อะไรหล่ะคือความแตกต่างระหว่างนักเรียนที่กำลังเรียนสูตรคูณกับหนังสือกับนักเรียนที่เรียนเรื่องเดียวกันจากคอมพิวเตอร์ระบบโต้ตอบได้ ซึ่งทั้งสองกระบวนการให้ผลลัพท์ต่างกัน และทำให้เด็กเข้าไปอยู่ในโลกที่ต่างกันจริงหรือไม่ นักการศึกษาได้พยายามสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้หรือการเรียนรู้มากมาย ซึ่งต่างก็อิงกับหลักฐานและตีความจากการสังเกตต่างๆ ทฤษฎีเหล่านี้ได้ถูกนำมาเป็นหลักในการจัดการศึกษา ซึ่งมุ่งหวังจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ มีความรู้ และสามารถใช้ความรู้นั้นสำหรับดำเนินชีวิตในสังคมต่อไป
การเปลี่ยนแปลงของสังคมมักนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีความเชื่อในวิธีการจัดการศึกษา ในทางกลับกัน การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับองค์ความรู้และเทคโนโลยี วิธีถ่ายทอดองค์ความรู้นั้น นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในสังคมในเวลาต่อไปเสมอ ในอดีตนักเรียนได้ถูกจัดวางการศึกษาในหลักสูตรที่วางไว้จากต่ำไปสูง การให้ความรู้แก่เด็กเป็นชั้นๆจากง่ายไปยากเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทำกันตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อเด็กผ่านชั้นต้นแล้วก็ก้าวไปสู้ชั้นสูงต่อไป เด็กเรียนจากบทที่ 1 ไปจนถึงบทสุดท้าย เรียนจาก ป.1 ไปจนถึง ป.6 และสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในระยะหลังมานี้ มีงานวิจัยทางการศึกษาจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า แม้แต่เด็กเล็กๆที่เริ่งเข้าโรงเรียนก็มีทฤษฏีเกี่ยวกับโลกที่ซับซ้อนอยู่ในความคิดของเด็กเองแล้ว ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ของพวกเขาเองและสามารถนำมาแก้ปัญหาและประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์ต่างๆ โดยที่ยังไม่สามารถบวก ลบ คูณ หาร อ่าน เขียนได้เลยก็ตาม ถ้าผู้สอนลองเปลี่ยนวิธีการวัดผลเด็กโดยการถามคำถามที่เด็กต้องประยุกต์ใช้ความรู้ของเขากับโลกที่เป็นจริงก็จะรู้ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ในขณะเดียวกันเด็กอาจจะไม่ได้ถูกสอนในบางเรื่อง แต่เขาก็มีความรู้หรือทักษะบางอย่างได้เองจากประสบการณ์จริงในชีวิต เช่น สามารถแบ่งขนมออกเป็นส่วนๆได้อย่างถูกต้อง นอกจากการวัดผลทางด้านความฉลาดที่โรงเรียนนิยมแล้ว เด็กยังมีทักษะอื่นๆอีกที่ยังไม่ได้วัด เช่น พวกเขาเข้าใจความสัมพันธ์เกี่ยวกับมิติและรูปทรง เข้าใจความหมายของเสียงและดนตรี หยั่งรู้ความเป็นตัวเองและความเป็นอื่นของผู้อื่น เป็นต้น วิธีการสร้างความรู้ของเด็กสำคัญมาก เพราะเป็นปมที่จะทำให้การจัดการเรียนรู้สำเร็จ และเป็นการปฏิรูปที่แท้จริง ไม่ใช่เฉพาะ สื่อ หรือตัว เทคโนโลยี ที่ใช้ จากงานวิจัยเรื่อง วิธีการให้เหตุผล ซึ่งทำโดยมหาวิทยาลัยแมสซาจูเซทท์ ได้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วอย่างดี ตอบคำถามได้ทุกคำถาม แต่เมื่อให้พวกเขาลองแก้ปัญหาฟิสิกส์ง่ายๆ ซึ่งต่างจากที่คุ้นเคยในตำรา และพวกเขาได้ยอมรับว่าจริงๆแล้วพวกเขาไม่เข้าใจว่าจะเอาสัญลักษณ์ในสูตรต่างๆมาใช้ในความเป็นจริงอย่างไร งานวิจัยชิ้นนี้แสดงว่า การจัดการศึกษาที่ผ่านมา แม้จะทำให้ผู้เรียนทดสอบผ่านกระบวนการตามจุดประสงค์การสอนนั้น แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนจัดการปัญหาในความเป็นจริงได้อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง : พรวิไล เลิศวิชา.มัลติมีเดียเทคโนโลยีกับโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 . กรุงเทพฯ : สวทช., 2544
ไม่มีความเห็น