พิธีทำขวัญนาค ตอนที่ 8 พิธีกรรมที่ต้องกระทำพิธี เป็นหน้าที่ของใครมาแต่โบราณ (ต่อ)


น่าเสียดายความศักดิ์สิทธิ์ ถ้อยคำสำนวนชั้นครูทุกตัวอักษรที่เปล่งออกมาเป็นพจนวาจาในแต่ละคำชวนให้หลงใหลกินใจเหลือเกิน

พิธีทำขวัญนาค

ตอนที่ 8 พิธีกรรมที่ต้องกระทำพิธี

เป็นหน้าที่ของใคร มาแต่โบราณ (ต่อ)

ชำเลือง มณีวงษ์ (เล่าเรื่อง)

         การบวชพระในยุคนี้ จะยังมีการทำขวัญนาคอยู่ก็ตามแต่จุดเน้นของการทำขวัญนาคได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จนบางครั้งสังเกตดูเหมือนว่า การทำขวัญนาค เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของการจัดงานบวช หรือทำเพื่อเพื่อรอเวลากินเลี้ยงโต๊ะจีนเท่านั้น
         ในทางพิธีกรรม ยุคสมัยก่อน บายศรีหลักจะต้องนำเอามาจากบ้านบรมครูหรือจากวัดที่มีคนสร้างถวายเอาไว้ ก่อนที่จะนำบายศรีหลักมาใช้ในงานจะต้องนำพานดอกไม้ธูปเทียน เงินกำนลไปมอบถวาย กล่าวคำแสดงความเคารพบูชาเสียก่อนจึงจะนำมาใช้ในงานทำขวัญนาคได้ บายศรีต้น หรือบายศรีหลักในสมัยก่อนมักนิยมทำบายศรี 3 ชั้น  บายศรี 5 ชั้น  บายศรี  7 ชั้น สำหรับบายศรี 9 ชั้นใช้ประกอบพิธีทำขวัญนาคหลวง ส่วนบายศรีต้นที่พบมาก มักจะเป็นบายศรี 3-5 ชั้น (ใช้ตามฐานะ) บายศรีทำด้วยแผ่นโลหะบาง ๆ ทาสีน้ำมัน สีเขียวมีความทนทานมาก  
         ในเวลาต่อมาเมื่อมาถึงในยุคปัจจุบัน นิยมทำบายศรีประดิษฐ์ด้วยดอกไม้สด มีความวิจิตรบรรจงสวยงามมากกว่าแต่ก่อน ไม่ต้องใช้ผ้าหุ้มบายศรี เพราะว่าจะไปปิดบังความงดงามเสียหมด และอีกอย่างหนึ่งมีขนาดใหญ่มากขึ้น และมีการยื่นออกนอกหลักเพื่อเสริมความงามทำให้ต้องเปิดโชว์ก็เป็นการเปลี่ยนไปในทางที่น่าสนใจและสื่อถึงพิธีกรรมได้ดี
         เรื่องของพิธีบายศรีนั้น มีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยเชื่อว่าบายศรีนี้น่าจะได้คติมาจากพราหมณ์ซึ่งเข้ามาทางเขมร เพราะคำว่า “บาย” เป็นภาษาเขมร หมายถึง ข้าวสุก ส่วนคำว่า “ศรี” มาจากภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่า “สิริ” หมายถึง มิ่งขวัญ จะเห็นได้จากการที่ต้องทำบายศรีปากชาม 3 หวี มาวางรองรับข้าวปากหม้อในถ้วยโถเครื่องกระยาบวช มีบายศรีและมีข้าว (ข้าวขวัญ)
ในส่วนของหมอทำขวัญ ผมคงไม่อาจที่จะชี้ชัด ๆ ลงไปได้ว่า ควรเป็นใคร ใครควรที่จะเข้ามารับหน้าที่แทนพราหมณ์ โดยมีบุคคลต่อไปนี้
        - ผู้ที่ได้รับมรดก โดยผ่านการครอบครูมากจากบรมอาจารย์ทำขวัญนาค
        - เฉพาะผู้ชายเท่านั้น เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ทั้งผู้หญิงและผู้ชายร่วมกัน
        - ศิลปินนักแสดงที่มีชื่อเสียง ฝึกหัดทำขวัญนาคมาจากการจดจำกันต่อมา
        - บุคคลที่พอจะมีชื่อเสียง สามารถร้องเพลง ร้องแหล่ได้และมีความกล้า
        - ผู้ที่ให้ความสนใจในพิธีทำขวัญนาค ไปซื้อตำรามาท่องจำ ทำขวัญนาค
        - ใครก็ได้ที่ท่องจำเนื้อร้องทำขวัญนาคได้ก็สามารถทำพิธีนี้ได้เลย
        ในยุคหลัง ๆ นี้ หมอทำขวัญรุ่นใหม่ บางท่านไม่ได้นำเอาคาถาสักคำเดียวมากล่าวขึ้นต้นบททำขวัญนาค หมอทำขวัญบางคนเริ่มต้น ตอนกำเนิดของคน หรือตอนปฏิสนธิเลย หมอทำขวัญนาคบางที่เป็นหมอผู้หญิงทำพิธีเบิกบายศรีอย่างกล้าหาญ และในบางสถานที่ผู้ที่กระทำหน้าที่พิธีทำขวัญนาค เป็นโหราจารย์กลับเป็นพระสงฆ์ไปได้ ผมเริ่มสับสนว่าใครควรที่จะทำหน้าที่ของใครกันแน่ จึงจะถูกต้องตามบทบาทหน้าที่ที่แท้จริง

       

       

        พ่อคุณของผม ซึ่งต้องเรียกท่านว่าคุณตาจึงจะถูกต้อง พ่อคุณวัน มีชนะ ท่านเคยกล่าวให้บรรดาลูกศิษย์ที่ไปฝึกทำขวัญนาคกับท่านได้รับฟังว่า “ในสมัยก่อน หมอทำขวัญมีแต่ผู้ชาย ส่วนผู้หญิงไม่มี เพราผู้หญิงไม่ได้เรียนหนังสือจดจำอะไรก็ลำบากไม่เหมือนผู้ชาย และอีกอย่างหนึ่ง หมอทำขวัญนาคจะต้องเป็น พราหมณ์ ต่อมาเป็นผู้สูงวัยและเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียนมาแล้วจึงจะเป็นผู้ที่ล่วงรู้กิจของสงฆ์ได้เป็นอย่างดี ส่วนผู้หญิงไม่ได้บวชจึงมิอาจที่จะล่วงรู้ในกิจของสงอย่างถ่องแท้”
        เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป เรื่องของความสะดวกสบายเป็นสิ่งหนึ่งที่เข้ามาแทนที่ระเบียบประเพณีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน ทำให้คนบางคนจดจำแต่เพียงเปลือกนอก ไม่ได้เข้าให้ถึงแก่นแท้ของขนบประเพณีดั้งเดิม จึงทำให้ได้พบเห็น หมอทำขวัญนาค ร้องแต่เพลงตลอดที่ทำพิธีทำขวัญนาค  ร้องของเงินเจ้าภาพทุกตอนร้องขอจนน่ารำคาน ร้องเล่นจนเกินพอดี ขาดพิธีกรรมที่จะทำให้นำไปสู่ความสงบ มีจิตใจแน่วแน่ใฝ่ธรรมจนบางครั้งเหมือนการแสดงคอนเสิร์ตมากว่าที่จะเรียกว่า ทำขวัญนาค 
        ผมยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีการเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แต่ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์จะไม่มีวันหยุดนิ่ง ชอบที่จะหาสิ่งใหม่ ๆ มาทดแทนของเก่าอยู่ร่ำไปแต่ในบางสิ่งบางอย่างก็ไม่อาจที่จะทดแทนกันได้เพราะเป็นการแสดงออกซึ่งศรัทธา ความเชื่อ เป็นระเบียบแบบแผนประเพณีที่น่าชื่นชมยกย่อง

                           

        การทำขวัญนาคนั้น เป็นคำสอนที่หมอทำขวัญนำเอามาเตือนใจให้เจ้านาคได้สติ เพื่อที่จะเดินทางเข้าสู่ความสงบ คาถาที่นำอามาสวดแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ ถ้อยคำสำนวนชั้นครูทุกตัวอักษรที่เปล่งออกมาเป็นพจนวาจาในแต่ละคำชวนให้หลงใหลกินใจผู้ฟังเหลือเกิน สิ่งเหล่านี้เป็นจุดสำคัญที่น่าจะได้ช่วยกันจรรโลงรักษาเอาไว้ เพื่อให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าอยู่คู่กับสังคมไทยสืบต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 364454เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2010 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท