๑๑๐..สัญญาณ...ชีวิตบ้านเรา


ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แทบจะไม่มี เย็นลงต่างก็ต้องรีบปิดประตูบ้าน ตะวันสายถึงจะเปิดประตู มีงานบุญก็ต้องเลิกห้าโมงเย็น ใครหนอช่างทำกับบ้านเราได้

 

          “ ปู้นนนนนนนนนนนนนนน”

           เสียงหวูดรถไฟยาวมากดังขึ้นเป็นสัญญาณบอกให้ผู้โดยสารทราบว่าอีกไม่กี่อึดใจจะถึงสถานีข้างหน้าละนะ ท่านผู้ใดต้องการลงสถานีนี้โปรดเตรียมตัวจัดสัมภาระให้เรียบร้อย

           ผมจึงขยับตัวเล็กน้อยมองออกไปนอกหน้าต่างโบกี้รถไฟ ก่อนหันไปยิ้มกับคุณป้าที่นั่งตรงกันข้ามและเป็นเพื่อนร่วมเดินทางตลอดคืนที่ผ่านมา

          ผมนั่งคุยกับคุณป้าถามท่านว่าไปลงสถานีไหน ท่านก็บอกว่าไปลงสถานียะลา ผมก็บอกว่าผมไปลงที่สถานีปัตตานี ท่านก็บอกว่าถึงก่อนสถานียะลา

         คุยสอบถามถึงความเป็นอยู่ท่านก็บอกว่าอยู่ในตัวเมือง เดิมประกอบอาชีพเป็นครูโรงเรียนอนุบาล เกษียณมาห้าปีแล้ว

         ผมจึงถึงบางอ้อเพราะดูหน้าตาท่านอิ่มเอิบมากอายุดูประมาณห้าสิบต้น ๆ  ท่านคงเป็นคนใจดีสอนเด็กเล็ก ๆ หน้าตาจึงไม่บ่งบอกถึงริ้วรอยสูงอายุ

 

     

       รถไฟค่อย ๆ จอดจนสนิทเทียบชานชาลาสถานีรถไฟปัตตานี ผมกล่าวลาและสวัสดีคุณป้า ก่อนเดินตามผู้คนที่ต่างพากันรีบเร่งลงจากรถหิ้วสัมภาระ ดูโกลาหลสำเนียงใต้ที่ส่งเสียงสอบถามดังขรมไปหมด

       ผมฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างเพราะมีสำเนียงมลายูปนอยู่ในบางประโยค

 

   

       สถานีรถไฟปัตตานีเดิมชื่อสถานีรถไฟโคกโพธิ์ หากใครเดินทางมาปัตตานีโดยรถไฟจะต้องมาลงที่สถานีนี้

       ต่อมาได้มีการเปลี่ยนเป็นสถานีรถไฟปัตตานี เพื่อไม่ให้สับสนในการเดินทาง

       แต่ผู้คนที่เคยเดินทางมาโคกโพธิ์ก็สับสนกันไปช่วงหนึ่งเพราะถึงสถานีแล้วไม่ยอมลงจากรถ เพราะดูชื่อแล้วไม่ใช่สถานีรถไฟโคกโพธิ์

 

 

          ผมลงมาโคกโพธิ์เที่ยวนี้เพราะนัดกับพี่ทองไว้ว่าจะมาเจอกันเพื่อเที่ยวงานเดือนสิบเอ็ด ซึ่งพี่ทองลาพักร้อนลงมาเยี่ยมบ้านพอดี

          เมื่อผมขนสัมภาระลงมายืนบนพื้นชานชาลา ก็เห็นพี่ทองเดินยิ้มมาแต่ไกล

          หลังจากได้ทักทายกันพี่ทองก็ให้รีบเดินทางไปบ้านก่อนฝนจะตกเพราะเห็นตั้งเค้ามาแต่ไกล

          พี่ทองพาผมเดินเลียบริมทางรถไฟ มองไปทางขวามือจะมีทิวเขาสันกาลาคีรี ทอดตัวเป็นแนวยาวสุดสายตา ระยะทางประมาณสองร้อยเมตรก็ถึงบ้าน

 

        

 

          บ้านหลังนี้พ่อและแม่ได้สร้างไว้ก่อนที่จะเสียชีวิตไปเมื่อประมาณสิบปีก่อน จึงเหลือเฉพาะน้องสาวพี่ทองอาศัยอยู่

          บ้านหลังนี้รื้อถอนบ้านเดิมซึ่งเป็นบ้านไม้ออก แล้วสร้างใหม่เป็นบ้านอิฐถือปูน

          พี่ทองเล่าให้ฟังว่าชีวิตของคนที่นี่ เช้าขึ้นมาสัญญาณชีวิตจะเริ่มต้นด้วยเสียงไก่ขันที่คอยบอกเวลาในแต่ละโมงยาม

 

 

          หากไม่เจอไก่เพี้ยนที่นอนละเมอ โก่งคอขันทั้งตายังหลับจนตกต้นไม้ รับรองไม่ตื่นสายแน่ ๆ

          ทุกวันแม่และชาวบ้านในย่านนี้จะตื่นเช้า   เข้าครัวเตรียมเตา เพื่อหุงข้าวใส่บาตรหลวงตาวัดศรีมหาโพธิ์หรือวัดใหม่ ซึ่งอยู่ไม่ห่างบ้านนัก

 

 

          หลวงพ่อแดงหรือตาหลวงแดง ท่านนำลูกวัดออกเดินบิณฑบาตโปรดสัตว์ตั้งแต่เริ่มสว่างทุกวันนับได้หลายกิโลเมตร คงเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ท่านจึงดูแข็งแรง

 

 หลวงพ่อแดง สุนทโร วัดศรีมหาโพธิ์  ปัตตานี

 

          ตาหลวงแดงท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ของพี่ทอง และท่านได้ถึงแก่มรณภาพไปหลายปีแล้ว ท่านละสังขารเมื่ออายุ ๙๖ ปี 

          แต่พี่ทองบอกว่ามีพระจากวัดบุราณประดิษฐ์หรือวัดบู ซึ่งอยู่ห่างตลาดไปประมาณเกือบสองกิโล ก็มาบิณฑบาตรด้วยทุกวัน

          ส่วนในตลาดโคกโพธิ์ ร้านค้าจะเป็นห้องแถวเรือนไม้ทั้งสองฝั่งถนน

          ร้านค้าที่ขายขนมเช้าต่างก็เปิดร้านของตัวเองดัง ”กุงกัง กุงกัง” เพราะที่นี่ประตู จะเป็นแบบสองบาน เรียกว่า "กว้านแบบห้องแถว"  

          โดยแต่ละบานหรือชาวบ้านเรียกว่า"ดานตูหน้าถัง"   จะสูงประมาณสองเมตรครึ่ง ประกอบด้วยแผ่นไม้จำปาหนาประมาณหนึ่งนิ้ว กว้างประมาณหนึ่งฟุต

         แต่ละแผ่นผ่านการไสกบจากช่างไม้จนเรียบและมีความหนาเท่ากันทุกแผ่นทั้งสองบาน เรียบจนภาษาชาวบ้านถิ่นนี้เรียกว่า "เรียดแผ็กแผ็ก" ซึ่งหมายถึงเรียบสนิทจริง ๆ

        จากนั้นนำมาเรียงทำเป็นบานทั้งสองบาน แล้วจึงติดบานพับขนาดสามนิ้วประมาณสามจุด เพื่อบังคับให้ติดกันทุกแผ่นและพับซ้อนกันได้ แล้วติดตั้งกับข้างประตูทั้งสองข้างในตำแหน่งเดียวกัน

        ดังนั้นเมื่อเปิดประตูก็ทำการพับเก็บดานตูแต่ละแผ่นซ้อนกัน ทั้งหมดก็จะไปซ้อนรวมกันที่ข้างประตูทั้งสองด้าน เหมือนเราเก็บผ้าม่าน

 

            

 

          ส่วนด้านภายในบ้านเมื่อเวลาปิดจะมีไม้สลักสองอันเรียกว่า "ไม้หลักตู" ติดตั้งโดยแบ่งประตูออกเป็นสามส่วน

          ไม้หลักตูจะยาวจากส่วนบนของบานประตูยาวลงมาถึงด้านล่าง โดยที่ปลายของไม้หลักตูจะเลื่อยออกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้สามารถสอดปลายลงในช่องสำหรับสอดปลายไม้สลักประตู ที่ติดตั้งไว้ด้านบนเหนือบานประตู และสกัดพื้นบ้านซึ่งเป็นปูนซีเมนต์เป็นช่อง เพื่อให้สามารถสอดปลายไม้หลักตูลงไปได้

          ส่วนกลางของไม้สลักหรือไม้หลักตู จะใช้สิ่วเจาะเป็นรูปตัวแอล ( L ) เพื่อให้ปลายของไม้ขัดหรือเรียกว่า "ไม้ขัดดาน" ลงได้ และล๊อคได้แน่นหนาแม้เขย่าให้แรงขาดไหนก็ไม่หลุด

          โดยไม้ขัดดานจะมีสามอัน  แต่ละอันอิสระต่อกัน ดังนั้นเมื่อต้องการเปิดประตูเพียงช่องเดียว ก็ถอดไม้หลักตูเพียงอันเดียว ก็สามารถเข้าออกบ้านได้

          ผมได้ดูของจริงที่บ้านพี่ทองแล้วก็ทึ่งในภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นอย่างมาก

          เดิมทีชีวิตที่นี่มีทั้งผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ และนับถือศาสนาอิสลาม ที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขถ้อยทีถ้อยอาศัย แม้ว่าจะมีหลักและความเชื่อในการดำรงชีวิตที่ต่างกัน

          แต่เราก็อาศัยร่วมกันพึ่งพาอาศัยกัน อย่างเช่นคนไทยพุทธเกิดล้มลงกระดูกหักก็จะไปหาหมอกระดูกพื้นบ้านซึ่งเก่งในวิชานี้ ทำการนวดน้ำมันและต่อกระดูกให้เรียบสนิทรักษาจนหายเป็นปกติ

          แต่เมื่อชาวไทยมุสลิมเกิดลูกร้องไห้กระจองอแงทำอย่างไรก็ไม่หายทั้งที่ร่างกายปกติ ชาวบ้านว่าแม่สื้อมาคอยแกล้ง ก็ไปหาหลวงพ่อที่วัดให้ผูกข้อมือเป่าขม่อมให้ กลับบ้านนอนหลับสบายมาตั้งแต่วันนั้น

          ในเรื่องของการค้าขายต่างก็ซื้อสินค้าซึ่งกันและกันเปรียบเสมือนแลกเปลี่ยนกัน

          พี่ทองบอกว่าในตลาดโคกโพธิ์นี้มีอาหารของชาวไทยมุสลิมอร่อยตั้งหลายอย่าง เช่น นาซีดาแฮ(ข้าวราดแกง) โรตี เนื้อสะเต๊ะ นาสิกาปู(ข้าวยำ) รอเยาะ(เต้าคั่ว) ยำสายหน้ากุ้ง(ยำสาหร่าย) ราแฟ(คล้าย ๆ ขนมจีน) นาสิติเน๊ะ(ข้าวอัดราดด้วยน้ำเนื้อสะเต๊ะ) ขนมไข่ไก่ หอยแครงเสียบไม้ย่าง ไก่กอและ(ไก่ย่างราดน้ำแกง) ข้าวเหนียวก้อนคลุกมะพร้าวกินกับปลาหลังเขียว แป้งข้าวหมากหัวมัน ข้าวเหนียวสังขยา ข้าวเหนียวแดงหน้ากุ้ง

          แต่ในทุกวันนี้พี่ทองบอกว่าการดำรงแตกต่างกว่าเดิมมาก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แทบจะไม่มี

          เมื่อเลยยามบ่ายถึงช่วงเย็นต่างก็ต้องรีบปิดประตูบ้าน ตะวันสายถึงจะเปิดประตู มีงานบุญก็ต้องเลิกห้าโมงเย็นก่อนค่ำ เพราะเกรงจะเกิดอันตรายจากเหตุที่มิอาจคาดคิดขึ้นได้

         ใครหนอช่างทำกับบ้านเราได้ ทุกคนก็ได้แต่ตั้งตารอว่าวันหนึ่งจะมีสัญญาณดังไปทั้งโลกว่า "บ้านเราสงบสุขเหมือนเดิมแล้วพี่น้อง"

 

                                 ขอให้ทุกท่านโชคดี

                                       สวัสดีครับ

                                 ภัทรพล คำสุวรรณ์

 

หมายเลขบันทึก: 358246เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2010 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

หวัดดีค่ะพี่บ่าวช่างใหญ่

รอ รอ และรอ ให้ทางชายแดนใต้กลับมาคืนดังเดิมค่ะ

จนจะรอไม่ไหวแล้วค่ะ สงสัยต้องหาเรื่องไปทำงานฝั่งโน้นบ้าง ;)

ภาวนาให้สงบ ๆ เร็วๆเถิดเจ้าประคุณ จะย่างสิบขวบปี แล้ว สาธุ

สวัสดีค่ะพี่บ่าว

  • อ่านซะเพลินเลยค่ะ
  • บรรยายได้เห็นภาพ คิดว่ากำลังอ่านเรื่องสั้นของนักเขียนมืออาชีพนะเนี่ย
  • ครูอิงเคยไปเที่ยวปัตตานีค่ะ  ที่ มอ.  วัดช้างไห้
  • และก็รู้สึกจะเป็นค่ายทหาร ไม่ค่อยแน่ใจ
  • และที่สำคัญเคยไปศึกษา ประเพณีชักพระ ที่ อำเภอโคกโพธิ์
  • ซึ่งเป็นงานใหญ่ เป็นที่ชุมนุมของเรือพระ
  • ขอบคุณค่ะที่นำมาแบ่งปัน

ปล. พี่บ่าวโร้หม้าย  มีครูคณะหนึ่งโดนให้ไปอบรมที่ โรงแรมวีว่า สงขลา เค้ามาคุยแบบโวยวาย  ว่าไม่อยากไปเลย  กลัวระเบิด  และก็แซวกันว่า  จะไปแล้วไปลับหรือเปล่าเนี่ยจนครูอิงต้องอธิบายให้เขาฟังว่าเรื่องราวมันไม่น่ากลัวอย่างที่คิดหรอก

  • มาเรียนรู้วิถีชีวิตของฝั่งหนึ่งของประเทศไทยค่ะ
  • เป็นวิถีที่น่าศึกษาโดยเฉพาะภูมิปัญญาชาวบ้านของที่นี่
  • อ่านแล้วก็เพลิดเพลินดีค่ะ ได้สาระและความบันเทิงในหัวใจ
  • ขอบพระคุณที่นำเรื่องดีดีมาแบ่งปันนะคะ.

 

สวัสดีน้องปูเหอ

        นั่นแหล้น้องปูตั้งแต่ปีสี่ห้านู๋ นี่แค่สิบปีแล้วแหละ ไม่โร้ต่อไดอีหงบที ช้าวบ้านอิได้นอนตาหลับ....ก็ไปลองแลตะบูดูของแท้หรอยนิ

                                                 โชคดีนะน้อง

หวัดดีน้องสาวอิงจันทร์

         เรื่องเรือพระก็เคยเขียนแต่ไม่ละเอียดมากนักครับ ว่าอิเขียนใหม่ ถ้าไม่เขียนไว้มั้งก็ลืม ๆ กันเหม็ดนะครับ ค่ายทหารครับ ชื่อค่ายอิงคยุทธ ครับ พี่บ่าวเคยอยู่ที่นี่ประมาณปี๒๕๐๔-๒๕๐๕เพราะพ่อเป็นตำรวจ ตอนหลังเขาเปลียนกลับเป็นค่ายทหารเหมือนเดิม วัดช้างให้ก็อยู่ในอำเภอโคกโพธิ์ครับ

                                                โชคดีน้องสาว

สวัสดีครับครูแป๋ม

         ขอบคุณที่มาเยี่ยมบันทึก ก็พยายามเขียนให้สอดแทรกภูมิปัญญาลงไปเล็กน้อยครับ ลองลงไปเที่ยวทางใต้ก็จะดีนะครับมีอะไรที่แตกต่างจากโคราชเยอะครับ

                                                                 โชคดีครับ

สวัสดีท่าน นายช่างใหญ่ครับ

แวะมาเยี่ยมครับ...

สวัสดีครับคุณพรพล

ยินดีครับผม

โชคดีครับ

 

ผมชอบดูหัวรถจักรไอน้ำ

ชอบฟังเสียงหวูดรถไฟ ชอบเสียงเครื่องจักรล้อเวลามันวิ่ง

คุณพ่อผมและชาวบ้านเอาปี๊บเปล่าไปรองน้ำร้อนจากหัวรถจักร เวลารถเข้าสถานีครับ

สวัสดีครับคุณสันติ

       ผมก็ทันหัวรถจักไอน้ำครับ ยังนึกภาพออกว่าหัวรถจักรมีกองไม้ฟืนอยู่ที่ตอนท้ายของหัวรถ มีเตาไฟที่ร้อนจัด ควันดำ เสียงแตรดังลั่นยามออกจากสถานีหรือก่อนเข้าสถานี หากวิ่งในยามกลางคืนจะมองเห็นดอกไฟสีแดงพ่นออกปนมากับกลุ่มควันจากเตาเผา และที่สถานีเทพามีที่เติมน้ำเป็นหอคอยเหล็กสูงใหญ่ทาสีดำ ยังจำติดตาครับ

                                                              โชคดีครับ

ไปถึงหาดใหญ่ตอน 2 ทุ่ม

พากันเข้าโรงแรมทันที ข้างนอกก็ดูเงียบจัง

ไม่รู้ว่าคิดมากเกินไปรึเปล่าคะ

สวัสดีครับครูนงเยาว์

        ก็ประมาณนั้นครับ ทุกคนก็ระวังตัว นอกจากที่เป็นย่านการค้าจะพลุกพล่านครับ

                                                                   โชคดีครับ

เขียนเก่งจังเลยค่ะ ..อ่านสนุก น่าติดตาม

ชอบภาพเรือนแถวเก่ามาก ได้บรรยากาศริมรถไฟดีค่ะ :-)

  • สวัสดีคะนายช่างใหญ่
  • ได้อ่านถึงเรื่องราววิถีชีวิตชาวใต้รู้สึกดีคะ เพราะประเพณีวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน
  • ขอบคุณบันทึกเรื่องราวดีๆคะ...

                      

                

 

 

สวัสดีครับคุณเบบี้

            ก็ลองเขียนดูครับ บันทึกเป็นสารคดีสั้น ๆ

            บรรยากาศบ้านเราหน้าสถานีรถไฟโคกโพธิ์หากโดยสารรถไฟครับ ถ้าจำไม่ผิดแม่บอกว่าผมเกิดที่ร้านหมอที่ห้องแถวนี้ เมื่อห้าสิบห้าปีที่แล้วครับ...อิอิ...ชราภาพแล้วจึงมีแต่เรื่องเก่า ๆ จะมีอีกปีกขนาดเดียวกันแต่โดนไฟไหม้ไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนนี้เอง

                                                               โชคดีครับน้อง

สวัสดีครับคุณพรเพ็ญ

                ปากพนังก็มีอะไรดี ๆ เยอะมากครับ...เจริญมาก่อน ผมมีเพื่อนเรียนเทคนิคภาคใต้หลายคนอยู่ปากพนัง แต่ยังไม่เคยไป 

                เราคนใต้ก็ต้องช่วยกันรักษาสืบทอดสิ่งดี ๆ ไว้ให้คู่บ้านเรานะ

                                                     โชคดีนะน้อง

สัญญาณชีวิตแต่ดึกดำบรรพ์ นึกย้อนหลัง ช่างเรียบง่ายเหลือเกินนะคะที่พี่ทอง ใช้เสียงไก่ขันเป็นสัญญาณแห่งการเริ่มต้นชีวิตของวันใหม่  เช้ามาใส่บาตร  และเชื่อถือศรัทธาหลวงพ่อ เวลาเด็กเป็นไข้ หลวงพ่อเป่ากระหม่อมให้

-อยากเห็นของจริงจังเลยนะคะ ประตู2บาน คงดึงขึ้นดึงลงเหมือนม่านหรือมู่ลี่ แต่มีไม้มาขัดแตะ กันไว้ อย่างแข็งแรง อ่านมาก็ถือว่าเป็นภูมิปัญญา อยู่หลายอย่าง

-แต่ด้วยเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ เลยทำให้สัญญาณชีวิตเปลี่ยนไปใช่ไหมคะ

-ขอให้พบสัญญาณที่บ่งบอกแห่งความสงบสุขซักครั้งเถอะนะคะ

-นายช่างใหญ่ เขียนบันทึก เล่าเรื่องได้ดีมากมาก มองเห็นภาพได้คะ

-ขอบคุณสิ่งดีดี ที่นำมาเขียนเรื่องราวสัญญาณชีวิตที่ทุกคนยังรอคอยที่จะพบสิ่งใหม่ดีดีอีก

แวะมาทักทายครับ จะมานราธิวาส ปลายเดือนนี้ครับ

สวัสดีค่ะ

ขอขอบคุณที่ได้อ่านเรื่องเล่าอีกครั้งค่ะ

ในปัจจุบันทุกพื้นที่แล้วนะคะ ที่การดำรงแตกต่างกว่าเดิมมาก ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แทบจะไม่มี

ขาดความสงบร่มเย็นลงไปมากค่ะ

กุงกัง กุงกัง” เพราะที่นี่ประตูจะเป็นแบบสองบาน แต่ละบานจะจะสูงประมาณสองเมตรครึ่ง ประกอบด้วยแผ่นไม้ติดบานพับประมาณสามจุดเมื่อพับแล้วก็ดึงไปเก็บเหมือนเราเก็บผ้าม่าน

สวัสดีครับนายช่างใหญ่ หน้าถังตูไม้ เกือบหมดไปจากบ้านท้องถิ่นไทย

บ้านที่ปลูกแบบนี้เขาเรียก กว้านแบบห้องแถว ใช้ดานตูหน้าถัง ส่วนมากใช้ไม้จำปาทำดานตู การเข้าไม้ทำได้เรียดแผ็กๆ หวางนี้เห็นแตหน้าถังตูเหล็ก

บางบ้านยอมแลกหน้าถังจำปา มาทำตูเหล็ก.........เสียดายครับ

สวัสดีครับคุณสุ

           ขอบคุณที่มาเยี่ยมบันทึก...ข้อมูลต่าง ๆ ก็ต้องคอยศึกษาสอบถามจากผู้รู้มาประกอบครับ และจะทยอยเขียนให้อ่านเรื่อย ๆครับ

                                                     โชคดีครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์JJ

             ชาวบ้านที่นั่นเขาดำรงชีพตามปรกติครับ เราไปคงไม่มีปัญหา

                                                             โชคดีปลอดภัยครับ

สวัสดีครับครูคิม

              ยุ่งงานไทยเข้มแข็งไปปีกว่า ตอนนี้พอมีเวลาบ้างแล้วครับ

              ไม่นานบ้านเราคงกลับที่เดิมได้...หลังจากเสียศูนย์ไปนานวัน..ครับ

                                                          โชคดีครับ

สวัสดีครับบังหีม

            ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่ได้อนุเคราะห์กันมาโดยตลอดครับผม

                                                     โชคดีครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท