หอมกลิ่นลำดวน


พระท่านว่า "กลิ่นของความดี ฟุ้งไปได้แม้ในทิศทวนลม"

สถานสงเคราะห์ : กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

ท่านที่เคยผ่านเข้าไปในพื้นที่ของสถานสงเคราะห์ คงจำได้ว่าสัมผัสแรกๆ ที่จะได้รับนอกเหนือจากบรรยากาศสภาพภายนอกที่พบเห็น ว่ามีลักษณะบรรยากาศที่เงียบเชียบคล้ายกันแล้ว สัมผัสแรกๆ ที่รับรู้ตรงกันน่าจะได้แก่ "กลิ่น" ที่มีลักษณะเฉพาะของสถานสงเคราะห์แต่ละกลุ่มเป้าหมายของแต่ละแห่ง สถานสงเคราะห์เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือคนไร้ที่ถึ่ง ก็ล้วนแต่มี "กลิ่น" เฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์ของตน (คนเช่นเดียวกับโรงพยาบาลที่มี "กลิ่น" ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะด้วยเช่นกัน)  ส่วนกลิ่นที่ว่า จะเป็นกลิ่นจากอะไร อย่างไรนั้น ใคร่ขอเชิญชวนให้ได้สัมผัสด้วยตัวเองสักครั้งละกัน

จะว่าไป ขณะที่เรานั่งรถผ่านเขตพื้นที่เลี้ยงหมู เราก็แทบจะปิดจมูกโดยพลัน หรือกลั้นหายใจพักใหญ่ขณะที่รถวิ่งผ่านลานมันสำปะหลัง  และก็ให้ได้นึกแปลกใจว่าคนที่ทำงาน คนที่พักอาศัย ณ ที่ตรงนั้น และคนละแวกนั้นอยู่อย่างไรกับ "กลิ่น" ที่ว่านี้ 

หรือว่าเพราะ "ความคุ้นเคย"

หรือว่าเพราะ "ชินเสียแล้ว"

คนเราก็เก่งอย่างนี้แหละ สามารถสร้างความคุ้นเคยและความเคยชินให้สามารถอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมได้อย่างน่าอัศจรรย์ (แต่โดยหลักแล้วชีวิตถ้าเลือกได้ ย่อมจะเลือกในสิ่งที่ตนเห็นว่าดีกว่าเสมอ) แต่ก็นั่นแหละกับสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าปรารถนาจะด้วยเสียง กลิ่น หรือปัจจัยรบกวนอื่นใด "การสร้างความคุ้นเคย หรือสร้างความเคยชิน" กับสภาพแวดล้อมที่จะบั่นทอนสุขภาวะด้วยท่าทีเช่นนั้น ก็ง่ายที่จะถูกพัฒนาให้เป็นความเพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหาไปเสีย กลิ่นที่แม้จะเป็นเอกลักษณ์จึงยังคงต้องถูกควบคุมมิให้แสดงฤทธิ์เดชจนถึงกับต้องปิดจมูก เจ้าหน้าที่จะต้องไม่คุ้นเคยกับ "กลิ่น" ที่ไม่พึงประสงค์ดังว่า (คงพอๆ กับคนติดบุหรี่ ที่ไม่รู้สึกว่าชาวบ้านเขาเหม็น "กลิ่น" ตัวเองเพียงใด)

การจัดการกลิ่นในงานสถานสงเคราะห์นั้นจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะคนอยู่แบบประจำกันจำนวนมาก การจัดการกลิ่นจึงเป็นครอบคลุมทั้งมิติด้านสุขภาพ เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไปจนถึงการจัดการสภาพแวดล้อม ให้ลมพัดพา แสงส่องถึง ตลอดจนใช้วัสดุ อุปกรณ์ดับกลิ่นที่เป็นมิตรและต้นทุนไม่สูงมากเข้ามาช่วย

 

กลิ่นสถานสงเคราะห์ : กลิ่นที่มาจากใจ ที่ควรรับรู้ได้ด้วยใจ

พระท่านว่า "กลิ่นของความดี ฟุ้งไปได้แม้ในทิศทวนลม"

สภาพมอมแมม กลิ่นฉุนคราบเหงื่อ หรืออาจได้กลิ่นปัสสาวะ "ของคนในบ้าน" "สมาชิกในบ้าน" หรือ "สมาชิกบ้านนิคมปรือใหญ่" เป็นคำที่ผมมุ่งเน้นจะให้ทุกคนเรียกอย่างนั้น ทดแทนคำว่า "ผู้รับฯ" หรือ "ผู้รับการสงเคราะห์" ให้ติดปาก ซึ่งลึกเข้าไปข้างในแล้ว น้ำใจ ความคิด ความผูกพันของคนในบ้านใหญ่ น่าซึ้งใจยิ่ง

ลองนึกภาพตามดูว่า
สมาชิกที่เพิ่งรับเข้าใหม่อายุสัก 50 ปีเศษ มีสภาพอ่อนปวกเปียก เดินไม่ได้ ทานข้าว-น้ำ-ยา เองไม่ได้ (โรงพยาบาลนำส่งด้วยเหตุว่าเมื่อสิ้นสุดการรักษาแล้วไม่มีญาติรับตัวกลับบ้าน ซึ่งจะด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ "บ้านของเรา" ยังคงเป็นที่พักสำหรับการหนีร้อน ให้นอนอุ่น แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ก็ค่อยว่ากัน) ด้วยโรคบางอย่างส่งผลให้มีอาการมือเท้าแข็ง ต้องมีคนคอยนวดเฟ้นเมื่อมีอาการปวดล้า หากจะมีชายหนุ่มรุ่นลูก-รุ่นหลานที่อยู่ในบ้านก่อนแล้ว แสดงอาการกระวีกระวาดออกมาต้อนรับ พาไปอาบน้ำ ไปรับอาหารมาป้อนข้าว ป้อนน้ำ ป้อนยา เรียกแทนตัวเองว่าพ่อ-ลูก เข็นรถพาเดินรับอากาศยามเช้าและผ่อนคลายเมื่อยามเย็น 3-4 วันแรก  ก่อนที่ลุงคนดังกล่าวจะถูกนักสังคมฯกระตุ้นให้ลุงแข็งใจ ฝืนใจ เดินด้วยตัวเองให้ได้ พร้อมพยุงเดินในบางโอกาสตามแต่จะอำนวย และในที่สุดเขาก็เดินได้เอง

อีกคน
สมาชิกคนใหม่เพิ่งมาถึง เป็นหญิงวัย 25 ปีเศษ เพิ่งเข้ารับการรักษาจากโรงพยาบาล (โรงพยาบาลนำส่ง ด้วยเหตุว่าไม่มีญาติรับตัวกลับเมื่อสิ้นสุดการรักษา) เมื่อแรกเห็นไม่ยอมพูดจา ซูบผอม ไม่มีเรี่ยวแรง เดินไม่ได้ และกลัวสุดขีดชักดิ้นชักงอ เมื่อเท้าแตะดิน  ชีวิตของสาวคนนี้ 3-4 วันแรก จะได้รับการดูแลจากคนในบ้านที่อยู่ก่อนหน้า พาไปอาบน้ำ เช็ดตัว ชวนพูดชวนคุย พยุงหัดเดินในช่วงสัปดาห์แรกที่เข้าพัก  หากเมื่อเย็นวานนี้ได้แวะเข้าไปเยี่ยมในเรือนนอนอีกหน ก็รู้สึกอิ่มเอิบใจยิ่งนัก ภาพของน้องผู้หญิงที่ยกมือไหว้ ใบหน้ายิ้มแย้ม อิ่มเอิบ แม้จะยังไม่แข็งแรงนัก กำลังเดินออกจากห้องน้ำด้วยอุปกรณ์ช่วยเดิน  วันนี้เขาช่างพูดช่างคุย แววตาไม่เศร้าสร้อยหรือหวาดระแวงอย่างที่ปรากฏเมื่อหลายวันก่อน

การรับสมาชิก (น้อง) ใหม่ ด้วยความอบอุ่นเช่นนี้ของคนในบ้านที่อยู่ก่อนแล้ว เป็นภาพที่วิเศษยิ่งเพียงใด

หรือภาพของความมีน้ำใจของคนในบ้านที่เดินถือถาดอาหารเข้าไปในเรือนนอน ที่ใครหลายคนหากมองลอดช่องรั้วลวดหนามสถานสงเคราะห์เข้ามา อาจเข้าใจได้ว่าคนในบ้านถือถาดอาหารเข้าไปกินกันในเรือนนอนหรืออย่างไร (หรืออาจตำหนิเล็กๆ ว่า ปล่อยให้ทำอย่างนี้ได้อย่างไร ประเดี๋ยวหกเลอะเทอะ สกปรกกันพอดี)

หากแต่ข้างหลังภาพ โดยสมบูรณ์ คือ
เป็นการหอบหิ้วถาดอาหารไปส่งคนในบ้านที่ป่วยไข้ เดินไม่ได้ หรืออยู่ในส่วนของ "ห้องพิเศษ" ที่จัดไว้เพื่อสังเกตอาการ

เป็นการเดินนำปส่งและรอเก็บ ล้าง ส่งคืนโรงอาหาร และภาพการเดินถือถาดอย่างนี้ จะมีให้เห็นอยู่ทุกวัน วันละ 3 มื้อ มื้อละหลายๆ คน

ภาพเหล่านี้งดงามเพียงใด หรือยิ่งกับการอาสาสมัครก็ยิ่งน่าประทับใจ

คนในบ้านบางส่วนเป็นอาสาสมัครช่วยเตรียมอาหาร ล้างภาชนะ เก็บกวาดโรงอาหาร ทำความสะอาดเรือนนอน ไปเฝ้าไข้คนในบ้านเมื่อเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือแม้กระทั่งอาสาสอนหนังสือ และจัดทำโปรแกรมฐานข้อมูลให้กับสถานสงเคราะห์ ฯลฯ  ทั้งหลายทั้งปวงเป็นระบบอาสามัครที่ทำด้วยใจรัก ทำด้วยจิตอาสา ทำด้วความรับผิดชอบ และด้วยความภาคภูมิใจ

เป็นอาสาสมัครที่ผมได้เรียนรู้ ต้องเลียนแบบ และชื่นชมกับความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา การเสียสละทุ่มเท และความภาคภูมิใจกับความสำเร็จในงานของตน

เป็นอาสมัครที่รอการจัดการ และกระตุ้นให้มีอย่างต่อเนื่องในทุกกิจกรรม

 

หอมกลิ่นลำดวน : กลิ่นที่สัมผัส รับรู้ได้ด้วยใจ

ลำดวนเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ และความที่สถานสงเคราะห์บ้านนิคมปรือใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ จึงอยู่ในข่ายของการรณรงค์ให้สวมเสื้อสีฟ้าดอกลำดวนทุกวันศุกร์ตามภาพที่แสดง

การดำเนินกิจกรรมของสถานสงเคราะห์ฯสำเร็จได้ตามเป้าหมายตามภารกิจที่ผ่านมานั้น ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการสร้าง การสนับสนุน การทุ่มเท และการจัดวางระบบเครือข่าย การแสวงหาความร่วมมือ การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกับภายในและภายนอกหน่วยงาน เป็นความผูกพันระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่างองค์กรทั้งใกล้ไกล ที่ล้วนมีจิตให้บริการ จิตแบกรับโดยแท้

การส่งต่อ "คนในบ้าน" เข้ารับการรักษาที่ รพ.ขุขันธ์ วันแล้ววันเล่า ส่งต่อที่ รพ.ศรีสะเกษ รพ.มหาราช รพ.พระศรีมหาโพธิ์ ฯลฯ คนแล้วคนเล่า สำเร็จได้ด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน ความปรารถนาดีต่อเพื่อนร่วมโลกเป็นที่ตั้ง

ชื่อ-สกุล ไม่มี
หมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักไม่มี
ประวัติการรักษาพยาบาลไม่มี
สิทธิในการรักษาพยาบาลไม่มี
ฯลฯ

ด้วยสภาพมอมแมม เหม็นปัสสาวะ เหม็นอุจจาระ เลอะเทอะไปด้วยดินโคลนตามเสื้อผ้าหรือตามเนื้อตัวเพียงใด สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเป็นอุปสรรคต่อการเข้ารับการรักษาพยาบาลแต่อย่างใด

แค่เรื่องเพียงเท่านี้ ถ้าเราได้สัมผัส ได้รับรู้จะรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ

รู้สึกอย่างที่ผมรู้ไหม ?  รู้สึกประทับใจเจ้าหน้าที่ทุกระดับที่เกี่ยวข้องไหม ? รู้สึกซาบซึ้งกับน้ำใจที่ผมและเพื่อนร่วมงานได้รับไหมครับ น้ำใจที่ให้กับ "คนในบ้าน" ที่ไม่ใช่ญาติแต่ปฏิบัติเหมือนกับว่าเป็นญาติ ไม่ใช่ญาติแต่ก็ปฏิบัติด้วยยิ่งกว่าว่าเป็นญาติ

 

ผมชักจะชอบดอกลำดวนเสียแล้วสิ

ผมยิ้มรับทุกครั้งที่พี่ๆ เพื่อนๆ ร่วมวิชาชีพแซวว่า
นักสังคมฯบ้านนอก
นักสังคมฯชายแดน
นักสังคมฯเฝ้าประตูเขาพระวิหาร หรือ
นักสังคมฯบ้านปืนใหญ่ (ที่ล้อคำว่า "ปรือใหญ่" แต่ให้เข้าใจว่ากำลังหมายถึงปืนใหญ่ เป็นปืนใหญ่ที่มาจากคำว่า "ปืนเที่ยง : ไกลปืนเที่ยง")

ก็ตามที

 

หมายเลขบันทึก: 36525เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2006 14:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2022 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แล้วตอนนี้คุ้นกับ "กลิ่น" หรือยังคะคุณพี่

 

 

สู้ๆๆๆๆ  สู้ต่อไปทาเคชิ

จะติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัย พลัน (ฮา)

หายหน้าหายตาไป นาน ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่คะ ยุ่งมากหรือเปล่าไม่ตอบเมลล์ ไม่รับโทรศัพท์น้องเลย ว่างก็ตอบแมลน้อง ๆ บ้างนะ อยากอ่านอยุ่เหมือกันแต่ยาวมาก ว่างๆ จะอ่านให้กำลังใจคนทำงานเพื่อสังคมนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท