เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

ประเพณีตานก๋วยสลาก ตำบลบ้านใหม่สุวรรณภมิ


 

  ประเพณีตานสลาก หรือการทำบุญสลากภัตร ในล้านนาไทยมีชื่อเรียกแตกต่างไปตามแต่ละท้องที่ บางแห่งเรียกว่า "กิ๋นสลาก"บางแห่งเรียกว่า " ทานก๋วยสลาก"
     กำหนดวันจัดงาน
     ประเพณีตานสลากเป็นการถวายโดยไม่เจาะจงผู้รับ จะทำกันตั้งแต่วันเพ็ญเดือน 12 เหนือ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ใต้) จนถึง เดือนเกี๋ยงดับ (แรม 15 ค่ำ เดือน 11 ใต้ ) ชาวบ้านจะนำพืชผลมาจัดทำเป็นก๋วยสลาก แล้วนิมนต์พระสงฆ์จากวัดใกล้เคียงมารับไทยทานสลาก

 

ประเภทของก๋วย
ก๋วยสลากแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ก๋วยน้อย ใช้อุทิศแก่ผู้ตายหรือ เพื่อเป็นกุศลในภายหน้า
2. ก๋วยใหญ่ หรือสลากโชค หรือเป็นสลากที่บรรจุในก๋วยใหญ่ ใช้ถวายเป็นมหากุศลสำหรับบุคคลที่มีกำลังศรัทธาและร่ำรวยเงินทอง ทำถวายเพื่อเป็นปัจจัยภายหน้าให้มีบุญกุศลมากขึ้น

 

       ก่อนวันทำพิธี “ตานก๋วยสลาก” ๑ วัน เรียกว่า “วันดา” เป็นวันจัดเตรียมสิ่งของ เครื่องไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ก๋วย” ไว้หลายๆ ใบ ทางฝ่ายหญิงก็จะจัดเตรียมห่อของกระจุก กระจิก เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมข้าวต้ม และอาหาร เช่นห่อหมก สีย้อมผ้า ผลไม้ต่างๆ เครื่องใช้สอยต่างๆ ตามแต่ศรัทธาและฐานะ สิ่งของต่างๆ เหล่านี้จะบรรจุ ลงในก๋วยซึ่งกรุด้วยใบตองหรือกระดาษสีต่างๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่างๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้วก็จะเอา “ยอด” คือ ธนบัตรผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ยอด” ที่ใส่นั้นไม่จำกัด ว่าจะเท่าใดแล้วแต่กำลังทรัพย์

  

 

       เช้าวันรุ่งขึ้นในวันทานสลาก จะใช้เด็ก ลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด หรือตามศาลาบาตร และเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถวๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน(พาน) เข้าตอก ดอกไม้ ธูปเทียน ถือขัน (พาน) ไปวัดกันทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานสลากภัตนี้มีอานิสสงส์มาก และจะได้ช่วยกันเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระในเวลามีการเรียก “เส้นสลาก”

        

        
 
      “เส้นสลาก”ที่กล่าวนี้ ผู้เป็นเจ้าของ”ก๋วยสลาก”จะต้องเอาใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็น แผ่นยาวๆ จารึกชื่อเจ้าของไว้ และบอกด้วยว่าอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง ซึ่งเป็นความเชื่อ ของพุทธศาสนิกชนทั่วไปว่า เมื่อทำบุญถวายทานไว้ในพระศาสนาแล้วเมื่อ ล่วงลับดับขันธ์ไปก็จะได้ไปเสวยอานิสงส์ผลบุญนั้นในโลกหน้า
       การแบ่ง”ก๋วยสลาก”จะต้องตก “เส้นสลาก”เป็นกองๆ รวม ๓ กอง กองหนึ่งคือของพระเจ้า”(คือของวัด) ส่วนอีก ๒ กอง นั้นเฉลี่ย ออกไปตามจำนวนพระภิกษุสามเณร ที่นิมนต์มา ร่วมในงานทำบุญ หากมีเศษเหลือก็มักจะปัดเป็นของพระเจ้าเสีย
      “เส้นสลาก” ที่แบ่งปันให้พระภิกษุ สามเณรที่นิมนต์มาจากวัดต่างๆ นั้น เมื่อ พระภิกษุ สามเณร ได้รับส่วนแบ่งแล้ว ก็จะไปยึดชัยภูมิแห่งใดแห่งหนึ่งในวัดและจัดการออกสลาก คือ อ่านเชื่อในเส้นสลากดังๆ หรือให้ลูกศิษย์ (ขะโยม) ที่ไปด้วยนั้นตะโกนตามข้อความที่เขียนไว้ ในเส้นสลาก เมื่อผู้เป็นเจ้าของได้ยินหรือมีเพื่อนบ้านใกล้เคียงได้ยิน ก็จะไปบอกให้เจ้าของ “ก๋วยสลาก” ซึ่งบางรายก็จะ หิ้ว “ก๋วย” ไปตามหาเส้นสลากตามลานวัด การเที่ยวหาเส้นสลากนี้เป็นที่น่าสนุกสนานมาก ทั้งพวกหนุ่มๆ สาวๆ และผู้เฒ่าผู้แก่ ก็จะหิ้ว “ก๋วยสลาก” ออกตามเส้นสลากกันขวักไขว่ ทุกคนจะมีใบ หน้าแช่มชื่นผ่องใส ก็จะถือโอกาสช่วยๆ สาวๆ หาเส้นสลากเป็นการผูกไมตรีไปด้วย เมื่อพบเส้นสลากองตนแล้วก็จะเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระ พระก็จะอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้ง หนึ่งแล้วรับเอา “ก๋วยสลาก” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนเส้นสลากนั้นให้เจ้าของสลากไป เจ้าของสลากก็นำเอาเส้นสลากนั้นไปรวมไว้ในวิหาร เมื่อเสร็จงาน “แก่วัด” หรือมรรคนายกก็จะเอา เส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย
ประโยชน์และคุณค่าของการตานก๋วยสลาก
1. เป็นการสร้างความสามัคคีกันของคนในหมู่บ้านใกล้เคียง
2. เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
3. เป็นการบริจาคทานที่ถือว่ามีอานิสสงฆ์มาก
4. เป็นการหาเงินและวัสดุมาบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด
 
                                                                                                                โดย  นางจันทรา  กุลนันทคุณ
                                                                                                            นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
หมายเลขบันทึก: 359808เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2010 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 11:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ขอขอบคุณ ที่เผยแพร่สาระดีๆ ให้ผู้คนทั่วไปได้ทราบ ได้เห็นและตระหนักถึงคุณค่า..ประเพณี วัฒนธรรม ของบรรพชนสร้างสรรค์ให้ไว้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท