สรุปเนื้อหาการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ


สรุปเนื้อหาการประชุมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเชื่อมโยงพลังการเรียนรู้ด้านหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนด้านสร้างเสริมสุขภาพ จัดโดยทีมสนับสนุนการเรียนรู้และเชื่อมประสานกลุ่มบุคลากรสุขภาพ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดย สสส. ขอเชิญกรรมการโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขและผู้สนใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้

การประชุมแบ่งปันประสบการณ์และเชื่อมโยงพลังการเรียนรู้

กลุ่มบุคลากรด้านหลักสูตรและการเรียนการสอนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ

โดย ทีมสนับสนุนการเรียนรู้และเชื่อมประสานกลุ่มแผนงานพัฒนาบุคลากรสุขภาพ

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลและเครือข่ายบุคลากรสหวิชาชีพแนวใหม่

สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

วันที่ 3 - 5 พฤษภาคม 2553

ณ ห้องประชุมดอนเมือง 2 โรงแรมอมารีดอนเมือง กรุงเทพฯ

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เริ่มต้น ทำความรู้จักกัน โดยมีการจับคู่ 2 คนที่ไม่ได้มาจากที่เดียวกันและไม่เคยรู้จักกันมาก่อนพร้อมผลัดกันเล่าให้เพื่อนฟังถึงข้อมูลทั่วไป ประวัติของตนเอง และแรงบันดาลใจที่มาทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ให้สัมภาษณ์กันคล้ายผู้สื่อข่าว จากนั้นให้ขยายออกเป็นกลุ่มละ 4 คน เพื่อขยายเรื่องราวออกไปให้เพื่อนต่างกลุ่มรับรู้และซักถาม กิจกรรมนี้ช่วยให้รู้จักสมาชิกในกลุ่มได้ลึกซึ้งมากขึ้น

 

1) การนำเสนอประสบการณ์การเรียนการสอนด้านการสร้างเสริมสุขภาพของ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งมีจุดเน้นที่

  • Humanized Health Care
  • Health Promotion Mind
  • Community Mind
  • Research Mind

วิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีพื้นที่ที่เป็นชุมชนสำหรับเรียนรู้ของวิทยาลัยและมีวิจัยในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชน และกำหนดให้มีกิจกรรม “จิตอาสา” เป็นกิจกรรมในหลักสูตร ซึ่งนิสิตปี 4 ต้องมีครอบครัวในความดูแลที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องและเขียนบันทึกรายงานผลการติดตาม ผ่านการสื่อสารทางโทรศัพท์ การไปเยี่ยมครอบครัว และส่งรายงานให้อาจารย์ดู แต่ไม่มีการให้คะแนนและไม่นับเป็นหน่วยกิต

          นักศึกษาแพทย์ กฤตวิทย์  รุ่งแจ้ง นำเสนอประสบการณ์ฝึกปฏิบัติลงพื้นที่ในชุมชนแห่งหนึ่ง ในการฝึกภาคปฏิบัติการทำวิจัยและการสร้างเสริมสุขภาพร่วมกับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนตอนปี 3 ซึ่งต้องอยู่อาศัยภายในชุมชนระยะเวลา 9 วันที่ นศพ. ที่จะต้องการสำรวจพื้นที่ก่อนปฏิบัติงาน เพื่อประสานงาน วางแผน และเตรียมงานกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)  และผู้นำชุมชน การปฏิบัติงานภาคสนาม ณ บ้านนายาว อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ระยะเวลา 9 วัน มีกิจกรรมที่ต้องรับผิดชอบคือ

  • Health  survey, Priority setting, Focus group discussion
  • การแก้ปัญหาสุขภาพแบบยั่งยืน และกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน
  • งานอนามัยโรงเรียน
  • การบริการด้านสุขภาพและการให้สุขศึกษาแก่ชุมชน
  • สรุปผลการปฏิบัติงานและปัญหาประจำวัน
  • การเข้าเยี่ยมบ้าน และติดตามสถานะสุขภาพของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ( Family Folder) และโครงการจิตอาสา

โดยนิสิตต้องรับผิดชอบตั้งแต่สำรวจชุมชนในทุกด้าน นอกเหนือไปจากปัญหาสุขภาพร่างกาย และวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชนโดยให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดความต้องการของชุมชนเอง รวมทั้งนิสิตจะต้องฝึกปฏิบัติทางคลินิกเพื่อให้บริการทางสุขภาพกับชุมชน และสิ่งที่นิสิตได้เรียนรู้คือการให้ความรู้ทางสุขศึกษาแก่ชาวบ้านและให้ชาวบ้านสอนกันเองนั้นมีประสิทธิภาพมากเพราะชาวบ้านจะทำความเข้าใจง่ายกว่าและยังเป็นการฝึกผู้นำทางสุขภาพด้วย

 

ข้อคิดเห็นจากที่ประชุม

          1) อาจารย์แพทย์มีความขยันและเอาใจใส่นิสิตเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการอ่านรายงานของนิสิต ทุกคน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี

          2) การใช้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งตายตัวก็มีข้อเสียเพราะอาจทำให้ชุมชนดื้อยา เพราะฉะนั้นควรจะขยายไปยังชุมชนอื่นบ้าง

          3) ควรใส่ใจกับปฏิกิริยาป้อนกลับของชุมชนเมื่อจะต้องเจอคำถามและกิจกรรมเดิมด้วย

          4) ข้อเสนอให้ทำวิจัยทางปัญญาของชุมชน

         

2) การนำเสนอประสบการณ์การเรียนการสอนด้านการสร้างเสริมสุขภาพของ คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร

1)   ประเด็นของโครงการสร้างเสริมสุขภาพมีหลากหลายไม่จำกัดเฉพาะเรื่องของแพทย์ โดยประเด็นศึกษามักเกิดจาก case เช่น ปัญหาฟันผุ early childhood caries มีระยะเวลาทำงานตั้งแต่ ปี 1-ปี 4 โดยมีการมอบหมายลักษณะงานให้เหมาะกับความรู้ของนิสิตในแต่ละปี

2)   มีการจัด Saturday HP Session เช่น workshop เรื่อง stress reduction ให้กับนิสิตร่วมกับการสำรวจ stress level ต่อเนื่องทุกปี

3)   นศพ. ได้รับการเตรียมความพร้อมในหลักการต่างๆของการสร้างเสริมสุขภาพซึ่งพร้อมสำหรับการใช้งานได้เลยตามงานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละชั้นปี เช่น Biostatics ในชั้นปีที่ 1 สอนเฉพาะ mean mode median ไม่จำเป็นต้องสอนทุกหัวข้อในวิชา

4)   มีการสอน History of Medicine ในนิสิตปี 2 ซึ่งเนื้อหาที่นิสิตทำในหัวข้อ alternative med ในปีนี้จะถูกขยายผลเป็น Workshop ให้นิสิตเมื่อเข้าชั้นปี 3

5)      มีการมอบหมาย case ให้นิสิตดูแล

6)   เน้นการเรียนการสอนแบบ PBL (Problem Base Learning) ตั้งแต่เข้าเรียนในชั้นปีที่ 1 คือใช้ปัญหาเป็นเครื่องมือหนึ่งของการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้และแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง วิธีการนี้มีข้อดี คือ นิสิตได้ใช้ความพยายามในการเรียนรู้นอกชั้นเรียนเพื่อที่จะได้คำตอบในสิ่งที่ได้รับมอบหมายมา

7)   มีการจัดการเรียนการสอนแบบ TBL (Team Base Learning) คือ การเน้นการเรียนรู้เป็นทีมเพื่อให้นิสิตได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่ม ได้รู้จักแบ่งงานกันทำ ซึ่งวิธีการนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงเมื่อจบการศึกษาและต้องไปทำงานจริง ซึ่งมีสิสิตประมาณ 130 คน ใช้เวลา 3 ชั่วโมงต่อคาบ

          การนำเสนองานวิจัยของนิสิต

นศพ. มานิต ได้นำเสนอเรื่อง การวางแผนการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับผู้ป่วยภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง  ซึ่งผลจากกิจกรรมดังกล่าวทำให้เขามีความผูกพันกับ case ของเขาเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการฝึกให้เขาได้เรียนรู้ที่จะให้บริการด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์และทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์บนพื้นฐานของผู้อื่นได้ด้วย

 

ข้อเสนอแนะ

1)   นิสิตเรียนรู้ระเบียบวิธีตั้งแต่ ปี 1 ทำให้ได้ผลผลิตที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านงานวิจัย   มาก ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทยมาก ซึ่ง ม.นเรศวร ควรจะสร้างให้เป็นมาตรฐานอย่างทั่วถึงเท่ากันทั้งชั้นปี

2)   ควรส่งเสริมและหาช่องทางในการเผยแพร่งานวิจัยของ นศพ. ให้ออกสู่นานาชาติเพื่อสร้างมาตรฐานและการยอมรับในระดับนานาชาติด้วย

3)      การแสวงหาความรู้นอกชั้นเรียนและการใช้หลักอริยสัจ 4 ในการเรียนการสอนน่าจะสามารถนำมาใช้ในการเรียนได้

         

3) การนำเสนอประสบการณ์การเรียนการสอนด้านการสร้างเสริมสุขภาพของ คณะเภสัชศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์

1)      คณะเภสัชศาสตร์ มีจุดเน้นในการจัดการเรียนการสอนที่เป็นอัตลักษณ์ คือ ส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสม หัวใจของความเป็นมนุษย์ และเภสัชกรสายพันธุ์ใหม่

2)      คณะเภสัชศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์กำหนดให้นิสิตฝึกภาคปฏิบัติโดยการศึกษาชุมชนมีการใช้เครื่องมือวิถีชุมชน 7 ข้อ ของนพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ เป็นเครื่องมือในการศึกษาชุมชนเพื่อพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับชุมชน

3)      มีการวางบันได้เพื่อพัฒนานิสิตทั้งในและนอกหลักสูตร และมีการจัดโครงการเสริมหลักสูตรเพื่อช่วยพัฒนาทักษะการสร้างเสริมสุขภาพให้กับนิสิตในหลากหลายกิจกรรม

4)      มีการจัดวิชาเรียน เช่น ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ 1 และอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้สัมผัสชุมชน และเมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 และ 4 ก็จะมีการมอบหมายนิสิตให้นำความรู้จากวิชาใดวิชาหนึ่ง เช่น เภสัชบำบัด เภสัชวิทยา ฯลฯ ไปประยุกต์ใช้กับ case ในชุมชนที่ตนเองดูแลอยู่

5)      ตัวอย่างโครงการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  เช่น โครงการสร้างภาลักษณ์เภสัชกรสายพันธุ์ใหม่ สร้างบันไดทักษะมุ่งสู่การสร้างสุขภาวะของชุมชน วางแผนบูรณาการเป้าประสงค์ 4 ด้านเข้าสู่การเรียนการสอนและ/หรือจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร

6)      ความรู้สึกของนิสิตที่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนคือรู้สึกว่าชุมชนที่ได้ไปสัมผัส “ให้” เขามากกว่าที่เขาคิดกษะการสร้างเสริมสุขภาพให้กับนิสิตในหลากหลายกิจกรรม

6)      ุที่ทำให้

 

ข้อเสนอแนะ

1)      เภสัชกร ควรมีภารกิจร่วมคือ ส่งเสริมการไม่ใช้ยาและหาทางเลือกอื่นเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนร่วมด้วย

2)      คณะเภสัชควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรไทย

3)      การดูแลผู้ป่วยควรจะต้องคำนึงถึงบริบทของเขาด้วย

4)      เภสัชกร ควรจะเน้นการทำงานเพื่อปกป้องสุขภาพของคนมากกว่าจะปกป้องยา

 

4) การนำเสนอประสบการณ์การเรียนการสอนด้านการสร้างเสริมสุขภาพของ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหาสารคาม

          คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้สอดแทรกแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพไว้ในการเรียนการสอนในคณะในรูปแบบกิจกรรมทั้งในหลักสูตรและนอกหลักสูตรแก่นิสิตเภสัชศาสตร์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 จนถึงปี 5 โดยมี ภาพรวม กิจกรรมทางด้านการสร้างเสริมสุขภาพของเภสัช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้แก่

  • สร้างและพัฒนาแนวคิด จิตใจ พฤติกรรม และสิ่งแวดล้อมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ
  • การจัดการเรียนการสอนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ
  • กิจกรรมเสริมหลักสูตร เสริมศักยภาพแก่นิสิต
  • บริการวิชาการและกิจกรรมชุมชน

ในการแลกเปลี่ยนนี้ นิสิตยังได้นำเสนอโครงการ ปั้นกาวน์ให้เข้าใจดิน ปี 5 เทอม 2 ซึ่งทำในช่วงปิดเทอม เดือนตุลาลม) มีเป้าหมายเพื่อการเข้าเรียนรู้วิถีชีวิตในชุมชนชนบทในภาคอีสาน และเน้นเรื่องการเรียนรู้ มากกว่าการอบรมหรือให้กิจกรรมแทรกสอด (intervention) ดังนั้นเพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้วิถีชีวิต และให้การดูแลสุขภาพในชุมชนภาควิชาจึงกำหนดให้นิสิตทำกิจกรรมในชุมชน (นอนที่บ้านพ่อแม่ฮัก) 7-10 วัน เพื่อให้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนผ่านการทำงานร่วมกับชุมชน ได้แก่ ทำความสะอาดหมู่บ้าน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ การสำรวจชุมชน และการใช้ยา พฤติกรรมการใช้ยา ความเชื่อ ทัศนคติของชุมชน ร่วมกันวิเคราะห์ชุมชน เพื่อการพัฒนาร่วมกับชุมชน โดยการเปิดเวทีชุมชนให้ชมชนได้ทราบสถานการณ์ และให้ความรู้เรื่องยา อย่างเช่น กรณีในชุมชนนี้มีรถเข้ามาเร่ขายยา และโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งนิสิต ได้ให้ความรู้และจัดกิจกรรมการรณรงค์ไม่ซื้อยาจากรถเร่ในชุมชนหลังจากที่ได้ร่วมกับชุมชนสรุปปัญหาแล้ว และการตั้งจุดตรวจคัดกรองโรคควบคู้กับความรู้ทางวิชาการ และงานบริการสู่ชุมชน  โดยหลังจากกลับจากลงพื้นที่แล้วยังการกลับไปเยี่ยมชุมชน ช่วยงานครอบครัวพ่อฮักแม่ฮักด้วยความอิ่มใจ ซึ่งก่อให้เกิดสัมพันธ์อันดีระหว่างครอบครัวกับนิสิตและนิสิตยังสามารถให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวในเรื่องสุขภาพได้

 

ข้อเสนอแนะ

1)      การรณรงค์เรื่องรถเร่นั้น นิสิตได้คำนึงถึงบริบท ที่ตั้งและวิถีชีวิตที่แท้จริงของชุมชนหรือไม่

2)      การให้ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพชุมชนของนิสิตนั้นได้สร้างทางเลือกในการสร้างเสริมสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชนหรือไม่

3)      การทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนของนิสิตนั้น นิสิตมีเพียงบทบาทเป็นผู้ให้ความรู้แก่ชุมชนหรือ

 

5) การนำเสนอประสบการณ์การเรียนการสอนด้านการสร้างเสริมสุขภาพของ คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่

          ในรายวิชาทันตกรรมชุมชนเบื้องต้น หลักการเบื้องต้นในการเข้าใจชีวิต สังคมและสุขภาพในทัศนะของชุมชน เข้าใจแนวคิดการเจ็บป่วยท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการเปลี่ยนแปลงภายใต้โลกาภิวัตน์ นักศึกษาเป็นผู้เลือกหัวข้อที่ตนเองสนใจ โดย อาจารย์เป็น Facilitator อาจารย์หนึ่งคนต่อนักศึกษา 8-10 คน เน้นแนวคิด Empowerment Participation ตัวอย่างหัวข้อที่นิสิตสนใจ เช่น แรงงานข้ามชาติชาวเขาขายของที่ไนท์บาร์ซ่าร์ ครูข้างถนน คนเลี้ยงสุนัขข้างถนน คนขายนกขายปลาในวัดเพื่อให้คนทำบุญ

          การเสนอประสบการณ์ฝึกปฏิบัติของ นทพ. ชั้นปีที่ 5  ซึ่งศึกษาและทำโครงการพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ โครงการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุ หมู่ 4  ต.เจดีย์แม่ครัว อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาเรื่องใดก็ได้ยกเว้นเรื่องสุขภาพช่องปาก ซึ่งเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายในการร่วมค้นหาปัญหาและความต้องการของตนเองออกมาพร้อมค้นหาวิธีการทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมายได้ ทำให้โครงการสร้างเสริมสุขภาพชุมชนในกลุ่มผู้สูงอายุนั้นมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และสามารถสร้างการเรียนรู้ร่วมกันได้

     นทพ. ปีที่ 6 ในขณะฝึกภาคปฏิบัติเป็นเวลา 6 สัปดาห์ในโรงพยาบาลชุมชน อ.ภูกระดึง จ.เลย และศึกษาวิเคราะห์ชุมชนทุ่งใหญ่ซึ่งจากการสำรวจและศึกษาชุมชนแล้วนิสิตได้ศึกษาในประเด็นบทบาทของยาสูบต่อชีวิตชุมชน โดยนำเสนอผ่านตัวละครชาวบ้าน 4 คนที่เกี่ยวข้องกับการทำยาสูบในบทบาทต่างๆ ไดแก่ เจ้าของที่ดิน ผู้ใช้แรงงานและผู้ที่เคยปลูกแต่เลิกแล้ว ซึ่งได้เรียนรู้ว่า การศึกษาเรื่องยาสูบทำให้มองเห็นมิติของชีวิต ชีวิตแต่ละคน มีเงื่อนไขต่างกัน ซึ่งภายใต้ความเชื่อมั่นในศักยภาพของอาจารย์หลังจากมอบหมายงานแล้วนิสิตได้กำหนดสิ่งที่ตนเองต้องการจะเรียนรู้และเรียนรู้โดยมีส่วนร่วมเอาตนเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ทำให้นิสิตได้เข้าใจและเข้าถึงชุมชน เป็นการฝึกภาคปฏิบัติที่นอกเหนือจะได้ทดลองทำงานทันตกรรมอันเป็นภารกิจหลักของบัณฑิตทันตแพทย์แล้วยังได้ฝึกการเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับผู้อื่นภายใต้เหตุผลความจำเป็นของแต่ละคนซึ่งเป็นประเด็นที่สาขาวิชาด้านสุขภาพควรจะให้ความสำคัญเพราะเป็นคุณธรรมและจริยธรรมที่จำเป็นอย่างมากต่อวิชาชีพแพทย์

 ข้อเสนอแนะ

1)      เป็นเรื่องท้าทายมากที่คณะทันตแพทย์กำหนดให้ นทพ. ศึกษาและทำโครงการสร้างเสริมสุขภาพ ในประเด็นนอกเหนือจากสุขภาพช่องปาก

2)      ได้ฝึกบัณฑิตทันตแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์

3)      นิสิตได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตไปตามสิ่งที่ได้รับรู้ ความเข้าใจ การเข้าถึงแบบที่ไม่ต้องไม่ใช้มุมมองตามวิชาชีพของตน

4)      ชื่นชมบทบาทในการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้โดยอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมชุมชน

5)      ชื่นชมนิสิตทันตแพทย์ที่ใช้เวลาและความทุ่มเทในการทำงานและความคิดนอกกรอบเรื่องช่องปาก

 

6) การนำเสนอประสบการณ์การเรียนการสอนด้านการสร้างเสริมสุขภาพของ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เป็นการนำเสนอหลักสูตร และความเป็นมาของการจัดตั้งคณะแพยศาสตร์ ม.มหาสารคาม ในปี 2549 โดยมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ การเรียนในหลักสูตร กิจกรรมนอกหลักสูตร การให้บริการในสถานบริการสุขภาพ การให้บริการแก่บุคลากรในคณะแพทย์ การสร้างเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัย งานเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ งานวิจัยของนิสิต โดยกิจกรรมที่ดำเนินงานทั้งหมดอยู่ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่องสุขภาวะองค์รวม คือ การทำงานสร้างเสริมสุขภาพของคณะแพทยศาสตร์ทุกอย่างจะต้องคำนึงถึงความครอบคลุมในประเด็นสุขภาพทั้ง 4 มิติ ทุกครั้ง

การนำเสนอกิจกรรมของนิสิต มีการจัดกิจกรรม จิตอาสา หลายรูปแบบ เช่น การตรวจสุขภาพนักเรียน ตรวจสุขภาพนิสิตต่างคณะ หยอดวัคซีนโปลิโอ ร่วมรณรงค์ต้านไข้หวัด 2009 ตรวจสุขภาพผู้ต้องขัง เป็นต้น

          ข้อเสนอแนะ

1)      แม้เป็นหลักสูตรใหม่ มีบุคลากรน้อยแต่ก็มีความสามารถและความพยายามในการจัดหลักสูตรและผลิตบัณฑิตที่มีแนวคิดสร้างเสริมสุขภาพ

2)      การสร้างเครือข่ายสหวิชาชีในมหาวิทยาลัยยังมีน้อย

3)      หลักสูตรแพทย์แผนไทยประยุกต์ควรไม่ละเลยตัวตนและเอกลักษณ์ของไทยมากกว่าการยอมรับปรับตามแนวคิดตะวันตก

 

-------------------------------------------

 

 

 สรุปประเด็น โดยนางสาวณาตยา  สีหานาม

ตรวจทานโดย ผศ. ทพ. ดร. จรินทร์  ปภังกรกิจ

หมายเลขบันทึก: 359310เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 12:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 12:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท