ชาติไทยและความเป็นประชาชนชาวไทยในบริบทโลกาภิวัตน์


นอกจากความพยายามทำลายภาษาไทยของคนในชาติแล้ว วัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสม-สั่งสมมานานนับร้อยนับพันปีนั้น คนไทยกำลังทำลายวัฒนธรรมของตนเองอยู่อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนไทยจำนวนไม่น้อยมองข้ามความสำคัญของวัฒนธรรมไทย ดูราวกับว่าเป็นสิ่งไร้ค่า---ล้าหลัง ไม่เป็นไปตามสมัยนิยม อับอายที่จะแต่งกาย ประพฤติตัว และดำเนินชีวิตไปตามขนบธรรมเนียม ประเพณี และจารีตแห่งวัฒนธรรมไทย แต่ในทางกลับกัน วัฒนธรรมต่างชาติที่ไหลบ่า---ข้ามน้ำข้ามทะเลมา ไม่ว่าจะเป็น K-Pop (เกาหลี) ก็ดี หรือ J-Pop (ญี่ปุ่น) ก็ดี วัฒนธรรมตะวันตกก็ดี ผ่านกระบวนการทำให้เป็นแบบตะวันตก (Westernization) หรือแม้กระทั้งกระบวนการทำให้ทันสมัย (Modernization) ที่ข้ามพรมแดนไทยมาพร้อมกับโลกาภิวัตน์ (Globalization) ประชาชนชาวไทยที่อยู่ในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน นิยมชมชอบเป็นอย่างยิ่ง

 

 

หากพิจารณาในบริบทของสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ความเป็นชนชาตินั้นเกิดขึ้นได้จากการที่ผู้มีลักษณะหรือองค์ประกอบทางพันธุกรรม (Gene) เดียวกัน สื่อสารด้วยภาษา (Language) เดียวกัน อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน (Community) มีผู้นำชุมชน (Leader) และชุมชนมีการวิวัฒน์ กล่าวคือ จำนวนสมาชิกและความสลับซับซ้อนทางสังคมเพิ่มมากขึ้นตามอนุกรมเวลา (Time Series) รวมถึงการร่วมกันสร้างและสั่งสมวัฒนธรรม (Culture) ที่เป็นของชุมชนตน จนวิวัฒน์กลายเป็นชนชาติ การที่คนเผ่าพันธุ์ไทย (Thai Race) รวมกันเป็นชาติ (Nation) ได้นั้น ก็เกิดจากกระบวนการดังกล่าวนี้เช่นกัน

“ชาติ” ตามพจนานุกรม มีรากมาจากคำว่า “ชา-ตะ” แปลว่า แหล่งกำเนิด หมายถึง พงศ์พันธุ์ที่เป็นแหล่งกำเนิดของคน  องค์ประกอบของความเป็นชาติ (Nation) มีอยู่ ๕ องค์ประกอบ ได้แก่ ๑) ผู้คน (People)  ๒) ประวัติศาสตร์ร่วมของชนชาติ (Nation’s History)  ๓) ผู้นำ (Leader)  ๔) ภาษา (Language)        ๕) วัฒนธรรม (Culture) ทั้งนี้หากคนหมู่ใด เหล่าใด เรียกตนเองว่าเป็นชนชาติ โดยปราศจากองค์ประกอบครบถ้วน ๕ ประการ ดังกล่าวข้างต้น อาทิ ไม่มีภาษาเป็นของตนเอง ไม่มีวัฒนธรรม หรือไม่มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน คนหมู่เหล่านั้นมิได้เป็นชนชาติ  หากพิจารณาในบริบทของสาขาวิชารัฐศาสตร์ ความเป็นรัฐนั้นเกิดขึ้นได้จากการอยู่รวมกันของผู้คนบนดินแดนที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตน โดยอาจจำแนกองค์ประกอบของรัฐได้ดังนี้  ๑) ดินแดน (Land)  ๒) ประชาชน (Citizen)  ๓) ชนชั้นนำ (Elite)  ๔) อำนาจอธิปไตย (Sovereignty)  ๕) กฎหมาย หรือ หลักนิติธรรม (Rule of Law)  ทั้งนี้ หากมีองค์ประกอบไม่ครบ ๕ ประการดังกล่าว ย่อมไม่ถือว่าเป็นรัฐ  อนึ่ง บางกลุ่มชนเป็น “ชาติ” แต่หาได้เป็น “รัฐ” ไม่  อาทิ มอญ กระเหรี่ยง ฯลฯ โดยเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ มอญ และ กระเหรี่ยง จะมีประชาชน มีผู้นำ มีดินแดน และมีกฎระเบียบเป็นของตน แต่ไม่มีอำนาจอธิปไตย  ดังนั้นจึงไม่เป็นรัฐในทางรัฐศาสตร์  ในขณะที่ประเทศเกิดใหม่บางประเทศดำรงอยู่บนความเป็น “รัฐ” แต่ก็มิได้เป็น “ชาติ”

 “รัฐชาติ” หมายถึง  กลุ่มชนที่ดำรงอยู่บนพื้นฐาน ทั้งความเป็น “รัฐ” และ “ชาติ”  ซึ่งเมื่อได้พิจารณาตามองค์ประกอบของทั้ง “ชาติ” และ “รัฐ” ข้างต้นแล้ว ย่อมพบว่า ประเทศไทยเป็น “รัฐชาติ (Nation-State)” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ  แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นที่น่าสลดใจที่ในปัจจุบันนี้ คนในชาติของเราเอง กำลังทำลายชาติของตนอยู่ทั้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และจงใจ ด้วยการลดบทบาทของภาษาไทย และทำลายภาษาไทย  ในการสอบบรรจุเข้าเข้าศึกษาหรือเข้ารับราชการ หน่วยงานราชการจำนวนไม่น้อย ต่างกำหนดให้วิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่มีสัดส่วนคะแนนน้อยกว่าวิชาอื่น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ระเบียบงานสารบรรณ ฯลฯ  ในอีกด้านหนึ่ง การใช้ภาษาไทยอย่างไม่ถูกต้องของคนในชุมชนอินเตอร์เน็ตก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการทำลายภาษาไทย  วิธีการเขียนที่ไม่ถูกต้องนี้ได้ลามมาอยู่บนกระดาษคำตอบแบบอัตนัยในมหาวิทยาลัย โดยอาจเชื่อได้ว่า อีกสามสิบปีข้างหน้า อาจไม่มีคนไทยคนใดเลยที่สามารถเขียนตัวอักษรภาษาไทยได้อย่างถูกต้องทุกคำ และในท้ายที่สุด “สิ่งที่ผิด” จะถูกกำหนดให้เป็น “สิ่งที่ถูกต้อง”  ดุจเดียวกันกับการใช้คำพูดที่ว่า “ใช้ชีวิต”  คำนี้ใช้ผิด ที่ถูกต้องในภาษาไทยควรใช้คำว่า “ดำเนินชีวิต” หรือ “ดำรงชีวิต”  คำว่า “ใช้ชีวิต” มาจากสำนวนภาษาอังกฤษที่ว่า “spend the life”  ซึ่งคำว่า “spend” เป็นคำกริยา แปลว่า “ใช้”  โดยสามารถใช้ร่วมกับ ๓ คำดังต่อไปนี้ คือ ชีวิต เวลา และเงิน เช่น “spend the life”, “spend the time”, และ “spend the money”  ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอในทุกระดับของสังคมในการใช้ภาษาไทย ไม่เว้นแม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง ที่ได้กำหนดให้บันทึกทางประศาสตร์ของไทย ยอมรับความด่างพร้อยนี้ ให้กลายเป็นสิ่งถูกต้อง จากคำขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปี ๒๕๕๐ ที่ว่า “มีคุณธรรมนำใจ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุข”  เหล่านี้เป็นเพียงแค่เหตุส่วนน้อยแห่งการทำลายภาษาไทย

นอกจากความพยายามทำลายภาษาไทยของคนในชาติแล้ว วัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสม-สั่งสมมานานนับร้อยนับพันปีนั้น คนไทยกำลังทำลายวัฒนธรรมของตนเองอยู่อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์  คนไทยจำนวนไม่น้อยมองข้ามความสำคัญของวัฒนธรรมไทย ดูราวกับว่าเป็นสิ่งไร้ค่า---ล้าหลัง ไม่เป็นไปตามสมัยนิยม อับอายที่จะแต่งกาย ประพฤติตัว และดำเนินชีวิตไปตามขนบธรรมเนียม ประเพณี และจารีตแห่งวัฒนธรรมไทย  แต่ในทางกลับกัน วัฒนธรรมต่างชาติที่ไหลบ่า---ข้ามน้ำข้ามทะเลมา ไม่ว่าจะเป็น K-Pop (เกาหลี) ก็ดี หรือ  J-Pop (ญี่ปุ่น) ก็ดี  วัฒนธรรมตะวันตกก็ดี ผ่านกระบวนการทำให้เป็นแบบตะวันตก (Westernization)  หรือแม้กระทั้งกระบวนการทำให้ทันสมัย (Modernization)  ที่ข้ามพรมแดนไทยมาพร้อมกับโลกาภิวัตน์ (Globalization) ประชาชนชาวไทยที่อยู่ในวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน นิยมชมชอบเป็นอย่างยิ่ง ไม่เพียงแค่กระแสโลกาภิวัตน์มีผลกระทบโดยตรงต่อภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นเครื่องแสดงอัตลักษณ์ (Self-identity) ของชาติ (Nation)  ทั้งยังมีผลกระทบโดยตรงต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทย อาทิ จากการที่สังคมไทยมีลักษณะสังคมครอบครัวขยาย กลายเป็นสังคมครอบครัวเดี่ยวตามแบบตะวันตก  เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า กระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการไหลบ่าทางวัฒนธรรม ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมไทย จากผลกระทบที่มีต่อภาษาไทย วัฒนธรรมไทย และวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทย 

อยากทราบว่า. . .  

  • ในบริบทโลกาภิวัตน์นี้  ความเป็นคนไทย (พิจารณาในแง่เชื้อชาติ---เผ่าพันธุ์) และ ความเป็นประชาชนชาวไทย (พิจารณาในแง่กฎหมาย---สัญชาติ) นั้น ควรให้น้ำหนักความสำคัญหรือยึดถือแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้เกิดความสงบสุขและความเจริญงอกงามของประเทศไทยในฐานะความเป็นรัฐชาติ (Nation-State)
  • กระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการไหลบ่าทางวัฒนธรรม ส่งผลกระทบต่อภาษาไทย ในมิติอื่นหรือไม่ อย่างไร
  • กระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการไหลบ่าทางวัฒนธรรม ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมไทย ในมิติอื่นหรือไม่ อย่างไร
  • กระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการไหลบ่าทางวัฒนธรรม ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต (ไม่ใช่วิถีการใช้ชีวิต) ของประชาชนชาวไทย ในมิติอื่นหรือไม่ อย่างไร
  • ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกองทัพ ควรมีส่วนร่วมอย่างไรในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  ตลอดจนจะสร้างความเจริญงอกงามให้สังคมไทยอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

 

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 364320เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2010 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 04:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท