อ่านอย่างไร


อ่านอย่างไรดี

 

อ่านอย่างไรให้จำได้ 

การจำในทีนี้ ไม่ได้หมายความถึงการจำโดยการท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่ขอเน้นการจำในลักษณะ ของความเข้าใจ หรือการจำอย่างมีความหมาย จำอย่างมีความคิดความเข้าใจในเนื้อหาที่ได้เรียนจากเอกสารการสอน การอ่านเอกสารการสอนให้จำได้สามารถปฏิบัติได้ดังนี้

อ่านส่วนนำของเนื้อหา

การอ่านส่วนนำของเนื้อหา จะทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพรวมของเนื้อหา ความสัมพันธ์ของเนื้อหา รวมทั้งเป้าหมายของเนื้อหาที่จะเรียน ซึ่งในเอกสารการสอน ได้มีส่วนนำของเนื้อหาอยู่แล้ว คือ แผนการสอนประจำหน่วยและแผนการสอนประจำตอน นั่นเองการอ่านทำความเข้าใจและสามารถจำแนวคิดได้ จะช่วยให้จำหัวเรื่องหลัก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเนื้อหาที่จะนำไปสู่เนื้อหาย่อยของแต่ละหัวข้อ

จัดระบบของเนื้อหา

เมื่อถึงส่วนของเนื้อหา ขณะอ่าน พยายามจัดระบบของเนื้อหา เช่น จัดกลุ่ม หรือ เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของหัวข้อและเนื้อหา การเปรียบเทียบเนื้อหา เป็นต้น จะทำให้มองเห็นกลุ่มก้อน ความเชื่อมโยง ความเหมือนหรือความแตกต่างของเนื้อหา ซึ่งจะช่วยให้จำได้ง่ายขึ้น ในทางปฏิบัตินักศึกษาควรอ่านเป็นส่วนๆทีละเรื่องโดยอ่าน 2 รอบ รอบแรกเป็นการอ่านคร่าวๆ เพื่อจับประเด็นของเนื้อหาให้ได้ก่อนว่า มีใจความสำคัญอะไร รอบที่สองเป็นการอ่านเพื่อขจัดระบบของเนื้อหา

เชื่อมโยงความรู้เดิม

ขณะอ่านหากนักศึกษาได้มีการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้หรือ ประสบการณ์เดิม จะช่วยทำให้จำเนื้อหาความรู้ใหม่ได้ดี ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ความรู้เดิมที่เพิ่งจำได้ก็คือ แนวคิดและวัตถุประสงค์ในแผนการสอนที่ผู้เขียนแนะนำให้จดจำไว้ในข้อที่ 1 ซึ่งเมื่ออ่านเนื้อหาแล้วจะช่วยเชื่อมโยงรายละเอียดเข้ากับหัวข้อนั่นเอง หรือนักศึกษาอาจเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมในเรื่องอื่นๆ หรือประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยการนึกย้อนทบทวนถึงความรู้เดิมที่เกี่ยวข้อง เพื่อมาคิดวิเคราะห์กับสิ่งใหม่ จะช่วยให้เห็นว่าข้อความใหม่คืออะไร เหมือนหรือแตกต่างกับความรู้เดิมอย่างไร

จดบันทึก

การจดบันทึก เป็นการถ่ายทอดความคิดให้เห็นเป็นรูปธรรม เมื่อนักศึกษาได้ทำความเข้าใจในข้อความรู้ หรือ สามารถจัดโครงสร้างหมวดหมู่ของเนื้อหาแล้ว นักศึกษาควรจดบันทึกลงในสมุดจะช่วยให้จำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้นในทางปฏิบัติ นักศึกษาสามารถจดบันทึกสาระสำคัญในแบบฝึกปฏิบัติโดยบันทึกตามความเข้าใจและถ้อยคำภาษาของตนเอง หรืออาจเขียนแผนภูมิโครงสร้างของเนื้อหาตามความเข้าใจ
ของตนเองจะเป็นการช่วยทวนซ้ำและระลึกข้อความรู้ในขณะจดบันทึก จะช่วยให้จำได้ดี ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการ "ลอก" เนื้อหาจากเอกสารการสอนเพราะจะไม่ช่วยให้จำในขณะอ่านเท่าใดนัก

อ่านส่วนสรุป

ในบางส่วนของเอกสารการสอนอาจมีส่วนที่สรุปเนื้อหาที่ได้กล่าวไปแล้ว การอ่านส่วนสรุปจะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น นอกจากนี้หลังจากที่ได้ทำแบบฝึกปฏิบัติแล้ว การอ่านแนวตอบกิจกรรม ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสรุปเนื้อหาและช่วยจำอีกส่วนหนึ่ง  

ทวนซ้ำขณะอ่าน

การทวนซ้ำ เป็นวิธีธรรมชาติของการจำที่บุคคลใช้กันมานาน ที่ยังมีผลต่อการจำ อย่างไรก็ตาม การทวนซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับปริมาณของเนื้อหาและจำนวนครั้งของการทวนซ้ำ หากปริมาณเนื้อหาไม่มากนัก จำนวนครั้งของการทวนจะน้อย ประกอบกับหากมีการเชื่อมโยงความรู้หรือจัดหมวดหมู่จะช่วยให้การทวนซ้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ทดสอบตนเอง

การทดสอบตนเองเป็นการฝึกในการระลึกถึงสิ่งที่ได้เคยจดจำไปแล้ว เป็นการฝึกซ้อมกระบวนการในการดึงเอาข้อความรู้ออกมาเปรียบเสมือนกับการที่นักศึกษาเก็บข้อมูลไว้ในแฟ้มในตู้ลิ้นชักที่จัดไว้เป็นระบบ เป็นการเก็บจำ การทดสอบโดยการระลึกความจำเป็นการวิ่งกลับไปเปิดลิ้นชักเพื่อค้นหาแฟ้มและเปิดดูข้อมูล หากจัดระบบดี การเรียกข้อมูลก็จะรวดเร็วและถูกต้อง ในการทดสอบตนเอง หากระลึกได้ช้า หรือไม่ถูกต้องอาจเกิดจากการเก็บจำไม่ดี ข้อความรู้อาจจัดไม่เป็นระบบ หรือจำในปริมาณทีมากเกินไป ซึ่งสามารถกลับไปทบทวนความจำนั้นใหม่ หรือจัดระบบการจำเนื้อหาใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

หลีกเลี่ยงสิ่งรบกวน

การอ่านเอกสารการสอนหลายชุดวิชาในเวลาติดๆ กัน หรืออ่านในขณะที่สมองเพิ่งจดจำสิ่งอื่นๆ ในชีวิตประจำวันอาจมีผลในการรบกวนทั้งย้อนระงับและตามระงับ ซึ่งเป็นผลต่อการรบกวนความจำ ดังนั้น นักศึกษาอาจพิจารณาเลือกเวลาเรียนที่ปลอดโปร่งจากการรบกวนในความคิด เช่น ช่วงเวลาก่อนนอนหลังจากที่อาบน้ำและพักผ่อนมาพอสมควร หรือช่วงเช้าหลังตื่นนอน ซึ่งเป็นเวลาที่ดีที่สุด โดยอาจอ่านวันละชุดวิชาในตอนค่ำแล้วทบทวนอีกเล็กน้อยในตอนเช้า มาถึงตอนนี้แล้ว นักศึกษาจะพอทราบแนวทางในการอ่านเอกสารการสอนให้จำได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลืมว่าการอ่านเอกสารการสอนให้เกิดการเรียนรู้และจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังต้องอาศัยระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร จึงควรตระหนักว่า การศึกษาเอกสารการสอนอย่างต่อเนื่องตลอดภาคการศึกษาเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ เพราะจะเป็นการช่วยให้กระบวนการเก็บจำดำเนินไปอย่างมีระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทีละน้อย ทีละส่วนของเนื้อหา ส่งผลให้เก็บจำได้มาก และยาวนาน และสามารถเรียกความรู้ที่ได้เก็บจำไปแล้วออกมาใช้ หรือตอบ 

 

คำสำคัญ (Tags): #อ่านอย่างไร
หมายเลขบันทึก: 353553เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2010 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท