การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ


ที่ทิ้งท้ายไว้ตั้งแต่คราวที่แล้วว่า จะนำเรื่อง "การจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ" ของ รองศาสตราจารย์สมจิต สวธนไพบูลย์ มาฝากกัน ทิ้งช่วงนานไปหน่อย แต่หวังว่าเรื่องที่นำมาฝากกันวันนี้คงจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านไม่มากก็น้อยค่ะ          

 "จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2542 : 12) มาตราที่ 22 กล่าวว่าการจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ มีนักวิชาการหลายท่านที่ได้ทำการศึกษาและค้นคว้าเกี่ยวกับศักยภาพและให้ความหมายของศักยภาพไว้ในทัศนะต่างๆ กัน ดังนี้

พจนานุกรมศัพท์การศึกษา (2540 : 195) กล่าวว่า ศักยภาพ (potentiality) หมายถึง ภาวะแฝง อำนาจหรือคุณสมบัติที่มีแฝงอยู่ในสิ่งต่างๆ อาจทำให้พัฒนาหรือปรากฏเป็นสิ่งที่ประจักษ์ได้ พลังความสามารถที่มีติดตัวอยู่ในบุคคลอาจเป็นความถนัด สติปัญญา หรือความสามารถพิเศษก็ได้

กองวิจัยทางการศึกษา กรมวิชาการ (2543 : 3) กล่าวว่า ศักยภาพ หมายถึง ผลการเรียนรู้ที่เกิดจากกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนผสมผสานกับคุณสมบัติ และคุณลักษณะที่ตกตะกอนติดตัวนอกจากความรู้ในเนื้อหาวิชาหรือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งทักษะ และคุณลักษณะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสังคมยุคโลกาภิวัฒน์ 3 องค์ประกอบหลักรวมกัน 9 ด้าน ดังนี้

1)  ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในอนาคต ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ทักษะการเรียน ทักษะการคิด ทักษะการสื่อสาร

2)  ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงาน ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ ทักษะการจัดการ การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ความขยัน อดทน ประหยัด และอดออม

3)  ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการอยู่ร่วมกันในสังคม ประกอบด้วย 3 ด้าน คือ การควบคุมตนเองได้ ความรับผิดชอบ และความมีวินัยในตนเอง การช่วยเหลือผู้อื่น เสียสละ มุ่งมั่น และพัฒนา

ศักยภาพ (Potentiality) เป็นพลังที่สร้างสมอยู่ในสมองของมนุษย์ เกิดขึ้นโดยการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม สะสม พัฒนา เชื่อมโยงเส้นใยประสาทเป็นประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ ศักยภาพของมนุษย์จะแสดงออกในลักษณะความสามารถ ซึ่งจะมีมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ได้แก่ กระบวนการจัดการเรียนการสอน บทบาทของผู้สอนสู่ยุทธศาสตร์การสอนที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ได้แก่ การกระตุ้น และส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนให้เต็มตามขีดความสามารถอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ การที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามขีดความสามารถได้นั้น มีปัจจัยที่เกื้อหนุนหลายด้าน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สอนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสมองของมนุษย์ซึ่งเป็นขุมพลังแห่งการเรียนรู้

กระบวนการทำงานของสมองซีกซ้ายและซีกขวา (Lateralization หรือ specialization) เป็นการศึกษาพัฒนาการทางพุทธิปัญญาอีกแนวหนึ่ง โดยมีแนวคิดว่าสมองแต่ละด้านจะมีหน้าที่ควบคุมระบบร่างกายด้านตรงกันข้าม ดังตาราง 1

ตาราง 1 ความสามารถในการทำงานร่วมกันระหว่างสมองซีกซ้าย และสมองซีกขวา

หน้าที่ของสมองซีกซ้าย

หน้าที่ของสมองซีกขวา

-          คิดเป็นเหตุผล

-          มีสามัญสำนึก จิตสำนึก

-          คิดรายละเอียด

-          การวิเคราะห์

-          ทำงานที่ต้องทำทีละอย่าง

-          ควบคุมเกี่ยวกับภาษา

-          การพูด การเขียน

-          การแสดงออก

-          คิดสร้างสรรค์ จินตนาการ

-          สัญชาติญาณ

-          คิดสังเคราะห์

-          ศิลปะ ดนตรี ทิศทาง

-          ทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน

-          มองภาพแบบรวมๆ

-          การผ่อนคลาย

-          จิตใต้สำนึก รับรู้และเข้าใจ

-          สร้างกระบวนการอย่างรวดเร็ว

 

มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสมอง (ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์. 2542 : 207-214) มีคำถามเกี่ยวกับสมอง ดังนี้

1. ทำอย่างไรเราจะเรียนรู้ถึงวิธีการเรียนรู้ที่ดี

2. อะไรคือเทคนิคที่ดีที่สุดที่เราจะใช้เสริมสร้างความจำหรือทำให้จำได้ดี

3. อะไรคือเทคนิคที่จะใช้ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

4. ทำอย่างไรเราถึงจะวางแผนและตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. ทำอย่างไรเราจึงจะเข้าใจสิ่งที่ครูสอนและสามารถจะรับรู้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. ทำอย่างไรเราจะสามารถใช้พลังอันมหาศาลจากสมองของเราได้เต็มศักยภาพที่มีอยู่

สิ่งแรก คือ ต้องเข้าใจในเรื่องของสมอง ซึ่งหมายถึงโครงสร้าง การทำงาน และปัจจัยที่เสริมสร้างการเจริญพัฒนาของสมอง

ข้อสอง คือแบบฉบับการเรียนรู้ (learning style) ของแต่ละคน เด็กแต่ละคนมีแบบฉบับการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการใช้เทคนิคการสอนต้องแตกต่างกันตามความต้องการของเด็ก ตามความสามารถของประสาทสัมผัสที่สำคัญ 3 ส่วน คือ การเห็น การได้ยิน และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ครูสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็กได้ ถ้ารู้ถึงสไตล์การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน เช่น เด็กเรียนรู้ด้วยประสาทสัมผัสการเห็น ก็ควรจะให้เขียน วาดรูป ถ้าถนัดการเรียนรู้ด้วยการได้ยิน ควรให้โต้วาที อภิปราย หรือเรียนรู้ด้วยการเคลื่อนไหว ควรให้ แสดงละคร ปั้น จะช่วยให้เด็กเข้าใจและจำได้ดี

ข้อสาม การทำให้ความจำหรือการเรียนรู้ดีขึ้นคือการทำแผนคร่าวๆ ในสมอง การวางแผนคร่าวๆ ในสมองจะใช้ทักษะสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวา ซึ่งสมองซีกซ้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นเหตุเป็นผล สัญลักษณ์ ในขณะที่สมองซีกขวาจะเป็นทักษะของรูปแบบ สีสัน รูปร่าง มาช่วยในการจำ การโน้ตเอาไปท่องจะเป็นการใช้สมองซีกซ้ายอย่างเดียวในขณะที่ถ้าจะให้เกิดประสิทธิภาพในการเข้าใจและความจำที่ดีขึ้น สมองซีกขวาก็จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลที่รับมานี้เข้าไปในสมองส่วนที่เป็นความจำและการเรียนรู้ของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันออกไป ต้องใช้เทคนิคเข้ามาช่วยให้จำได้ดีขึ้น คนใช้สมองข้างซ้ายมากจะเป็นคนชอบวิเคราะห์ สามารถแสดงความรู้สึกของตนเองได้อย่างชัดเจน เป็นคนวางแผนงานเรียบร้อย คนเหล่านี้เก่งคณิต วิทยาศาสตร์ สามารถทำงานจนสำเร็จ แต่จะมีปัญหาเรื่องของความเครียด ฉะนั้นจะพยายามเพิ่มทักษะสมองซีกขวาเข้าไป เช่น การวาดภาพ การวางแผน และให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ส่วนคนที่ใช้สมองซีกขวามาก มีความคิดสร้างสรรค์ ชอบผจญภัย จำเก่ง เป็นคนชอบมีความสามารถทางด้านศิลปะ เขียนหนังสือ แต่งเรื่องตามจินตนาการ มีความสามารถทางการแสดงออก เช่น ละคร เป็นคนไม่ค่อยมีระเบียบ ไม่วางแผน ไม่สามารถแสดงความคิดของตนให้คนอื่นเข้าใจได้ คนเหล่านี้ต้องพัฒนาในเรื่องการจัดระบบ การวางแผน สื่อสารให้คนอื่นเข้าใจมากขึ้น

ข้อสี่ คือ ความคิด คิดเรื่องสำคัญ คิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล เช่น เรื่องกฏหมาย การพิพากษา จะเป็นหน้าที่ของสมองซีกซ้าย เด็กควรได้รับการเสริมทักษะทางด้านของความคิดให้สามารถนำความรู้ ความเข้าใจที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินผลความคิดโดยวิธีการต่างๆ หลายวิธี เช่น การจัดลำดับเหตุการณ์ การสังเกต การวางแผน การตั้งสมมติฐาน

ข้อห้า คือ ความคิดสร้างสรรค์ (Creative thinking) ความคิดสร้างสรรค์เป็นหน้าที่ของสมองข้างขวาเป็นความสามารถที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นต้นกำเนิดไม่เคยมีมาก่อน จากงานวิจัยพบว่าความคิดสร้างสรรค์สามารถเสริมสร้างได้โดยการทำงานอย่างเป็นระบบ

ข้อหก คือ ความจำ (Memory) ความจำเกี่ยวกับหน้าตา ชื่อ ข้อมูลต่างๆ รูปต่างๆ ทักษะเหล่านี้ฝึกฝนได้ ความจำมีการเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยธรรมชาติสมองจะจำทุกอย่างได้หมด แต่ไม่สามารถเรียกข้อมูลหรือความจำทั้งหมดมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเรียนรู้โดยใช้เทคนิคการเห็นนำไปสัมพันธ์กับจินตนาการช่วยให้มีความจำดีขึ้น ครูควรช่วยเสริมทักษะทางด้านการเรียนรู้โดยประสาทสัมผัสเพื่อเสริมสร้างความจำ นอกจากนี้ มีทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยสมองทั้งสองข้าง (Whole brain learning) เห็นได้ว่าคนเราแต่ละคนจะใช้สมองแต่ละข้างไม่เท่ากัน คนที่ใช้สมองข้างซ้ายมากจะเป็นคนที่ชอบ ละเอียด คิดอย่างมีเหตุผล เป็นคนชอบตัวเลข ลำดับเหตุการณ์ได้ดีในขณะที่คนใช้สมองข้างขวามากจะเป็นเด็กที่ชอบเรียนรู้ด้วยภาพรวม ชอบศิลปะ เป็นนักจินตนาการ แต่ไม่ค่อยดูรายละเอียด หรือความคิดเป็นเหตุเป็นผล

ข้อมูลจากการวิจัยใหม่ๆ เชื่อว่าการที่เราสามารถใช้สมองทั้งสองส่วนในการเรียนรู้จะให้ผลดีกว่าใช้สมองข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว ครูควรจะทราบว่าเด็กแต่ละคนใช้สมองแต่ละข้างไม่เหมือนกัน ดังนั้น เทคนิคการสอนจึงต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้สมองของเด็กแต่ละคน เช่น เด็กที่ใช้สมองข้างขวามาก การเรียนรู้จะต้องเป็นภาพรวมใหญ่ๆ แล้วค่อยให้รายละเอียดภายหลัง และเด็กจะเรียนรู้ได้ดีถ้าใช้การวาดรูป จินตนาการเข้ามาช่วย

ข้อเจ็ด การศึกษา ด้านศิลปะและดนตรี จะมีส่วนช่วยให้สมองเจริญเติบโตหรือมีพัฒนาการ ดนตรีเป็นปัจจัยสำคัญช่วยในการเรียนรู้ ถ้าเราทำงานใช้สมองมากๆ อัตราการเต้นของหัวใจจะสูง คลื่นสมองของเราก็จะเร็วขึ้น กล้ามเนื้อจะเกิดการเกร็ง เมื่อผ่อนคลายหรือนั่งสมาธิกล้ามเนื้อจะผ่อนคลาย การเต้นของหัวใจจะช้าลง"

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3652เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2005 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ร้องเพลงไม่เป็น นี่โทษสมองข้างขวา พูดไม่เก่งโทษข้างซ้าย

ผมอ่านแล้วเข้าใจเรื่องศักยภาพมากขึ้นครับ

กรีฑา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท