BAR : Gotoknow Forum 2/2 (Part I) เสาหลักของ Gotoknow


หลังจากที่เมื่อวาน (๒๙ เมษายน ๒๕๕๓) ช่วงค่ำ ๆ ได้มีโอกาสเข้ามาใน Gotoknow แห่งนี้ (ปกติช่วงนี้วัน ๆ หนึ่งผมเข้ามาวันละเป็น 10 ครั้ง) ก็เริ่มรู้สึกว่าหน้า Page แรกของ G2K แปลก ๆ ตอนแรกก็ไม่ได้เอะใจอะไร แต่ดูไปดูมาเห็น Banner เรื่อง G2K Forum ข้างบนหาย แล้วก็กลุ่ม Planet แสดงความก้าวหน้าการของงานของทีมงาน UsablesLab หายไปก็เริ่มรู้สึกว่ามีอะไรแปลก ๆ

ช่วงเช้าวันนี้หลังจากที่ได้ออกไปส่งคณะธุดงค์เดินทางขึ้นดอยอินทนนท์ (ซึ่งผมจะตามไปสมทบในวันจันทร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓) เมื่อกลับมาก็ได้เข้ามาดูความเคลื่อนไหวใน G2K ก็พบข่าวการแจ้งยกกิจกรรม Gotoknow Forum ครั้งที่ 2

นับตั้งแต่ที่ผมทราบข่าวการจัดงานครั้งนี้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้พยายามติดตามและช่วยเหลือในสิ่งต่าง ๆ ที่ตนเองมีกำลังที่จะช่วยได้อย่างสุดความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอเดียต่าง ๆ ที่ "ปิ๊ง" ขึ้นมาในระหว่างที่เดินไปเดินมาอยู่แถว ๆ นี้

อันที่จริงแล้วมันมีอะไรที่ "ปิ๊ง" ขึ้นมามากมาย ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนผมก็คงจะเขียนไปหมดแล้ว แต่ทว่า นับตั้งแต่ที่ได้มาฝึกฝนปฏิบัติตนใหม่ ก็ต้องทำอะไรให้รอบคอบมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะเรื่อง Gotoknow Forum นี้ก่อนที่จะเขียนอะไมต้องรอบคอบและรัดกุมมาก เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับสมาชิกโดยทั่วไปใน G2K แห่งนี้โดยเฉพาะทีมงาน UsableLabs ดังนั้นผมจึงพยายามโยนหินถามทางก่อนเสมอ ๆ ว่าเรื่องนี้ควรจะเขียนไปในทางใด ควรเขียนในระดับไหน และใครบ้างที่จะฟังได้หรือฟังไม่ได้ ในที่นี่ก็ต้องขอขอบคุณและยกย่องความมีน้ำใจของ "มะปรางเปรี้ยว(คุณสุนทรี แซ่ตั่น)" ซึ่งเป็นทีมงานที่มี EQ สูงและมีความสามารถในการเป็นผู้บริหารที่ศักยภาพ ที่เปิดโอกาสรับฟังไอเดีย "ปิ๊ง" แบบแปลก ๆ ของผมเสมอ  

แต่ถึงอย่างไรผมก็ไม่สามารถเขียนออกมาได้หมด เพราะหลาย ๆ ครั้งพบว่า ผู้ฟังยังไม่พร้อมที่จะฟัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมคงยังไม่มีความสามารถในการเขียนพอ ในช่วงสองวันที่ผ่านมานี้จึงต้องใช้หลักธรรมข้อสุดท้ายของพรหมวิหารสี่คือ "อุเบกขา" ปล่อยวางให้เป็นไปและเป็นไป

แต่เมื่องานนี้ต้องยกเลิกไป ผมก็ขอเขียนสรุปความคิดต่าง ๆ ที่ "ปิ๊ง" ขึ้นมาและได้ร่างเอาไว้เพื่อเก็บไว้ทบทวนความคิดในจิตใจของตนเองเมื่อภายหลัง

ก่อนที่จะนำเสนอ "ร่างความคิด" ที่ผุดขึ้นมานั้น ผมขออนุญาตบอกกับทุกท่านเพื่อทราบว่า สิ่งที่ผมร่างขึ้นมานี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่เกิดขึ้นมาภายในหัวของผมเท่านั้น มิใช่ข้อเสนอหรือแนวทางที่จะต้องนำไปปฏิบัติตามแต่ประการใด...

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๓๐ เมษายน ๒๕๕๓


เสาหลักของ Gotoknow

ผู้ก่อตั้ง...

ภาพบรรยากาศของงาน Gotoknow Forum ครั้งที่ 1 ที่ผมเห็นและประทับใจมากก็คือ ภาพที่ท่าน Prof. Vicharn Panich และ ท่านอาจารย์ ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ และ ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ตัดเค้กครบรอบวันเกิดของ Gotoknow

ตั้งแต่ที่ผมเข้าไปอ่านบันทึกเรื่องของวิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ผมก็รู้สึกแว๊บขึ้นมาทันทีว่า บุคคลที่เป็นเสาหลักของ Gotoknow หายไปอยู่ตรงไหน

ผมอาจจะไม่ใช่สมาชิกรุ่นแรก ๆ ของ G2K ที่อาจจะไม่ทราบถึงรายละเอียดในการก่อตั้ง สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) และการร่วมมือกันระหว่างท่าน ดร.ธวัชชัย และท่าน ดร.จันทวรรณ ในการสร้าง Gotoknow ขึ้นมาเป็นสังคมของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แต่ผมก็รู้สึกเสมอว่าท่านทั้ง 3 เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ผมได้ทำงานใน G2K แห่งนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่าน Prof. Vicharn Panich 

ดังนั้นผมจึงคิดแบบง่าย ๆ ว่า ในปีหนึ่ง ๆ ผมน่าจะมีโอกาสแสดงมุทิตาจิตแก่ท่านผู้มีพระคุณที่ได้เสียสละแรงกาย แรงใจ เสียสละ เลือดเนื้อหรือแม้กระทั่งชีวิตทุ่มเทที่จะทำงาน ทำสังคมแห่งนี้ให้เราได้อยู่ ได้ใช้ และ Gotoknow Forum เอง ก็น่าจะเป็นสถานที่ เป็นเวทีที่เราทุก ๆ คนซึ่งเปรียบเสมือนลูก ๆ ที่มีพ่อคนเดียวกัน โดยในปีหนึ่ง ๆ จะได้มีโอกาสเดินทางไปแสดงความเคารพ คารวะ แสดงมุทิตาจิตแก่ "พ่อ" ผู้มีพระคุณ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ท่านอาจารย์ ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ ผู้ที่ทุ่มเทและเสียสละอย่างหนักในการที่จะทำให้มี Gotoknow อย่างนี้ "แบบนี้" ได้ล้มป่วยลง ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่เราซึ่งเปรียบเสมือนน้องชาย น้องสาว พี่ชาย พี่สาว เป็นญาติสนิท มิตรสหาย จะต้องให้กำลังใจและ เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน

ตอนนั้นที่ผมได้รับหนังสือเชิญฉบับแรกประมาณปลายเดือนมีนาคม ตอนนั้นผมมีสองเหตุผลในการตัดสินใจ ถ้าเหตุผลที่ว่าเดินทางไปประชุมตาม TOR ที่เขียนมานั้นผมคงไม่ไป แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมให้กับตัวเองว่า ถ้าไปเพื่อที่จะแสดงความคารวะ แสดงมุทิตาจิตแก่ท่าน Prof. Vicharn Panich รวมถึงได้มีโอกาสเยี่ยมเยียนท่าน ดร. ธวัชชัย ปิยะวัฒน์ และครอบครัวปิยะวัฒน์ทุกคน ผมก็จะไปโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง โดยตอนนั้นผมวางแผนว่าจะขึ้นรถทัวร์ลงไปเอง ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ ๔ วัน คือ เชียงใหม่-กรุงเทพฯ , กรุงเทพฯ-สงขลา, สงขลา-กรุงเทพฯ และ กรุงเทพฯ- เชียงใหม่ ซึ่งถึงแม้ผมจะต้องเสียเวลาเดินทางไปถึงสี่วัน เพียงแค่ได้มีโอกาสพบเพื่อแสดงมุทิตาจิตและเยี่ยมเยียนผู้มีพระคุณผมก็ไป

เหมือนกับครั้งหนึ่งที่เราสูญเสียคุณนก ครั้งนั้นต้องนั่งรถซึ่งออกเดินทางไปงานฌาปนกิจศพตั้งแต่ตีสามตีสี่และเดินทางกลับในวันเดียวกัน ผมก็ไป เพราะเรื่องเป็นเรื่องตายนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ

Blogger Society ของ Gotoknow แตกต่างกับสังคมในบล็อคอื่น ๆ ก็ตรงนี้ ตรงที่เรามีความเป็นครอบครัวสูง มีความผูกพันธ์กันสูง เพราะทุก ๆ คนตั้งแต่ผู้ก่อตั้งก็ตั้งมั่น ตั้งใจทำงานด้วยความเสียสละ ดังนั้นในปีหนึ่ง ๆ ในฐานะลูก ในฐานสมาชิกก็พึงที่จะแสดงความกตัญญูรู้คุณกับผู้ที่ให้ชีวิตทางวิชาการกับเรา ให้ข้าวให้น้ำทางความรู้แก่เรา ความกตัญญูนั้นเป็นเหตุ Gotoknow Forum ในแต่ละปีจึงเป็นผลให้เราได้มีโอกาสกระทำความดีเพื่อแสดงความคารวะต่อปูชนียบุคคลในสังคมแห่งนี้

ผมจึงคิดว่านี่คือ Theme หลักของงาน Gotoknow Forum ในทุก ๆ ปีที่จัดขึ้น ตราบใดที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เราพึงจะกระทำสิ่งนี้ตลอดไป

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

ในวันนั้นที่ผมเข้าไปดูรายชื่อวิทยากรแล้วเห็นขาดคนสำคัญที่ขาดไป คือ ท่านอาจารย์ประพนธ์ ผมสุขยืด (beyondKM)ในความรู้สึกของผม ผมคิดว่าท่านประอาจารย์ประพนธ์ เป็นผู้ที่รับไม้ต่อจากท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ซึ่งในปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สคส. ซึ่งนั่นก็หมายความว่าท่านเป็นมือ KM อันดับหนึ่งของประเทศในภาคปฏิบัติ

ดังนั้นถ้าเราจะจัดกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการความรู้จริง ๆ ทำไมเราไม่ให้ผู้เชี่ยวชาญอันดับหนึ่งของประเทศได้ทำ

เพราะทีมงานของ สคส. ไม่ว่าจะเป็นคุณThawat หรือคุณอ้อม คุณอ้อ (อ้อ,อ้อม) และอีกหลาย ๆ คน เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในศาสตร์ทางด้านนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สคส. กับ G2K เอง ก็ไม่ใช่คนอื่นคนใกล้ เป็นครอบครัวเดียวกัน

ผมเคยนึกถึงสภาพวันก่อน ๆ ที่ทั้งท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ท่านอาจารย์ธวัชชัย ท่านอาจารย์จันทวรรณ ท่านอาจารย์ประพนธ์ และทุก ๆ คนในทีม สคส. นั่งประชุมกันเพื่อจัดตั้งและจัดสร้าง G2K แห่งนี้ เป็นบรรยากาศที่สร้างสรรค์ ดังนั้น Gotoknow Forum จะสร้างบรรยากาศนั้นให้เกิดขึ้นอีกครั้งในทุก ๆ ปีจะเป็นการดีไม่ใช่น้อย

เปรียบเสมือนกับการที่พ่อได้เลี้ยงลูก ให้ความรัก ให้ความรู้ ในวันหนึ่งลูก ๆ ก็แตกแยกย้ายไปทำงานตามที่ตนเองได้มีหน้าที่รับผิดชอบกันในแต่ละแห่ง ในปีหนึ่ง ๆ จะได้มีโอกาสดี ๆ ได้รวมตัวกัน พร้อมหน้าคร่าตา กินข้าวด้วยกัน พักผ่อนด้วยกัน คุยกันแบบพ่อกับลูกในบรรยากาศสบาย ๆ

หลังจากที่อ่านมาแค่นี้ บางคนคงคิดว่า อ้าว Gotoknow Forum เป็นงานวิชาการไม่ใช่หรือ จะเขียน TOR เพื่อจัดเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร...?

ผมก็ขอตอบแบบกำปั้นทุบดินว่า ถ้าคนจัดกิจกรรมทางวิชาการในเมืองไทย จัดกิจกรรมได้จริงอย่างที่เขียน TOR เพื่อเสนอของบกันไป ประเทศไทยคงจะเป็นประเทศที่มีวิชาการเป็นอันดับ 1 ของโลก เพราะคนไทยเรื่องเขียนไม่เคยรองใครอยู่แล้ว   

แต่ถ้าจะให้เหตุผลที่เป็นวิชาการหน่อย ก็คือ ผมเชื่อว่าความคิดดี ๆ ความคิดสร้างสรรค์จะสามารถเกิดได้ในบรรยากาศที่สบาย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยากาศแบบครอบครัวที่มีความอบอุ่น การที่ปรมาจารย์ของประเทศไทยได้มีโอกาสมาพบเจอกัน นั่งคุยกัน คุยเรื่องราวความหลัง (Story telling) กัน ผมเชื่อว่าจะสามารถเร้าพลังแผนงานในอนาคตที่ดีกว่าการจัดประชุมกันในห้องสี่เหลี่ยม

และถ้าให้ปึ้กจริง ๆ ถ้าให้ท่านอาจารย์ประพนธ์ พร้อมทีมงาน สคส. จัดกิจกรรมให้กับผู้เข้าร่วมงานอย่างน้อยสักครึ่งวันหรือมากกว่านั้นใน Theme ทางวิชาการใด ๆ ก็ตามที่คิดกันขึ้นมาในปีนี้ อาทิ Digital Heritage ในปีนี้ จะเป็นอะไรที่พิเศษมาก เพราะไม่ใช่สิ่งที่เราจะได้ร่วมกิจกรรมกันง่าย ๆ และจะสามารถดึงดูดผู้ที่สนใจได้อีกมาก

ผู้ทรงคุณวุฒิ

คำถามตอนนั้นที่ผมอยากจะถามมากแต่ไม่รู้จะใช้คำพูดให้สละสลวยอย่างไรก็คือว่า "เกณฑ์ในการแบ่งว่าใครจะเป็นวิทยากรและใครจะเป็นผู้เข้าร่วมประชุมนั้นแบ่งกันอย่างไร...?"

ซึ่งตอนนั้นผมก็พยายามถามอ้อม ๆ ไป อ้อม ๆ มา แต่ก็ไม่สามารถจะไปก้าวล่วงในงานของผู้จัดได้

แต่ถ้าเป็นผม ผมจะจัดแบ่งใช้เกณฑ์ตั้งแต่ที่กล่าวมาข้างต้น คือ ต้องยกให้ทีมของผู้สร้างไว้กลุ่มหนึ่ง ทีมงาน สคส. อีกกลุ่มหนึ่ง และอีกทีมที่สำคัญคือ ผู้ทรงคุณวุฒิ

การอยู่ในสังคมเรา การให้เกียรติบุคคลซึ่งอุทิศตนและเสียสละเพื่อสังคมนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งผมเอง ขออนุญาตเอ่ยนามบุคคลที่ผมเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เสียสละทำงานให้กับ Gotoknow มาอย่างมากโดยตลอด (ถ้ากล่าวไม่หมดก็ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ครับ)

ท่านแรก ท่านพ่อครู ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ซึ่งท่านได้เสียสละทำกิจกรรมต่าง ๆ กับ Gotoknow มาเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของกลุ่ม เฮฮาศาสตร์ก็ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมของสวนป่า มหาชีวาลัยภาคอีสาน ซึ่งถือว่าเป็นขุมปัญญาของเมืองไทย ซึ่งเป็นมรดกทางความรู้ไทยที่แท้จริง

ท่านที่สอง ท่านอาจารย์หมอ JJ  (รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ) ซึ่งในปัจจุบันท่านเป็นแม่งานในการจัดงาน UKM ซึ่งขับเคลื่อนการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

และอีกหนึ่งท่านที่สมาชิกรุ่นใหม่อาจจะไม่ค่อยได้เจอท่าน ก็คือ ท่าน ผศ.ดร. วิบูลย์ วัฒนาธร ซึ่งในอดีตท่านเป็นผู้นำทีม KM ของมหาวิทยาลัยนเรศวรซึ่งทำงาน KM ในระดับประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน ทีมงานมหาวิทยาลัยนเรศวรก็ยังดำเนินการ KM กันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะท่านอาจารย์ beeman 吴联乐 (ท่านอาจารย์สมลักษณ์ วงศ์สมาโนตย์) และคุณบอย สหเวช

ถ้าเราสามารถแบ่งกลุ่มและประชาสัมพันธ์ Theme ของงานโดยชูเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นดังกล่าว ผมเชื่อว่า บารมีที่ทางพระเรียกว่า "บริวาร" หรือผู้ติดตาม ผู้ศรัทธาในตัวของแต่ละท่านนั้นประกอบกันแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 60 คนที่จะมาในงานนี้

 

บุคคลผู้เสียสละ "ปิดทองหลังพระ"

การทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ G2K หลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ผมขออนุญาตเอ่ยนามเพื่อชื่นชม ท่านทั้งสามคือ ท่าน นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์ คุณหมอ วัลลา ตันตโยทัย และท่านอาจารย์ ดร. แสวง รวยสูงเนิน ที่ได้ทุ่มเทเสียสละแรงกาย แรงใจ ที่จะให้ความรู้กับพวกเรามาโดยตลอด

ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่จะต้องเชิดชูบุคคลที่สร้างคุณค่า คุณประโยชน์ให้กับสังคม Gotoknow Forum จึงเปรียบเสมือนเป็นงานเกียรติยศ เชิดชูคุณงามความดีของคนที่ปิดทองหลังพระ ทำให้จริง ๆ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ให้กำลังในกับคนดี ๆ เพื่อที่จะให้ท่านสร้างความดีเพื่อสังคมนี้ตลอดไป (End of Part I)

Part II : กระบวนการ

Part III : ระยะเวลาและ Timing

คำสำคัญ (Tags): #gotoknow forum#gotoknowforum
หมายเลขบันทึก: 355070เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2010 13:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 08:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท