เยาวชนกับการเมือง


ยุวชนประชาธิปไตย การเมืองทั้งในและนอกระบบรัฐสภา

 

 

 

เยาวชนกับการเมือง

               เมื่อวานก่อน(9 พฤษภาคม 2553) ผมได้รับเชิญจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แนราษฎร ให้ไปอภิปรายเรื่อง "เยาวชนกับการเมือง"แก่ผู้นำเยาวชนจากทั่วประเทศจำนวน 300 คนฟัง จึงขอถือโอกาสนี้สรุปความโดยย่อมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

               1.การเมืองในทัศนะผมมีอยู่สองรูปแบบคือการเมืองในระบบรัฐสภาหมายรวมถึงการเมืองท้องถิ่นด้วย ซึ่งถือเป็นการเมืองทางอ้อมที่ประชาชนใช้สิทธิผ่านผู้แทนในระบต่างๆ  ส่วนอีกรูปแบบคือการเมืองนอกระบบรัฐสภา ได้แก่การรวมกลุ่มเรียกร้อง การประท้วงในลักษณะต่างๆ ซึ่งถือเป็นการเมืองทางตรงที่ประชาชนใช้สิทธิร้องเรียนและเรียกร้อง ต่อรองถึงฝ่ายบริหารโดยตรง

               2.เยาวชนมีโอกาสเรียนรู้และเห็นรูปแบบทางการเมืองได้มาก ทั้งจากสถานการณ์จริงในปัจจุบันและจากสื่อสารมวลชน สื่ออีเลคโทรนิคมากมาย สิ่งสำคัญที่เยาวชนต้องตระหนักคือการกลั่นกรอง คิดใคร่ครวญให้มากในสาระที่ได้รับรู้ว่า "อะไรจริง อะไรเท็จ"และไม่ควรเลียนแบบอย่างที่ไม่ดีในสภา เช่นการใช้ถ้อยคำหยาบคายและแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง การไม่รับผิดชอบในหน้าที่ของการเป็นผู้แทนฯ ส่วนการเมืองนอกระบบนั้น ให้พิจารณาว่าลักษณะใดที่เราไม่ชอบ ก็จดจำไว้เพื่อจะได้ไม่ประพฤติเช่นนั้น เช่นปิดถนน ปิดสนามบิน ปิดสถานที่ราชการจนผู้คนเดือดร้อนไปทั่ว ตรวจค้นผู้คนทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจ ข่มขู่หรือทำร้ายผู้อื่นที่ไม่เห็นด้วยกับตน ฯลฯ

              3.สำหรับความหมายของคำว่า "การเมือง"นั้น ผมให้คำจำกัดความโดยย่อว่าหมายถึงการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ดังนั้นการเมืองจึงเป็นเรื่องสะอาดและเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีงาม ยั่งยืน แต่น่าเสียใจที่การเมืองบ้านเราย่ำแย่และสกปรกด้วยการเล่นการเมืองเพื่อผลประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง การคอรัปชั่นจึงมีมากมายในทุกระดับ เยาวชนที่จะก้าวเข้าไปสู่การเมืองในระบบ จึงต้องตั้งใจมั่นและก้าวให้พ้นความเลวร้ายเห็นแก่ตัวเหล่านี้ให้ได้

              4.เมื่อ "การเมือง"หมายถึงการมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง บทบาทของเยาวชนกับการเมือง จึงเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่การดูแลตนเองไม่ให้ละเมิดคนอื่น ไม่เป็นทาสของอบายมุขต่างๆ เพื่อไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น รับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเต็มที่หรือยัง  จากนั้นก็พิจารณาต่อไปว่าเรานั้นทำอะไรที่ดีต่อบุคคลในครอบครัวบ้าง กตัญญูต่อพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่และครูอาจารย์หรือเปล่า ถัดมาให้ใคร่ครวญว่าเรานั้นทำประโยชน์ต่อโรงเรียน ชุมชนและสังคมเพียงใด วิถีชีวิตเบื้องต้นเช่นนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการเมืองที่ดี ก่อนจะก้าวไปสู่การมีบทบาทใดบทบาทหนึ่งในการมีส่วนร่วมจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึงต่อไป

              5.ตัวอย่างของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในระบบคือใช้สิทธิเลือกตั้ง สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย สิทธิถอดถอนนักการเมือง(เมื่ออายุถึงเกณฑ์กำหนด) สำหรับนอกระบบคือรวมกลุ่มดูแลชุมชน สังคมในด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ตัวอย่างเหล่านี้เยาวชนจะมีแรงผลักดันให้อดทนและยึดมั่นในสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต่อเมื่อเข้าใจว่าเราเป็นและมีเช่นทุกวันนี้ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่ช่วยตัวเองไม่ได้มาตั้งแต่เกิด เราจึงต้องมีผู้อื่นดูแลเรื่อยมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ จนคลอดและเติบใหญ่มาได้ถึงทุกวันนี้  เรา "รับมาตลอด"หากเราคิดเช่นนี้ได้ เราจะเข้าใจและเรียนรู้ที่จะ "ให้"กลับคืนสู่สังคม

              บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว สรุปโดยสังเขปก็มีแต่เพียงเท่านี้..............นี้

 

 

หมายเลขบันทึก: 357576เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2010 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ศีลธรรมของยุวชน คือสันติภาพของโลก

http://www.pobbuddha.com/dontridhamma/music.php?m_refer=tan

ธรรมะจัดสรร ชวนกันสู่ปัจจุบันขณะครับ

ขอบคุณครับ คุณครู

สวัสดีค่ะ อ่านแล้วอิ่มเอมด้วยความหวังดีๆ ค่ะ

การมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและทั่วถึง ดังนั้นการเมืองจึงเป็นเรื่องสะอาดและเป็นไปเพื่อประโยชน์ที่ดีงาม ยั่งยืน

การเมืองที่ใสสะอาด เริ่มจากจิตใจอันใสสะอาด ขอบคุณค่ะ

อ.นุ ครับ คุณ poo ครับ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ ผมตอบรับความเห็นช้าไปมาก ต้องขออภัยนะครับ ขอบคุณสำหรับความเห็นเพิ่มเติมครับ ผมเห็นด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท