟังสิ่งที่ดี ๆ จากท่าน ขอบคุณครับ

 

หมายเลขบันทึก: 36526เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2006 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันความรู้คะ :)
สุชาดา ทิพย์จันทร์

ขอบคุณมากเลยค่ะ  อ่านแล้วได้ความคิดใหม่ ๆ อืม..แต่ว่าอยากทราบความหมายของ ชื่ออาจารย์จังค่ะ "ปภังกร" เพราะมากนะคะ

ขอบคุณมากครับอ่านแล้วประทับใจจริง ๆ ครับ

ขอบคุณ gotoknow   ที่ให้มีสิ่งนี้สำหรับทุกคน

อ่านแล้วได้รับความรู้สามารถใช้เป็นแนวทางในการ

ทำงาน การใช้ในชีวิตประจำวัน

ประทับใจที่ทางgotoknow_ได้จัดทำที่สำหรับใช้ในการแลกเปลี่ยนเรียนรูร่วมกันหลายๆ ประด็น

เพื่อให้ทุกคนที่สนใจได้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้

นำองค์กรไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้

 

 

   ขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับที่ได้บันทึกมาแบ่งปัน

ขอบคุณทุก ๆ ท่านมากเช่นเดียวกันครับ

ตอนนี้ผมอยู่มาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีครับ เพิ่งมาอยู่ใหม่อะไรต่าง ๆ ก็ยังไม่ลงตัวนักครับ ขออภัยด้วยครับที่ไม่ค่อยได้เข้าไปแสดงความคิดในบล็อคของทุก ๆ คนครับ

สำหรับชื่อผมครับ "ปภังกร" แปลว่า "ผู้รุ่งเรือง" ครับ พอดีผมเกิดวันจันทร์น่ะครับ คำนวณแล้วใช้ชื่อนี้แล้วจะดีครับ (มีผู้รู้และผู้มีพระคุณบอกมาครับ)

 

ขอบคุณสำหรับเกร็ดความรู้ดีๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท