จากหม่อมคึกฤทธิ์ถึงวัยรุ่น


วัยรุ่น ความคิดทันสมัย

จากหม่อมคึกฤทธิ์ถึงวัยรุ่น

                ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือของนักคิด นักเขียน นักปกครองชั้นบรมครูของเมืองไทยหลายคน หนึ่งในนั้นที่ต้องแสวงหามาอ่านให้ได้ก็คือหนังสือที่เขียนโดยอาจารย์ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช”   ที่ผมเริ่มต้นเช่นนี้เพราะในช่วงสมัยยังเด็กและย่างเข้าวัยรุ่นนั้น ผมอยู่ไกลปืนเที่ยงในท้องถิ่นห่างไกลถึงจังหวัดสุรินทร์โน่น   กว่าจะมีโอกาสได้อ่านหนังสือที่เขียนโดยอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ สักเล่ม ต้องหาทางหยิบยืมจากห้องสมุด ซึ่งก็มีน้อยเต็มที  ครั้นจะซื้อหามาอ่านและเก็บเป็นสมบัติของตนเองก็หาสตางค์มาซื้อไม่ได้  จวบเมื่อเติบใหญ่มีงานทำมีเงินเดือนใช้  หนังสือของอาจารย์หม่อมจำนวนมากมายเกือบร้อยเรื่อง  ก็เข้ามาอยู่ในตู้หนังสือของผม

              มีหนังสือเล่มหนึ่ง  ที่ผมใช้เป็น “ครู”สำหรับการทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กทั้งหลาย  ทั้งยังแนะนำให้เพื่อนๆ คนทำงานอ่านหนังสือเล่มนี้ให้ได้  รวมถึงใช้ค้นคว้าหาข้อมูล ข้อคิดเพื่อใช้อ้างอิงในการอภิปรายอยู่เนืองๆ ก็คือหนังสือที่ชื่อสั้นๆ ว่า “วัยรุ่น”

              หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์สยามรัฐตั้งแต่ปี 2523  ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงที่ผมเริ่มทำงานด้านการพัฒนาเด็กอย่างจริงจัง   จำได้ว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมพกติดย่ามไปไหนมาไหนด้วยเสมอ  พลิกอ่านแม้กระทั่งยืนโหนรถเมล์  เพราะอ่านสนุก เข้าใจง่าย  ทำให้รับรู้เหมือนได้เห็นภาพจริงว่า วัยรุ่นในประเทศค่ายเสรี เช่นอเมริกา ยุโรป ฮ่องกง  เขาคิด เขาดำรงชีวิตเช่นไร  ต่างจากวัยรุ่นประเทศค่ายคอมมิวนิสต์ เช่นรัสเซียและโปแลนด์  ตรงไหน

              ครั้นเมื่อผมมีโอกาสไปประเทศต่างๆ เหล่านั้นในหลายปีที่ผ่านมา   ถึงได้รู้ว่าอาจารย์หม่อมเขียนได้ตรง และยังทันสมัยอยู่เสมอ  เช่นเดียวกับภาพ “วัยรุ่นไทย”ที่เขียนด้วยมุมมองทันสมัยอยู่เสมอ  หากไม่เชื่อผม ลองพิจารณาถ้อยประโยคที่ผมคัดลอกบางส่วนจากหนังสือเล่มนี้มาให้ดูว่าจริงหรือไม่...

              “....ในขณะที่เป็นคนวัยรุ่นนั้น จิตใจและร่างกายกำลังเจริญเติบโตโดยรวดเร็ว เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็มักจะมีความรู้สึกรุนแรงและมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะแสดงตนให้ปรากฎ” ซึ่งก็ตรงกับวัยรุ่นปัจจุบันที่ผมพบว่ามีความอยากโชว์ อยากโก้ อยากเก่ง  นั่นเอง

              หรือ  “...ปัญหาเรื่องเด็กนั้น จะไปแก้ที่ตัวเด็ก ผมเห็นว่าเป็นปลายเหตุ มันต้องแก้ที่ผู้ใหญ่ เราจะต้องยอมรับกันเสียทีหนึ่งว่าผู้ใหญ่ของเราทุกวันนี้ที่เป็นผู้ปกครองเด็ก มีบุตรหลานออกมานั้น มีแนวโน้มไม่น้อยที่ปกครองไม่ได้..” ข้อเขียนประโยคนี้ ทำไมอาจารย์หม่อมถึงมองทะลุเห็นภาพปรากฎจริงในปัจจุบันได้ก็ไม่รู้

              หรือ “...การที่ผู้ใหญ่ทุกวันนี้ในเมืองไทยของเรา (พ.ศ.2508) ชอบตำหนิติเตียนเด็กนั้น จะเป็นการตำหนิด้วยความหวังดี หรือเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของตน  คือไม่ยอมให้เด็กมามีอำนาจเหนือกว่า ผมก็ไม่ทราบแน่เหมือนกันครับ”  ท่านผู้อ่านละ คิดเห็นอย่างไรกับประโยคนี้

              นอกจากนี้  อาจารย์หม่อมยังมีข้อเสนอที่ผมคิดว่าทันสมัยทันยุคที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดีหลายประการ  ดังนี้ “...ผมเห็นว่าทางราชการจะเข้าร่วมมือแก้ไขในสิ่งเหล่านี้แล้ว  การตั้งสมาคมของเด็กที่ไม่มีอะไรจะทำ มีทางที่จะทำในทางที่ถูก เป็นต้นว่าการกีฬาในร่มหรือกีฬากลางแจ้งก็ตามที ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ซึ่งคนวัยรุ่นจะพึงทำได้นั้น ควรจะส่งเสริมให้หนัก...”ตัวอย่างที่ดีตามข้อเสนอนี้  น่ากังวลที่หารัฐบาลใดกระทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องไม่ได้สักที

              หรือ “...ผมเห็นว่า ต้นเหตุของปัญหาวัยรุ่นนั้น จะต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่  ผู้ใหญ่ที่ห่างเหินเด็ก ก็ควรจะได้คิด หันหน้าเข้าหาเด็ก พยายามสมาคมกับเด็กให้มากขึ้น พยายามอดกลั้นความรู้สึกในใจ เป็นต้นว่าความโกรธหรือโทสะต่างๆ เด็กทำผิดอะไรมา ก็ควรจะตักเตือนด้วยความเห็นใจให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน  นี่เป็นข้อที่ผมอยากขอเสนอแนะนำ...” ประโยคนี้ขอแนะนำฝากถึงพ่อแม่ ครูอาจารย์ทุกท่านได้พิจารณาด้วยนะครับ

               เหล่านี้คือสาระน้อยนิดที่หยิบประเด็นมาจากหนังสือมากคุณค่าเล่มนี้  ผมไม่เพียงแต่แนะนำเท่านั้น หากแต่ต้องการขอร้องให้พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหลายโดยเฉพาะบุคคลระดับนายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมันคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้อ่านกันเสียที  อ่านไปทีละเรื่อง  ทีละตอน รับรองไม่ผิดหวังครับ  แล้วเด็กๆ และวัยรุ่นไทยจะได้รับความเข้าใจและได้รับการส่งเสริมอย่างจริงจังเพิ่มมากขึ้นเสียที

                                             .......................................

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 355844เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2010 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

“...การที่ผู้ใหญ่ทุกวันนี้ในเมืองไทยของเรา (พ.ศ.2508) ชอบตำหนิติเตียนเด็กนั้น.... " เด็กในวันนั้น ปัจจุบันก็น่าจะอายุไม่ต่ำกว่า 50 หลาย ๆ ท่านอาจจะอยู่ในแวดวงการเมือง ราชการ เอกชน จึงได้เกิดเหตุการณ์เช่นปัจจุบัน คือ ".... เป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิ์ของตน คือไม่ยอมให้เด็กมามีอำนาจเหนือกว่า.... "  แสดงว่าระบบครอบครัวไทยล้มเหลว ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการศึกษา และการอบรมภายในครอบครัว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท