กลับจากเสวนาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์อำเภอเมืองนครศรีฯครั้งที่ 6 เห็นน้องๆนักศึกษาจาก ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช 3 คนซึ่งมาฝึกงานที่ กศน.อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นั่งอยู่ เลยเข้าไปพูดคุยด้วย
ทราบว่าคนหนึ่งชื่อเล่น แอน (นันธิดา บัวเนี่ยว) คนหนึ่งชื่อ อร (ขวัญจิต ศรีสุวรรณ์) และอีกคนหนึ่งชื่อเล่น เพ็ญ (เพ็ญนภา ย่องนุ่น)ทั้งสามคนเรียนโปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษย์สาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏนครศรีธรรมราช ชั้นปีที่ 4 อายุ 22 ปี เท่ากัน มีอาจารย์ชลดา แสงมณี สิริสาธิตกิต เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ขณะที่มาฝึกงาน เธอทั้งสามคนเรียนหลักสูตรครุศาตร์บัณฑิต จากมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (ตั้งอยู่วัดแจ้ง จ.นครศรีฯ) หลักสูตร 1 ปี ควบคู่ไปด้วย เพราะนักศึกษาที่เรียนโปรแกรมวิชาอื่นที่ไม่ใช่ครุศาสตร์จะไม่ได้หน่วยกิตวิชาครูโดยอัตโนมัติ ต้องหาเรียนเอาเอง เป็นการวางแผนที่ดีของเธอ
เธอทั้งสามบอกว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปัญญา เลิศไกร หัวหน้าโปรแกรมวิชา ส่งมาฝึกงานจัดการความรู้ที่ กศน.เมืองโดยเฉพาะ เพราะทราบว่าที่ กศน.อำเภอเมืองแห่งนี้ สนใจและทำกิจกรรมนี้ระดับชาวบ้าน (คุณกิจ) อยู่ เป็นโอกาสดีที่เธอทั้งสามบอกถึงที่มาที่ไปให้ผมทราบ
ผมจึงให้เธอทั้งสามตั้งเป้าหมายที่เธอทั้งสามจะฝึกงานอยู่ที่นี่ 3 เดือนผมให้เธอทั้งสามเขียนของใครก็ของคนนั้น แต่อย่างไรไม่ทราบ ส่งกลับมาผมแผ่นเดียว รวมเป้าหมายเดียวกัน ไม่เป็นไร ดีเสียอีกผมไม่ต้องสรุป ทั้งสามคนเขียนมาอย่างนี้ครับ
-เพื่อต้องการใช้ความรู้ ความสามารถที่เรียนในชั้นเรียน หรือหลักทฤษฎีต่างๆ นำมาปฏิบัติจริง ก็คือออกฝึกประสบการณ์ โดยการออกพื้นที่สู่ชุมชนต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำ
-การออกฝึกประสบการณ์สามารถทำให้เราได้รู้ถึงการปฏิบัติการจริงจากหน่วยงานต่างๆได้เป็นอย่างดี
-เพื่อใช้ความรู้ที่ได้เรียนหรือศึกษามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ ในการฝึกประสบการณ์
-เพื่อที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานจากการลงพื้นที่ ในชุมชน
-เพื่อจะได้นำประสบการณ์ที่ได้ไปเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต
-เพื่อจะได้ทราบได้รู้และได้เห็นวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านในการออกพื้นที่แต่ละครั้ง
ผมเลยไม่ทราบว่าข้อไหนเป็นของใคร ถือว่าคือของทุกคนก็แล้วกัo ผมว่าจากเป้าหมายที่ตั้ง ทุกคนต้องลงมือทำหน้าที่ของตนเอง ครูอาจารย์ใน กศน.เมืองคือผู้คอยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้ ประมาณว่าคือคุณอำนวย หรือบางท่านก็คือคุณเอื้อ หนุนเสริมการปฏิบัติงานให้
การมาฝึกงานในจังหวะเวลานี้ ผมบอกไปว่านับเป็นโอกาสดีที่นักศึกษาจะได้ลงลึกถึงการฝึกในชุมชนอย่างเข้มข้น กับโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร บอกอย่างนี้แล้วท่าทีเธอทั้งสามกระตือรือร้นอยากลงชุมชนไวๆเหลือเกิน น่าจะว่ามหาวิทยาลัยเตรียมความพร้อมส่วนนี้ไว้เป็นทุนให้มากแล้ว
ผมบอกเธอทั้งสามต่อไปว่า การบันทึกงานที่ทำเป็นเรื่องเล่าผ่าน Blog กำลังเป็นที่นิยมกันอยู่น๊ะ พวกเธองงๆอยู่ครู่หนึ่ง จากนั้นผมอธิบายรายละเอียดให้เข้าใจ และเมื่อทั้งสามคนตกลงใจว่าจะทำ ผมก็เอาคู่มือที่ผมปริ้นมาจากเน็ตทั้งของคุณโอ๋-อโณ กับของ ผศ.ดร.วิบูลย์ วัฒนาธร ถ่ายเอกสารให้ไปคนละชุด เข้าใจว่าอย่างไรแล้ว ค่อยมาคุยร่วมกัน ผมจะคอยแนะนำการทำ Blog ให้ จะทำ Blog ของแต่ละคน หรือทำกันเป็นทีมก็ได้ จากนั้นเล่างานที่ฝึกให้อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ทำหน้าที่นิเทศทราบทาง Blog แต่ผมไม่ลืมที่จะบอกว่าเรื่องการเขียนบันทึกก็มีความสำคัญ เขียนอย่างไรให้เป็นเรื่องเล่า ผมบอกว่าเราค่อยมาตั้งวงพูดคุยกันอีกครั้ง เมื่อสร้าง Blog ได้แล้ว
สังเกตดูเธอทั้งสามคนแล้วตื่นเต้นไม่เบา เหมือนกันกับตอนที่ผมกำลังจะได้ทำ Blog และรู้สึกอย่างไรเมื่อทำได้แล้ว (นิดหน่อย) ก็รู้สึกตื่นเต้น อย่างไรอย่างนั้นครับ
อาจารย์กำลังทำให้ดูว่า การเรียนรู้ทำได้ทุกที่ ทุกเวลา วิสัยทัศน์เมืองนครฝันให้กิจกรรมเรียนรู้ ที่อาจารย์ทำเป็นวัฒนธรรมของคนนครศรีธรรมราช
อยากให้อาจารย์ช่วยเพิ่มBlogเพื่อเป็นเครื่องมือเรียนรู้ของเราอย่างน้อยก็ในแต่ละโซนๆละ1Blog ถ้ามีคนอย่างอาจารย์โซนละคน เราจะรับทราบเรื่องราวความคืบหน้าและเรียนรู้จากกันเร็วขึ้น