กนป.เห็นชอบร่างตัวบ่งชี้และเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง


ตัวบ่งชี้และเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ๔ หัวข้อ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ดำเนินงานในปี พ.ศ.๒๕๖๑

กนป.เห็นชอบร่างตัวบ่งชี้และเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง

ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (กนป.) ครั้งที่ ๓/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ โดยมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม โดยที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ตัวบ่งชี้และเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ๔ หัวข้อ เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาบรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ดำเนินงานในปี พ.ศ.๒๕๖๑

ข้อ ๑ คนไทยและการศึกษาไทยมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับสากล

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย ๑) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในวิชาหลักจากการทดสอบระดับชาติ มีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ ๕๐  ๒) ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูงขึ้น ๓) ความสามารถด้านภาษาอังกฤษสูงขึ้น ๔) ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสูงขึ้น ๕) ค่าใช้จ่ายการศึกษาภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๕ ต่อ GDP

ข้อ ๒ คนไทยใฝ่รู้ : สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง รักการอ่าน และแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย ๑) ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับดี ของ สมศ. ๒) อัตราการรู้หนังสือของประชากร (อายุ ๑๕-๖๐ ปี) เป็นร้อยละ ๑๐๐  ๓) ผู้เข้ารับบริการในแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นปีละอย่างน้อยร้อยละ ๑๐  ๔) คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน นอกเวลาทำงานโดยเฉลี่ยอย่างน้อยวันละ ๖๐ นาที ๕) สัดส่วนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตต่อประชากรอายุ ๖ ปีขึ้นไปเป็นร้อยละ ๕๐  ๖) จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทย (อายุ ๑๕-๕๙ ปี) เพิ่มขึ้นเป็น ๑๒ ปี

ข้อ ๓ คนไทยใฝ่ดี : มีคุณธรรมพื้นฐาน มีจิตสำนึกและค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม มีจิตสาธารณะ มีวัฒนธรรมประชาธิปไตย

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย ๑) ผู้เรียนทุกระดับการศึกษามีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ๒) จำนวนคดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ลดลง ๓) จำนวนเด็กอายุ ๑๙ ปีและต่ำกว่าที่มาทำคลอดลดลง ๔) จำนวนเด็กขอรับการบำบัดยาเสพติดลดลง

ข้อ ๔ คนไทยคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ : มีทักษะในการคิดและปฏิบัติ มีความสามารถในการแก้ปัญหา มีความริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร

ตัวบ่งชี้และค่าเป้าหมาย ๑) ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ ผ่านเกณฑ์การประเมินระดับดีของ สมศ. ๒) สัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๖๐ และผู้สำเร็จการอาชีวศึกษามีสมรรถนะเป็นที่พึงพอใจของผู้ใช้ ๓) ผู้สำเร็จอุดมศึกษาทุกคนมีคุณภาพระดับสากล และเป็นไปตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ กนป. ด้านการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ที่มีศาสตราจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นอนุกรรมการที่ปรึกษา  รศ.ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธานอนุกรรมการ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง  ผลักดันขับเคลื่อนและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำนโยบายและยุทธศาสตร์การปฏิบัติ  ติดตามประเมินผลการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ  แต่งตั้งคณะทำงานตามที่เห็นสมควร  และหน้าที่อื่นๆ ตามที่ กนป.มอบหมาย.

อ้างอิง http://www.moe.go.th/websm/2010/jun/161.html

หมายเลขบันทึก: 364769เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 19:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท