มหา'ลัยเหมืองแร่


ภาพยนตร์ที่ดี หนังสือดีเด่น

 

 

 

มหา’ลัยเหมืองแร่

                  มหา’ลัยเหมืองแร่ เป็นชื่อย่อของ “มหาวิทยาลัยเหมืองแร่” เป็นหนังที่ “จิระ มิลิกุล”ทั้งกำกับและเขียนบท ขึ้นมาจากหนังสือขนาด 2 เล่มเขื่องที่เขียนโดยนักประพันธ์ชั้นครู “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ในเรื่อง “ตะลุยเหมืองแร่” โดยหนังสือเรื่องนี้ถูกยกย่องให้เป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสือไทยที่คนไทยควรอ่าน

                  หนังสือ 1 ใน 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านนั้น ได้มาจากการศึกษาวิจัยนานหลายปีโดยอาจารย์วิทยากร เชียงกุลและคณะ   หลายเล่มเป็นที่รู้จักกันทั่วไปเช่นพระราชพิธีสิบสองเดือนโดยพระพุทธเจ้าหลวง   พระไตรปิฏกโดยสุชีพ ปุญญานุภาพ  พุทธธรรมโดยพระธรรมปิฏก   กามนิต-วาสิฏฐีโดยเสถียรโกเศศ   นิราศหนองคายโดยหลวงพัฒนพงศ์ภักดี   แลไปข้างหน้าโดยศรีบูรพา  ปีศาจโดยเสนีย์ เสาวพงศ์  ฟ้าบ่กั้นโดยลาว คำหอม  โฉมหน้าศักดินาไทยโดยจิตร ภูมิศักดิ์  จับตายโดยมนัส จรรยงค์ ฯลฯ  (ผมโชคดีที่ชอบอ่านหนังสือ จึงได้อ่านและมีหนังสือเหล่านี้อยู่เกือบครบทั้ง 100 เล่ม)

                  สำหรับ “ตะลุยเหมืองแร่” เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นมาจากชีวิตจริงของคุณอาจินต์ ที่ถูกพ่อส่งไปทำงานอยู่ที่เหมืองแร่ดีบุก จังหวัดพังงา  เนื่องจากถูกรีไทจากคณะวิศวะกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในหนังสือเล่มนี้สะท้อนถึงชีวิตของคนงานเหมืองแร่ที่ต้องทำงานหนัก  เสี่ยงภัย แต่ก็เต็มไปด้วยความอดทน สู้ชีวิตและสนุกสนานรื่นเริงในบางช่วงเวลา

                   ผมได้อ่านมานานหลายปีแล้ว  ล่าสุดได้อ่านซ้ำอีกครั้งเมื่อคราวต้องเดินทางไปประชุมที่ประเทศบราซิล  โดยพกติดกระเป๋าไปอ่านบนเครื่องบินเนื่องจากต้องใช้เวลาบินนานมากเกือบยี่สิบชั่วโมง  บินไปและบินกลับก็อ่านจบพอดี          

                  หนังสือเรื่องนี้เขียนไว้เป็นตอนๆ มีมากกว่า 140 ตอน แต่ละตอนขมวดจบลงได้อย่างน่าสนใจและมีคุณค่า  ใช้ภาษาง่าย อ่านแล้วเห็นภาพและรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์  จนอยากเดินทางไปเห็นสถานที่และสภาพผู้คนที่นั่น  จึงไม่แปลกที่นักเขียนหลายท่านได้กล่าวสรุปถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ดังนี้

                   เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์“เหมืองที่พี่อาจินต์ทำเป็นประวัติศาสตร์คือเหมืองอักษร พี่อาจินต์เป็นเหมืองทางอักษร” 

                   หยก บูรพา “เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่มีอิทธิพลต่อสังคม คือสร้างพลังใจและลบปมด้อยของตนเองและนิสิตนักศึกษาที่ไม่ประสบความสำเร็จในมหาวิทยาลัย มีคำกล่าวของอาจินต์ว่าข้าพเจ้าได้ฆ่าวิศวกรไปแล้วคนหนึ่ง  แต่ข้าพเจ้าได้สร้างนักเขียนคนหนึ่งขึ้นมาในประเทศไทย” 

                   วินทร์ เลียววาริณ “ผมอ่านตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น ความรู้สึกที่จำได้คืออ่านแล้วมันอินกับเรื่อง ประทับใจมากครับเพราะเราไม่เคยคิดมาก่อนว่าสามารถเอาชีวิตจริงมาผูกเป็นเรื่องได้ จุดเด่นของคุณอาจินต์คือใช้ภาษาสั้น กระชับ ตรงเป้า ถือเป็นผลงานที่ใช้ศึกษาในการเขียนเรื่องสั้นได้” 

                   สุภาพ คลี่ขจาย “ถ้าวัยรุ่นอยากอ่านวรรณกรรมรุ่นเก่า ก็อยากให้อ่านเรื่องนี้ จะได้เห็นว่าเรื่องสั้นดีๆ เขาจบหักมุมอย่างไร ได้ทราบการทำเหมืองแร่และวัฒนธรรมปักษ์ใต้ที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง”

                  เมื่อหนังสือเล่มนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นภาพยนตร์แล้ว  ผมได้รับเชิญให้ไปดู ประทับใจมากทั้งเนื้อเรื่องและที่แสดงได้ดีมากๆ คือนักแสดงทั้งหลาย  สมจริงและได้อารมณ์ร่วม (น่าเสียดายมากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ไม่ดีนัก  ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าจะยังมีแผ่นซีดีวางขายอยู่หรือเปล่า)  จึงขอเชิญชวนทุกท่านหาหนังสือเรื่องนี้มาอ่านหรือขวนขวายหาซีดีเรื่องนี้มาชม ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย

..........................................................

 

หมายเลขบันทึก: 355715เขียนเมื่อ 3 พฤษภาคม 2010 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียนครูหยุย CD มีวางขายครับ ราคา ลอลงมา ไม่คุ้มค่า กับการได้เรียนณุ้ จากหนัง เรื่องนี้ครับ

หนังสือหลายๆ เล่มมีคุณค่าในการให้บทเรียนชีวิตกับผู้อ่าน โดยไม่ต้องใช้ชีวิตตัวเองไปทดลอง เมื่อก่อนในโรงเรียนจะมีการให้เด็กเลือกอ่านหนัง รู้สึกจะเรียกว่าหนังสืออ่านนอกเวลา อ่านจบแล้วก็จะต้องมาสรุปให้เพื่อน ๆ ฟัง รวมทั้งมีข้อความประทับใจมาเล่าด้วย ไม่ทราบว่าปัจจุบันยังมีอยู่หรือเปล่า คิดว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เด็กได้อ่านหนังสือดีๆ มีคุณค่า ได้สัมผัสภาษาที่สละสลวย ได้ข้อคิด ได้รู้จักการย่อความ ได้ฝึกเขียนภาษาไทย ถ้าขี้เกียจมากก็ลอกเพื่อน แต่การลอกเพื่อนด้วยลายมือตนเองก็ยังก็ยังได้ประโยชน์ในด้านการคัดลายมือ การได้อ่านย่อความของเพื่อนว่าอ่านแล้วรู้เรื่องหรือเปล่า แต่ปัจจุบันใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานส่งอาจารย์ ใช้ชำนาญที่สุดคือคำสั่ง COPY ไม่มีโอกาสได้อ่านแม้แต่ตัวเดียว สิ่งหนึ่งที่อยากฝากครู อาจารย์ และผู้ดูแลการศึกษา การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ประกอบการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่ดี แต่อยากให้ดูความเหมาะสมด้วย อย่าให้เด็กทำทุกอย่างด้วยคอมพิวเตอร์ แล้วจะเป็นเช่นปัจจุบัน เขียนภาษาไทยก็ไม่ถูกต้อง ลายมือก็เป็นไก่เขี่ย ทุกอย่างลอกได้หมดภายในพริบตา ทำให้ต้องมาบอกเด็กว่าไปออกกำลังกายกลางแจ้งบ้างนะลูก .... พักสายตาบ้างนะ ... ฯลฯ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท