จับวัวมาเดินเรียน


รักวัวให้ผูก รักอุ้ยให้การบ้าน

(ลูกวัวนอนอาบแดดอย่างสงบสุข)

หัวข้อนี้เป็นชื่อวิชาที่ชาวจิตวิทยาปรึกษาจุฬาลงกรณ์ จะลงมาปักหลักขยายความรู้กัน ในชั้นนี้มหาชีวาลัยขอออกแบบวิธีเรียนไปเรื่อยๆ เพื่อเกริ่นนำให้วิทยากรท่านอื่นได้รับลูก ได้รู้ตัวรู้ใจ ว่าจะโยนไมค์ในเรื่องทำนองนี้เน้อ ในช่วงกิจกรรมเดินตามเจ้าสำนัก..ผมจะออกแบบเชิงกิจกรรมที่มีทั้งเรื่องพืช และสัตว์ เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการตั้งวงขยำความรู้ จากสมมุติฐานที่ว่า เปิดวิธีเรียนสู่โลกกว้าง ให้ทุกอย่างเป็นครู เราจะเอาวิธีเก่าๆใส่ตะกร้าล้างน้ำ เลือกเอาสิ่งดีๆเอามาปะติดปะต่อกับความรู้ใหม่ ซึ่งเรื่องอย่างนี้มีเยอะและน่าสนใจด้วยสิครับ เช่น ถ้าเอาวัวมาเป็นตัวเดินแต้มความรู้ โจทย์ของเราคงแตกต่างจากของเดิมที่บอกว่า “ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่” แต่ของชาวค่ายรุ่นนี้ จะแบ่งออก6 กลุ่ม (กลุ่มละกี่คนเอาไว้ให้พร้อมหน้าพร้อมตาเราค่อยนับกัน) แต่ละกลุ่มผมจะแจกวัวกลุ่มละตัว ให้จูงออกจากคอก ..เพื่อไปดู”ให้เห็นวัวทั้งตัว” ไม่ใช่ดูเฉพาะหางหรือดูเฉพาะส่วน ถ้ารู้เห็นไปถึงหัวอกวัวได้ด้วยละเยี่ยมเลย นึกเห็นภาพตอนจูงวัวก็สนุกแล้วละครับ ..ทดลองให้เลี้ยงวัวกลุ่มละ 1-2 ชั่วโมง 

>จะพาวัวเดินไปทางไหนก็ได้เพราะพื้นที่กว้างขวาง

>พาไปแล้ว สังเกตพฤติกรรมของวัวอย่างประณีต

>ปรึกษาภายในกลุ่ม-มองเห็นอะไร-เข้าใจว่าอย่างไร-ตีความออกมา

>เก็บจุดพิเศษมาบอกเล่าในกลุ่มใหญ่

>ปรึกษากันให้เสร็จสรรพว่าจะถ่ายทอดเนื้อหาด้วยสื่ออะไร

>ภาพถ่าย-PowerPoint-ละครย่อย ฯลฯ

(วัวไทยลูกผสมจะเชื่องกว่าวัวพันธุ์แท้ต่างประเทศ)

มหาชีวาลัยอีสานเลี้ยงวัวเรื่อยมาไม่เคยขาด เลี้ยงไปเรียนรู้ไป รู้บ้างไม่รู้บ้างอิหลุกขลุกขลักพอสมควร พยายามตั้งสมมุติฐานต่างๆ มองในส่วนที่ชาวบ้านบอกว่าเป็นทุน เป็นออมสิน เป็นเหมือนทองไว้จำนำหรือขายแก้ขัดช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ วัวจึงอยู่กับสังคมไทยมานาน ต่อมามีผู้นำวัวสายพันธุ์ต่างประเทศมาเลี้ยงในบ้านเรา แยกเป็นวัวนมกับวัวเนื้อ การส่งเสริมและพัฒนาทั้งโดยตรงและทางอ้อมจึงฮือฮา ไม่เคยสร่างซ่าไปจากวงการปศุสัตว์

สมัยที่เห่อเลี้ยงวัวงามพันธุ์หูยาว แห่กันไปซื้อมาจากประเทศบาซิล มาถึงก็เลี้ยงประคบประหงมลูบเช้าลูบเย็น ปั่นราคาขายน้ำเชื้อผสมเทียมหลอดละ1,000-10,000บาท ช่วงนั้นวงการวัวคึกคักทั้งประเทศ วัวพวกนี้ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจึงเติบโตสวยงามโครงร่างใหญ่ยังกะตึก ใครเห็นก็โอ้โฮอ้าปากหวอ คะยั้นคะยอซื้อลูกวัวไปเลี้ยงกันตัวละหลายแสนบาท เหมือนกับการปั่นราคาที่ดินบางยุคไม่มีผิด ปั่นกันไปปั่นกันมาช่วงแรกก็ชื่นชมสมอุรากันทุกฝ่าย พอวัวงามกระจายไปถึงจุดอิ่มตัว ตอนไปขายระบายออกนี่สิครับ พ่อค้าเขียงเนื้อตีราคาตามน้ำหนักเนื้อ ไม่ได้ตีราคาจากการดูว่าหูยาวกี่นิ้วบิดเกลียวกี่รอบ lสุดท้ายวัวตัวใหญ่ๆขายได้ราคาตัวละ2-3หมื่นบาท ทั้งๆที่ซื้อมาตัวละหลายแสนบาท ความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แต่ความจริงทำเอาคนเลี้ยงวัวฮินดูบาร์มซินแทบผูกคอตาย เจ๊งไปตามๆกันนะสิครับ การเลี้ยงวัวก็หง๋อยไปพักหนึ่ง

(วัวแม่ง้อง ปัมลูกออกมาปีละตัว อีกไม่กี่วันก็จะปัมอีก)

การเลี้ยงวัวอยู่ในความนิยมชาวบ้านอยู่เสมอ เงียบไปไม่นานก็ตีปีกกันอีก สูตรเดียวกับพวกวางแผนขายต้นไม้ปีละ1ชนิดนั่นแหละ บางปีก็ขายว่าน ขายไม้กฤษณา ไม้ยมหอม ปีที่ผ่านมาแหกตาขายต้นตากูได้ไปหลายร้อยล้านบาท วัวก็เช่นกัน มีโครงการวัวอีสานเขียว โครงการวัวเงินล้าน ต่อไปไม่ทราบว่าจะมีวัวประหลาดๆอะไรมาอีก มหาชีวาลัยอีสานปลูกต้นไม้เป็นหลัก พื้นล่างว่างๆก็ปลูกหญ้าเลี้ยงวัว แต่ไม่ได้วิ่งตามกระแสอย่างที่เล่าข้างต้น

("หนูแดง" เป็นวัวลูกผสมที่ปรับปรุงพันธุ์ของเรา)

ยุคแรกๆไปเหมาวัวบาร์หมันลูกผสมมาเลี้ยง1ฝูง ต่อมาไปเอาวัวพันธุ์เดร๊าท์มาสเตอร์จากออสเตรเลียมาเลี้ยงรวมฝูง ได้วัวลูกผสมก็เลี้ยงมาขายไป ไม่ได้เลี้ยงอย่างมืออาชีพหรอกนะครับ เลี้ยงเอามูลเอาปุ๋ย เลี้ยงสนุกๆมากกว่า ครั้งท้ายสุดเลี้ยงวัวพันธุ์ซาฮิวาล ไปได้พันธุ์มาจากกรมปศุสัตว์ เป็นวัวพันธุ์แท้จากประเทศปากีสถาน มีคุณสมบัติเป็นได้ทั้งวัวนมและวัวเนื้อ ที่เหมาะกับการเลี้ยงตามสภาพครัวเรือนเกษตรกร ที่ไม่ต้องจัดการฟาร์มแบบโคนม100% สวนป่าขณะนี้จึงมีวัวลูกผสมอยู่เดิม1ฝูง กับ วัวซาฮิวาล1ฝูง รวมแล้วมีจำนวนประมาณ 30 ตัว

("แม่ง้อง" สามารถเปลี่ยนวัชพืชหลายชนิดมาเป็นอาหารสัตว์)

เล่ามาตั้งนานเข้าเรื่องเสียที.. เมื่อ4ปีที่แล้ว คนงานเลี้ยงวัวลาออก ผมมีพ่อพันธุ์วัว3สายเลือดสวยมากราคาขายได้หลายหมื่น ได้ยกวัวตัวนี้ให้คนงานเป็นของฝากติดตัวไป บอกว่า..ให้เอาไปรับจ้างผสมพันธุ์เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ในหมู่บ้าน แกก็จะมีเงินค่ากับข้าวไปเรื่อยๆ คนงานมีวัวไทยท้องแก่ แกจูงมายกให้ผมไว้ดูต่างหน้า..แกเรียกชื่อว่า”แม่ง้อง” คงเรียกตามลักษณะเขาที่กุดงอเล็กๆ ผมก็เลี้ยงแม่ง้องจนคลอดลูกเป็นตัวเมีย ตั้งชื่อ“หนูแดง” เพราะผิวสีแดง รูปร่างปานกลางลักษณะดี แม่ง้องที่คิดว่าเป็นวัวแก่หมดอายุเจริญพันธุ์แล้ว กลับตกลูกให้เราทุกปี เป็นตัวเมียทั้งหมด ลูกๆแม่ง้องโตขึ้นก็ช่วยขยายพันธุ์วัวไทยพันธุ์กระป๋องออกมาเรื่อยๆ ตอนนี้เรามีแม่วัวไทยอยู่ประมาณ6-7ตัว อีกหน่อยก็มีวัวไทยพันธุ์ขี้แก่นเต็มคอก ข้อดีของวัวพันธุ์ไทยลูกผสมของเราก็คือ

1. เลี้ยงง่าย ในสภาพอาหารไม่สมบูรณ์ก็อ้วนได้

2. ให้ลูกทุกปี

3. เชื่องมาก

4. ซื้อง่ายขายคล่อง

5. เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศบ้านเรา

6. ฯลฯ

(วัวพันธุ์ต่างประเทศ ถ้าเลี้ยงไม่ดีจะมีแต่หนังหุ้มกระดูก)

วัวพันธุ์ต่างประเทศก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ดีอะไรนะครับ เพียงแต่รูปแบบการเลี้ยงจะต้องปรับปรุงยกระดับ เลี้ยงให้เป็นธุรกิจการเกษตรก็อาจจะพอไหว ทุกเรื่องมีจุดดี-จุดด้อย-อยู่ในตัวเอง เรื่องดีและด้อยนี่เองที่เป็นเนื้อหาให้ชาวค่ายที่จูงวัวออกไปแต่ละกลุ่ม จะต้องตีแตกในประเด็นกว้างๆ ไม่มีผิด-มีถูก-มีอิสระในการขยายความเห็นแบบไม่อั้น.. เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า ความรู้นั้นดิ้นได้ ไม่ได้หยุดนิ่ง ถ้าผู้เรียนเกาะติดสะกดรอยความเปลี่ยนแปลง แล้วนำค่าความจริงเหล่านั้นมาออกแบบชุดความรู้เชิงประจักษ์ ว่าด้วยการเลี้ยงโคที่เหมาะสมกับฟาร์มมหาชีวาลัยอีสาน ขอขมวดปม เฉพาะที่นะครับ ถ้าจะตีความยาวสาวความยืดออกไปในวงกว้างค่อยว่ากันอีกที หัวใจอยู่ที่แต่ละกลุ่มจะมีข้อเสนอแนะอย่างไร?

ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเรื่องมูลโค การทำปุ๋ยอินทรีย์ การปรับปรุงพันธุ์ การดูแล พืชอาหาร จะยกยอดไปไว้ในหมวดอื่นต่อไปนะอุ้ย.

“รักวัวให้ผูก รักอุ้ยให้การบ้าน”

อิ.อิ..

หมายเลขบันทึก: 351948เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2010 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีปีใหม่คะพ่อครู

เลี้ยงวัว สักตัวไหมคะ

หาที่ทางเลี้ยงวัวไว้เป็นทุน

ขายแต่ละครั้งได้เงินก้อน

สวัสดีปีใหม่ครับ ประกาย -หน้าตาดี

เลี้ยงวัวเป็นเพื่อนก็ดีนะครับ

วัวที่เชื่องๆจะน่ารักมาก

วันที่ ๕ พ.ค จะยกทีมมา เรียนรู้ กับ พ่อครู ที่เห็น คุณค่า ของ วัว ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท