การศึกษาภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง


ผมเข้าใจที่พี่เขาพูดทั้งหมด ว่างานที่สถานีอนามัยนั้นมีทั้งงานที่โดยสั่ง (จิก) งานชุมชน งานบริการ งานเชิงรุก งานตามนโยบายต่อเนื่อง (สั่งตั้งแต่ต้นปี) และงานจิปาถะ เช่น งานศพ งานวัด งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ (ต้องไปทุกงานถ้าเป็นหมออนามัยในชุมชนจริง ชาวบ้านบอกทุกคนแน่ ถ้ามีงานที่บ้านเขา) วันนั้นเราคุยกันอีกหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบาดวิทยา เรื่องไข้เลือดออก ประเด็นยังค้างคาใจผมอยู่ทั้งนั้น(รอสานต่อ)ใครบอกว่า จนท.ในพื้นที่คิดไม่เป็น เขาคิดไม่เป็นหรือข้างบนไม่ได้ให้เขาคิดกันแน่ หรือเขาคิดได้ก็ไม่ฟัง (ไม่ได้ว่าใคร)เที่ยงคืนพอดีของวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ทั้ง 3 คนจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน คนละทิศคนละทาง (ฮา...)

    ผลพวงจากการที่ สสจ.พัทลุง ได้จัดอบรมพัฒนานักวิจัยขึ้นเมื่อกลางปีนี้ (ปีงบประมาณ 2548) มี จนท.เข้าอบรมประมาณ 60 คน ผมจำตัวเลขไม่แม่น (และไม่สำคัญตรงนี้... อยู่ตรงไหน... ยังไม่เข้าเรื่องเลย ฮา...เล็ก ๆ) และผมก็อยู่ในทีมวิทยากรร่วมด้วย (ช่วยกัน) ได้รับมอบหมายให้เป็นที่ปรึกษาการวิจัยในหลาย ๆ เรื่องตามที่ผู้เข้ารับการอบรมสนใจและพอใจที่ปรึกษาด้วย (ไม่พอใจกันก่อน ก็จะทำงานช่วยเหลือกันไม่ได้มั้ง...) เรื่องหนึ่งที่แปลกคือ เขาสอนเน้นเชิงปริมาณเกือบทั้งหมดของเนื้อหา (5 วัน) =แทรก ตั้งแต่ทำงานมา ก็ไม่เคยเห็นใครจัดเชิงคุณภาพสักครั้ง 15 ปี แล้ว นอกจากเห็นที่มหาวิทยาลัย= มีกลุ่มหนึ่ง (หัวหน้าสถานีอนามัย เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ระดับ 4 สถานีอนามัยเดียวกัน และเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ระดับ 5 อีกสถานีอนามัยหนึ่ง) สนใจเชิงคุณภาพตลอด (แปลกแยกไม่นี่) จนได้เรื่อง (เรื่องที่จะทำวิจัย เฮ้อ...เหนื่อยจริง) คือ การศึกษาภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ซึ่งไปคล้ายกันกับที่ผมเคยบอกไว้ที่ เกร็ดชีวิตการทำงานชุมชนของหมออนามัย ตอน ย้อนบันทึก "คนชายขอบ" เป็นบันทึกของวันที่ 20 เมษายน 2547 โดยบังเอิญ (เพราะตอนแรก ๆ ผมไม่ได้ดูของกลุ่มนี้หรอก ตอนหลังถูกโบ้ยมา เพราะดันไปทำเชิงคุณภาพ พี่ ๆ เขาไม่ชอบทำกัน) ผมดีใจมากที่เรื่องนี้จะได้สานต่อซะที ลองมาดูโครงร่างที่เขาพัฒนาขึ้นมาเพื่อส่งให้ผมดูนะ และก็มีร่องรอยการแนะนำไปบ้างแล้ว (เพียงครั้งเดียว) และได้นัดคุยกันครบชุดก็เพียงครั้งเดียวเช่นกัน โดยในเครื่องหมาย ] คือส่วนที่ผมได้แนะนำว่าควรจะได้ปรับ/เพิ่ม/แก้ไข สำหรับที่พิมพ์ผิดก็ได้ปรับแก้ให้ไปเลย

     หลักการและเหตุผล [ควรจะเปลี่ยนเป็นความเป็นมาและความสำคัญนะ สำหรับคำถามวิจัยในลักษณะนี้]
          การดูแลสุขภาพตนเอง ครอบครัว  และชุมชน โดยปราชญ์ชาวบ้านตั้งแต่อดีตกาลนั้นเป็นภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมกันมา เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งและเป็นทุนทางสังคมที่มีอยู่แล้ว ภูมิปัญญาท้องถิ่นนี้เป็นแบบแผนการปฏิบัติต่อสุขภาพตนเอง ครอบครัว และชุมชน ในบางประเด็นที่ได้ขัดเกลาทางสังคมจนยึดถือเป็นประเพณี วัฒนธรรม มีการถ่ายทอดออกไปสู่ชุมชนอื่น อย่างแพร่หลาย และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน (จินตนา  ชุณหมุดดา, มันทนา บัววัฒนา และจิรัตน์  กอบเกียรติกุล, 2546) โดยที่ภูมิปัญญาเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์คิดเอาไว้เอง สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิต เป็นความเข้าใจ เป็นสติปัญญา หรือ องค์ความรู้ ทั้งหมดของมนุษย์ทั้งกว้างทั้งลึกที่มนุษย์คิดได้เอง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่ แก้ปัญหา การดำรงชีวิต ในชุมชนได้อย่างเหมาะสม (สามารถ จันทรสูรย์, 2536) โดยที่ภูมิปัญญา สามารถสะท้อนออกมาใน 3 ลักษณะที่มีความสัมพันธ์กัน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนทันโลก  สิ่งแวดล้อม  สัตว์ พืช  ธรรมชาติ  ความสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมหรือชุมชนและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ภูมิปัญญาเป็นโลกทัศน์ ชีวทัศน์ เป็นปรัชญา ในการดำเนินชีวิต เรื่องเกี่ยวกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย คุณค่าและความหมายของทุกสิ่งในการดำเนินชีวิต (เสรี พงศ์พิศ , 2529)  และการดำเนินชีวิตของมนุษย์ชาติ จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยสี่ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อาศัย และยารักษาโรค ปัจจัย 4 เหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องแสวงหาเพื่อใช้แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตให้อยู่รอดได้
          ปัญหาความเจ็บป่วย นับเป็นประสบการณ์สำคัญของมนุษย์ ในทุกวัฒนธรรมจึงได้พยายามหาทางออกต่อปัญหาสุขภาพ และความเจ็บป่วยอย่างต่อเนื่องตลอดมา สัญชาตญาณในการต่อสู้ เพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์และการดิ้นรนเพื่อชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์ ได้ทำให้มนุษย์ทุ่มเทความพยายาม ในการทำความเข้าใจต่อประสบการณ์ ความเจ็บป่วยและโรคภัยที่คุกคามต่อชีวิตและสุขภาพ ความรู้ ความเข้าใจที่มนุษย์ได้รับจากประสบการณ์จึงเกิดแนวคิดและทฤษฏี ที่มนุษย์ใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา ภูมิปัญญา และองค์ความรู้ที่มนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมได้สั่งสมและสืบทอดเป็นแบบแผน  ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติผิดแผกแตกต่างกันไป อันเป็นผลจากแนวความคิด ความเชื่อ  ความเข้าใจที่มนุษย์มีต่อสรรพสิ่ง และปรากฏการต่างๆ ตามการรับรู้ของตน มนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมจังมีโลกทัศน์ ที่แตกต่างกัน ระบบวิธีคิด ความเชื่อ  ที่ทำความเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ ความเจ็บป่วยที่แตกต่างกัน (โกมาตร  จึงเสถียรทรัพย์, 2536)
          แนวคิดเรื่องสุขภาพและความเจ็บป่วยในสังคมไทย จึงเกิดจากโลกทัศน์ที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมที่ผสมระหว่าง ผี พราหมณ์ และพุทธ ซึ่งเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ  ทำให้ชาวไทยมีพฤติกรรมสุขภาพที่แตกต่างกันไป ตามแนวคิด ความเชื่อ ที่ตนมีอยู่สามารถแบ่งแนวคิดออกเป็น 3 แนวคิด  แนวคิดเรื่องธาตุ  ไสยศาสตร์  โหราศาสตร์  โดยแนวคิดเรื่อธาตุได้อธิบายความเจ็บป่วย เกิดจากความแปรปรวนของธาตุทั้ง 4 ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ  ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของมนุษย์ (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, 2536)
          ส่วนแนวคิดและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยส่วนใหญ่แล้วไม่แยกออกจากความเชื่อทางศาสนาและพิธีกรรมต่างๆ ระบบวัฒนธรรมย่อยอันหนึ่งในสังคม ทำให้ระบบการแพทย์มีมากกว่า 1 ระบบ เพราะระบบความคิด ความเชื่อ ในสังคมหนึ่งๆ มีความเป็นพหุลักษณ์ หลากหลาย เคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยังเป็นผลจากการปรับตัว เปลี่ยนแปลงภายในระบบนั้นๆ โดยเฉพาะสังคมที่ซับซ้อน   จะมีนัยทางสังคมวัฒนธรรมของระบบการแพทย์แบบพหุลักษณ์ อยู่ด้วยกันในสังคม สังคมนั้นๆจึงมีระบบวิธีคิด ความเชื่อเกี่ยวกับความเจ็บป่วยอยู่หลายทฤษฏี  จึงเป็นตัวกำหนดให้มีแหล่ง หรือวิธีการรักษาอยู่หลายๆแบบในสังคม (เพ็ญจันทร์  ประดันมุข , 2534)
          ระบบแพทย์พื้นบ้านในชนบทไทย มีรากฐานมาจากการแพทย์แผนอายุรเวชของอินเดีย เป็นการผสมผสานระหว่างการแพทย์แผนไทย ซึ่งมีทั้งการแพทย์แบบประสบการณ์ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) ความเชื่อทางไสยศาสตร์กับวิชาอายุรเวชของอินเดีย นอกจากนี้ การแพทย์พื้นบ้านของไทยยังมีการผสมผสมผสานกับการแพทย์ของจีนเข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา การแพทย์เหล่านี้ได้ผสมผสานกันกลายเป็นรากฐานของการแพทย์แผนโบราณ หรือแพทย์พื้นบ้านในชนบทไทย (กิ่งแก้ว เกษโกวิท, 2536)
          หมอพื้นบ้าน นอกจากจะทำหน้าที่รักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนในหมู่บ้านแล้ว ยังเป็นผู้เชื่อความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านอีกด้วย  เพราะการรักษาแบบพื้นบ้านไม่ใช่การรักษาคนเจ็บป่วยให้หายเพียงประการเดียว แต่เป็นการพึ่งพาอาศัยกันของชาวบ้าน มีการรักษาทั้งกายและใจควบคู่กันไป หมอพื้นบ้านจะเอาใจใส่ดูแลคนเจ็บป่วยอย่างใกล้ชิด เป็นการรักษาทั้งทางกายและทางใจควบคู่กันไป  การรักษาเป็นเรื่องของบุญคุณ ไม่ใช่การเรียกร้องค่าตอบแทน นอกจากนี้หมอพื้นบ้านยังเป็นผู้ทรงคุณธรรมที่ควรเชื่อถือและมีบทบาทในการคลี่คลายและแก้ปัญหาภายในหมู่บ้าน จึงเห็นได้ว่าหมอพื้นบ้าน จะมีบทบาทในการเป็นตัวเชื่อมสายสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านที่สำคัญ (ยงยุทธ ตรีนุชการ, 2532) 
          ในแผนพัฒนาสาธารณสุข ฉบับที่ 8 ( 2540 – 2544 ) และกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายชัดเจนในการพัฒนาแพทย์แผนไทย สนับสนุนให้หมอพื้นบ้าน หมอแผนไทย และผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขแผนปัจจุบันให้นำการแพทย์แผนไทยไปประยุกต์ใช้การรักษาโรค ส่งเสริมให้มีการใช้ยาสมุนไพร,ยาไทย และพัฒนาการผลิต และพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ได้กำหนดการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยมาตรา 14  สิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่จะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ สิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยเกี่ยวกับตำราแพทย์แผนไทย (เพ็ญนภา  ทรัพย์เจริญ ,2543) [เชื่อมโยงมายังแผนฯ 9 ด้วย ว่ามีความก้าวหน้าระดับนโยบายอย่างไรบ้าง]
          อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ประชาชนมีความเชื่อและมีความศรัทธา นิยมรักษาความเจ็บป่วยแบบพื้นบ้านมายาวนาน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวชนบทมีอาชีพทำไร ทำนา การดำเนินชีวิตมีความผูกพันอยู่กับการเกษตร วิธีการดูแลสุขภาพต้องอาศัยภูมิปัญญาหรือองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะทำให้สุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย บนพื้นฐานของวิธีชีวิต ของชาวชนบท รวมถึงวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนเมื่อเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ จะมักมีการรักษา โดยใช้สมุนไพร ยากลางบ้าน ที่มีอยู่ตามท้องถิ่นโดยรักษาจากประสบการณ์ และความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่ถ้ายังไม่หายก็จะไปรักษากับหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์สูงกว่า ซึ่งจากการสำรวจหมอพื้นบ้านในอำเภอบางแก้วมี 15 คน [(สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบางแก้ว, ปี พ.ศ.?)]
          ผู้ศึกษาและคณะ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชน จึงมีแรงบันดาลใจที่จะศึกษาองค์ประกอบ วิธีการ ขั้นตอนการใช้สมุนไพรและการดูแลบำบัดรักษาความเจ็บป่วย ตลอดจนศึกษาความเชื่อของหมอพื้นบ้านในการใช้ภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยศึกษาจากหมอพื้นบ้านที่มีประสบการณ์สูง และได้ปฏิบัติหน้าที่หมอพื้นบ้านมานานนับ 10 ปี จำนวน 6 คน  ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 ตำบลในอำเภอบางแก้ว [คือตำบล ?]

     วัตถุประสงค์
          1. เพื่อศึกษาองค์ประกอบ วิธีการ และขั้นตอนการใช้สมุนไพรในการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยของหมอพื้นบ้าน 
          2. เพื่อศึกษาความเชื่อเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรและการบำบัดรักษาผู้ป่วยของหมอพื้นบ้าน

     การทบทวนวรรณกรรม
          การศึกษาครั้งนี้ คณะผู้ศึกษาได้ใช้กรอบแนวคิดและทฤษฏีในการศึกษาข้อมูลตามความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้าดังนี้ (มีรายละเอียดแล้ว แต่ไม่ได้อ่านละเอียด)
          1. แนวคิดเกี่ยวกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน
          2. แนวคิดเกี่ยวกับจิตวิทยาสังคม
          3. แนวคิดและทฤษฏีทางมานุษยวิทยาทางการแพทย์

     วิธีการดำเนินการวิจัย
          ในการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ในการวิจัยเชิงพรรณนา [ปรากฏการณ์วิทยา ใช่ไหม] และเก็บข้อมูล โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก
          1. คัดเลือกพื้นที่ในการศึกษา เป็นการคัดเลือกแบบเจาะจงพื้นที่ อำเภอบางแก้ว  จังหวัดพัทลุง ครอบคลุมพื้นที่ ทั้ง 3 ตำบล เนื่องจากมีหมอพื้นบ้านกระจายอยู่ในทุกพื้นที่
          2.เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย
              2.1 แบบสัมภาษณ์เจาะลึกหมอพื้นบ้าน
              2.2 การสนทนากลุ่มผู้รับบริการ บำบัดรักษาโดยใช้แนวทาง การสังเกต และจดบันทึก
              2.3 แบบสังเกต แบบมีส่วนร่วม โดยใช้เครื่องบันทึกเสียง กล้องถ่ายภาพ สมุดบันทึก
              2.4 แบบสังเกต แบบไม่มีส่วนร่วม
              2.5 รวบรวมข้อมูล ทั้งข้อมูลที่ค้นหาและข้อมูลเบื้องต้น
              2.6 ตรวจสอบข้อมูล ด้วนระเบียบวิธีวิจัยทางคุณภาพในการเก็บรวบรวมข้อมูล ด้านนักวิจัยและทฤษฏีที่เกี่ยวข้อง
              2.7 วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลในขั้นตอนสุดท้ายโดยผู้วิจัยหลักและผู้ช่วยวิจัย
              2.8 นำเสนอข้อมูล โดยผู้วิจัยหลักและผู้ช่วยวิจัยและที่ปรึกษาโดยสรุปเป็นรูปเล่ม
           [จรรยาบรรณนักวิจัย การคุ้มครองสิทธิของผู้ให้ข้อมูล]
           [การตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ]
           [ขั้นตอนในการตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล]
           [ขั้นตอน และวิธีการในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์]
           [การยืนยันข้อมูลหลังการวิเคราะห์จากผู้ให้ข้อมูล (Key persons)]

     ผลคาดว่าจะได้รับ
          1. เป็นสื่อในการถ่ายทอดองค์ความรู้ของหมอพื้นบ้านในการบำบัดรักษาสุขภาพของประชาชน
          2. เป็นการเพิ่มทางเลือกในการดุแลรักษาสุขภาพโดยใช้ภูมิปัญญาของหมดพื้นบ้านที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับชุมชนนั้นๆ
          3. เป็นแนวทางในการพัฒนาแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านที่ยังเอื้อประโยชน์ในแง่ดูแลรักษาสุขภาพ
          4. เพื่อให้มีฐานข้อมูลในเรื่องทุนทางสังคมด้านสุขภาพที่ผ่านการทดสอบ และยืนยันแล้ว สามารถเป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต

===============================================================

          ประเด็นที่ผมได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมานำเสนอไว้ คือ ผมมีโอกาสได้พบเจอโดยบังเอิญกับหัวหน้าคณะวิจัย ขณะที่ผมนัดคุยกับกับน้อง (ญาติฝ่ายแม่) ที่เป็น จนท.สสอ. และวันรุ่งขึ้นเขาจะต้องไปกล่าวความรู้สึกในการปฏิบัติงานต่อหน้าที่ประชุม เรื่องงานคุ้มครองผู้บริโภค (แทนการเปิดประชุมโดยผู้หลักผู้ใหญ่...) ซึ่งคล้าย ๆ กับการกล่าวปาฐกถา และขอให้ผมจัดเรียงถ้อยคำ สำนวนให้หน่อย (จะได้ดูแล้วเท่ห์ หรือไม่ก็ ม่องแท่งไปเลย และผมก็เอาถ้อยคำ ความรู้สึกเขานั่นแหละมาสลับที่กันให้ ฮา... แล้วก็ดูมั่ว ๆ)

          การพบกันของผมกับหัวหน้าคณะผู้วิจัย ก็ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องของน้องเขาด้วย จนสำเร็จ เสร็จสมอารมย์หมาย ก็ได้สอบถามความก้าวหน้าของการวิจัยที่ว่า เห็นเงียบไป เก็บข้อมูลอะไรกันแล้วยัง ไปถึงไหนแล้ว และมีปัญหาอะไรบ้าง (เวลาถามผมถามที่ละประเด็น ไม่ได้บ้าจี้ถามอย่างที่เขียนนะครับท่าน แฮะ ๆ) ได้ความว่าโดยสรุปว่า ยังไม่ค่อยก้าวหน้า อีกทั้งที่ผมให้เอกสารวิธีการตัวอย่างของการดำเนินการ (โครงร่างวิจัยตัวอย่าง) เพื่อศึกษาและกำหนดลำดับขั้นตอนให้เป็นวิทยาศาสตร์ รวมถึงการไม่ละเมิดสิทธิ์กลุ่มตัวอย่างหรือผู้ให้ข้อมูล และการตรวจสอบความถูกต้อง น่าเชื่อถือ พี่เขาบอกผมว่าได้กลับไปคุยกันในกลุ่มแล้วสรุปว่า ถ้าทำอย่างนั้น ซีเรียส ไป เลยไปหาที่ปรึกษาที่เป็นเพื่อนกันอีกคน ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ก็พบว่าเขาพูดเหมือนที่น้องว่าเลย กลับมาเงียบ ๆ กันอยู่ ตอนนี้ตกลงใจแล้วว่าจะทำตามที่เราอยากทำ และทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นก่อน

          สำหรับเงื่อนไขอีกอย่าง คือ งานในหน้าที่ประจำที่มีมากมายเหลือเกินยุคนี้ ทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะดำเนินการต่อให้เสร็จ ทีมก็ว่างไม่ค่อยตรงกันเลย (อันนี้ไม่มีความเห็น ตัวใคร ตัวมัน) ผมเข้าใจที่พี่เขาพูดทั้งหมด ว่างานที่สถานีอนามัยนั้นมีทั้งงานที่โดยสั่ง (จิก) งานชุมชน งานบริการ งานเชิงรุก งานตามนโยบายต่อเนื่อง (สั่งตั้งแต่ต้นปี) และงานจิปาถะ เช่น งานศพ งานวัด งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ (ต้องไปทุกงานถ้าเป็นหมออนามัยในชุมชนจริง ชาวบ้านบอกทุกคนแน่ ถ้ามีงานที่บ้านเขา) วันนั้นเราคุยกันอีกหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบาดวิทยา เรื่องไข้เลือดออก "อัตราป่วยด้วย DHF ไม่เกิน 50 ต่อแสนประชาชน เป็น KPI ของใครกันแน่" , "จะมีวิธีการอย่างไรที่ไม่ให้อัตราป่วยด้วย DHF เกิน 50 ต่อแสนประชาชน" , "ก็ ร.พ.อย่ารายงานก็สิ้นเรื่อง" , "ไม่ทราบที่อื่นที่ไม่มีปัญหาเขาทำอย่างไร แต่ที่ผมไม่ทำ ไม่งั้นปัญหาก็ไม่ได้แก้ให้ตรงจุด" , "KPI แบบนี้ท่าจะไม่ดี เพราะโกหกกันง่าย ๆ" , "คนโกหกได้ความดีอีกด้วย" ประเด็นเหล่านี้ยังค้างคาใจผมอยู่ทั้งนั้น ใครบอกว่า จนท.ในพื้นที่คิดไม่เป็น เขาคิดไม่เป็นหรือข้างบนไม่ได้ให้เขาคิดกันแน่ เที่ยงคืนพอดีของวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ทั้ง 3 คนจึงแยกย้ายกันกลับบ้าน คนละทิศคนละทาง (ฮา...)

          วันนี้ที่บันทึกเรื่องนี้ก็ด้วยเหตุผลว่าผมจะให้พี่เขารู้จัก Blog เพราะที่ สถานีอนามัยแห่งนี้มีโทรศัพท์ และออก Internet ได้ (ผมแอบเห็นแล้ว) และจะแนะนำให้พี่เขาบันทึกอย่างที่พี่เขาพูดไว้ คือ "ตอนนี้ตกลงใจแล้วว่าจะทำตามที่เราอยากทำ และทำได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้นก่อน" สะสมไว้

          ผมสัญญาครับพี่พันธ์ ว่าจะไปแนะนำพี่ (หากพี่รู้แล้ว ผมเอามะพร้าวไปขายสวนแน่เลย แต่ช่างเถอะ ไม่ได้เสียหายอะไร)

                อนุชา  หนูนุ่น บันทึกไว้เมื่อ 7 กันยายน 2548

===============================================================

หมายเลขบันทึก: 3596เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2005 20:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ดีใจที่ได้มาอ่าน ขอชื่นชมการไม่หยุดนิ่งทางการเรียนรู้ ชวนคนข้างๆมั่งนะ
คิดถึงเด็กบางแก้วจากเด้กตรัง

กำลังทำหนังสือรวบรวมองค์ความรู้ของหมอพื้นบ้านอยุ่ครับ  ดีใจจังที่เห็น  บางแก้วของเรามีการศึกษาเรื่องนี้ด้วย(ผมคนบางแก้วครับ) 

เรียน ทุกท่านครับ

     ด้วยความยินดีนะครับที่เข้ามา ลปรร.และให้กำลังใจกัน ขอบคุณมากครับ

คนบางแก้วแล้วมีหมาบางแก้วมั้ยครับ

ดิฉัน หญิงขอบ ขอชื่นชม คุณชายขอบค่ะ ว่าเก่งมากๆ เป็นผู้มีองค์ความรู้ที่แน่นปึ๊ก มีแนวคิดในการทำงานที่ดี หวังว่าคุณชายขอบ จงใช้ความรู้ความสามารถนี้ แสดงให้พวกที่ต่อต้าน วิชาชีพสาธารณสุขของเรา ให้พวกมันเห็นเลย ว่า สาธารณสุขเรา ก็ทำงานโดยใช้ความคิด หาได้ใช้แต่แรง ไม่

ขอได้รับคำขอบคุณ จาก หญิงขอบ

โอกาศหน้า จะได้พบกับ แต๋วขอบจ้า ขอเป็นกำลังใจให้คะ

รัคนอ่าน

หญิงขอบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท