BAR ย่างกิเลส : หัดดื่มน้ำ


หลังจากเมื่อคืนวานที่สมาชิกกลุ่มต้นกล้าคุณธรรมได้มาร่วมพูดคุย (ตามบันทึกต้นกล้าคุณธรรม : สัจจะบารมี "ทำความดี" ตลอดไป... )และวางกันว่าจะร่วมเดินทางเพื่อปฏิบัติบูชาในวันสุดท้ายของการเดินทางเพื่อย่างกิเลสสู่ดอยอินทนนท์ในครั้งนี้

การเดินทางครั้งนี้ตามโปรแกรมของกลุ่มหลักจะออกเดินทางกันวันศุกร์นี้ (๓๐ เมษายน ๒๕๕๓) ซึ่งจะเดินเท้าขึ้นดอยอินทนนท์ด้วยระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร โดยกำหนดคร่าว ๆ ว่าจะใช้เวลา 10 วัน ซึ่งวางแผนไว้ว่าจะถึงพระธาตุเจดีย์ในวันอาทิตย์ที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓

ตอนนั้นที่นั่งผมฟังก็คิดว่า อาจจะร่วมเดินด้วยในช่วง 2 กิโลเมตรที่เด็ก ๆ กลุ่มนี้เดินทาง แต่ในช่วงเช้าที่ผ่านมาระหว่างนั่งทานข้าวไปก็คิดไปคิดมาว่าน่าจะเดินให้นานกว่านี้หน่อยจึงตัดสินใจว่าเมื่อเสร็จภาระกิจงานที่นี่แล้วจะร่วมเดินทางไปสมทบในวันจันทร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ซึ่งจะมีเวลาร่วมเดินทางประมาณ ๗ วัน

ซึ่งการเดินทางครั้งนี้จะต้องเดินเท้าระยะทางโดยเฉลี่ยแต่ละวันประมาณ ๑๕ กิโลเมตร โดยจะต้องเดินขึ้น เดินลงบนทางถนนที่คดเคี้ยว ถึงแม้นระยะทางจะไม่ไกลมาก แต่สัมภาระที่จะต้องแบกไว้บนบ่าซึ่งมีน้ำหนักประมาณ ๒๐ กิโลเมตรและโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร้อนจากแสงแดดในเวลากลางวันนั้นจำเป็นจะต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการเดินทาง

สิ่งที่ต้องใช้เวลาการปรับสภาพนอกจากความแข็งแกรงของกล้ามเนื้อที่เด็ก ๆ มีการซ้อมเดินกันมาร่วมเดือนแล้วนั้น สิ่งที่สำคัญมากคือต้องหัด "ดื่มน้ำให้เป็น"

ปัญหาที่คนส่วนใหญ่มักจะไม่คิดว่าเป็นปัญหาก็คือ "เมื่อร่างกายเสียเหงื่อมากจะต้องดื่มน้ำเข้าไปชดเชย" แต่ทว่าความจริงของการเดินแบบนี้นั้นเราไม่สามารถดื่มน้ำมากเช่นนั้นได้ ใครดื่มน้ำไม่เป็น คือหิวก็ดื่ม หิวก็ดื่ม ดื่มอั้ก ๆ ๆ ลงไป เดินไปไม่เท่าไหร่ก็ "เท้าบวม"

อาการ "น้ำลงเท้า" จะเกิดกับที่ดื่มน้ำไม่เป็น พอเท้าบวมก็เดินไม่ได้ หรือเดินได้ก็ช้าเพราะทั้งปวดและไม่ถนัด

ดังนั้นในวันนี้ระหว่างที่ผมต้องทำงานกรรมกรอยู่กลางแดด ต้องเดินไปเดินมา ขนปูน ขนทราย ก็พยายามที่จะเริ่มปรับสภาพร่างกายโดยจะต้องดื่มน้ำ "ทีละอึก"

วันนี้ผมพยายามดื่มน้ำให้น้อยที่สุดในระหว่างการทำงานกลางแดด ถ้าหิวมากก็ดื่มลงไปอึกหนึ่งเพื่อให้หายคอแห้ง แต่ตามธรรมชาติของคนเรานั้นถ้าหิวแบบนั้นก็มักจะกระดกเอื๊อก ๆ ๆ ลงไปเลย แต่นั่นจะทำได้ก็ต่อเมื่อ เราดื่มแล้วไม่ได้เดินไปไหนไกล หรือดื่มแล้วนั่งอยู่เฉย ๆ

วันนี้ในระหว่างการทำงานกับแดดร้อน ๆ สามชั่วโมง ผมดื่มน้ำลดไปเพียงแค่คอขวดเท่านั้น ซึ่งผมกะไว้ว่า ถ้าเดินจริง ๆ ระยะทางประมาณ 10-15 กิโลเมตรกลางแดด ผมจะต้องไม่ดื่มน้ำเกินกว่า 1 ขวดเล็ก (600 CC) เพราะถ้าดื่มมากกว่านั้น "เท้าบวม" แน่

การฝึกเพื่อลดปริมาณน้ำในวันนี้ ในหนึ่งชั่วโมงแรกทรมานมาก หิวน้ำใจแทบขาด แต่ทว่าร่างกายของเรานี้มหัศจรรย์อย่างเหลือที่สุด พอเข้าชั่วโมงที่สอง ชั่วโมงที่สาม อาการหิวน้ำเริ่มลดน้อยลง ถ้ากระหายเมื่อไหร่ ผมจะอดทนไว้ซักพักหนึ่งก่อน จากนั้นเมื่อกระหายครั้งที่สองหรือสามจึงค่อย ๆ ดื่มน้ำกลั้วคอลงไปสักอึกสองอึก

ในชั่วโมงที่สองร่างกายผมเริ่ชินกับการดื่มน้ำเพียงแค่นั้น เพราะไม่มีอาการโหยหรือกระหายน้ำมากเหมือนช่วงแรก ๆ

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงที่ 3 ร่างกายผมกลับเริ่ม "ปกติ" ถึงแม้ว่าเหงื่อจะออกมากแต่ก็ไม่มีการเพลียหรืออ่อนแรงให้เห็นอย่างเด่นชัด

แต่วันนี้ผมทำงานได้เพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะช่วงเวลาประมาณบ่ายสองโมงมีพายุลมแรงและมีฝนตกลงมาจึงทำให้ต้องหยุดงานไว้แค่นั้น

พอหยุดงานกลับมาที่พัก ผมก็เริ่มดื่มน้ำมาก เพราะรู้ว่าไม่ต้องเดินออกไปไหนแล้วกว่าฝนจะหยุด แต่พอดื่มลงไปมากก็เริ่มรู้สึก "จุก" เพราะเหมือนร่างกายปรับสภาพไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีคนชงโกโก้ใส่น้ำแข็งมาให้ พอดื่มลงไปรู้สึกว่าร่างกายเริ่มแปรปรวน

ในช่วงนี้ระหว่างที่ทำงานอยู่ผมก็จะค่อย ๆ ปรับสภาพการดื่มน้ำของตนเองไปเรื่อย ๆ เพื่อวันที่เดินทางจริงจะได้ "ดื่มน้ำเป็น"...

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๒๗ เมษายน ๒๕๕๓

คำสำคัญ (Tags): #bar#r2r#ธุดงค์
หมายเลขบันทึก: 354542เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2010 22:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 23:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับ ทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องฝึกต้องหัด

กิเลสก็ต้องจับมามัดหัดฝึก จึงจะบังคับได้

ทำเป็นเล่นไป

เราสูญเสียงบประมาณ สอนให้คนล้างมือหลายล้าน

เราสูญเสียงบประมาณ สอนให้คนหัดหายใจ ก็หลายตัง

เราต้องสูญเสียงบประมาณ สอนให้คนกินเป็น อ้านนี้ก็มากครับท่าน

เริ่มย่างกิเลส เพื่อช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ ด้วยการฝึกจิต ย่างใจได้ประโยชน์หลายประการครับ

namsha เคยทำกิจกรรมที่ต้องเซฟร่างกาย  เตรียมน้ำไว้ 2 ขวด (750 ml.) 10 ชม.กินไม่ถึงขวด  ร่างกายของเรามีการปรับสภาพสองชั่วโมงแรกหิวค่ะ  หลังจากนั้นร่างกายจะปรับได้

ขออนุโมทนาด้วยนะคะ

ช่วงหลายวันมานี้ได้ทดลองดื่มอะไรหลายอย่าง ไมว่าจะเป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ หรือเครื่องดื่มที่ให้พลังงานประเภทน้ำตาล แต่ส่วนใหญ่แล้วยิ่งดื่มน้ำตาลมากยิ่งหิว ดื่มมากเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานกลางแดดก็คือ "น้ำเปล่า"

น้ำเปล่าดื่มแล้วอิ่มที่สุด อิ่มในที่นี้ก็คือ ดื่มแล้วจบ รู้จักพอ ไม่อยาก ไม่กระตุ้นเหมือนสารให้ความหวานชนิดต่าง ๆ  

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท