กองทุนการเงินระหว่างประเทศ บทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก


บทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund)หรือIMF ในฐานะองค์การระหว่างประเทศที่กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการเงินและจัดระเบียบทางการเงินระหว่างประเทศ

เมื่อกล่าวถึงกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศท่านนึกถึงอะไร?  

         กฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ(International Economic Law)เป็นกฎเกณฑ์ข้อบังคับสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ โดยกำหนดกรอบในการใช้เขตอำนาจรัฐในการเคลื่อนไหวในทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านสินค้าหรือบริการก็ล้วนแล้วแต่ต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ข้อบังคับดังกล่าว แต่หลักการสำคัญของระบบกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศยังมีความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยหลักการของประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ภายใต้ปรัชญาของระบบเศรษฐกิจเสรีหรือระบบเสรีนิยมซึ่งวางทิศทางในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เป็นการแข่งขันกันอย่างเสรี หากแต่เมื่อมาพิจารณากลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาหลักการของกลุ่มนี้กลับต้องการมุ่งเน้นไปที่ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม กฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศแบ่งออกได้ 3 เรื่อง คือ กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ กฎหมายการลงทุน และกฎหมายการเงินระหว่างประเทศ

                 ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund)หรือIMF จึงมีบทบาทสำคัญในระบบกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในฐานะองค์การระหว่างประเทศที่กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการเงินและจัดระเบียบทางการเงินระหว่างประเทศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund)หรือIMFเป็นองค์การระหว่างประเทศซึ่งมีฐานะเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติโดยถือกำเนิดขึ้นจากการประชุมที่เมืองเบรตตั้น วู้ด หรือที่รู้จักกันในนาม Bretton Woods Conference ในช่วงวันที่1-22กรกฎาคม ค.ศ.1944 โดย IMFจัดตั้งขึ้นจากผลสรุปของการประชุมว่าด้วยการเงินและการคลังของสหประชาชาติ( The United Nation Monetary and Financial Conference)

          วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศนั้นก็เพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินระหว่างประเทศซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของการค้าโลก และป้องกันมิให้มีการลดอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้า รวมไปถึงมุ่งจัดตั้ระบบการชำระเงินที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างประเทศ โดยสมาชิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศประกอบไปด้วยประเทศที่มีความสำคัญทางการเงินเป็นผู้แทนถาวร 5 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และผู้แทนประเทศสมาชิกอื่นๆอีก 15 ประเทศ ซึ่งประเทศสมาชิกเหล่านี้ต้องชำระเงินอุดหนุนหรือเงินค่าโควตาในรูปของหุ้นจำนวนหนึ่งให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และเงินส่วนนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนหรือทรัพยากร(resources)ของ IMFที่นำไปใช้ในการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกที่มีปัญหาดุลการชำระเงินภายใต้โครงการเงินกู้ (facility)

หลักการทั่วไปและวัตถุประสงค์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีดังต่อไปนี้คือ

1.รักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราให้มีเสถียรภาพและความแน่นอน รวมทั้ง ป้องกันการแข่งขันการลดค่าเงิน(competitive devaluation)เพื่อชิงการได้เปรียบทางการค้า

2.ลดหรือขจัดอุปสรรดทั้งปวงเพื่อการแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างเสรี

 3.สนับสนุนความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศและเป็นเวทีการหารือและร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการเงินระหว่างประเทศ

4.สนับสนุนให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวอย่างสมดุลเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ่างงาน รายได้ ตลอดจนพัฒนาการทางการผลิตในระดับสูง

5.ลดความไม่สมดุลในดุลการชำระเงินระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก โดยให้ความสนับสนุนทางด้านการเงินแก่ประเทศสมาชิกเพื่อปรับฐานะดุลการชำระเงินให้ดีขึ้น

เมื่อพิจารณาหลักการและวัตถุประสงค์ของ IMFจึงเห็นได้ว่า IMFมีบทบาทต่อกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในฐานะองค์การที่วางกฎเกณฑ์ข้อบังคับทางการเงินและทำหน้าที่จัดการระบบเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งเงินนั้นถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดในการทำธุรกรรมโดยเป็นเครื่องมือสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการชำระหนี้ทางการค้าระหว่างกัน แม้ศาลสถิตย์ยุติธรรมระหว่างประเทศ จะได้ให้หลักการยืนยันไว้ในคำพิพากษาคดีPayment of various Serbian loans ว่ารัฐย่อมมีอธิปไตยในการดำเนินนโยบายด้านการเงินของตนเอง สามารถกำหนดค่าของสกุลเงินของตนตลอดจนการวางข้อบังคับเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของเงินตรา ซึ่งถือเป็นอำนาจอธิปไตยทางการเงินและกิจการภายในของรัฐ แต่เมื่อพิจารณาถึงสภาพสังคมระหว่างประเทศในปัจจุบัน เราจะเห็นได้ว่ามีการติดต่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจแลกเเปลี่ยนสินค้าและบริการกันอย่างกว้างขวาง ดังนั้นในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการค้าย่อมต้องอาศัยกฎเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างคู่สัญญา และในระบบเงินตราย่อมต้องมีการกำหนดสกุลเงินเพื่อเป็นเงินตราสกุลหลักในการอ้างอิงเพื่อการทำการค้าระหว่างกัน ไม่เช่นนั้นย่อมมีปัญหาในการทำการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในการทำการค้านั้นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า เช่น อาจถูกตั้งข้อจำกัดทางการค้าและการชำระเงิน IMFจึงเป็นองด์การระหว่างประเทศที่เข้ามาช่วยกำหนดกฎเกณฑ์ทางการเงิน ให้ความช่วยเหลือและปรับดุลยภาพทางเศรษฐกิจให้แก่รัฐสมาชิก

             การดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่รัฐสมาชิกที่ตกอยู่ในสภาวะวิกฤติอันเนื่องมาจากการขาดดุลการชำระเงินนั้น IMFเป็นแหล่งที่มาในการให้เงินช่วยเหลือ โดย IMFได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกฝากสินทรัพย์ไว้จำนวนหนึ่งซึ่งจะเป็นจำนวนเท่าใดขึ้นอยู่กับโควตาที่ตกลงกันและเมื่อรัฐสมาชิกประสบปัญหารัฐสมาชิกก็สามารถใช้ประโยชน์จากกองทุนของIMFนั่นเอง การให้ความช่วยเหลือของIMFนั้นรัฐสมาชิกมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือโดยผ่านกระบวนการ การถอนเงินซึ่งจำกัดอยู่ภายในวงเงินที่ตนมีสิทธิตามสัดส่วนของเงินอุดหนุน และการทำข้อตกลงในเรื่องเกี่ยวกับการถอนเงิน ( Stand-by arranment )หรือที่เรียกว่าโครงการเงินกู้ Stand-by ซึ่งเป็นโครงการเงินกู้ที่มีเงื่อนไขของโครงการในการปฏิบัติตาม performance criteria

               ระบบที่สำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งIMFจัดตั้งขึ้นก็คือระบบสิทธิถอนเงินพิเศษ (Special Drawing Rights) หรือ SDR  SDRนี้เป็นสินเชื่ออย่างหนึ่งโดยมีลักษณะเป็นหน่วยในทางบัญชี คือมีแค่ตัวเลขปรากฎอยู่ในบัญชี  สิทธิพิเศษในการถอนเงิน SDRนี้ IMF กำหนดวิธีการในการใช้ที่ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของเงินอุดหนุนที่รัฐส่งมา กล่าวคือหากรัฐส่งเงินอุดหนุนมากก็จะได้รับจัดสรรสิทธิถอนเงินพิเศษนี้มาก ทั้งนี้เพื่อให้รัฐนำเงินที่ได้รับจัดสรรมาใช้แก้ไขสถานการณ์การขาดดุลการชำระเงิน

               ความสัมพันธ์ระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศกับประเทศไทยนั้นประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกเคยได้รับความช่วยเหลือตามโครงการเงินกู้Stand-by รวม 5 ครั้งด้วยกันในวงเงินรวมทั้งสิ้น 4,431ล้านSDR   ในปัจจุบันประเทศไทยมีโควตาเท่ากับ 1,081.9 ล้านSDR  คะแนนเสียง 11,069 คะแนน หรือเทียบเท่ากับร้อยละ0.52 ของคะแนนเสียงทั้งสิ้น

หมายเหตุ แหล่งข้อมูล

     หนังสืออ้างอิง

 จตุรนต์ ถิระวัฒน์. กฎหมายระหว่างประเทศ. กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2547

 ธิดา แจ่มอุลิตรัตน์. แผนโครงการปรับดุลยภาพทางเศรษฐกิจและเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ มุมมองทางกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ = Economic adjustment programme and IMF conditionality : legal aspect in the framework of international economic law.  กรุงเทพมหานคร : คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,2545

                 website :  http://www.imf.int

                                  http://www.bot.or.th

 

หมายเลขบันทึก: 34908เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2006 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 03:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ข้อมูลที่นำเสนอมีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอนของผม

ขอบคุณ

ธีรเดช จู่ทิ่น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท