การเรียนการสอนดนตรีไทยในอดีต


“ค่ำ ค่ำ ขนุน หนอน เจาะ คว่ำกิน หงายกิน คว่ำกิน หงายกิน”

ความนำ 

 

          ดนตรีไทยแบบฉบับดั้งเดิมของไทยนั้น ในอดีตมีการเรียนการสอนกันอย่างไรนั้นเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ทีเดียวเนื่องจากมีความแตกต่างกับการเรียนดนตรีไทยในสมัยปัจจุบันอยู่มากพอสมควร ซึ่งปัจจุบันการเรียนดนตรีไทยนั้นเป็นวิชาหนึ่งที่มีการเปิดเป็นหลักสูตรตามสถาบันต่าง ๆอย่างชัดเจน และเมื่อเรียนจบแล้วก็มีวุฒ มีปริญญาบัตรมอบให้ ซึ่งต่างจากการเรียนดนตรีไทยในอดีตที่ไม่มีหลักสูตรที่ชัดเจน แต่แนวทางในการเรียนการสอนนั้นขึ้นอยู่กับครูผู้สอนเองว่าจะสอนอย่างไร และเมื่อเรียนจบจากครูแล้วก็ไม่มีใบประกาศนียบัตรมอบให้แต่อย่างใด มีแต่ความรู้ที่ได้สั่งสมมาเท่านั้นที่จะเป็นใบเบิกทางในการทำมาหากินต่อไป

 

วัฒนธรรมมุขปาฐะ

 

          การเรียนดนตรีไทยในอดีตนั้นเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมแบบมุขปาฐะ คือถ่ายทอดกันแบบปากต่อปาก ไม่มีการบันทึกโน้ตอย่างปัจจุบัน ผู้เรียนต้องจดจำทางเพลงจากครูผู้สอน ซึ่งลักษณะแบบมุขปาฐะนี้เองพบอยู่มากในประเทศไทยสมัยก่อนเนื่องจากไม่นิยมการจดบันทึกวิชาความรู้เพื่อเผยแพร่กันเทาไหร่นัก วิชาความรู้บางอย่างก็มีการปกปิดเป็นความลับ จะสืบทอดให้ก็เฉพาะแต่สายเลือดเดียวกันเท่านั้น เช่น คนที่รู้เรื่องการรักษาโรค ยาสมุนไพรต่าง ๆก็จะเก็บความรู้นั้นไว้กับตัวเพื่อใช้ประกอบอาชีพของตนเอง ครั้นจะนำความรู้เหล่านี้ไปเล่าต่อหรือบันทึกให้คนอื่นทราบก็เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่ออาชีพของตนเอง จะถ่ายทอดให้ก็เฉพาะลูกหลานเพื่อไว้ใช้ทำมาหากินต่อไป ดนตรีไทยก็เช่นกันเนื่องจากเป็นการถ่ายทอดแบบปากต่อปาก และบางครั้งครูผู้ประพันธ์เพลงเองก็ไม่ได้สอนให้ลูกศิษย์ทั้งหมด หรืออาจเป็นเพราะลูกศิษย์ไม่สามารถต่อเพลงได้ เมื่อครูท่านนั้นเสียชีวิตไป บทเพลงก็ก็พลอยสูญหายไปด้วย ปัจจุบันปรากฏชื่อเพลงไทยที่ไม่มีผู้รู้ทำนองอยู่มากทีเดียวเป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

วัฒนธรรมแบบมุขปาฐะนั้นก็ใช่ว่าไม่มีข้อดีเสียเลย การเรียนรู้ดนตรีไทยแบบปากต่อปาก มือต่อมือกับครูดนตรีนั้นทำให้ครูกับศิษย์มีความผูกพันต่อกัน อีกทั้งในทางดนตรีนั้นการจดจำทำนองเพลงให้ได้นั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญ คือเมื่อผู้เรียนจดจำทำนองเพลงได้อย่างแม่นยำดีแล้วการจะบรรเลงหรือการจะหา[๑]ทางใหม่ ๆก็ดูจะง่ายขึ้น

 

ครูพักลักจำ

 

          ดังที่กล่าวมาแล้วนั้นว่าครูดนตรีบางท่านก็ไม่ได้ต่อเพลงให้ลูกศิษย์ทั้งหมด ทำให้ลูกศิษย์บางคนต้องใช้วิธี “ครูพักลักจำ” กล่าวคือไม่ได้เป็นการเรียนกับครูโดยตรง อาจจะไปได้ยินได้ฟังมาก็จดจำเอามาเล่น จากคำบอกเล่าของนักดนตรีไทยหลายคนแต่ละท่านล้วนผ่านการเรียนรู้ด้วยวิธีนี้เช่นเดียวกัน การเรียนรู้แบบครูพักลักจำในทางดนตรีนั้นผู้ลักจำจะต้องมีความจำเป็นเลิศเพราะดนตรีเป็นเรื่องของเสียงเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งแล้วก็หายไป ดังนั้นการจดจำทำนองเพลงแล้วนำมาเล่นให้ได้เหมือนที่ได้ยินมานั้นถือเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร แต่อย่างไรก็ดีการที่ลักจำแล้วนำมาเล่นแบบผิด ๆ หรือจำไม่ได้ทั้งหมดอาจจะทำให้เกิดการสร้างสรรค์ทางใหม่ ๆขึ้นมาก็เป็นได้

 

บ้านครูดนตรี

 

          การเรียนดนตรีที่บ้านกับครูดนตรีที่มีชื่อเสียงนั้นนับว่าเป็นความใฝ่ฝันของนักดนตรีไทยหลายคน การเรียนดนตรีที่บ้านครู คือการไปใช้ชีวิตกินนอนอยู่ที่นั่นเลย แล้วก็คอยรับใช้ครูตามสมควร ครูเพลงก็จะต่อเพลงให้ เมื่อมีฝีมือพอที่จะไปเล่นตามงานได้ก็อาจจะได้รับค่าตัวไปด้วย  ในอดีตนั้นบ้านครูดนตรีที่มีชื่อเสียงก็มีอยู่มาก เช่น บ้านครูจางวางทั่ว บ้านครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีลูกหลานรวมทั้งลูกศิษย์ของท่านเหล่านั้นที่ยังทำหน้าที่ในการถ่ายทอดสืบสานดนตรีไทยต่อช่วงจากครูอาจารย์ผู้ล่วงลับไปแล้ว

            [๒]วิธีการเรียน และขั้นตอนในการเรียนดนตรีไทย
การเรียนดนตรีไทย ตามประเพณีของโบราณ จะเลือกเรียนวันพฤหัสเป็นวันเริ่มแรก ผู้ที่สมัครเรียนต้องเตรียมอุปกรณ์ คือ ขันขาว 1 ใบ ผ้าเช็ดหน้า ธูป เทียน ดอกไม้ เงิน 6 บาท เพื่อมอบแก่ครู ต่อจากนั้นครูจะสอนเพลงสาธุการ และฝึกเพลงโหมโรงเช้าโหมโรงเย็น เพลงตับ เพลงพระฉันท์เช้า เพลงพระฉันท์เพล อาบน้ำนาค เป็นต้น ครูจะให้ศิษย์ฝึกเพลงเรื่องมากๆ เพื่อเป็นการฝึกมือให้เกิดความชำนาญ เมื่อชำนาญแล้ว จะแยกเครื่องมือ และดูความเหมาะสม เกี่ยวกับผู้สมัครเรียนหรือศิษย์ ว่าสมควรจะเล่นดนตรีประเภทใด

จดจำทำนองเพลง

 

          ทำนองเพลงไทยในอดีตนั้นไม่ได้มีการกำหนดเป็นโน้ต โด เร มี ฟา อย่างปัจจุบัน การจดจำทำนองเพลงก็เป็นไปตามครูผู้สอนจะคิดค้นขึ้น เพื่อให้ลูกศิษย์จดจำทางเพลงได้ง่ายขึ้น เช่นการร้องทำนองเป็น นอย น้อย ตามเสียงของทำนองเพลง หรือที่บางคนเรียกว่าการนอยเพลง การนอยเพลงก็คือการฮัมเพลงที่เรียกกันในปัจจุบันนั่นเอง เครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆก็อาจจะมีการร้องออกเสียงแตกต่างกันไปตามลักษณะเสียงของเครื่องดนตรีนั้น ๆ เช่น การจดจำ[๓]หน้าทับอาจจะร้องเป็น ติ๊ง ทั้ง ติ๊ง โจ๊ะ จ๊ะ ส่วนระนาดอาจจะร้องเป็น เตรง เตร๊ง เตรง เนื่องจากการเล่นระนาดอาจจะต้องมีการกรอประกอบไปด้วยซึ่งการออกเสียง ร เรือนั้นใช้แทนเสียง[๔]กรอระนาดได้อย่างดี และยังมีวิธีการจดจำในแบบต่าง ๆอีกมาก ดังต่อไปนี้

 

[๕]มีการสร้างสัญลักษณ์ในการทรงจำเป็นของตนเองขึ้น  ซึ่งสร้างได้ทั้งในส่วนของครูผู้สอนและศิษย์ผู้รับการถ่ายทอด อาทิ

             ๑. กำหนดรูปแบบเทคนิควิธีการบรรเลง เช่น วิธีการแยกเขี้ยว ใช้กับระนาดเอก  การโยนซ้าย  โยนขวา ใช้กับฆ้องวง  เป็นต้น

             ๒. กำหนดเป็นกลอน (รูปแบบทางเพลง) เพื่อความเข้าใจในการบรรเลงที่ต้องบรรเลงซ้ำ ในเพลง เช่น กลอนหัวแตก  สับหัวกระดี่ เป็นต้น

             ๓. กำหนดเสียง เช่นครู ออกเสียง น้อด นอย หรือ  แต่ง ติง แนง แนง แต๊ง  ติง แนง แนง เป็นต้น

             ๔. กำหนดสถานที่ เช่น ร่องกระดาน ลูกฆ้อง (สำหรับเด็กหัวไม่ดี) อยู่ตรงไหน ตีตรงนั้น เป็นต้น (กรณีนี้ไม่ควรนำไปใช้นัก)

             ๕. กำหนดเป็นบทร้อยกรอง  เช่น อีหนูตูดเปรอะ  ทำไมถึงตูดเปรอะ  ขี้ไม่เช็ดตูด เป็นต้น

            อดีตเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราชวรวิหาร เดิมเป็นนักดนตรีมาก่อน ท่านมีวิธีสอนตีหน้าทับกลองแขกให้กับศิษย์ เพื่อเป็นการช่วยให้จำง่ายขึ้น โดยใช้สอนให้ผู้เรียนท่องเป็นบทกลอน ซึ่งอาจเกิดด้วยเหตุที่กลอง เป็นเครื่องดนตรีที่ไม่สามารถทำเสียงเป็นทำนองเพลงได้ เหมือนเครื่องดนตรีดำเนินทำนองอื่น ๆ

 

“ค่ำ ค่ำ ขนุน หนอน เจาะ คว่ำกิน หงายกิน คว่ำกิน หงายกิน”

 

   เป็นบทกลอนที่ใช้สอนตีกลองแขก สำหรับตีทำนองหลักหน้าทับนางหน่าย แปลง ผู้เรียนจะจดจำง่ายขึ้น เมื่อห่างจากครูไปแล้วยังสามารถจำได้ แม่นยำขึ้นใจ สามารถแปลงเป็นเนื้อกลองได้อย่างชัดเจน ดังนี้

- - - -

- ค่ำ - ค่ำ

- - ขนุน

-หนอน- เจาะ

- คว่ำ-กิน

-หงาย-กิน

- คว่ำ-กิน

-หงาย-กิน

 

            จากบทกลอนดังกล่าว สามารถกำหนดเป็นหน้าทับกลอง เพื่อความเข้าใจง่าย ได้ดังนี้

 

- - - -

-  ทั่ง - ทั่ง

- - ตลิง

- ติง - ติง

- โจ๊ะ - ติง

- ทั่ง - ติง

- โจ๊ะ - ติง

- ทั่ง - ติง

 

            รูปแบบการเรียนด้วยวิธีดังกล่าวมานี้ล้วนเป็นภูมิปัญญาไทยที่ควรค่าแก่การรักษาไว้เป็นอย่างยิ่งซึ่งในปัจจุบันก็ยังมีการร้องทำนองเพลงในแบบที่กล่าวมาให้เห็นกันอยู่บ้าง แต่หากไม่สืบสานต่อไปในอนาคตนักดนตรีไทยคงต้องนั่งเปิดโน้ตเล่นดังเช่นดนตรีตะวันตกเป็นแน่แท้

 

การบันทึกโน้ตดนตรีไทย

 

          การบันทึกโน้ตดนตรีไทยความจริงมีมานานแล้ว แต่เป็นการบันทึกด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆตามความเข้าใจของผู้บันทึกเองเพื่อเป็นการช่วยเตือนความจำ ไม่ได้มีการกำหนดรูปแบบอย่างใดอย่างอย่างหนึ่งอย่างชัดเจนเพื่อการเผยแพร่ ใครถนัดจะบันทึกอย่างไรก็ทำกันไปเป็นเครื่องหมายที่รู้ได้เฉพาะตน

            การบันทึกโน้ตดนตรีไทยที่เป็นที่ยอมรับและใช้กันในปัจจุบันเป็นการบันทึกด้วยระบบอักษร หรือที่เรียกกันว่า  ด ร ม ฟ ใช้ในการเรียนการสอนกันอย่างกว้างขวางตามสถาบันศึกษาต่าง ๆทั่วประเทศ ทำให้การเรียนดนตรีไทยการต่อเพลงรวดเร็วขึ้น แม้จะมีผู้ต่อต้านอยู่บ้างในช่วงแรก ๆ

 

บทส่งท้าย

 

          การเรียนดนตรีไทยไม่ว่าจะเป็นแบบอดีตหรือปัจจุบันก็ตาม ครูผู้สอนทุกคนต่างมุ่งหวังเห็นลูกศิษย์ของตนมีความสุขกับการเล่นดนตรี และสืบทอดเอกลักษณ์ของชาติให้ดำรงอยู่สืบไป

 

บรรณานุกรม

 

          ปัญญา  รุ่งเรื่อง.ประวัติการดนตรีไทย.พิมพ์ครั้งที่ 5.กรุงเทพมหานคร : ไทยวัฒนาพานิช,2546

                มนตรี  ตราโมท.ดุริยางศาสตร์ไทย ภาควิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพมหานคร : มติชน,2540

                http://www.phattayakulschool.com/webpages/knowledge/methodtolearndontrithai.html

                http://home.kku.ac.th/chapik/fffthai01.html

                http://gotoknow.org/blog/paraneek/252507

                http://www.thaikids.com/krutuck/theory/dontri01.htm

                http://kanchanapisek.or.th/kp6/BOOK16/chapter7/t16-7-l1.htm

 


[๑] วิธีเดินทำนองของเครื่องดนตรีเฉพาะอย่าง

[๒] ข้อมูลข่าว : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

[๓] หมายความถึง “หน้าที่ของทับ(หรือเครื่องดนตรีประกอบจังหวะที่เลียนเสียงจากทับ)ประจำเพลง”

[๔] เป็นคำเรียกวิธีการของเครื่องดนตรีประเภทตี ที่ตีถี่ ๆสองมือสลับกันเช่นเดียวกับเสียงรัว

[๕] ที่มา: http://gotoknow.org/blog/paraneek/252507

 

หมายเลขบันทึก: 355064เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2010 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้ความรู้ดีมากครับ

กลับมาเรียนรู้ใหม่ยังให้ความรู้ที่ดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท