ซ.ซวง
นาย นพรัตน์ รัตนพงศ์ผาสุข

การเจรจาสันติวิธีคงเกิดขึ้นไม่ได้...ถ้าทุกฝ่ายไม่มีความไว้ใจและเคารพกัน


ขอ “สันติ” จงมีแด่ทุกท่าน...May the peace be with you.

 สาทิตย์ วงศ์หนองเตย

 

ยกที่สองของ การเจรจาครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่าง รัฐบาลนายก อภิสิทธิ์

กับ 3 แกนนำเสื้อแดง พึ่งผ่านพ้นไปเมื่อคืนนี้ (29 มี.ค. 53)

ก็ทำให้เริ่มเห็นอะไรๆ ก็ชัดขึ้นไปตามกาลเวลา

 

หลังจากที่ดูเชิง หยั่งเชิงกันไปในยกแรก (28 มี.ค. 53)

ที่ดูเหมือนว่า ต่างฝ่ายยังคงสงวนท่าที ไม่ออกอาวุธกันเท่าที่ควร

แต่สำหรับยกที่สองนี้ ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มประเคนอาวุธด้วยคำพูดเข้าห้ำหั่นกัน

 

พอระฆังดังเป๊ง!!!

คุณวีระ ก็อารัมภบทเล็กน้อย ก่อนจะแตะมือให้ คุณจตุพร

ระดมหมัดชุดเข้าใส่ นายกอภิสิทธิ์ ชุดใหญ่

ฟังดูมันเหมือนไม่ใช่การเจรจาหาทางออก

แต่เป็นการชิงจังหวะออกทีวีสดๆ

อภิปรายไม่ไว้วางใจนอกรอบ ให้คนทั้งประเทศได้ดูมากกว่า

 

ฝ่ายท่านนายกอภิสิทธิ์ ที่เดิมดูเหมือนว่า

ในยกที่แล้วจะตั้งการ์ดเหนียวแน่น

แต่คราวนี้ พอโดนหมัดชุดใหญ่เข้าไป ก็เริ่มออกอาการเมาหมัดจนเป๋

ด้วยอาจจะไม่ได้คาดคิดว่า

จะต้องเจอการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แบบถ่ายทอดสดที่สถาบันพระปกเกล้า เช่นนี้

 

หลังจากท่านนายกเริ่มตั้งหลักได้ ก็เริ่มสวนอาวุธคืนแบบ

ดอกต่อดอก ประเด็นต่อประเด็น เพื่อเรียกคะแนนคืนทุกเม็ด

 

ช่วงนี้ ฟังเพลินๆ ก็มันส์สะใจกองเชียร์ ของแต่ละฝ่าย

แต่หาประโยชน์ใดๆ ให้ประเทศชาติไม่ได้จริงๆ

เป็นข้อมูลที่เราต่างได้ยินกันมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว

และฟั่นเฝือจนไม่รู้ว่า ใครพูดจริงกี่เปอร์เซนต์ โกหกกี่เปอร์เซนต์

ขอเถอะครับว่า ถ้าจะมีครั้งหน้า แล้วอยากพูดจากันแบบนี้

ขอเป็นในสภา หรือในศาล น่าจะดีกว่า

เสียเวลาของชาวบ้านตาดำๆ ที่อยากเห็นทางออกของบ้านเมืองอย่างสันติ และสร้างสรรค์

 

กลับมาที่เวทีมวย (ไม่ใช่โต๊ะเจรจาสันติวิธีอย่างที่โฆษณา)

ฝ่ายคุณหมอเหวง ด้วยความเจนเวที และสังเกตการณ์อาการเมาหมัด

ของท่านนายกอยู่นาน ก็ได้โอกาสสอนรูปมวยแก่ท่านนายก

ว่าให้อดทนฟัง เก็บอารมณ์ และมีวุฒิภาวะให้มากกว่านี้

จากนั้นก็ประเคนหมัดชุด อีกชุดใหญ่ใส่นายก

ซึ่งตรงนี้ กองเชียร์เสื้อแดงต่างสะใจไปตามๆ กัน

ที่หมอเหวง นั้นสามารถสอนมวยนายกได้

แต่หากฟังเนื้อหาในคำพูดของหมอเหวงให้ดีนั้น

แม้ประหนึ่งจะพูดจากปากว่า

“เคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์” ของทุกฝ่าย

แต่ฟังดูเนื้อหาแล้ว น่าจะเคารพเฉพาะความเป็นมนุษย์ของ คนเสื้อแดงมากกว่า

เพราะมักจะก็พูดโจมตีแต่ว่า

นายกนั้นไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดง

นายก (และ/หรือลูกน้องนายทหาร) สั่งฆ่าคนเสื้อแดง

พร้อมๆ ไปกับ ตำหนิต่อว่าฝ่ายทหารไปต่างๆ นานา

ซึ่งนายกพยายามใช้สิทธิ เพื่อชี้แจง ตอบโต้คืนไปตามประเด็น

ซึ่งเราต่างก็เคยได้ยินมาหลายครั้งครา

ก็อย่างที่ทราบกันมาเป็นอย่างดีแล้วว่า

ต่างฝ่ายต่างก็เชื่อข้อมูล และอ้างในความถูกต้องชอบธรรมของฝ่ายตนเท่านั้น

 

นอกจากนี้ คำพูดของคุณหมอยังแสดง

ถึงเนื้อหาในจิตใจว่า “เกลียดชัง” และมีอคติ

ต่อ “ทหาร” เป็นอย่างมาก

ซึ่งก็เข้าใจได้ครับว่า ท่านผ่านประสบการณ์

ไม่ดีกับทหารในอดีตมาเยอะ จนมาถึง คมช.

และฝังใจกลายเป็นอคติต่อทหารในปัจจุบัน

ทำให้เห็นว่า ท่านเกลียดทหาร

และเกลียดการรัฐประหาร แบบเข้าไส้จริงๆ

 

จนถึงช่วงนี้ หากดูในแง่เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการหาทางออก

ให้กับประเทศชาติ ก็ยังจับอะไรที่มีสาระประโยชน์ไม่ได้เลย

มัวแต่เถียงกันไปมาเรื่อง ความคิด ความเชื่อ หลักการ

ที่ต่างฝ่ายก็อ้างว่า ที่ฝ่ายตนคิดนั้นถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

ทีนี้ก็ถึงตา คุณวีระ พระเอกของฝ่ายเสื้อแดง

ที่พยายาม พลิกสถานการณ์

จากการต่อสู้ห้ำหั่นกันด้วยคำพูด

มาเข้าสู่บรรยากาศการเสวนาเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง

ได้เห็นท่าทีของคุณวีระ แล้วก็นับถือในความเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะ มีเหตุผล

พยายามเข้าใจ และพยายามหาทางออกให้บ้านเมืองจริงๆ

ชอบมากที่คุณวีระพูดว่า

“บ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องที่ต้องพยายามมาเอาชนะคะคานกัน”

ซึ่งช่างสวนทางกับ สิ่งที่คุณจตุพรพูดย้ำในหลายๆ ครั้งทำนองว่า

เป็นการต่อสู้กัน ต้องมีแพ้ชนะกัน

และไม่พยายามผ่อนคลายจุดยืน ที่รู้ว่า ยังไงเสียอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีทางยอมได้

 

หลังจากคุณวีระผ่อนท่าที และแง้มประตูแห่งความหวัง

ฝั่งนายก และสองขุนพลข้างกาย ก็เริ่มตั้งหลักได้

และเริ่มยื่นข้อเสนอที่ต้องการจะ ให้มีการ “แก้กติกาก่อนยุบ”

ในเงื่อนเวลา 9 เดือน ให้กับทางกลุ่มเสื้อแดง

 

ซึ่งท่าทีของทางแกนนำเสื้อแดงนั้นก็ดูจะเป็นไปคนละทาง

ในขณะที่พี่ใหญ่อย่างคุณวีระดูจะมีท่าทียอมรับ ในหลักการ

“ขอเวลาเก้าเดือน แก้กติกาก่อนยุบ”

แต่ยังไม่เห็นด้วยในวิธีการ และช่วงเวลาที่ดูจะเนิ่นนานไป

 

แต่ในข้างของ หมอเหวง และคุณจตุพร นั้นดูจะไม่เห็นด้วยในทุกกรณี

ด้วยเหตุผลหลักที่ทั้งสองท่านกล่าวอ้างก็คือ

การมองว่ารัฐบาลพยายามที่จะ “ซื้อเวลา”

และเชื่อมั่นอย่างหัวชนฝาว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้

 

เหตุการณ์การชิงจังหวะรุกรับในเชิงการอภิปรายนั้น

ดูเหมือนว่า ทั้งสองฝ่ายก็จะอ่านทางมวยกันออก

และก็มีทีท่าว่าจะจบเหมือนในยกแรก

นั่นคือ ต่างฝ่ายต่างก็คุมเชิงอยู่ในที่ตั้ง ในจุดยืนของตนเองกันต่อไป

แบบไม่มีใครกล้าเปิดใจเพื่อคุยแก้ปัญหากันจริงๆ

และก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครที่จริงใจจะหาทางออกให้ประเทศชาติ

 

แต่แล้ว ก็มีอัศวินม้าขาว

ที่ออกมากล่าวถ้อยคำแห่งสัจจะ ที่กล้าหาญอย่างยิ่ง

แม้ในช่วงเวลาเพียงประมาณ 5 นาที

ที่คุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ได้ออกมาพูดนั้นจะดูสั้นมาก

เมื่อเทียบกับ 2 ชั่วโมงแห่งการฟาดฟันทางวาทกรรมระหว่าง 2 ฝ่าย

ที่แทบหาประโยชน์อันใดให้แก่การแก้ปัญหาบ้านเมืองไม่ได้เลย

 

แต่ทว่า เมื่อคุณกอร์ปศักดิ์ ซึ่งฟังด้วยความสงบนิ่งมาโดยตลอด

ได้กล่าวถ้อยคำออกมาจากความรู้สึกที่แท้จริง

และได้กล่าวถึงรากเหง้าของความขัดแย้ง ในทำนองว่า

“ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่มีความไว้ใจกัน ปัญหาก็ไม่มีทางแก้ได้”

“ฝ่ายเสื้อแดงก็ไม่เชื่อรัฐบาล (ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้สำเร็จ)”

“ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่เชื่อว่าแกนนำเสื้อแดงจะคุมม็อบให้สงบได้อย่างแท้จริง หลังยุบสภา”

 

และคุณกอร์ปศักดิ์ก็ยังเสนอทางออกไว้อย่างน่าสนใจ

ที่เป็นรูปธรรมอันจะพิสูจน์ความจริงใจของแต่ละฝ่าย

ในการหาทางออกต่อปัญหาที่ทุกฝ่าย

ควรจะต้องรับไปพิจารณา

และน่าจะเป็นรูปธรรมที่ปฏิบัติได้

 

สังเกตว่า ในช่วงขณะที่คุณกอร์ปศักดิ์พูดในช่วงนั้น

มันเป็นถ้อยคำที่มีพลังดึงดูดมากๆ

และรู้สึกว่า ทุกคนในที่นั้น ล้วนฟังท่านอย่างตั้งใจ

อย่างที่ไม่เคยได้เห็นตลอดช่วงการสนทนา

 

แต่ละถ้อยคำที่ได้ฟังนั้น รู้สึกได้ว่า

ท่านพูดออกมาจากใจ จากความรู้สึก

และจากความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาอย่าง “สันติวิธี”

และอยู่บนพื้นฐานของการ “เคารพ” คู่สนทนาฝ่ายตรงข้ามอย่างแท้จริง

ไม่มีคำพูดให้ร้ายป้ายสีกันเลย

ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า คุณกอร์ปศักดิ์ไม่ได้เป็นเป้าหมาย

ของการโจมตีจากกลุ่มเสื้อแดง

จึงทำให้ยังคงดำรงสติมั่นคงกับการฟัง

และแยกตัวออกจากปัญหา

จึงสามารถมองเห็นปัญหาได้อย่างลึกซึ้งกว่าท่านนายกอภิสิทธิ์

ที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายของการโจมตี

ทำให้พะวงกับการแก้ต่าง

จนลืมไปว่า กำลังมาช่วยกันหาทางออกให้ประเทศอยู่

 

นอกจากนี้คำพูดของคุณกอร์ปศักดิ์ยังแสดงถึงความเป็น “นักปฏิบัติ” ตัวจริง

ที่ไม่ใช่ “นักพูดปลุกระดม” พูดเพื่อ โฆษณาชวนเชื่อ

ในสิ่งที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่

แต่ท่านกลับชวนให้มาพิสูจน์ความจริงใจในเชิงรูปธรรม

กันด้วย “การกระทำ” และ “พฤติกรรม”

มากกว่าจะมาอวดอ้าง

หรือค้ำประกันอนาคตของชาติกันด้วยคำพูดสวยหรู ดูดี

ที่มิใช่การพูดทำนองว่า

ทำอย่างนั้น อย่างนี้สิ แล้วทุกอย่างจะสงบเรียบร้อย

 

ซึ่งฟังแล้วก็ต้องคล้อยตามในเหตุผลของท่านว่า

“คำพูด” นั้นไม่อาจนำมาใช้เป็นหลักประกันใดๆ ได้

หากจะพิสูจน์ความจริงใจกันนั้น

ต้องใช้ “การกระทำ” และ “พฤติกรรม” เป็นตัวตัดสิน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการเวลาระยะหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงใจ

แต่โดยส่วนตัวก็เชื่อว่าไม่นานเกินรอแน่ๆ

หากคนทั้งประเทศช่วยกันจับตาดู

และมีสื่อมวลชนช่วยกันเป็นพยาน

ก็พอจะรู้ได้ว่า ฝ่ายใดจริงใจ ฝ่ายใดตีรวน

 

และหากมองย้อนไปถึงการเจรจา ในเวทีแรกนั้น

ก็เป็นคุณกอร์ปศักดิ์อีกนั่นแหละ ที่พยายามเสนอทางออก

ที่เป็นรูปธรรมว่า ถ้ายุบสภาพร้อมๆ ไปกับการให้ประชาชน

ลงมติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในคราวเดียวกัน ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

แต่ก็เสียดายว่า ข้อเสนอแนะดีๆ นั้นไม่มีการขยายผลไปสู่รูปธรรมที่เป็นทางออก

 

แม้ว่าในตอนท้าย ผมจะไม่ได้ฟังต่อ แต่ก็รู้สึกคุ้มค่ามากๆ

กับ 5 นาที ที่ได้ฟังคุณกอร์ปศักดิ์พูดถึงสิ่งที่เป็นปัญหา

และทางออกจริงๆ ของปัญหา

สงสัยอยู่เพียงแต่ว่า

จะมีใครแกล้งไม่ได้ยิน หรือว่าไม่ได้ยินจริงๆ

ในสิ่งที่คุณกอร์ปศักดิ์พูดออกมาหรือไม่

 

หลังจากนั้น ผมไม่ได้ดูการเจรจาต่อ

แต่เสียงคนที่บ้านเล่าให้ฟังต่อว่า

ตอนสุดท้ายนั้นคุณจตุพรไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆ จากทางรัฐบาล

พร้อมทั้งประกาศจุดยืนเรียกร้องให้ “ยุบสภา” เหมือนเดิม

 

สำหรับใครหลายๆ คน

สองชั่วโมงที่ผ่านไปอาจดูเหมือนไม่ได้อะไรเลย

แถมยังไม่เห็นความหวังใดๆ ในการแก้ปัญหา

 

แต่สำหรับผม

ก็ทำให้ได้เห็นกระจ่างขึ้นว่า

ใครฟังเป็น ใครฟังไม่เป็น

ใครมีวุฒิภาวะ ใครดื้อรั้น

ใครที่ปากไม่ตรงกับใจ

ใครที่ชอบสร้างสรรค์ และใครที่ชอบทำลายล้าง

ใครที่ควรพูดคุยด้วย หากต้องการ “สันติวิธี”

และที่สำคัญที่สุด

ใครที่มุ่งทำเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มากกว่าพวกพ้องตน

 

เล่ามาซะยืดยาวจนผมเองก็เบื่อแล้ว

กับสลากยี่ห้อสวยหรูที่ชอบพูดกันง่ายๆ ว่า เป็นการ “เจรจาหาทางออกอย่างสันติวิธี”

 

ขอสรุปเป็นข้อเสนอแนะส่วนตัวสั้นๆ ว่า

 

สำหรับเวทีการเจรจาในแนวทางสันติวิธีที่จะมีขึ้นในอนาคต

ถ้าเรายังคงต้องการหาทางออกร่วมกันอย่างสันติ

อยากให้คุณวีระ และคุณกอร์ปศักดิ์

เป็นผู้มีบทบาทหลักในการเจรจาสองฝ่าย

เพราะนอกเหนือจากสองท่านนี้ล่ะก็

โอกาสจะเห็นทางออกที่เป็น “สันติวีธี” จากท่านอื่นๆ

นั้นยากจนเลือดตาแทบกระเด็น

และเราอาจได้เห็นเลือดนองแผ่นดินกันได้ง่ายๆ

 

และหากทุกฝ่ายยังต้องการให้การเจรจาในแนวทางสันติวิธีเป็นทางออกของปัญหา

ก็ไม่ควรไปฟื้นฝอยหาตะเข็บกับเรื่องราวในอดีตกันให้มากความ

ควรพูดแต่ “สัจจะ” กันให้มากๆ

งดเว้นคำพูดเหน็บแนม กล่าวร้ายป้ายสีกัน

พูดกันแต่ตัวปัญหาที่แท้จริงของชาติที่เรากำลังเผชิญอยู่

และช่วยกันหาทางออกเพื่อประเทศกันอย่างจริงๆ

ไม่ใช่เพื่อใครคนใด หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ขอให้คิดถึงคนไทยทุกคนที่อยู่ข้างหลังท่าน

คิดถึงลูกหลานเราให้มากๆ

ควบคู่ไปกับการสำนึกถึงบุญคุณแห่ง

บรรพชนต้นตระกูลไทยในอดีต

ที่ปกปักษ์รักษาผืนแผ่นดินทองนี้ไว้ให้พวกเรา

ได้อยู่กันอย่างมีความสุข

 

ขอคารวะต่อท่าทีการแสดงออก ทั้งทางคำพูด และพฤติกรรม อันสะท้อนถึงความจริงใจ

ในการแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมืองอย่างสันติวิธี ของ คุณวีระ มุสิกพงศ์ และ คุณกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ

จากใจจริงครับ

 

ขอ “สันติ” จงมีแด่ทุกท่าน

 

May the peace be with you.

 

 

หมายเหตุ

1. ข้อเขียนนี้ เขียนขึ้นจากมุมมอง และบริบทส่วนตัวของผู้เขียน

ซึ่งไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องการเมือง หรือ รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

อีกทั้งยังไม่ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการเจรจาต่อรองแต่ประการใด

หากแต่เป็นเพียง ผู้ที่นิยมชมชอบ และฝักใฝ่ในแนวทาง “สันติวิธี”

รวมทั้งยังหลงไหลในมนต์เสน่ห์แห่งการ “สานเสวนา”

หรือ “สุนทรียสนทนา” (Dialogue)

ข้อเขียนข้างต้นจึงมีมุมมองมาจากแนวคิด และวิธีการดังกล่าวเท่านั้น

 

2. หากท่านใดมีความประสงค์ จะร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น

ที่เกี่ยวกับการเจรจาหาทางออกโดยสันติวิธี

ก็ขอเชิญตามอัธยาศัย แต่ทั้งนี้ ขอความกรุณาแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์

ในแนวทางสันติวิธี โดยไม่ใช้คำพูดรุนแรง วาจาเหน็บแนม ส่อเสียดกัน

อันจะทำให้ผู้ที่คิดต่างขั้วกัน เกิดความเกลียดชังกันยิ่งขึ้น

และ ขอสงวนสิทธิในการลบความเห็นที่ไม่สร้างสรรค์

(รวมทั้งข้อเขียนนี้ด้วย หากพิจารณาเห็นว่าไม่ก่อประโยชน์อันใดในทางสร้างสรรค์)

หรือเจตนาให้เกิดความขัดแย้ง หรือหมิ่นเหม่ต่อการขยายผลความรุนแรง

ในสังคม โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

 

และสุดท้าย ก็ขอฝากความประทับใจในข้อสรุปส่วนตัว หลังจากที่ได้จากการฟังคุณกอร์ปศักดิ์พูดว่า...

 

“การเจรจาหาทางออกโดยสันติวิธีคงเกิดขึ้นไม่ได้...ถ้าทุกฝ่ายไม่มีความไว้ใจและเคารพกัน”

 

หมายเหตุ

มีบันทึกตอนต่อไปเรื่อง

บทวิเคราะห์ในมุมมองของสุนทรียสนทนา (Dialogue) ต่อกรณีความล้มเหลวของการเจรจาสันติวิธีระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับแกนนำคนเสื้อแดง (28-29 มี.ค. 53)

http://gotoknow.org/blog/zng/348445

หมายเลขบันทึก: 348307เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2010 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ขอบคุณมากครับท่านอาจารย์ JJ ที่กรุณาแนะนำหนังสือดีๆ ให้อ่าน

ขอบคุณครับสำหรับความเห็นของนักสันติวิธี ผมเห็นด้วยในหลายแง่นะครับ และมีความเห็นส่วนตัวในบางแง่

เห็นด้วยนะครับ ว่าในด้านการพูดเพื่อให้เกิดความสงบ (ไม่ต่อยกันกลางเวที) ต้องยกให้กอร์ปศักดิ์กับวีระ ผมเองก็ชอบที่กอร์ปศักดิ์พูดตอนท้าย และก็ชอบท่าทางประณีประนอมของวีระ

และเห็นด้วยเรื่องความดื้อดึงของจตุพร การดึงดันจะเอา 15 วันให้ได้ ไม่น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมนัก

ส่วนนายกฯนั้น ถ้านี่เป็นการโต้วาที ผมให้ 10 เต็มในครั้งแรก และ 9/10 ในครั้งที่สอง แต่ผมมองว่านายกฯควรพยายามหลีกเลี่ยงการ "โต้วาที" เสียหน่อย ผมมองว่านี่คือการ "เจรจา" ไม่จำเป็นต้องทำคะแนนจากคนดูมากนัก (นี่เป็นความเห็นของผมนะครับ) ควรพยายามพูดให้เกิดเนื้อหามากกว่าใช้คำพูดที่ฟังแล้วสวยหรูจับใจได้คะแนนคนดู

อ่านแล้วท่านวิเคราะห์ได้ตรงใจมาก คุณวีระและกอร์ปศักดิ์ ใช่เลย แต่ก็คิดว่าสองคนนี้คงทำอะไรมากไม่ได้ครับ หันไปด้านหลังกองเชียร์เพียบ

ขอบคุณสำหรับความเห็นเพิ่มเติมจาก คุณปริญญา P นะครับ

ขอเรียนเพิ่มเติมนิดนึงว่า ผมยังไม่ใช่ "นักสันติวิธี" หรอกครับ

ยังเป็นแค่คนที่นิยมชมชอบในแนวทางสันติวิธีมากกว่า

ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยนกันครับ

 

<h3>ใครฟังเป็น ใครฟังไม่เป็น</h3>

<h3>ใครมีวุฒิภาวะ ใครดื้อรั้น</h3>

<h3>ใครที่ปากไม่ตรงกับใจ</h3>

<h3>ใครที่ชอบสร้างสรรค์ และใครที่ชอบทำลายล้าง</h3>

<h3>ใครที่ควรพูดคุยด้วย หากต้องการ &ldquo;สันติวิธี&rdquo;</h3>

<h3>และที่สำคัญที่สุด</h3>

<h3>ใครที่มุ่งทำเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ มากกว่าพวกพ้องตน</h3>

เห็นด้วยกับท่านเบดูอินครับ ว่ายังมีอีกหลายกลุ่ม

และหลายฝ่าย ที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการเจรจา

ซึ่งคงต้องถามใจ ผู้สนับสนุนที่อยู่เบื้องหลัง

ทั้งที่เป็นกองเชียร์ โคช และผู้จัดการทีม และสปอนเซอร์ ด้วยว่า

ต้องการการเปลี่ยนแปลงในแบบ "สันติวิธี" "อหิงสา"

หรือว่าเป็นพวกนิยมใช้ "ความรุนแรง" เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ

แต่ผมคิดเหมือนที่ท่านกอร์ปศักดิ์ได้กล่าวไว้ทำนองว่า

คงไม่มีอะไรจะตัดสิน "เจตนา" ได้ดีไปกว่า "การกระทำ" "พฤติกรรม"

และเหนือสิ่งอื่นใดเชื่อว่า "วาจา" ย่อมสะท้อนเนื้อหาแห่ง "จิตใจ"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท