เลี้ยงจุลินทรีย์หน่อกล้วยช่วยลดสภาวะโลกร้อน


      อากาศแปรปรวน ภัยธรรมชาติเข้าทำร้ายมนุษย์ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สถานการณ์ดังกล่าวมีความถี่และต่อเนื่องมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาวะโลกร้อนที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ที่มีการบุกรุกทำลายป่า การใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม ด้านการเกษตรเกษตรกรอาจคาดการไม่ถึงว่าได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยเฉพาะการทำให้โลกร้อนด้วยการเผาตอซังฟางข้าวปลดปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศโลกเพราะมีตอซังและฟางข้าว  800 -1,600 ก.ก.  หากปล่อยให้มีการเผาเกิดขึ้นทั้งหมดจะก่อให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซสู่บรรยากาศโลกเป็นจำนวนมาก  เพิ่มการเกิด “ภาวะเรือนกระจก”  ซึ่งเป็นภาวะที่โลกปกคลุมด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซอื่นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้รังสีความร้อนสะท้อนกลับออกไปได้หมดทำให้โลกมีอุณหภูมิที่เหมาะสมและอุ่นพอที่สิ่งมีชีวิตจะเจริญเติบโตได้ แต่ทุกวันนี้มนุษย์ก่อให้เกิดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นเป็นเวลานานแล้วจากการเผาสิ่งต่างๆ จนนำไปสู่ภาวะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นตลอดเวลารุนแรงขึ้นทุกปี  อีกทั้งการเผาจะทำให้สูญเสียธาตุอาหารที่อยู่ในฟางข้าว (เผาฟาง 5 ตัน จะสูญเสีย ธาตุอาหารไนโตรเจน  45 ก.ก., ฟอสฟอรัส 10 ก.ก. โพแทสเซียม 125 ก.ก. กำมะถัน10 ก.ก.) แต่ถ้าไม่เผาจะช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี 11.9 ก.ก.ต่อไร่ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 152 บาทต่อไร่

     นายขวัญชัย   แตงทอง  หมู่ 9 ต. สามง่ามท่าโบสถ์ อ. หันคา  จ.ชัยนาท  เปิดเผยว่า การทำนาถ้าไม่เผาต่อซังและฟางข้าวจะทำให้ไถนาได้รำบากเพราะฟางข้าวจะไปหนุนผาลไถนา อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกษตรกรเผาตอซังและฟางข้าว การหาแนวทางแก้ไขด้วยการหาวิธีที่จะทำให้ฟางข้าวย่อยสลายได้อย่างรวดเร็วด้วยจุลินทรีย์จึงเป็นทางเลือกที่ดี เพราะจะได้ปุ๋ยอินทรีย์จากฟางข้าวแล้วจะได้จุลินทรีย์ในการย่อยสลายอินทรีย์อีกด้วย เช่นการใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากหนอกล้วยขนาดความสูงจากพื้นดินถึงยอด 1 เมตร ขุดเหง้าสลัดเอาดินออกไม่ต้องล้างน้ำ เพราะมีจุลินทรีย์แอ็คติโนมัยซีส(Actinomycete) ซึ่งเป็นแบคทีเรียรูปท่อนกลม  ติดอยู่และนำมาขยายจำนวนด้วยการหมักอย่างถูกวิธีที่ไม่ยากนัก และเกษตรกรสามารถทำได้ ถ้ามีใจรักที่จะช่วยลดสภาวะโลกร้อน และลดต้นทุนการผลิตปรับปรุงสภาพดินและสิ่งแวดล้อมในนาข้าว การทำควรการทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย (หัวเชื้อ) ซึ่งทำแล้วจะได้ปริมาณที่น้อยไม่เพียงพอแก่การนำไปใช้ จึงควรทำจุลินทรีย์หน่อกล้วยสูตรขยาย ซึ่งจะได้จำนวนที่มากเพียงพอแก่การใช้ในนาข้าวพื้นที่กว้าง ดังนี้

      การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย (หัวเชื้อ) เตรียมหน่อกล้วยลักษณะใบรากกว้างไม่มีโรคแมลงสูงประมาณ 1 เมตร ไม่ต้องล้างดินออก เอาทั้งเหง้าและราก จำนวน 3  กก.  กากน้ำตาล  1  กก.  นำหน่อกล้วย สับให้ละเอียด  คลุกผสมกับกากน้ำตาลให้ทั่ว หมักไว้ 7 วัน คั้นเอากากออกได้หัวเชื้อ ห้ามหมักโดยไม่คั้นเอากากออกเกิน 7 วัน

     จุลินทรีย์หน่อกล้วยสูตรขยาย (หมัก 7 วัน คั้นกากออก) ใช้หยวกกล้วยตัดเครือแล้ว  60  กก.   กากน้ำตาล   20 กก.   น้ำ   10   ลิตร  หัวเชื้อจากครั้งแรก  1   ลิตร  ลูกแป้งข้าวหมาก  1  ก้อน(บดละเอียด)  ยาคูลล์    1  ขวด  นำหยวกกล้วยมาสับให้ละเอียด  ผสมกับส่วนผสมต่างๆ ให้ทั่ว หมักไว้ 7 วัน คั้นเอากากออกได้หัวเชื้อ ห้ามหมักโดยไม่คั้นเอากากออกเกิน 7 วัน นำไปใช้ได้ตามความต้องการ เช่นการนำไปใช้ในการเร่งการย่อยสลาย “ฟางข้าว”  โดยใช้น้ำหมักหน่อกล้วยจำนวน 10 ลิตรต่อพื้นที่นา 1 ไร่  อาจใช้การฉีดพ่นกรณีที่เกี่ยวข้าวใหม่ๆ ตอซังและฟางข้าวมีความชื้อและไม่ได้ปล่อยน้ำเข้านา  หรือหยดหรือเทตามร่องน้ำไหล หรือวิดน้ำด้วยท่อน้ำ  หมักฟางข้าวเป็นเวลา 10 วัน (ระดับน้ำ 4 – 7 ซม.) แล้วไถทำเทือกได้ตามปกติ  อีกทั้งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรได้หลายชนิดเช่น ปรับโครงสร้างของดิน ปรับสภาพน้ำเสีย ล้างทำความสะอาดคอกสัตว์ และป้องกันกำจัดโรคพืช

       นายปราโมทย์ รัตนสัมฤทธิ์ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท กล่าวถึงการส่งเสริมการเกษตรเพื่อการรักษาสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะปัญหา “ภาวะเรือนกระจก”  ว่า จังหวัดชัยนาทได้ร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมควบคุมมลพิษ โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดชัยนาท(จักรกลเกษตร) นำเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพไถกลบตอซังและฟางข้าวให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการลดการเผาตอซังฟางข้าว เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรประจำตำบล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนและฝึกอบรมการผลิตน้ำสกัดและปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อช่วยเร่งการย่อยสลายฟางข้าวให้เร็วขึ้น แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านงบประมาณและปัจจัยต่างๆ ที่เป็นปัญหาส่งผลให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้ไม่ทั่วถึง แต่ถ้าเกษตรกรไม่ได้ใช้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพไถกลบตอซังและฟางข้าว อาจใช้การเกลี่ยฟางและหมักฟางร่วมกับวิธีทางชีวภาพช่วยเร่งการย่อยสลายฟางข้าวเร็วขึ้นก่อนการไถกลบ ไม่เพียงผลต่อโครงสร้างของดินที่สมบูรณ์ เพิ่มอินทรีย์วัตถุเพิ่มผลผลิตลดต้นทุน และลดความเสี่ยงในการผลิตได้ เพื่อการเกษตร “ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” สร้างความยั่งยืนการเกษตรเท่านั้น ยังช่วยลดสภาวะของการเกิดโลกที่จะร้อนขึ้น  ลดความล่มสลายที่จะเกิดกับโลกของเราอีกด้วย

คำสำคัญ (Tags): #โลกร้อน
หมายเลขบันทึก: 349888เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2010 23:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

แวะมาเรียนรู้ด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

หลับฝันดีนะคะ^__^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท