GotoKnow

ระวังนิ้วล็อก คุณแม่บ้าน นักชอปป์

นายแพทย์ Vichai Vijitpornkul
เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2548 22:53 น. ()
แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2555 15:25 น. ()
คุณใช้งานนิ้วมือหนักเกินไปหรือเปล่า
คุณใช้งานนิ้วมือหนักเกินไปหรือเปล่า
นิ้วมือเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อหยิบจับสิ่งของต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งการทำกิจกรรมบางประเภทซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องยาวนาน สามารถนำไปสู่อาการบาดเจ็บหรือผิดปกติได้อย่างที่คาดไม่ถึง
นิ้วมือประกอบด้วยเอ็น กระดูก และปลอกรัด (ต่อไปจะเรียกว่าปลอกหุ้มเอ็น) เพื่อยึดเส้นเอ็นและกระดูกเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อนิ้วมือมีการเคลื่อนไหว เส้นเอ็นจะถูกดึงให้หดและยืดตามกิจกรรมต่างๆ ทำให้มีการเสียดสีไปมากับปลอกหุ้มเอ็นตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากเป็นการใช้งานอย่างหนักซ้ำๆ ในตำแหน่งเดิมติดต่อกันเป็นเวลานาน เส้นเอ็นอาจเกิดอาการบวม หรืออาจทำให้ปลอกหุ้มเส้นเอ็นสูญเสียความยืดหยุ่น มีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้น ส่งผลให้เส้นเอ็นเคลื่อนไหวผ่านปลอกหุ้มเอ็นไม่ได้ กลายเป็นความเจ็บปวดจากการเคลื่อนไหว (กำและคลาย) นิ้วได้ลำบาก ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้นิ้วค้าง (คือถ้านิ้วงอก็เหยียดยืดไม่ได้ หรือถ้าเหยียดค้างก็งอไม่ได้) และขยับไม่ได้อีกต่อไป จึงเป็นที่มาของคำว่าโรคนิ้วล็อกหรือ trigger finger
แน่นอนว่าถ้าร่างกายมีอายุมากขึ้นร่างกายที่ผ่านการใช้งานมานานก็ย่อมเสื่อมไปตามวัย แต่คนส่วนใหญ่กลับมีอาการนิ้วล็อกมากขึ้น เนื่องจากใช้งานนิ้วมืออย่างไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอาชีพและกิจกรรมบางประเภทที่มีการใช้งานซ้ำเป็นประจำทุกวัน เช่น การบีบ การกำ การกด หรือหิ้วของหนักจนปลอกหุ้มเอ็นบวมและขาดความยืดหยุ่น ทำให้เอ็นเคลื่อนตัวผ่านได้ไม่สะดวก ความเชื่อที่ว่านิ้วมือสามารถรับน้ำหนักมากๆ ได้นั้นจึงเป็นการคิดไปเอง เพราะเส้นเอ็นที่ข้อนิ้วนั้นเป็นเส้นเล็กๆ ไม่สามารถทำงานหนักเกินความสามารถที่มี โรคนิ้วล็อกจึงเป็นโรคที่อาจเกิดขึ้นในคนธรรมดาอย่างเราๆ นี่เอง
อย่างไรก็ตาม โรคนี้มักพบมากในผู้หญิง เนื่องจากมีการทำงานจุกจิกด้วยมือมากกว่าผู้ชาย เช่น ทำงานบ้าน ทำอาหาร จ่ายตลาด ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่มีอาชีพสัมพันธ์กับการทำงานที่ต้องใช้นิ้วมืออย่างมาก ปัจจัยสองประการที่เร่งให้เกิดโรคนี้คือ ความรุนแรงของการใช้งาน ยิ่งมีการกระทบกระแทกสูงโอกาสเสี่ยงยิ่งสูง อีกประการหนึ่งคือ การใช้งานถี่ๆ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าไม่ได้เป็นการใช้งานหนัก แต่ไม่เคยหยุดพักเลย ก็มีโอกาสเสี่ยงได้มากเช่นกัน ลักษณะงานที่อาจเกิดโรคนิ้วล็อก ได้แก่
กลุ่มคนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ ได้แก่ พนักงานพิมพ์ดีด เลขานุการ หรือนักเขียนที่มีการใช้คอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์งานวันละหลายๆ ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปกรรมที่ต้องใช้นิ้วมือคลิกเมาส์ตลอดทั้งวัน การใช้นิ้วมือในตำแหน่งเดิมๆ อาจทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย โดยเฉพาะนิ้วชี้และนิ้วกลาง คนกลุ่มนี้อาจพบร่วมกับอาการพังผืดรัดเส้นประสาทบริเวณอุโมงค์ ข้อมือ (carpal tunnel syndrome) และอาการพังผืดรัดเส้นเอ็นข้อมือ

