บอย อ่อนหวาน VS ง้อ รอบรู้ : ภาค 1


เรื่องเล่า “บอย อ่อนหวาน VS ง้อ รอบรู้” จากโครงการอบรมจิตตปัญญาศึกษา นำพาชีวิตการเรียนและการทำงานให้เป็นสุข  
หัวข้อ “ศิลปะการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” วันที่ 24-25 พฤษภาคม 2553
ณ ห้องประชุมเอกาทศรถ 9 โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
  
    


       เมื่อผมได้ประชุม อบรม สัมมนามา โดยปกติจะสรุปสาระสำคัญโดยย่อ ให้ทุกคนในสำนักงานได้ทราบ ครั้งนี้อยากทำลายกำแพงตัวเองบ้าง ปรับรูปแบบเป็นสรุปแบบเรื่องเล่าบ้างนะ เพื่อให้เรื่องราวที่ถ่ายทอดมีชีวิต ตั้งชื่อเรื่องว่า บอย อ่อนหวาน และ ง้อ รอบรู้ ให้หลายคนงง ๆ เล่น เพราะเป็นสิ่งที่ผมและคุณวราภรณ์ พยัตตพงษ์ (ง้อ) ได้เปลี่ยนนามสกุลกันเรียบร้อยหลังจากไปเข้าร่วมโครงการนี้  
    

 24 พฤษภาคม 2553

             โครงการอบรมจิตตปัญญาศึกษา นำพาชีวิตการเรียนและการทำงานให้เป็นสุข หัวข้อ “ศิลปะการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เป็นโครงการที่คณะสาธารณสุขศาสตร์จัดขึ้น โดยได้รับจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน วิทยากร คือ คุณศุภลักษณ์ ทัดศรี (คุณป้อม) และทพ.ญ.อารยา พรายแย้ม จากบราห์มา กุมารี มหาวิทยาลัยทางจิตของโลกในประเทศไทย มี 3 แห่ง อยู่ที่จังหวัดนนทบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดปัตตานี พอเห็นเรื่องเวียนมาก็สนใจ เลยได้ชวนง้อด้วย เนื่องจากเป็นคนเบอร์ 5 เหมือนกัน (ตามบุคลิกภาพของเอ็นเนียแกรม) ชอบสนใจเรื่องราวที่ลึกซึ้ง บรรยากาศเป็นแบบสบาย ๆ เก้าอี้จัดเป็นรูปตัวยู วิทยากรนั่งเก้าอี้เหมือนผู้เข้าร่วมอบรมอยู่ด้านหน้า 2 คน มีโต๊ะขั้นกลางสำหรับวางโน้ตบุค วิทยากรสวมเสื้อผ้าแบบสบาย ๆ ไม่เป็นพิธีการ คุณป้อมเป็นวิทยากรหลัก สำหรับทพ.ญ.อารยา พรายแย้ม เป็นวิทยากรกระบวนการ เริ่มทักทายผู้เข้าร่วมอบรมแบบมีความสุขเต็มไปด้วยรอยยิ้มที่มีพลังจากภายใน สำหรับคุณป้อม นั้นมีบุคลิกของความเป็นศิลปิน ไว้ผมยาวและมัดรวบด้านหลัง ภาษาที่สื่อออกมาสวยงามโน้มน้าวให้ผู้เข้าร่วมโดยเฉพาะผม IN กับเรื่องราวที่เล่าได้ง่าย เปิดบทเพลงบรรเลงให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ผ่อนคลาย โดยสะท้อนถึงความรัก ความผูกพัน และความตาย (ผมเดาในใจและตรงด้วย) คุณป้อมบอกว่า วัยเด็กเป็นวัยที่มีดวงตาที่พร้อมรับกับการเรียนรู้ได้ง่าย มีความงดงาม ความบริสุทธิ์อยู่ภายใน และเมื่อใดก็ตามที่ไปทำลายความสวยงาม ความงดงามที่มีอยู่ภายในจิตใจของเด็ก มีผลให้เกิดโศกนาฎกรรม ทำให้เกิดรอยร้าวขึ้นในจิตใจ การเกิดรอยร้าวยากที่จะประสานให้คงสภาพดีเหมือนเดิมได้ หลายคนจึงเริ่มมีกำแพงใจของตัวเอง เพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้อื่นมารุกราน จนทำให้คุณค่าความดีงามจากพลังภายในของตนเองลดน้อยลง และถอยห่างออกไปมากขึ้น จากจุดนี้นำไปสู่กิจกรรมค้นพบคุณค่าในตนเอง

                    บรรยากาศในงาน                            วิทยากรทั้ง 2 ท่าน

             
    กิจกรรมค้นพบคุณค่าในตนเอง ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ กลุ่มละประมาณ 6 คน ให้แต่ละกลุ่มเลือกประธาน เริ่มจากให้ประธานแต่ละกลุ่มออกไปหน้าห้องส่งดอกกุหลาบต่อให้กันด้วยความรัก ความเกลียดชัง แสดงให้เห็นว่าการส่งด้วยความรักนั้นง่ายกว่าความเกลียดชัง อาจเนื่องจากเป็นเพราะการแสดงหน้าห้องที่เป็นบทบาทสมมุติ การแสดงออกถึงความเกลียดชัง มีผลต่อความผิดปกติของร่างกาย วิทยากรบอกว่าหลายโรคทางกายส่วนใหญ่มีผลสืบเนื่องมาจากจิตใจที่ผิดปกติ ความจริงผมก็พอรู้บ้าง แต่ที่น่าสนใจเวลามีเรื่องราวที่เราไม่พอใจปฏิกริยาที่ส่งออกไปคือการตอบโต้ ทำให้ขาดสติในความคิดเรื่องดีงาม ขาดพลังจากภายในที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ กิจกรรมค้นพบคุณค่าในตนเอง (ตกหลุมรักตัวเอง) เป็นการย้อนกลับไปค้นหาคุณค่าความดีงามในตนเอง (reconnect) โดยแต่ละกลุ่มจะได้บัตรคุณธรรม 48 ใบ (ได้จากการสังเคราะห์ความรู้ทางด้านการพัฒนาจิตวิญญาณมาแล้ว) และแต่ละคนจะมีบัตรคุณธรรมนำชีวิต 1 ใบ ให้ทุกคนได้เติมคุณธรรมของตัวเอง มี 6 หัวข้อ ดังนี้ 

                  1. พื้นฐานชีวิต หมายถึง คุณธรรมอันเป็นรากฐานของชีวิต ที่มีการสะสมมายาวนาน ซึ่งจะให้กำเนิดแก่คุณธรรมอื่น ๆ ที่จะนำความสงบสุขมาสู่ชีวิต
                  2. การแสดงออก หมายถึง คุณธรรมที่ปรากฎเด่นชัด เป็นภาพลักษณ์ที่ผู้อื่นสามารถมองเห็นและชื่นชม

                  3. ความสัมพันธ์ หมายถึง คุณธรรมที่ใช้ในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่สอดดคล้องกลมกลืน ซึ่งควรมีไว้ภายในจิตใจ ขณะที่ทำงานและมีชีวิตร่วมกับผู้อื่น
                  4. รักษาดุล หมายถึง คุณธรรมนี้ เสริมพลังให้กับคุณธรรมพื้นฐานชีวิต เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงและรักษาความสงบในจิตใจ ความมั่นคงในอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาหรืออุปสรรค
                  5. การให้ประโยชน์ หมายถึง คุณธรรมที่ทำให้ท่านสามารถให้การช่วยเหลือและดลใจผู้อื่น โดยปราศจากอคติและความเห็นแก่ตัว เป็นวิธีแบ่งปันสมบัติอันล้ำค่าของท่านให้กับผู้อื่น
                  6. ผลลัพธ์ หมายถึง คุณธรรมอันเป็นผลจากการพัฒนา หรือเรียงร้อยคุณธรรมต่าง ๆ ที่มีเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นธรรมชาติที่ดีงาม ที่สร้างคุณค่าให้กับตนเอง และสามารถแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่น

            กิจกรรมค้นพบคุณค่าในตนเอง  

            กิจกรรมเริ่มจากให้ประธานส่งบัตรคุณธรรม และให้ทุกคนในกลุ่มหยิบเอง โดยใช้สมาธิจดจ่อตามแต่ละหัวข้ออย่างตั้งใจ วิทยากรเปิดเพลงบรรเลงให้ทุกคนได้มีสมาธิในการหยิบบัตรคุณธรรม เมื่อหยิบได้แล้วให้เขียนลงในแต่ละหัวข้อ ทำแบบนี้ 6 รอบ เวลาผมหยิบแต่ละครั้งผมจะไม่มองบัตรคุณธรรม แล้วแต่จะหยิบได้เอง และใช้สมาธิจดจ่อตามหัวข้อที่วิทยากรแนะนำ ผมได้หัวข้อดังนี้

                  พื้นฐานชีวิต              :  อ่อนหวาน (ฉันรู้ว่าทุกสิ่งมีคุณค่า และอยู่เหนือเงาของความทุกข์)
                  การแสดงออก           :  ปฏิบัติจริง (ฉันไม่เสียเวลากับเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ และมีความตั้งใจ เพื่อหาทางของปัญหาได้เสมอ)
                  ความสัมพันธ์            :  ยกย่อง (ฉันยกย่องการกระทำที่กรุณา ความตั้งใจที่บริสุทธิ์และพรสวรรค์ที่นำมาใช้)
                 รักษาดุล                   :  อารมณ์ขัน (ฉันมีจิตใจที่ร่าเริงยินดี และมีวันที่สว่างไสว)
                 การให้ประโยชน์         :  เป็นอิสระ (ไม่มีสิ่งใดดึงรั้งจิตใจ ฉันสามารถพึ่งพึงตนเองได้จากภายในและก้าวไกลออกมาจากสิ่งที่มีขีดจำกัด)
                 ผลลัพธ์                    :  มีศักดิ์ศรี (ฉันปิติสุขท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง มีความสูงส่งและมั่นใจ ท่ามกลางผู้คนรอบข้าง)     
             เมื่อทุกกลุ่มดำเนินกิจกรรมเสร็จเรียบร้อย ก็ให้แนะนำตัวเองใหม่ ซึ่งแต่ละคนมีป้ายคล้องคอเป็นรูปดาว วิทยากรให้เขียนชื่อ และเปลี่ยนนามสกุลตามคุณธรรมที่ได้รับ  ผมจึงได้นามสกุลใหม่ว่า อ่อนหวาน เป็นคุณธรรมอันเป็นรากฐานของชีวิตที่สะสมมายาวนาน รวมชื่อกับสกุลใหม่ว่า บอย อ่อนหวาน เป็นการเน้นให้ทุกคนเห็นคุณค่าความดีงามที่มีอยู่ในตัวเองภายใน สำหรับง้อ ก็ได้เปลี่ยนนามสกุลใหม่ตามคุณธรรมที่มีอยู่ภายในตัวเองเช่นกัน เป็น “ง้อ รอบรู้” (ฉันจะกระทำต่อเมื่อฉันได้สังเกตการณ์ รับฟัง และยอมรับ)  อ่านตามชื่อเรื่องเหมือนจะจบเพียงเท่านี้ แต่กิจกรรมยังมีต่อ มีความสุขที่ได้แบ่งปันครับ การชมภาพยนตร์ ที่บราห์มา กุมารี มหาวิทยาลัยจิตของโลกได้คัดเลือกมาที่แสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณในสื่อภาพยนตร์ เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงชื่อพอลลี่ แอนนา กับเกมเบิกบาน ที่ทำให้คนรอบข้างเธอมีความสุข มีรอยยิ้ม ถึงแม้ตอนท้ายของเรื่องเธอจะประสบอุบัติเหตุ ทำให้ไม่สามารถเดินได้อย่างปกติ แต่ความดีงามที่เธอทำให้คนรอบข้างมีความสุข ส่งผลให้ทุกคนส่งความรักและความห่วงใยที่มีให้กับเด็กคนนี้อย่างเต็มหัวใจ สรุปบทเรียนจากกิจกรรมวันแรกด้วยการแบ่งกลุ่ม ใน 2 ประเด็น ดังนี้ สิ่งที่ได้จากการกิจกรรมในวันนี้ และแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์ 

                                          บอย สหเวช 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


 


หมายเลขบันทึก: 361786เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2010 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท