เมื่อวันที่ 22- 23 มิถุนายน 2549 ดิฉันได้ไปร่วมเวทีการเรียนรู้เรื่อง การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ประจำเดือนของจังหวัดกำแพงเพชร ที่นำมาใช้รวมเจ้าหน้าที่ทุกระดับตั้งแต่ ส่วนกลาง เขต จังหวัด และอำเภอ เพื่อร่วมกันพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกรโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม หรือ วิจัยชุมชน
ซึ่งบทบาทที่ดิฉันได้รับมอบหมายจากทีมงานในวันนี้ก็คือ ทำหน้าที่ "ถอดบทเรียนและประสบการณ์เชิงซ้อน" ของบุคคลแต่ละระดับที่เล่าให้ฟัง นับว่าเรื่อง
ดังกล่าวเป็นประสบการณ์ใหม่ที่ได้ทำการถ่ายทอดและเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ให้กับพื้นที่
ฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการทำงาน ดิฉันได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ โดยประมวลสรุปได้ดังนี้ คือ
ที่มาที่ไปของการทำงานร่วมกัน
จากข้อตกลงของทีมงานระหว่างส่วนกลาง เขต และจังหวัดที่ว่า “เราจะมาทำงานร่วมกันโดยพบปะกันเดือนละ 1 ครั้ง” เพื่อติดตามและนิเทศงาน การพัฒนาบุคลากร และการปรึกษาหารือในการปฏิบัติงานส่งเสริมการเกษตร โดยภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากทีมงานก็คือ ทำหน้าที่ร่วมจัดกระบวนการเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของจังหวัดกำแพงเพชรนำเสนองานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม การแลกเปลี่ยนประสบการณ์การปฏิบัติ และการเสริมองค์ความรู้ให้กับทีมงาน ตลอดจนเป็นพลังและกระตุ้นให้กับบุคลากรในระดับพื้นที่มีกำลังใจในการทำงานส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกรและการพัฒนาตนเอง
ดังนั้น การปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจึงนำมาผนวกกับบทบาทภารกิจของกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับ คือ การศึกษาค้นคว้าวิธีการพัฒนาบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผล ได้แก่ การจัดการความรู้ และการวิจัยเชิงปฏิบัติงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งทั้ง 2 กิจกรรมดำเนินการอยู่ภายใต้โครงการ Food Safety ของกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งนี้ ได้เลือกจังหวัดกำแพงเพชร เป็นจุดทดลองปฏิบัติงานพัฒนาเทคโนโลยีการฝึกอบรมและการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้และการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร คือ ศูนย์การเรียนรู้ โดยดำเนินการติดต่อกันมาเป็นระยะเวลา 3 – 4 ปี (ปีงบประมาณ 2546 – 2549)
ทำงานในครั้งนี้จัดเวทีปฏิบัติการกันอย่างไร? ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอผลงาน ได้แก่ 1) การค้นหาประเด็นปัญหาในการวิจัยชุมชน 2) การสร้างโจทย์วิจัยชุมชน และ 3) การออกแบบกระบวนการวิจัยชุมชน โดยทีมนักวิจัยของจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วย 1) ทีมเจ้าหน้าที่ จำนวน 25 คน และ 2) ทีมนักวิจัยชาวบ้าน จำนวน 3 คน มาร่วมกันนำเสนอข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยใช้วิธีการเล่าให้ฟัง การจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีดังกล่าวจึงมีกระบวนการปฏิบัติ ดังนี้ คือ
ขั้นที่ 1 ประธานในเวทีเรียนรู้ (นายสายัณห์ ปิกวงศ์) นำเสนอข้อมูลและเล่าสรุปข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของเดือนพฤษภาคม 2549 ให้กับสมาชิกได้ฟัง ทั้งนี้เพื่อเป็นการทบทวนความจำและนำเข้าสู่บทเรียนที่จะเกิดขึ้นของเดือนมิถุนายน 2549
ขั้นที่ 2 ผู้นำการเรียนรู้ (นายสายัณห์ ปิกวงศ์) ทำหน้าที่เป็นประธานสมาชิก (ทีมนักวิจัยพื้นที่) เพื่อเปิดเวทีการนำเสนอบทเรียน โดยคัดเลือกผู้แทนเจ้าหน้าที่ (นักวิจัย) เล่าข้อมูลที่ได้ไปปฏิบัติกับชุมชนในประเด็น 1) การสร้างโจทย์วิจัย และ 2) การออกแบบการวิจัย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ที่เป็นนักวิจัย จำนวน 3 คน (อำเภอคลองลาน จำนวน 1 คน และ อำเภอเมือง จำนวน 2 คน) จะเล่าข้อมูลและเชื่อมโยงสู่ชาวบ้านที่เป็นนักวิจัยซึ่งอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้ด้วยให้เล่าข้อมูลเชื่อมต่อกัน ดังนั้น การนำเสนอจึงเป็นรูปแบบของการเล่า “เนื้อหาคู่” ระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน เพื่อให้เห็นเหตุการณ์การปฏิบัติงานร่วมกัน
ขั้นที่ 3 เจ้าหน้าที่ ที่เหลือจำนวน 22 คน นำเสนองานที่ตนเองปฎิบัติ ในประเด็น “งานวิจัยที่ตนเองทำตอนนี้นั้น? ทำถึงไหนแล้ว ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย” โดยแต่ละคนได้พูดถึง ความก้าวหน้าในงานที่ตนเองปฏิบัติ ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น การแก้ไข ข้อสังเกตหรือคำแนะนำ และงานที่จะทำต่อไป
ขั้นที่ 4 ทีมงานนักวิจัยจังหวัด “เสริมเนื้อหาวิชาการ” (นายวีระยุทธ์ สมป่าสัก) หลังจากที่ได้นำเสนอผลงานที่ทีมนักวิจัยพื้นที่ปฏิบัติแล้วนั้น ทีมงานนักวิจัยจังหวัดได้เสริมความรู้และเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) โดยใช้เทคนิค “การเล่าให้ฟัง” จากการใช้สื่อภาพและข้อความต่าง ๆ เช่น หลักการวิจัย กระบวนการวิจัย และเครื่องมือ
ขั้นที่ 5 ทีมงานที่ปรึกษาเสริมความรู้และประมวลข้อมูล ( ดร.สุนทรีย์ คุณเกษม และ คุณศักดา) ในบทบาทของที่ปรึกษาการใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติงานแบบมีส่วนร่วม ( PAR) เพื่อทำงานส่งเสริมการเกษตร ได้ทำการประมวลผลข้อมูลโดยแยกองค์ประกอบงานให้เห็น ได้แก่ องค์ประกอบด้านเนื้อหาสาระของ Food Safety องค์ประกอบด้านการปฏิบัติงานวิจัย องค์ประกอบด้านหลักการวิชาการในงานส่งเสริมการเกษตร และ องค์ประกอบด้านกระบวนการพัฒนาบุคลากร
ขั้นที่ 6 การสรุปผลและการประเมินผลการปฏิบัติงาน โดยที่ปรึกษา (คุณศักดา ทวิชศรี) ทำหน้าที่สรุปผลงานที่เกิดขึ้นจากการนำเสนอ การแลกเปลี่ยน และการปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อสร้างองค์ความรู้ในเทคนิคงานส่งเสริมการเกษตร ภายใต้ประเด็น “การเรียนรู้เพื่อเสริมปัญญา” ซึ่งได้เชื่อมงานที่ทำผ่านมา งานที่ทำในปัจจุบัน และงานที่จะทำต่อไป ให้กับสมาชิกที่เป็นทีมงานวิจัยแต่ละระดับได้เห็นเป็นภาพรวมและเพื่อกระตุ้นการคิดสรุปบทเรียนด้วยตนเอง หลังจากนั้น จึงทำการประเมินผลการเรียนรู้โดยให้เจ้าหน้าที่ทำการสรุปบทเรียนและงานที่แต่ละบุคคลปฏิบัติที่เขียนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม “บันทึกงาน” เพราะเป็นการพัฒนาตนเองเกี่ยวกับการเขียน ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 บันทึกองค์ความรู้ในงานส่งเสริมการเกษตร และ ลักษณะที่ 2 บันทึกการปฏิบัติงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
ขั้นที่ 7 งานที่จะปฏิบัติต่อไป (นายเสนาะ ยิ้มสบาย) งานที่จะเกิดขึ้นแบ่งเป็น 2 ชิ้น คือ ชิ้นที่ 1 การบันทึกงานที่ปฏิบัติผ่านมา และ ชิ้นที่ 2 งานที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการกับชุมชน โดยทีมนักวิจัยจะต้องวางแผนการปฏิบัติงาน การจัดทำแผนการถ่ายทอดความรู้ และการปฏิบัติการจัดเวทีถ่ายทอดความรู้ร่วมกับชุมชน สิ่งที่เกิดขึ้นจากการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการจัดกระบวนการที่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันทำ ได้แก่ บทบาทประธานหรือผู้ควบคุมชั้นเรียน บทบาทผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ บทบาทที่ปรึกษา บทบาทนักส่งเสริมการเกษตร และบทบาทของเกษตรกร ซึ่งทุกคนจะพบว่าตนเองนั้นมีบทบาทที่จะต้องปฏิบัติอยู่ตรงจุดไหนและขั้นตอนไหนของกระบวนการกลุ่ม
การสรุปบทเรียน ในหน้าที่ของนักพัฒนาทรัพยากรบุคคล ภารกิจหนึ่งที่ติดมากับตำแหน่งก็คือ การพัฒนาบุคลากรให้สามารถทำกิจกรรมและงานที่ได้รับการจัดสรรและมอบหมายมาจากองค์กรให้บรรลุผล โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรให้สามารถทำงานส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกรได้จริง ส่วนภารกิจงานของการพัฒนาเทคโนโลยีการฝึกอบรมก็คือ การค้นหาวิธีการพัฒนาบุคลากรอย่างไร? ถึงจะทำให้สามารถปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายได้บรรลุผล อันนำมาซึ่งการให้คำแนะนำและการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนาเกษตรกรเพื่อทำอาชีพของตนเองอย่างได้ผลตามเป้าหมาย ดังนั้น งานที่ปฏิบัติจะต้องทันกับความต้องการขององค์กรและพื้นที่ และสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง การถ่ายทอดความรู้เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานส่งเสริมการเกษตรกับเกษตรกรโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเป็น ฉะนั้น “เทคนิคในงานส่งเสริมการเกษตร” ที่ถูกนำเข้ามาทดลองใช้ดังกล่าวจึงจำเป็นจะต้องมีทีมงานด้านเนื้อหาหรือเทคโนโลยี ด้านการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ด้านการพัฒนาบุคลากร และด้านเทคโนโลยีการเรียนรู้ เพราะเป็นการปฏิบัติงานเพื่อสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ “ศูนย์การเรียนรู้” ขึ้นมาใช้เป็นช่องทางในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้กับองค์กร
ข้อเสนอแนะ
1. การพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “การบันทึกงานส่งเสริมการเกษตร” นั้น สิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยส่งผลต่อความเป็นรูปธรรม ได้แก่ ต้นแบบการเรียนรู้ ตัวอย่างชิ้นงาน การจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การสร้างเวทีเรียนรู้ และผู้นำ ซึ่งต้องอาศัยเวลา เพราะเป็นเรื่องที่ยากต่อการเข้าใจและการปฏิบัติสำหรับบุคลากรในระดับพื้นที่
2. การส่งเสริมบุคลากรในระดับพื้นที่ ให้นำวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ไปใช้เป็นเทคนิคในการทำงานกับชุมชนนั้น มีความเป็นไปได้จากการ “เรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน” เพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลาเพื่อการพัฒนาเจ้าหน้าที่และการฝึกทักษะให้ทำเป็น ทั้งนี้ สามารถนำกิจกรรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาประยุกต์ใช้เป็น “การวิจัยในงานที่ทำ” ได้ โดยจะทำให้งานส่งเสริมการเกษตรมีความชัดเจนขึ้น
3. การบูรณาการทีมงาน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาบุคลากรโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ได้แก่ ด้านเนื้อหาหรือเทคโนโลยี ด้านการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม ด้านการพัฒนาบุคลากร และด้านเทคโนโลยีการเรียนรู้ แต่ทั้งนี้การเป็นที่ปรึกษาจะต้องปฏิบัติงานควบคู่กับการปฏิบัติกิจกรรมของเจ้าหน้าที่ที่เป็นนักวิจัย จึงจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ได้
4. งานที่ควรจะดำเนินการต่อเนื่อง จากการร่วมปฏิบัติงานกับทีมงานนักวิจัยนั้น จะเห็นได้ว่ายังมีจุดอ่อน ได้แก่ 1) การเขียนงาน 2) ความรู้ในงานส่งเสริมการเกษตร 3) การจัดระบบการเรียนรู้หรือความคิด และ 4) ประสบการณ์ในการนำเสนอผลงานวิชาการ ซึ่งถ้าได้มีการจัดเวทีเพื่อสนับสนุนและเสริมความรู้ดังกล่าวย่อมทำให้องค์ความรู้ในงานส่งเสริมการเกษตรเกิดการแพร่กระจายได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
การเรียนรู้และการพัฒนาตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติงานร่วมกันนั้นสรุปได้ว่า
1. บทบาทและหน้าที่ที่ปฏิบัติ คือ การทำให้ดูและทำให้เห็น เช่น การบันทึกงาน การจับประเด็นเพื่อสรุปบทเรียน และการแกะงานจากการนำเสนอ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มทักษะและประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรกระบวนการให้กับตนเอง
2. ได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติ “การแกะงานเชิงซ้อน” ที่เป็นสถานการณ์จริงโดยมีผู้นำเสนอบทเรียนและงานที่ทำไม่ต่ำกว่า 25 คน และการเชื่อมโยงสู่บทบาทของผู้เกี่ยวข้องแต่ละระดับที่เข้าไปมี “ส่วนได้ส่วนเสีย” ในกิจกรรมนั้น ๆ ที่ร่วมกันทำให้เกิดผลตามเป้าหมายงาน
3. ได้เรียนรู้และเห็นเทคนิคในงานส่งเสริมการเกษตร เช่น วิธีการจัดกระบวนการเพื่อค้นหาประเด็นความต้องการเรียนรู้ของชาวบ้าน เทคนิคในการสนทนากับชาวบ้าน กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลกับชุมชน และวิธีการเชื่อมโยงและบูรณาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ มาร่วมกันจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น
วันนี้ดิฉันได้เขียนบันทึกสรุปงานที่ได้ไปปฏิบัติร่วมกับพื้นที่และทีมงานค่อนข้างยาวไปสักนิด หวังว่าทุก ๆ ท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้คงจะยังไม่เบื่อนะค่ะ เพราะเมื่อกลับจากการไปปฏิบัติในพื้นที่แล้วนั้น ดิฉันจะต้องเขียนผลการไปทำงานรายงานให้กับหน่วยงานทราบด้วยว่า "ดิฉันไปทำอะไรมาบ้าง? ไปทำงานนั้นอย่างไร? ทำแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง? และสุดท้ายดิฉันได้อะไรบ้าง?" แล้วตัวท่านเองละ.....เมื่อไปทำงานกลับมาแล้วสรุปบทเรียนได้ว่าอย่างไร?
ศิริวรรณ หวังดี
ป.ล.
วันนี้ คุณทนง จากทีมงานส่วนกลาง ทำหน้าที่เป็นช่างภาพถ่ายรูปให้ตลอดกระบวนการ แต่ยังไม่สามารถนำรูปภาพมาให้ทุกท่านชมกันได้ เพราะดิฉันยังนำมาใช้ไม่เป็น และ คุณต๋อม ทำหน้าที่เป็นคุณเอื้อ ในการดำเนินงานครั้งนี้ค่ะ.
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาง ศิริวรรณ หวังดี ใน เปิดกรุ "สมองกล" ชุมชนนักปฏิบัติ