4
กลุ่มคนที่ต้องใช้การเขียน ได้แก่ นักเขียน ผู้บริหารที่ต้องเซ็นต์เอกสารจำนวนมาก เลขานุการ
ผู้พิพากษา นักบัญชี ครูอาจารย์ ฯลฯ มักพบว่ามีนิ้วล็อกที่นิ้วโป้งด้านขวาเพราะมีการกดกับปากกา
กลุ่มคนที่ประกอบกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ พนักงานธนาคารที่ต้องเกร็งนิ้วเพื่อนับธนบัตรจำนวนมาก นักเล่นกอล์ฟที่เพิ่งหัดเล่นมักจะต้องไดรฟ์กอล์ฟคราวละหลายๆ ถาดโดยไม่หยุดพัก และมือเสียดสีกับด้ามจับคราวละหลายๆ ชั่วโมง แม่บ้านที่จับจ่ายซื้อของและหิ้วของหนักเป็นประจำ การหิ้วถุงพลาสติกที่บรรจุของน้ำหนักมาก จะทำให้ถุงพลาสติกกดลงบนเส้นเอ็นและเกิดการอักเสบได้ง่าย คนเล่นกีตาร์ เจ้าหน้าที่บำบัดด้วยการนวด แม่บ้านที่ต้องซักผ้าและบิดผ้าอยู่เป็นประจำ เจ้าหน้าที่เสริมความงามที่ใช้นิ้วพันผมเข้ากับหลอดดัดผม ช่างตัดเสื้อผ้าที่ต้องใช้กรรไกรตัดผ้าวันละหลายๆ ชั่งโมง หรือคนที่ชอบถักโครเชต์อาจเกิดนิ้วล็อกที่นิ้วชี้ ซึ่งใช้จับด้ามโครเชต์และข้างที่ใช้พันด้ายที่มือเป็นต้น
อาการในช่วงเริ่มต้นจะเริ่มจากการเจ็บที่บริเวณฐานนิ้ว รักษาได้ด้วยการพักการใช้งานนิ้วมือ แช่น้ำอุ่น ขั้นต่อมาอาจมีอาการนิ้วฝืด เคลื่อนไหวติดขัดไม่สะดวก อาจรักษาได้ด้วยการใช้ยาต้านการอักเสบ ทำกายภาพบำบัด หากรุนแรงจนเริ่มเป็นอาการนิ้วล็อกอาจต้องฉีดยาเพื่อสลายพังผืดในปลอกหุ้มเอ้นเพื่อลดการบวม ซึ่งช่วยบรรเทาได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น หากรุนแรงมากก็จำเป็นต้องรับการผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีการผ่าตัดแบบใหม่ที่ไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ ใช้เวลาเพียงสั้นเพียง 5-10 นาที เพียง 3 วันเท่านั้นแผลก็หายดีได้
จึงอาจกล่าวได้ว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเกิดอาการนิ้วล็อก หากมีการใช้งานนิ้วมืออย่างหนักตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม เราสามารถป้องกันอาการเหล่านี้ได้ด้วยการทะนุถนอมนิ้วมือ ดังนี้ 

ป้องกันนิ้วล็อกกันเถอะโรคนิ้วล็อก เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ งอ และเหยียดได้อย่างปกติ อาการเริ่มจากเจ็บ บวมบริเวณฐานนิ้วมือ สะดุด กระเด้ง ล็อกจนกระทั่งนิ้วเสียรูป กำไม่ลง เกยกันและไม่สามารถใช้งานได้อย่างปกติเกิดความทุกข์ทรมารอย่างมาก เมื่อเป็นโรคนิ้วล็อกแล้วเริ่มต้นอาจเพียงสะดุด ต่อมาจะเจ็บปวดมากเวลาจะงอนิ้ว หรือเหยียดนิ้วให้ตรงออกไป บางครั้งงอลงแล้วเหยียดไม่ออก ต้องง้างจึงออกและเจ็บปวดอย่างมาก ต้องตื่นกลางดึกเพราะมืออยู่ในท่าล็อกไม่สามารถเหยียดออกได้ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง โรคนิ้วล็อกมักจะเกิดในสุภาพสตรี วัยกลางคนขึ้นไป พบมาช่วงอายุ50-60 ปี คนยิ่งแข็งแรง ใช้มือรุนแรง ใช้มือไม่ถูกหลัก หิ้วถุงอาหารผลไม้ สิ่งของจากการช๊อปปิ้ง ซ้ำๆ บ่อยๆทำให้เพิ่มโอกาสเกิดโรคนิ้วล็อกได้เร็วยิ่งขึ้น สุภาพบุรุษพบน้อยกว่า มักพบในกลุ่มคนตีกอล์ฟ คนทำงานช่าง ทำงานสวน ที่ต้องกำบีบเครื่องมือเก็งทำงานเป็นเวลานานๆ คนไทยเป็นโรคนิ้วล็อกมาก พบได้เกือบทุกบ้าน เนื่องจากคนไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงในการใช้มือหิ้วถุงพลาสติก(ถุงมหาภัย) หนักๆเป็นประจำ เช่นการหิ้วถุงผลไม้ อาหารสิ่งของในการเดินจ่ายตลาด และหิ้วโดยใช้นิ้วเกี่ยวเพียงนิ้วใดนิ้วหนึ่ง และหิ้วครั้งละหลายๆ ถุง หิ้วเกี่ยวถุงด้วยนิ้วเดินจากตลาดถึงบ้าน หรือหิ้วถึงที่จอดรถ บางครั้งหิ้วจนนิ้วเขียวคล้ำและระบมตามมา 2-3 วัน การบาดเจ็บสะสมตัวจนพังผืดหนาตัวที่เข็มขัดรัดเส้นเอ็น และปลอกหุ้มเอ็นจนในที่สุดขวางการเคลื่อนตัวของเส้นเอ็น ทำให้มีปํญหาในการงอและเหยียดนิ้วและเป็นโรคนิ้วล็อกในที่สุดกิจกรรมอื่นที่ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อกเช่นการกำเครื่องมือทำสวน เครื่องมือช่าง เครื่องมือทำครัว การกำไม้กอล์ฟกระแทกลูกกอล์ฟ การซักผ้าด้วยมือ การเช็ดล้าง ซึ่งต้องบิดผ้าให้แห้งเกิดการบดกันของเส้นเอ็นกับเข็มขัดและปลอกหุ้มเอ็นจนเกิดพยาธิสภาพเช่นเดียวกันล้วนเป็นเหตุทำให้เป็นโรคนิ้วล็อกในที่สุด  การป้องกันโรคนิ้วล็อกสิ่งแรกสุดคือการตระหนักหรือคิดถึงภัยนิ้วล็อกโดยทั่วไปคนเราจะไม่นึกถึงไม่ระวัง ไม่ป้องกันใช้มือรุนแรงจนเกิดอาการนิ้วล็อกแล้วจึงค่อยคิดถึงเหมือนภาษิตว่าไว้วัวหายล้อมคอก กว่าจะรู้ก็เป็นตามกันมาหลายนิ้วแล้วทั้งๆที่เป็นโรคที่ป้องกันได้ ลดอุบัติการณ์ได้ โดยลดความเสี่ยงต่างๆ ดังต่อไปนี้1 หลีกเลี่ยงการหิ้วถุงหนักๆด้วยการใช้นิ้วมือเกี่ยว ควรหิ้วให้หูหิ้วอยู่ในฝ่ามือ และควรมีผ้าขนหนูหรือกระดาษรองให้นุ่มและหนาอย่าหิ้วหนักและหิ้วไว้นาน หากเป็นไปได้ควรใช้รถเข็น รถลากช่วยทุ่นแรงลดการบาดเจ็บของนิ้วมือ2 ควรใช้เครื่องป้องกันเช่น ใส่ถุงมือเวลาทำงาน ช่าง ,การทำสวน,ขุดดิน ใช้ผ้าหนาๆ หรือใส่ถุงมือหนัง3.อย่าฝืนใช้มือจนเมื่อยล้า เช่น กำบีบเครื่องมือตัดกิ่งไม้ เครื่องมือช่างนานเกินไป ควรหยุดพักเป็นช่วงๆ เมื่อยแล้วอย่าฝืนทำต่อ ควรพักเป็นช่วงๆ เมื่อให้มือได้พัก คุณครูอย่าฝืนเขียนหนังสือเป็นเวลานานๆ 4. ควรหลีกเลี่ยงการบิดผ้ารุนแรง เช่น แม่บ้านซักผ้า ,บิดผ้าขี้ริ้วทำความสะอาดล้างรถ การบิดผ้าซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้ปลอกหุ้มเอ็นของนิ้วมือเสียความยืดหยุ่นและกลายเป็นนิ้วล็อกตามมา ของนิ้วโป้ง นิ้วชี้นิ้วกลางได้แนะนำใช้เครื่องซักผ้า เวลาตากผ้าไม่ควรบิดรุนแรง เพื่อถนอมมือไว้ใช้นานๆ5.มือกอล์ฟควรใส่ถุงมือ คนมือใหม่อย่าฝืนDrive รุนแรงหลายถาดเกินไปควรฝึกค่อยเป็นค่อยไปมิฉะนั้น นิ้วกลาง นาง ก้อยมือซ้ายอาจเกิดปัญหานิ้วบวมอักเสบและเป็นนิ้วล็อก ในที่สุด6. พ่อครัว แม่ครัว ระวังเรื่องการหิ้วซื้ออาหารวัตถุดิบควรหิ้วให้ถูกวิธีอุปกรณ์ทำครัวควรมีผ้ารองด้ามจับให้นุ่มและใหญ่ เลี่ยงการหั่น สับ    เนื้อ กระดูก เป็นเวลานานๆ ควรพักมือเป็นระยะๆ           โรคนิ้วล็อกเป็นภัยเงียบ มีสาเหตุ ป้องกันได้ รักษาให้หายขาดได้แต่ป้องกันไว้ดีกว่าแก้......................ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก               www.trigger-finger.net    

 


           
คำสำคัญ (Tags): #โรคนิ้วล็อก 


ความเห็น

ครูอ้อย แซ่เฮ
เขียนเมื่อ

สวัสดีค่ะคุณหมอ...นายแพทย์ Vichai - Vijitpornkul

  • ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้...ความเป็นห่วงคุณผู้หญิง
  • ครูอ้อยเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ใช้นิ้วมือมากค่ะ..เช่นเขียน..พิมพ์งาน..และ...ชี้นิ้วให้คนอื่นทำงานค่ะ

ขอบคุณค่ะ...ต้องระวัง..ไม่ใช้นิ้วมากเกินไปค่ะ

อรรถภรณ์ ธรรมนิรัติศัย
เขียนเมื่อ

ถ้าจะไปผ่าตัดที่ครีนิคจะต้องใช่ค่าใช่จ่ายเท่าไรครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย