ชีวิตเยาวชน ต้องมองไปข้างหน้า


ชีวิตทีมีสุขกับธรรมชาติ

ชีวิตเยาวชน..ต้องมองไปข้างหน้า

              ในโอกาสได้ไปทำหน้าที่เป็นองค์ปาฐกให้ข้อคิดแก่ผู้นำเยาวชนจากทั่วประเทศหลายต่อหลายกลุ่ม รวมกว่า 200 ชีวิตที่กระทรวงพัฒนาสังคมฯเป็นแกนหลักร่วมกับคณะทำงานด้านเด็กดำเนินการขึ้นนั้น  ผมได้เล่าเรื่องราวหลากหลายจากประสบการณ์ตรงที่ได้ทำงาน ได้ไปพบเห็นและได้ศึกษาค้นคว้า  นำมาขยายความผนวกรวมเข้ากับชีวิตความเป็นมาของผมบางช่วง มาถ่ายทอดเพื่อเป็นบทเรียนอีกบทให้แก่เยาวชนทั้งหลายได้ทราบ  จึงขอสรุปนำมาฉายซ้ำอีกครั้ง ณ ที่นี้  

             ในอดีตนั้น  ผมเคยเป็นเยาวชนที่มีพฤติกรรมค่อนไปในทาง “เกเร”  นั่นคือไม่สนใจในการศึกษาเล่าเรียน  ชอบเที่ยวเตร่ยามค่ำคืนและมีเรื่องชกต่อยกับผู้อื่นอยู่เนืองๆ  แต่ชีวิตผมก็ผ่านพ้นเอาตัวรอดพ้นจากคุกตะรางและพ้นจากยาเสพติดทั้งหลายทั้งปวงมาได้

               เหล่านี้ไม่ใช่เพราะ “โชคช่วย”  หากเนื่องด้วยผู้ใหญ่ทั้งหลาย นับเนื่องจาก “พ่อและแม่”ที่เข้าใจ หมั่นสั่งสอนและให้โอกาสในการกลับตัวกลับใจ  “ครูอาจารย์”ที่เฝ้าพร่ำเตือนให้เห็นถึงผลร้ายในการมีพฤติกรรมเช่นนั้น  รวมถึงเพื่อนพ้องกลุ่มใหญ่ที่ชักชวนให้ก้าวไปในทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น ทำให้ผมเปลี่ยนแปลงตนเองได้ใหม่ เมื่อย่างเท้าเข้าสู่สถานศึกษาใหม่ในระดับมัธยมปลาย ก็เลิกเกเรไม่เที่ยวเตร่และหมั่นเพียรเรียนรู้มากขึ้น  กระทั่งสามารถสอบเข้าเรียนได้ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                มหาวิทยาลัย ไม่ได้เพียงแต่ให้ความรู้ในสาขาวิชาครูแก่ผมเท่านั้น  แต่ได้บ่มเพาะอุดมการณ์แห่งการรับใช้สังคมขึ้นในจิตใจผมทีละน้อย  ด้วยกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและนอกรั้วมหาวิทยาลัย ที่เปิดมุมกว้างทางสังคมแท้จริงให้ได้เห็น  ภาพของคนทุกข์คนยาก ภาพของเด็กๆ ด้อยโอกาสที่ยากไร้ลำบาก กระตุกความรู้สึกและสร้างพลังใจ กลายเป็นความมุ่งมั่นให้ผมตัดสินใจก้าวเดินไปสู่เส้นทางของการทำงานรับใช้สังคมในทางใดทางหนึ่ง

                เมื่อจบการศึกษา  ผมเดินทางไปเป็น “อาสาสมัคร”ทำงานเพื่อเด็กด้อยโอกาสที่ “โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก”ซึ่งตั้งอยู่ลึกเข้าไปในป่าจังหวัดกาญจนบุรี สองปีเศษที่ได้ทำงานเป็นครูอาสาสมัครอยู่ที่นั่น ก่อนจะจากมาเป็น “ครูสอนลูกกรรมกรก่อสร้าง”ด้วยการไปขอเปิดศูนย์พัฒนาเด็กตามบ้านพักคนงานก่อสร้างหลายสิบแห่งในกรุงเทพมหานคร

               หลายปีต่อมา ผมและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันก่อตั้ง “มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก”ขึ้น เพื่อจะได้ขยายงานช่วยเหลือเด็กให้กว้างขวางเพิ่มขึ้นและเน้นการทำงานเชิงรุกเข้าถึงเด็กให้เร็วยิ่งขึ้น ทั้งการริเริ่มงาน “ครูข้างถนน”รุกไปช่วยเด็กเร่ร่อน  การเปิด “บ้านอุปถัมภ์เด็ก”สำหรับเด็กกำพร้าและด้อยโอกาส “บ้านสร้างสรรค์เด็ก”สำหรับเด็กเร่ร่อน   ผลการทำงานเหล่านี้ ต่อมาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งภายในและต่างประเทศ  ด้วยการมอบรางวัลให้  เชิญไปดูงาน  ไปเป็นวิทยากร  ขอมาศึกษาดูงานและฝึกงาน ฯลฯ

               ผลความสำเร็จต่างๆ เหล่านี้ มาจากการทำงานในเชิง “มองไปข้างหน้า”ด้วยการวิเคราะห์ให้รู้ลึกถึงอนาคตและวางแผนการทำงานให้ไกลไปถึงช่วงนั้น อีกทั้ง ต้องใฝ่เรียนรู้ ศึกษาอยู่ตลอดเวลาจากข้อเขียน หนังสือ จากผู้คนและองค์กรต่างๆ  เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานและการปฏิบัติตน

               สรุปคือต้องขยัน  สู้  อดทนและยืนหยัด

          ในช่วงหลังๆ สามสี่ปีที่ผ่านมานี้  ผมเริ่มพบตัวตนของตนเองเพิ่มมากขึ้นว่า  การใช้ชีวิตอยู่อย่างง่ายๆ กับธรรมชาติ   ลดสิ่งที่เกินจำเป็นของชีวิตลง  ร่วมไปกับการทำงานเพื่อเด็กอย่างใกล้ชิดขึ้นคือความสุขที่ยั่งยืน  (ประเด็นนี้เยาวชนคงเข้าใจยาก  อาจต้องให้พวกเขามีประสบการณ์ชีวิตเพิ่มขึ้น)   

               สำหรับช่วงท้ายของการบรรยาย  ผมได้ฝากข้อคิดให้พวกเขาตระหนักไว้ว่า “รางวัลหรือคำยกย่อง”ที่ผู้คนมีต่อเรานั้น ขอได้รับไว้ด้วยความภาคภูมิใจ  แต่ต้องมีสติรู้เท่าทันอยู่เสมอว่า  จะต้องรักษาคุณงามความดีที่กระทำและความเป็นคนธรรมดาเอาไว้ให้ได้  อย่าได้พลั้งลืมตัวไปกับการแต่เงินทอง  เกียรติยศ  ตำแหน่ง  มิเช่นนั้นแล้ว “ชีวิตจะเสื่อมเร็ว”

                              ...................... .....................

 

หมายเลขบันทึก: 356196เขียนเมื่อ 5 พฤษภาคม 2010 12:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท