AAR : ฝึกเด็กให้มี "นิสัย"


ช่วงสามถึงสี่วันก่อนหลังจากที่กลับมาจากการเดินขึ้นดอยอินทนนท์ มีผู้ปกครองของเด็กชายบอสซึ่งเป็นเด็กอายุน้อยที่สุดที่ร่วมเดินในครั้งครั้นคือ ๘ ขวบ มาเล่าให้ฟังถึงการเปลี่ยนแปลงไปของลูกชายว่า

"ลูกชายดีมากค่ะ กลับไปบ้านล้างห้องน้ำด้วย"

คุณแม่ของเด็กชายบอสได้ฝากเด็กชายบอสมาให้อยู่กับพวกเราเป็นเวลาเดือนกว่า ๆ มาอยู่นี้ก็ทำข้อวัตร ปฏิบัติ ตื่นตีห้า ทำความสะอาด กินอาหารมื้อเดียว ต้องทำงานในช่วงกลางวัน ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกับกลุ่ม "ต้นกล้าคุณธรรม"

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เคยให้หลักการในการเลี้ยงลูกในช่วง ๘-๑๕ ปีไว้ว่า "ต้องเลี้ยงอย่างทาส" และช่วงที่มาอยู่ที่นี้เราก็ไม่ปราณีปราสัยว่าจะเหนื่อย หรือจะหนัก เพราะช่วงเวลานี้จะต้องสร้างนิสัยให้เขา นิสัยดี ๆ นิสัยที่จะต้อง "สู้ชีวิต"

หลังจากการเคี่ยวกรำอยู่เป็นเวลาแรมเดือน ในวันนี้ถึงเวลาเปิดเทอม เวลาที่ต้องกลับบ้าน เด็กชายบอสได้ติดนิสัยดี ๆ กลับไปที่บ้านแล้ว

นิสัยดี ๆ ที่ไม่กลัวการทำความดี นิสัยดี ๆ ที่ทำงานต่าง ๆ ด้วยความ "เสียสละ"

เด็กหลาย ๆ คนอาจจะขยะแขยง รังเกียจว่าการล้างห้องน้ำเป็น "งานชั้นต่ำ" สกปรก

เด็กหลาย ๆ คนถูกพ่อแม่ยกย่องเชิดชูไว้ในตำแหน่ง "คุณหนู" ซึ่งแน่นอนว่านิสัยคุณหนูจะติดตัวและอยู่คู่กับเขาไปชั่วนิรันดร์

มีเด็กหลาย ๆ คนที่เราเคยเจอ กลับไปบ้านใหม่ ๆ ก็เป็นแบบเด็กชายบอสนี้แหละ ขยัน กวาดบ้าน ล้างห้องน้ำ กราบพ่อ กราบแม่ทุกวัน แต่พอนาน ๆ ไปก็เริ่มจาง เริ่มหาย

สาเหตุที่จาง ที่หาย ไม่ได้อยู่ที่ใคร อยู่ที่พอแม่นั้นเอง

เพราะพ่อแม่บางคน กลัวลูกลำบาก กลัวลูกเหนื่อย ไปห้ามลูกว่าอย่าทำเลย ไม่ต้องทำหรอก หรือก็บอกว่า "เดี๋ยวแม่ทำเอง" หรือบางครั้งคนในครอบครัว "แซวเด็ก" ใช้คำพูดทำให้เด็กอาย

การจุดประกายเป็นสิ่งที่เราทำให้เด็กได้ แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือการทะนุถนอมประกายไฟที่ติดแล้วนั้นให้ลุกโชติช่วงสว่างอยู่

พ่อแม่หรือผู้ปกครองต้องใจแข็ง ใช้แรงงานเด็กในช่วง ๘-๑๕ ปีเยี่ยงทาสแบบนั้น ใช้ด้วยความรัก อันเป็น "รักแท้" ให้โอกาสเขาทำในวันนี้เพื่ออนาคตที่ดีของเขาในวันหน้า

ต้องอดทนดูลูกลำบาก ต้องทนให้ได้เมื่อลูกต้องตรากตรำ ถ้าพ่อและแม่กล้าให้ลูกใฝ่ร้อนอนาคตข้างหน้าของลูกจะนอนเย็น

พ่อแม่นอกจากมีความเมตตา กรุณา และมุทิตตาแล้ว ยังจะต้องวาง "อุเบกขา" ให้ถูกต้อง ถูกเรื่อง

ตอนที่เด็กชายบอสมาอยู่ที่นี่น้ำหนักลดลงไปเป็นสิบกิโล พุงหายไปเยอะ ดีนะที่แม่เด็กชายบอสอดทนดูลูกผอมได้ เพราะแม่หลายคนอาจจะทนดูลูกน้ำหนักลดหรือผอมไม่ได้จนบางครั้งต้องเลี้ยงตัวกลับไป "ขุน" เหมือนเดิม

เรื่องการฝึกให้ลูกลำบากนี้จะต้องรู้จัก "อุเบกขา" สร้างโจทย์และอดทนดูความลำบากของลูกให้ได้

ลูกลำบากวันนี้เพื่อสร้างเขาให้เกิดมีความแข็งแกร่งในวันหน้า

นักกีฬาที่ประสบความสำเร็จเขาจะต้องลงทุนด้วยแรงกายและแรงกายไปก่อนฉันใด ลูกที่จะมีความแข็งแกร่งทั้งกายและจิตใจในอนาคตได้วันนี้ก็ต้องเลี้ยงเยี่ยงทาสฉันนั้น

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 359063เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 07:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดี ครับ อาจารย์ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

แวะมาหาอาหารสมองจานเช้า...เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์ เขียนให้อ่าน

บางครั้งก็ตามใจตัวเอง ขาดความตั้งมั่น

บันทึกนี้ อ่านแล้ว ได้แนวทางปฎิบัติมาก ๆ ครับ

..

ขอบพระคุณ ครับ

สวัสดีตอนเช้าครับ

บางครั้งพ่อแม่หรือผู้ปกครองใจอ่อน ทนเห็นลูกลำบากไม่ได้ ปิดเทอมนี้มีเด็ก ๆ หลาย ๆ คนมาอยู่ที่นี่ มายืมมือพวกเราฝึกให้ เพราะพวกเรา "ใจแข็ง"

การฝึกเด็กก็เหมือนกับการตีเหล็ก ต้องเผา ต้องทุบ ต้องตีแล้ว ตีอีกกว่าจะได้มีดดาบที่สวยและคมสักด้าม

ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก ผมเชื่อว่าวันนี้เด็กชายบอสและเพื่อน ๆ ที่ครั้งหนึ่งได้มีชีวิตอยู่ที่นี้ไม่ว่าจะเป็นช่วงสั้น ๆ หนึ่งสัปดาห์ หนึ่งเดือน หรือหลายเดือน จะมีนิสัยที่ดี ๆ ติดตัวไป

ความแข็งแกร่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วในจิตใจ ในอนาคตเด็กย่อมนำเอานิสัยแห่งความแข็งแกร่งนี้ใช้ได้ตลอดไป...

ชื่นชมนะครับ กับแนวคิดที่เยี่ยมยอด

ขอบคุณมากนะครับ..

เด็กนิสัยดีจะทำดี เด็กนิสัยเลวจะทำเลว

เด็กที่มีนิสัยเพราะถูกฝึกมาดี ได้ประสบพบเจอกับสิ่งดี ได้อยู่ในสังคมที่ดีและที่สำคัญที่สุดคือการมีกัลยาณมิตรที่ดี

คนเราเดี๋ยวนี้หาโรงเรียนที่ดีที่แท้จริงยาก โรงเรียนที่ดีคือโรงเรียนที่ไม่หาผลประโยชน์กับเด็ก ไม่ใช่เด็กมาเป็นเครื่องมือมาเสริมเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือฐานะให้กับตนเอง

ถ้าหากโรงเรียนใดไม่เห็นแก่ตัวแล้ว โรงเรียนนั้นจะฝึกเด็กให้เป็นคนดีได้

แต่ถ้าหากโรงเรียนใดยังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ โรงเรียนนั้นจะฝึกได้ก็แต่เพียงสร้างความเห็นแก่ตัวให้เพิ่มขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท