ความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD)


(Asia Cooperation Dialogue – ACD)

          ในปัจจุบันถ้าจะกล่าวถึงการรวมกลุ่มระหว่างประเทศแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องด้วยปัจจุบันหลายๆทวีปหันมารวมกลุ่มกันเพื่อที่จะส่งเสริมความร่วมมือ สร้างศักยภาพ และเพิ่มพลังอำนาจต่อรองของสมาชิกที่รวมกลุ่ม โดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพ จุดแข็ง ความแตกต่างที่มีอยู่อย่างกว้างขวางของแต่ละสมาชิกในการรวมกลุ่ม เช่นกรณีทวีปอเมริกาเหนือที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อวัตถุประสงค์ทางเศรษฐกิจ โดยมีชื่อเรียกว่า NAFTA เห็นได้ชัดเจนว่าถึงแม้สหรัฐจะมีความแข็งแกร่งทางด้านศักยภาพอยู่แล้วก็ตาม ก็ยังมีการรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นการเพิ่มเสถียรภาพในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างในเรื่องเศรษฐกิจ

          มื่อกล่าวถึงทวีปเอเชียแล้วจะเห็นได้ว่าประเทศต่างๆในทวีปเอเชียมีคุณลักษณะที่แตกต่างกันออกไปทั้งด้านทรัพยากร อารยธรรม และบุคคลากรในด้านต่างๆ ตรงจุดนี้เองจึงเป็นสิ่งซึ่งทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดแนวความคิดเรื่อง ความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD)  เพื่อที่จะสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับทวีปเอเชียโดยอาศัยทรัพยากรที่มีความแตกต่างกันหลายๆด้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด  โดย ความร่วมมือเอเชีย (ACD) มีพันธกิจที่จะร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเกษตร การคมนาคมขนส่ง วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การบรรเทาปัญหาความยากจน และการท่องเที่ยว ซึ่งจะเห็นได้ว่าแนวความคิดดังกล่าวไม่ได้ขัดกับการรวมกลุ่มของภูมิภาคทางเอเชียที่มีมาแต่เดิม เช่นกลุ่มความร่วมมือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) กลุ่มความร่วมมือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บวกสาม (ASEAN plus 3) สมาคมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียใต้ (SAARC) กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ บังกลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกาและไทย (BIMST-EC) และ กลุ่มความร่วมมือประเทศอ่าว (GCC) เนื่องจากว่าแนวคิดความร่วมมือเอเชีย (ACD) นั้นเป็นแนวทางการเชื่อมโยงในสิ่งที่ขาดหายไป (Missing Link) อีกทั้งยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งในด้านต่างๆของกลุ่มประเทศเอเชีย โดยใช้จุดแข็งที่เฉพาะด้านของแต่ละประเทศเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างอำนาจต่อรองของเอเชียในเวทีระหว่างประเทศให้แข็งแกร่งเพื่อปกป้อง และส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการร่วมมือ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างประเทศเอเชียในทุกสาขา รวมถึงกระบวนการที่มีวิวัฒนาการอยู่อย่างต่อเนื่อง (evolving process) โดยไม่มีระเบียบวาระการประชุมที่ตายตัว เน้นแนวความคิดในเชิงบวก (positive thinking) การหารืออย่างไม่เป็นทางการ (informal and non-institutionalized) เพื่อต้องการให้มีการสร้าง comfort level สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุม และความเป็นเจ้าของเวที ACD ร่วมกัน โดยเป็น top-down process จากระดับผู้กำหนดนโยบายที่สำคัญไปกว่านั้น เวทีความร่วมมือเอเชียจะเป็นกระบวนการที่เปิดกว้างและไม่เป็นการตั้งแนวต้านหรือแนวร่วม

          ในปัจจุบัน ความร่วมมือเอเชียนั้นมีสมาชิกด้วยกันทั้งหมด 28 ประเทศซึ่งได้ครอบคลุมประเทศต่างๆในทวีปเอเชียตั้งแต่เอเชียตะวันออกถึงเอเชียตะวันตก ซึ่งในการร่วมมือเอเชียนั้นในปัจจุบันมีการดำเนินงานที่มีความจริงจังโดยแสดงให้เห็นจากการจัดการประชุมร่วมกัน หรือเรียกอีกอย่างว่า มิติของการหารือ (Dialogue) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศสมาชิกมีการปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีการประชุมด้วยกันถึง 4 ครั้งโดยในแต่ละครั้งจะมีความสำคัญที่แตกต่างกันไป เช่นในครั้งที่ 1 เป็นการประชุมที่แสดงถึงความมีบทบาทในการเป็นผู้นำของไทยในด้านต่างประเทศ ,ครั้งที่ 2 มีการแลกเปลี่ยนทัศนะในการพัฒนาการของ ACD รวมไปถึงการสนับสนุนแนวความ คิดในกระบวนการส่งเสริมการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย และให้ความสนใจที่จะร่วมมือในสาขาอื่นๆ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีทวิภาคี การท่องเที่ยว ,ครั้งที่ 3 มีการประชุมระหว่างนักวิชาการประเทศ ACD ชื่อว่า ACD High Level Seminar on Asia Cooperation and Development เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และครั้งที่ 4 เป็นการหารือในเรื่องปัญหาความมั่นคงของพลังงาน จากการประชุมที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าความร่วมมือเอเชีย (ACD) นั้นแสดงถึงความเอาจริงเอาจังของทวีปเอเชียที่เริ่มมีเวทีส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในกรอบ ACD อันเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในด้านต่างๆ

          นอกจากนี้ยังมีกลไกในการขับเคลื่อนของ ACD คือมิติโครงการ (Projects) เป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกแสดงความร่วมมือในการเสนอตัวที่จะเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนในสาขาที่ตนเองมีความสนใจและมีความเชี่ยวชาญ เช่น การค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) โดยทางประเทศมาเลเซียเสนอตัวเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อน, คณะทำงานด้านความร่วมมือด้านการคลัง (working group on financial cooperation) โดยทางประเทศไทยเสนอตัวเป็นประเทศผู้ขับเคลื่อน และ การท่องเที่ยว (tourism) โดยทางประเทศไทย กัมพูชา พม่า และปากีสถานเสนอตัวเป็นผลู้ขับเคลื่อน ฯลฯ  โดยมิติโครงการที่เห็นได้ชัดคือ ตลาดพันธบัตรเอเชีย หรือความร่วมมือทางการเงิน ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการหาแนวทางที่จะแก้ไขถึงปัญหาที่สำคัญของเอเชีย คือการขาดแหล่งเงินทุนระยะ ยาว เนื่องจากมีตลาดทุนและตลาดพันธบัตรที่มีระดับการพัฒนาค่อนข้างต่ำ ทำให้การระดมเงินเพื่อการลงทุนของผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการเงินและการใช้แหล่งเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศเป็นหลัก             ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องลดการไหลเข้าและการไหลออกของเงินทุนระยะสั้น จนมีการพัฒนาตลาดพันธบัตรในภูมิภาค ( Regional Bond Market ) เพื่อที่จะเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวสำหรับเอเชีย ทำให้มีการทดแทนเงินทุนระยะสั้นจากภายนอกเพื่อที่จะเป็นการเพิ่มเสถียรภาพของเอเชีย นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในด้านอื่นๆอีก อย่างเช่น  ความมั่นคงด้านพลังงาน (energy security) ,การเกษตร (agriculture), การค้าอิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce), การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT development), การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (human resources development) เป็นความร่วมมือเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับเอเชียที่จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับการร่วมมือกันของทวีปอื่นๆได้

          อีกทั้งยังมีกิจกรรม ACD ที่จัดขึ้นเพื่อที่จะให้ทุกประเทศเข้ามามีบทบาทและร่วมมือในทุกสาขาที่ร่วมมือกัน ยังรวมไปถึงภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน เพื่อให้เกิดการพัฒนาและมีความก้าวหน้า          ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ACD เป็นกระบวนการวิวัฒน์ (evolving process) แบบค่อยเป็นค่อยไป มีพลวัตร อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ACD จะไม่ใช่กลไกความร่วมมือซ้ำซ้อนกับกลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้ว และเป็นเวทีเดียวที่เป็นของเอเชียทั้งทวีปที่เน้นแนวคิดความร่วมมือแบบสร้างสรรค์ (positive thinking) ต่างจาก ASEAN หรือ ASEAN +3 ที่รวมสมาชิกเพียงบางประเทศเท่านั้น หรือเป็นการรวมกันของแต่ละภูมิภาคเท่านั้น          เมื่อพิจารณาจากสิ่งที่นำเสนอแล้วจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันทุกประเทศจะไม่สามารถที่จะดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ด้วยประเทศเดียว ซึ่งมีเหตุผลมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีอิทธิพลอย่างมากกับประเทศต่าง ๆ โดยกระแสโลกาภิวัตน์นั้นทำให้เกิด การเปิดเสรีทางการเงิน คือเป็นทำให้มีเงินไหลเวียนไปทั่วโลก ,มีการไหลเวียนอย่างเสรีทางด้านการค้า และมีการไหลเวียนอย่างเสรีทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อรวมทั้งสามเข้าด้วยกันแล้วทำให้เกิด Globalization จนเป็นเหตุให้ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องมีการเตรียมพร้อมที่จะรับการเกิดขึ้นของกระแสโลกาภิวัตน์ จนเป็นเหตุให้หลายๆประเทศมีการปรับปรุงตัวเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ฉะนั้นในการผลักดันให้เกิด ACD เป็นการร่วมมือกันของกลุ่มประเทศเอเชียเพื่อประโยชน์ของสมาชิกโดยแท้และประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งพร้อมที่พร้อมจะร่วมมือกับประเทศที่มีความพร้อม โดยเริ่มจากการหารือในลักษณะทวิภาคี เพื่อจัดทำเขตการค้าเสรี เป็นที่คาดหวังว่า ความสำเร็จดังกล่าวจะมีส่วนอย่างสำคัญในการเร่งรัดการดำเนินการเจรจาจัดตั้งการค้าเสรีในภูมิภาค โดยเริ่มต้นจากการให้โอกาสทางการค้าและความร่วมมือสำหรับประเทศที่พร้อมจะก้าวไปข้างหน้า

อ้างอิง : http://www.mfa.go.th/web/968.php , http://www.acddialogue.com/web/1.php , http://www.prdnorth.in.th/ACD/



ความเห็น

อยากถามว่า ACD สร้างความผูกพันทางกฎหมายให้แก่ประเทศไทยบ้างไหมคะ ? หรือเป็นเพียงผลทางเศรษฐกิจการเมืองเท่านั้น ?

ความร่วมมือเอเชียนั้นมีโครงการที่น่าสนใจมากโครงการหนึ่งก็คือ ASIA BOND MARKET(การพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย)โดยประเทศไทย ในฐานะผู้ขับเคลื่อนในด้านความร่วมมือทางด้านการคลังได้เสนอให้มีการจัดตั้งตลาดพันธบัตรเอเชีย เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางการเงินให้กับไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ตลาดพันธบัตรเอเชียนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อนักลงทุนเพราะอาจเป็นการช่วยแก้ปัญหาการลงทุนระยะยาวซึ่งในอดีตนั้นระบบเศรษฐกิจในเอเชีย ขาดแหล่งเงินทุนระยะยาว เนื่องจากมีตลาดทุนและตลาดพันธบัตรที่มีระดับการพัฒนาค่อนข้างต่ำ ทำให้การระดมเงินเพื่อการลงทุนของผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการเงินและการใช้แหล่งเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศเป็นหลัก เมื่อเกิดปัญหาขึ้น เงินทุนเหล่านั้นก็ไหลออกอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่หากมีตลาดพันธบัตรเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวสำหรับเอเชีย ซึ่งมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันมากกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของเงินทุนสำรองของโลก จึงน่าจะนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงทางการเงินในภูมิภาค มากกว่าที่จะนำไปฝากไว้ในกองทุนนอกภูมิภาคดังเช่นที่ผ่านมา ซึ่งในปัจจุบันมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นเพราะมีการการจัดตั้งพันธบัตรกองทุนเอเชีย (Asia Bond Fund  ) ซึ่งในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น

1.กองทุนพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Fund : ABF)
เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2546 โดยธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ และเขตเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิกรวม 11 ประเทศหรือที่รู้จักกันในนาม Executive’s Meeting of East Asia and Pacific Central Banks (EMEAP) ซึ่งประกอบด้วย ออสเตรเลีย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี     มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และประเทศไทย กองทุน ABF จะมุ่งลงทุนในพันธบัตรเงินสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่ออกโดยรัฐบาลหรือ รัฐวิสาหกิจของประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียยกเว้นพันธบัตรที่ออกโดยประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ กองทุนพันธบัตรเอเชียกองแรกนั้นมีวงเงินแรกเริ่มจำนวนประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 

2. กองทุนพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Fund 2: ABF2)
กองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 หรือ กองทุน ABF2 จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2547 โดยมีวัตถุประสงค์ลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นของกลุ่มประเทศเอเชีย ทั้ง 8 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ฮ่องกง สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย  เงินทุนใน ABF2 มีจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะได้รับการจัดสรรแบ่งเป็นกองทุนใหญ่ 2 กอง ได้แก่ กองทุนแพน-เอเชีย บอนด์ อินเด็กซ์ ฟันด์ (Pan-Asia Bond Index Fund ; PAIF) ซึ่งจะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและกึ่งรัฐบาลในสกุลเงินท้องถิ่นของสมาชิก EMEAP 8 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ  จำนวน 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และฟันด์ ออฟ บอนด์ ฟันด์ (Fund of Bond Funds; FoBF) ซึ่งเป็น 8 กองทุนย่อยใน 8 ประเทศซึ่งจะลงทุนในพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลและกึ่งรัฐบาลในสกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละตลาด รวมจำนวน 1 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ
เมื่อมีการจัดตั้งกองทุนพันธบัตรเอเชียเกิดขึ้นซึ่งเป็นกองทุนที่เกิดจากความร่วมมือของประเทศในอาเซียน ดังนั้นเมื่อมีการลงทุนในตราสารหนี้เกิดขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายภายในมาบังคับใช้เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนในแต่ละประเทศเพื่อสนับสนุนให้มีการซื้อพันธบัตรเพื่อการลงทุน เช่นอาจจะมีการยกเว้นภาษีเงินได้ หรือลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับการซื้อพันธบัตร หากเป็นเช่นนี้ก็มีความเป็นไปได้ที่แต่ละประเทศจะออกกฎหมายมาเพื่ออำนวยประโยชน์แก่นักลงทุนให้มีการซื้อพันธบัตรมากขึ้น หรืออาจจะมีกฎหมายตัวอื่นที่ออกมาโดยมีความเกี่ยวข้องกับกองทุนพันธบัตรเอเชีย เช่น ในประเทศไทย มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สน. 23/2547 เรื่อง    การจัดตั้งกองทุนรวมและการเข้าทำสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคล หรือ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ สข/น.  7/2549  เรื่อง  หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดการกองทุน(ฉบับที่ 2) ต่างก็มีเรื่องของกองทุนพันธบัตรเอเชียเข้ามาเกี่ยวข้อง  เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจกล่าวได้ว่าการดำเนินงานของความร่วมมือเอเชียนั้นอาจมีผลที่ทำให้เกิดผลทางกฎหมายภายในประเทศได้ ไม่ใช่เป็นเพียงเศรษฐกิจการเมืองเท่านั้น ดังตัวอย่างของเรื่องกองทุนพันธบัตรเอเชียเป็นต้น 

 อ้างอิง http://capital.sec.or.th/webapp/nrs/data/3588p.doc ,

http://capital.sec.or.th/webapp//nrs/data/3819p.doc ,

http://www.kasikornbank.com/Publication/DeTail/1,1053,f~214-TH-1,00.html

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

ขอบคุณครับสำหรับความรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท