ตอนที่ 1 ตะลุยอังกอร์


โดย........นายอนุรักษ์ชน

ตอนที่  1  ตะลุยอังกอร์

 อรุณสุได  สวัสดี  หรืออรุณสวัสดิ์  เป็นคำทักทายยามพบกัน  เป็นคำแรกที่เราสนใจจะได้จดจำไว้ในการเข้าเยี่ยมชม  เมือง  เสียมราช  หรือเสียบเรียบ  ในภาษาเขมร  หรือแขมร  คณะเรารวมกัน  60  ชีวิต  ที่มาจากทั่วสารทิศของเมืองไทย  ในฐานะกลุ่มอนุรักษ์ ฯ  ที่ได้เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการอนุรักษ์ในประเทศกัมพูชา  เมื่อวันที่  19-23  ธันวาคม  2548  ไกด์นำเที่ยวได้จัดเตรียม  พาสปอร์ตลงรายการเดินทางขอวีซ่าให้เราเรียบร้อย    บริเวณด่านศุลกากร  ด่านปอยเปต  หรือตลาดโรงเกลือที่เรารู้จักกันที่  อ.อรัญประเทศ  จ.สระแก้ว  รถขนกระเป๋าทำด้วยโรงไม้หยาบ ๆ วิ่งขนของเข้าออกระหว่างด้านอก  ด้านใน  ดูวุ่นวาย  สับสน  ไม่มีระเบียบ                  คุณซาร่า  ไกด์บอกว่าไม่ต้องเป็นห่วงรถจะขนสัมภาระไปยังรถบัสเล็กด้านฝั่งเขมรซึ่งรออยู่ด้านในเมือง  สมาชิกได้จัดการทางศุลกากรเรียบร้อย  ขอให้พบกันที่รถบัสข้างใน  เราใช้เวลาเกือบ   1  ชั่วโมง  ผ่าน  2  ด่าน  ผู้คนยืนรอกันหลายกลุ่มทั้งชาวต่างประเทศ  แบกกระเป๋ารุงรังทั้งหญิงชาย  ต่างมุ่งหน้าที่จะเข้าเยี่ยมชม  สิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในโลก    และได้รับเป็นมรดกโลกเช่นเดียวกับ  สุโขทัย  กำแพงเพชร  ศรีสัชนาลัย  และที่อื่น ๆ                  กลิ่นเน่าเหม็นของน้ำเน่า    ขยะ  ฝุ่น  ตลบอบอวนตลอดเส้นทางที่เราเดินทางจากด่านไปดังรถ  ลูกเด็กเล็กแดง  แบมือขอสตางค์เพื่อยังชีพให้ดูวุ่นวายพวกเราถูกเตือนว่าอย่าไปให้เขาจะมากรูมาขอตามกัน  น่าสงสารเด็ก ๆ  โตพอจะอุ้มน้องเล็ก ๆ เข้าสะเอว  ตัวดำท่าทางหิวโซ  บ่อนกาสิโนใหญ่โตมโหฬาร  ตั้งตระหง่านอยู่ชิดขอบชายแดน  รองรับนักแสวงโชคที่จะเข้ามาเสี่ยงดวงกันโดยเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์  ดูน่าอดสูเป็นภาพที่แตกต่างในวามแตกต่างของสังคมมนุษย์ทั้งสองสถานะ                เราตรวจสอบสัมภาระอีกครั้งก่อนที่จะนำขึ้นรถที่ทางผู้จัดเตรียมว้ให้  2  คัน  ติดแอร์พอเย็น  เสียงดังจนไม่อยากคุยกัน  ทั่งจัดไว้ให้  2  คน  ชนิดแนบชิดติดกายดูน่าจะอบอุ่น  ระยะทางประมาณ  160  กิโลเมตร   จากปอยเปตถึงเสียมเรียบ     บนถนนลูกรังมีหลุมบ่อให้รถโยกซ้ายป่ายขวา  ไปมาชนิดไม่มีโอกาสจะง่วงหลับ                ผ้าขาวม้าลายผืนไม่โตนักที่คุณซาร่า   แจกตั้งแต่พบกัน  กำชับว่าให้ห้อยอกันทุกคนเพื่อสะดวกในการดูแล  ทุกคนปฏิบัติตามอย่างว่านอนสอนง่ายดูอย่างกับทหารเขียวสัมพันธ์  หลายคนใช้ผ้าขาวม้าผูกกับมือจับหลังเบาะทั่งเป็นพลาสติกแข็งจับนาน ๆจะเจ็บมือ  จึงเกิดประโยชน์ขึ้นทันที  1  อย่าง  ในหลาย ๆ  ประโยชน์  10  ประโยชน์ที่กำลังจะเกิดขึ้น                 ถนนแบ ๆ  รถพอสวนกันได้ในความเร็ว  30-40  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  น่าหวาดเสียว  ที่มีทั้งแซงและสวนยวดยาน  อันมีทั้งรถพ่วงบรรทุกปูนซีเมนต์ถุงจากไทย  ขนหิน  ขนสัมภาระ  นำเข้าไปขายพัฒนาเมืองเสียมเรียบ  นับคันไม่ถ้วน  ซาร่าบอกว่า  65 %  เป็นสินค้านำเข้าจากไทยรวมทั้งผลไม้ด้วยเช่นกัน  ไม่น่าเชื่อ                บนถนนเส้นตรงที่สร้างโดยกองทัพญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่  2  เป็นแนวตรงเกือบตลอดเส้นทาง  160  กิโลเมตร  ด้วยตลอดทางเป็นที่ราบลุ่ม  สองข้างทางเป็นทุ่งนามองสุดลูกหูลูกตา  ไม่มีบ้านคนข้างถนน  ด้วยชาวบ้านจะตั้งบ้านเรือนอยู่ด้านในไกลถนนให้มากที่สุด  ด้วยเพื่อให้ห่างไกลจากกองทัพทหารแดง  แต่อดีตที่โหดเหี้ยม  ปล้นสดมฆ่าแกงกันไม่ยกเว้นเด็กคนแก่  ข้าวออกรวงพอที่จะเก็บเกี่ยว  มองเห็นชาวนาลงแขกเกี่ยวข้าวกันด้วยมือ  ไม่ใช้รถอย่างบ้านเราด้วยมีแรงงานพอเพียงที่จะดำเนินกิจการนาจนแล้วเสร็จ  ซึ่งข้าวเปลือกก็ส่งประเทศไทย  ออกขายต่างประเทศในนามไทยแลนด์ศิวิลัย                น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ด้วยภูมิประเทศกัมพูชา เป็นลักษณะท้องกระทะรับน้ำจากที่ราบสูงเมืองไทย  จนได้รับสมญานามว่าเป็นเขมรต่ำ  เขมรสูงคือสุรินทร์  บุรีรัมย์  ศรีสะเกษ  เป็นต้น  นำน้ำปะปนสารตกค้างไปลงสู่แหล่งน้ำในเขมรน่าสงสาร  แต่ก็ด้วยคงมีปริมาณน้ำไม่มากพอที่จะทำให้นาข้าวจำนวนมหาศาลเสียหายได้  มีคลองธรรมชาติเป็นระยะทั้งเล็กใหญ่ตลอดเส้นทาง                รถที่แซงเราได้ก็มีรถแท็กซี่  รถโดยสารซึ่งนั่งกันเต็มพิกัด  อัดแน่นเป็นปลากระป๋อง  ด้วยน้ำมันราลิตรละ  38  บาท  รถกระบะโดยสารถูกหน่อยอัดกันในกระบะหลังได้  30  คน  เหมือนกับรถขนคนงานตัดอ้อยบ้านเรา  เด็กท้ายรถนั่งบนฝากระโปรงหน้า  น่าอันตราย  คุณซาร่าบอกคนไทยอย่าเอาไปเป็นตัวอย่าง  ด้วยความสามารถเฉพาะตัว

                วิ่งมาได้ชั่วโมงกว่าก็ถึงจุดพักจอดจุดแรกซึ่งเป็นเวลาอาหารกลางวันที่ได้จัดเตียมไว้ให้คณะเรากลางทุ่งนา  มีห้องน้ำ  ห้องท่ารองรับนักท่องเที่ยวไทยและยุโรป  เขาบอกว่านี่คือภัตราคารกลางทุ่ง  มุงหญ้าคา  เหมือนกับประเทศเราตามข้างทางทั่วไปเมื่อสมัย  40-50  ปีที่แล้วมา  อาหารประจำคือ  ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม  แกงไก่เขมรเนื้อแข็งกระดูกเล็ก  เช่นเดียวกับไก่พื้นบ้านประเทศไทย  ข้าวสวยเม็ดเล็กเหนียวอร่อยมาก  ข้าวไม่ปนเปื้อน  ด้วยทั้งหมดไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี  และยาปราบศัตรูพืช  น่ายินดีกับเขามาก  ตบท้ายด้วยผลไม้  กล้วยน้ำว้าผ่าเป็นท่อน  แตงโม  สับประรดหวานฉ่ำ  ถามว่ามาจากไหนก็จากเมืองไทยอีกเช่นกัน 

                โซบาย  โซบาย  ....แปลว่า  ขอข้าหน่อย  ขอข้าวเพิ่มอีก  ด้วยสภาพของถนนจึงทำให้ทุกนโซบาย  โซบาย  กันเป็นแถว  คงไม่เป็นไรเพราะข้าวคงราคาถูกมาก  กับข้าวทุกอย่างเค็มไว้ไม่อย่างนั้นคงจะเปลือง  ไม่ว่ากัน  น้ำดื่มเป็นขวดแบบบ้านเราแต่เห็นว่าแพงมากขวดเล็กขวดละ  1US  แต่เป็นมื้อบังคับไม่เป็นไร

  

                คุณซาร่าบอกเราก่อนกินข้าวอิ่มแล้วก็ขอให้ทุกคนกล่าวคำว่า  ออกุน  ออกุน  ด้วยแปลว่าขอบคุณ  เลยไม่รู้ว่าเรามาขอข้าเขากินหรือเปล่า  หรือกินข้าวอย่างมีบุญคุณ  หรือว่าแม้แต่จะเสียเงินก็ต้องขอบคุณด้วย  หรืออาจจะคิดให้ดีว่าถ้าเขาไม่มาตั้งร้านกลางทุ่งแบบนี้เราคงอดกินข้าวหรือว่าการขอบคุณพระเจ้ากันแน่

                เราใช้เวลาประมาณ  1  ชั่วโมง  เข้าห้องน้ำกันให้เรียบร้อย  ด้วยข้างทางไม่มีสิทธิ์ยิงกระต่าย  เก็บดอกไม้กลางทุ่งแน่นอน  นอกจากจำเป็นจริง ๆดังนั้นจึงต้องรอบครอบ  รถวิ่งๆคลาน ๆมาอีกชั่วโมงกว่าจึงถึงที่พักรถ  เป็นชุมชนเล็ก ๆ มีอาคารพาณิชย์  ก่อสร้างด้วยคอนกรีตน่าจะตั้งแต่ช่วงฝรั่งเศสยังปกครอง  ด้วยยังปรากฏศิลปสถาปัตยกรรมแบบสไตส์ยุโรปอยู่หลายหลัง  มีตลาดสด  ผู้คนมากมาย 

                จุดพักรถจุดนี้เป็นการชำระล้างฝุ่นลูกรักที่ติดอยู่ในช่วงระบายความร้อนเครื่องยนต์  และเครื่องแอร์  เด็ดเล็ก ๆ  มีหน้าที่ฉีดน้ำชำระล้างรอบตัวรถ  น้ำแรงดันสูงจากเองปั้มลม  เหมือนร้านบริการล้างรถบ้านเรา  คันแล้วคันเล่าทั่วบริเวณจึงนองไปด้วยน้ำฝุ่นแดงทั้งบริเวณไม่เคยแห้ง  คงเป็นจุดบริการล้างรถทั่วไปที่ผ่านไปมาตลอดทั้งวัน    บริการเข้าห้องน้ำทั้งหนักและเบา  5  บาทหรือ  500  เรียว  เป็นเงินสกุลเขมร  ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน  1  บาทเท่ากับ  100  เรียว  เมืองนี้ใช้เงินไทย  หรือ ดอร์ล่าก็ได้  เวลาแลกเปลี่ยนต้องระวังเพราะเวลาคิด  US เขาจะคิดง่าย ๆ ไม่คิดเศษ  คือ  1  US  เขาจะคิด  50  บาท  เลยทันทีเพราะทอนเศษยาก

                ซาร่าบอกว่ามีอาชีพไกด์นี้ดีไม่ต้องเสียเงินเวลาพาลูกทัวร์ไปกินข้าวที่ไหนก็กินฟรี  นั่นก็แสดงว่าแวะตรงนี้ก็คงจะฉี่ฟรีอีกเช่นกัน    เรายังคงต้องเดินทางอีกประมาณ  1  ชั่วโมง  หรืออีกประมาณ  50  กิโลเมตร    ทางจะดีขึ้นเล็กน้อย  จะพบถนนลาดยาง  15  กิโลเมตร  และจะเริ่มมีบ้านคนข้างทาง  บริเวณทั่วไปจะเริ่มเป็นที่ดอนมีร่องลอยการตั้งบ้านเรือนกัน  เรือนบ้านคนที่นี่ใต้ถุนยกสูงมาก  สูงกว่าเมืองไทย  ด้วยเหตุที่ว่ากันน้ำท่วม  ความสูงน่าจะประมาณ  3  เมตร  ขึ้นไปที่ตอม่อเป็นคอนกรีตต่ำ  เขาบอกว่าจะทำเดือยไว้ที่เสาพร้อมยกเคลื่อนย้ายง่ายได้ง่าย   ตีนเสาไม่ฝังดินเหมือนเรือนไทยภาคใต้ของไทย  เรือนส่วนใหญ่เป็นทรงกึ่งมะลิลา  บ้านนี้เขาไม่รู้เรียกทรงอะไร  หรือเขาคงเรียกทรงกัมพูชา  ตามแบบฉบับเขา  เป็นเรือนแฝด  แบบไทย  บางหลังมี  3  เรือนติดกัน  แต่ไม่เห็นนอกชายแปลกดี

                โชเฟอร์ตัวดำ  อารมณ์ดี  ค่อย ๆ จอดรถชิดขวา  แล้วก็จอดสนิท  เครื่องยนต์ดับ  ติดอยู่กับเครื่องแอร์  พยายามสตาร์ด  สองสามครั้งก็ไม่ติด  ซาร่าเริ่มแสดงอาการหงุดหงิดเล็กน้อย  แต่ก็ด้วยวามเป็นมัคคุเทศก์มืออาชีพมีประสบการณ์  ประกาศออกไมโคโฟน  บอกพวกเราว่าน้ำมันรถหมดคงถูกขโมยเมื่อคืนที่จอดรถคอยพวกเรา    ด้วยน้ำมันราคาลิตรละ  38  บาท

                พวกเราก็ต้องยอมนั่งพักคอย  บางคนก็ลงรถไปเดินดูเด็ก ๆเล่น   ทอดแหปลาข้างถนนเก็บผักหญ้าข้าคูน้ำ  ระบายอารมณ์  สักพักใหญ่  โชเฟอร์ก็หิ้วถังน้ำมันซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์มาเติมสตาร์ด  รถติดเดินทาง  ได้เสียเวลาอีกเกือบชั่วโมงเป็นการแถมฟรี  ไกด์อารมณ์ดีหาเรื่องเราทายปัญหาแก้เหงา  เล่าเรื่องส่วนตัว  นินทารัฐบาลตัวเอง  ให้เป็นที่ตลกขบขัน

                ซาร่าบอกว่าเขาเป็นข้าราชการกระทรวงการท่องเที่ยวกินเงินเดือนหลวง  1,500  เรียว  สิ้นเดือนก็ไปรับเงินเดือนแต่ไม่ต้องนั่งทำงานเพราะไม่มีเก้าอี้นั่ง  ข้าราชการกรมนี้ปลดเกษียรแล้วก็ไม่ยอมปลดตัวเอง  ขอมาทำงาน  โต๊ะ  ก็เลยไม่มีนั่ง  ข้าราชการพักกลางวัน  3  ชั่วโมง  จะไปไหนก็ได้  บ่าย ๆมานั่งทำงานต่อตอนเย็นกลับบ้าน  ใครใคร่ไปทำงานหาเงินที่ไหนก็ไปเพราะเงินเดือนน้อยเป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน  ซาร่าเป็นคนเสียมเรียบโดยกำเนิด  จบปริญญาตรี  จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

                ขณะนี้กำลังทำปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์    ดูเป็นคนมีอนาคต  หาเวลาว่าทำทัวร์จนไม่มีเวลาทำทัวร์จนไม่มีเวลาทำวิทยานิพนธ์  เป็นรุ่นใหม่มีความรู้  ดูฉลาดเฉลียว  จะพาพวกเราเที่ยวตลุยเมืองเขมร  เมืองที่เต็มไปด้วยแหล่งอารยธรรมโบราณอันรุ่งเรืองนับพัปีที่ชื่อว่า  อังกอร์  การ์ดอร์  ธมธม  .....  สุขสบาย  สวัสดี  พบกันฉบับหน้า  ขอรับกระผม  ขยมแจะแขมร

หมายเลขบันทึก: 35161เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 23:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท