เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกเครือข่าย UKM ครั้งที่ ๓/๒๕๔๘


          เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย  (UKM)  ครั้งที่ ๓/๒๕๔๘ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑-๓  กันยายน  ๒๕๔๘  ณ โรงแรมเจริญธานีปริ้นเซส  จังหวัดขอนแก่น  ซึ่งสมาชิก UKM  ประกอบด้วย  ๕   มหาวิทยาลัย คือ  มหาวิทยาลัยมหิดล,  มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์,  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม,  มหาวิทยาลัยนเรศวร  และมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ซึ่งเป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งนี้  และยังมีมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม แจ้งความจำนงที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก UKM  ด้วย   ซึ่งตามข้อตกลงของ UKM  กำหนดไว้ว่า  มหาวิทยาลัยที่ต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่  จะต้องเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการจัดกิจกรรม UKM  ก่อนที่จะตัดสินใจสมัครเข้าร่วม   ดังนั้น  ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม  จึงเป็นพียงผู้สังเกตการณ์   
          เวทีเสวนา UKM  ในครั้งนี้  เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่อง  “การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การบริหารงาน ด้านการเงิน-การคลัง,  พัสดุ  และการบริหารงานบุคคล”  โดยมีผู้เข้าร่วมงานเสวนาทั้งสิ้น  ๙๔   คน  ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรของสมาชิกเครือข่ายทั้งที่เป็นผู้มีส่วนในการปฏิบัติงานโดยตรง  และส่วนของผู้ใช้ (User)  ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ประสบการณ์  มุมมอง  ปัญหา  อุปสรรค  อันอาจจะนำไปสู่การเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ  เป็นตัวอย่างให้มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกเครือข่ายได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อไป 
         โดยกิจกรรมในวันแรก  เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างทีมงานเจ้าภาพในการจัดงาน, คณะผู้บริหาร UKM  ทั้ง ๕  มหาวิทยาลัย และ ๑  มหาวิทยาลัยผู้สังเกตการณ์   รวมทั้งตัวแทนจาก  สคส.   เพื่อเตรียมงาน เตรียมความพร้อม และประชุมปรึกษาหารือในเรื่องการบริหารจัดการเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย  ซึ่งได้มีการทบทวนบทบาท, วัตถุประสงค์,  การดำเนินการ, การประสานงาน และการบริหารจัดการร่วมกัน  โดยผลการประชุมสรุปได้ว่า  วันที่  ๒  ระหว่างที่มีการเสวนาในห้องประชุมใหญ่นั้น  ทีมบริหาร  UKM  จะใช้ห้องประชุมเล็กเพื่อประชุมระดมความคิดในประเด็นต่างๆ  ดังนี้   ๑. Revise  ชื่อเครือข่ายและวัตถุประสงค์หลัก ๒. Revise  วิธีการดำเนินการที่จะเกิดผล แต่ออกแรงน้อย  ๓.  IT  Tools  ๔. กำหนด  KPI  หรือ  Self-Assessment  Criteria 


          สำหรับกระบวนการเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องประชุมใหญ่ในวันที่ ๒   เริ่มแรกได้มีการแบ่งกลุ่มเป็น  ๕  กลุ่มย่อย  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยผ่านการเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานที่ภาคภูมิใจ  ใน ๓  ด้าน  คือ  ด้านการเงิน-การคลัง  จำนวน  ๒  กลุ่ม,  ด้านพัสดุ  จำนวน ๑ กลุ่ม  และด้านการบริหารงานบุคคล จำนวน  ๒ กลุ่ม  โดยให้แต่ละคนเขียนประเด็นของเรื่องเล่าลงบัตรคำ คนละ ๒-๓  ประเด็น เพื่อแลกเปลี่ยนในกลุ่ม  หลังจากนั้น  ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันคิดว่า  จากเรื่องเล่าที่สมาชิกของกลุ่มย่อยเล่ามานั้น  มีเรื่องอะไรบ้าง  และแต่ละเรื่องเล่ามีประเด็นแนวปฏิบัติ ที่ดีอย่างไรบ้าง ( How  to / Best Practice )  พร้อมทั้งให้ช่วยกันเลือกเรื่องเล่าที่ดีที่สุด หรือเรื่องเล่าที่มีแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของกลุ่มย่อยออกมากลุ่มละ ๑  เรื่อง  เพื่อนำเสนอให้กลุ่มใหญ่ฟัง  ต่อจากนั้น ให้แต่ละกลุ่มย่อยช่วยกันคิดระดมสมองแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกำหนด  Passion  Plan  ของเรื่องเล่าที่ดีที่สุดของกลุ่มร่วมกัน  แล้วจึงมานำเสนอในที่ประชุมกลุ่มใหญ่ต่อไป 
          โดยบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากที่ได้สังเกตการณ์ พบว่า  ช่วงของการเล่าเรื่องแต่ละคนจะเล่าได้ค่อนข้างดี  ซึ่งวิธีการนำบัตรคำมาใช้เพื่อเขียนประเด็นที่จะเล่าเรื่องก่อนทำให้แต่ละคนสามารถเล่าเรื่องได้ดีมากขึ้น  แต่คุณลิขิตประจำกลุ่มของทุกกลุ่ม  ไม่ได้จดบันทึกเรื่องเล่าเหล่านั้นไว้เลย  และที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่ง คือ  มีการนำคำว่า  How to  หรือแนวปฏิบัติที่ดีมาใช้ในช่วงของการสกัดขุมความรู้จากเรื่องเล่า  ทำให้ผู้เข้าร่วม เข้าใจความหมายของการสกัดขุมความรู้ออกมาจากเรื่องเล่าได้ดี  แต่คำหรือประโยคที่แต่ละกลุ่มใช้ในการสกัดขุมความรู้  ยังเป็นการสรุปประเด็นใหญ่ๆ  ทำให้ช่วงของการนำเสนอ จึงเป็นการนำเสนอเฉพาะประเด็นความรู้ใหญ่ๆ  มากกว่าความรู้ที่เป็น Tacit  Knowledge  แต่ “คุณกิจ”  ทั้ง ๕  กลุ่ม  ต่างรู้สึกดีใจที่ได้มีโอกาสมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ทำงานในหน้าที่การงานใกล้เคียงกันตนเอง   แต่คนละมหาวิทยาลัยเท่านั้น  ทำให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนมีบรรยากาศของความเข้าใจและชื่นชมยินดีร่วมกัน  เป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของคนที่เรียกได้ว่า อยู่ในอาชีพเดียวกัน  ทำให้เข้าใจหัวอกเดียวกันได้เป็นอย่างดี   มีบางคนพูดออกมาเลยว่า  “เป็นการประชุมที่ดีมาก  รู้สึกสนุก  ไม่เครียด  ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ลักษณะงานในสิ่งที่ตรงหรือใกล้เคียงกับการทำงานของตนเองได้ดีมาก รวมทั้งได้เรียนรู้วิธีการหรือเทคนิคการทำงานแบบใหม่ๆ  ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้” 
 
         สำหรับในวันที่ ๓  ได้มีการให้ตัวแทนของแต่ละมหาวิทยาลัย  นำเสนอผลการดำเนินการ KM  กับการบริหารงานวิจัย  ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากการประชุม UKM  ครั้งที่ ๒ ที่จังหวัดพิษณุโลก  ว่าแต่ละมหาวิทยาลัย  ได้ดำเนินการหรือมีความคืบหน้าอย่างไรในด้านการบริหารจัดการงานวิจัย   และสุดท้ายเป็นการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มของทีมบริหาร  UKM  ซึ่งได้แบ่งออกเป็น  ๒ กลุ่มย่อย  คือ กลุ่มบริหารเครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย  และ กลุ่ม   IT    ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ คือ  ในส่วน IT จะมีการจัดทำ Homepage  ชื่อ  thaiukm.org  เพื่อใช้เป็นคลังความรู้และ Link ระหว่างมหาวิทยาลัย โดยจะเปิดใช้ได้ในวันที่  ๑  ตุลาคม  ๒๕๔๘   นี้   และในระยะแรก  อาจารย์วิภัทร  ศรุติพรหม  จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   จะเป็นผู้ดำเนินการดูแลบริหารจัดการให้ พร้อมทั้งจะมีการจัดทำ  Mailing List  สำหรับการติดต่อระหว่างกันได้ง่ายขึ้นด้วย  โดยขอให้ฝ่าย IT  ของแต่ละมหาวิทยาลัยรับผิดชอบในการดำเนินการหรือการประชาสัมพันธ์ Homepage  ให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยได้รับทราบต่อไป
          ส่วนผลการประชุมของทีมบริหาร  UKM  สรุปได้ดังนี้ คือ  เครือข่าย UKM  ต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้ IT  และ  Blog เป็นส่วนใหญ่  และสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัย จะเน้นการแลกเปลี่ยนของกลุ่มสายสนับสนุนมากขึ้น และต้องมีการประชาสัมพันธ์หรือเชิญชวนให้สายอาจารย์หรือผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันให้มากขึ้นด้วย  และสำหรับในส่วนของการประเมินโครงการ UKM  จะมีวิธีการประเมินโดยทีมประสานงานเครือข่ายจะไประดมความคิดกำหนด TOR ของ External Evaluation ร่วมกัน  โดย สคส. จะสนับสนุน เฟ้นหาผู้เชี่ยวชาญมาทำ  Empowerment Evaluation  สำหรับเดินคู่ขนานไปกับการดำเนินการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาคน,  พัฒนางาน, พัฒนาองค์กรของแต่ละมหาวิทยาลัย 
และการประเมินตนเองของเครือข่าย UKM


          สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ของเครือข่าย  UKM  จะจัดขึ้นในวันที่  ๖-๗  มกราคม ๒๕๔๙  ณ  จังหวัดมหาสารคาม  ซึ่งจะเป็นความร่วมมือและเป็นเจ้าภาพร่วมกันของมหาวิทยาลัยในจังหวัดมหาสารคาม คือ  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม  โดยมีการกำหนดหัวข้อในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่อง   “แนวทางในการบูรณาการ ระบบคุณภาพ” 
และสุดท้าย  เป็นการ AAR  หรือ  After  Action  Review  แต่เนื่องจากเวลาค่อนข้างจำกัด  ไม่สามารถที่จะ AAR  ได้ทุกคน  จึงได้มีการเลือกตัวแทนมหาวิทยาลัยละ  ๑-๒  คน  เพื่อมา AAR  แทน  ส่วนคนอื่นๆ  ได้ขอให้ AAR  ทาง Blog  ต่อไป


          ข้อสังเกตเพิ่มเติมที่ได้จากการเข้าร่วมประชุม UKM  ๓  ในครั้งนี้  คือ  เครือข่าย UKM เริ่มจับทิศทางและวัตถุประสงค์หลักของโครงการ UKM  ได้ชัดเจนมากขึ้น  และสมาชิกแต่ละมหาวิทยาลัย รู้สึกว่า  เครือข่ายหรือโครงการ UKM  นี้ เป็นของสมาชิกทุกคน  ไม่ใช่ของ  สคส.  โดย สคส.  เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือครอบงำน้อยมาก  สคส. ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนับสนุนส่งเสริมมากกว่า  แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากเห็นมากที่สุด  คือ  การที่แต่ละมหาวิทยาลัยมีการดำเนินการจัดการจัดความรู้ แบบบูรณาการให้เป็นเนื้อเดียวกับงานประจำ ทั้งภายในมหาวิทยาลัย และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามหน่วยงาน และข้ามมหาวิทยาลัย  โดยใช้เครื่องมือ  IT  ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด  เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายร่วมกัน  คือ  เกิดการพัฒนาการทำงานที่ดี  มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น 

          ซึ่งเป็นโจทย์ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องระดมความคิด และวางแผน รวมทั้งลงมือดำเนินเอง  แล้วนำผลที่ได้รับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยในครั้งต่อๆ  ไป  แล้วนำกลับไปพัฒนาปรับปรุง เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันอีก  ซึ่งจะเป็นวงจรหมุนเวียนที่ต่อเนื่องไม่รู้จบต่อไป  จึงจะทำให้โครงการเครือข่าย UKM  สามารถบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง

          

คำสำคัญ (Tags): #จัดการความรู้
หมายเลขบันทึก: 3635เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2005 17:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สรุปได้ละเอียดดีมากเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท